
ประกาศกรมสรรพากร
เรื่อง การทดสอบความรู้ของผู้ขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
ครั้งที่ 11 (2/2549)
ด้วยกรมสรรพากรจะดำเนินการจัดหาผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.98/2544 เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ การทดสอบ การขอขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การอบรม การต่ออายุ และการขอออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.146/2548 เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ การทดสอบ การขอขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การอบรม การต่ออายุ และการขอออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2548 จึงประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ครั้งที่ 11 (2/2549) ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 คุณสมบัติของผู้ขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
(1) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี หรือประกาศนียบัตร ทางการบัญชี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรับรองเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าปริญญาดังกล่าว
ผู้ยื่นคำขอเข้าทดสอบจะต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้สำเร็จ การศึกษาแล้ว โดยวันที่ที่อนุมัติจะต้องไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2549
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(3) มีสัญชาติไทยหรือมีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สอบบัญชีในประเทศนั้นได้
(4) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(5) ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีเกี่ยวกับภาษีอากรหรือคดีอื่นที่อธิบดีเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
(6) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(7) ไม่เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีที่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ข้อ 2 การยื่นคำขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
(1) วันที่เปิดรับคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
ผู้ประสงค์จะขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้อง ยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ (บภ.01) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้ทุกวันตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2549 ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ
(2) วิธีการยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
ผู้ประสงค์จะขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้อง ยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ (บภ.01) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เท่านั้น ภายในเวลาที่กำหนดตาม (1) และนำใบชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารในระบบ Teller Payment ที่ออกจากระบบการยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ ไปชำระเงิน ณ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ
ผู้ที่ยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรและชำระค่าธรรมเนียม การทดสอบเรียบร้อยแล้ว สามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินและใบแสดงวิชาที่ขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานภายหลังจากที่ได้ชำระค่าธรรมเนียม 3 วันทำการ
ข้อ 3 หลักฐานที่ต้องนำส่ง
(1) ผู้ยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่สำเร็จการศึกษาภายในประเทศไม่ต้องนำส่งเอกสารหลักฐานใด ๆ ต่อกรมสรรพากรจนกว่าจะผ่านการทดสอบครบ 3 วิชา และเป็นผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
(2) ผู้ยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศและขอเข้ารับการทดสอบครั้งแรก จะต้องนำส่งภาพถ่ายเอกสารอย่างละ 3 ชุด ดังต่อไปนี้ ทางไปรษณีย์ตอบรับไปที่ สำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร กรมสรรพากร เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 และวงเล็บมุมซองว่า ยื่นคำขอเข้าทดสอบผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิเข้ารับการทดสอบ
(ก) ปริญญาบัตร
(ข) ใบแสดงผลการศึกษารายวิชา (Transcript) ตลอดหลักสูตร
(ค) คู่มือการศึกษาตามหลักสูตรในปีที่เข้าศึกษา
เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตาม(ก) (ค) ที่จะต้องนำส่งต่อกรมสรรพากร ให้รับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อกำกับในเอกสารทุกฉบับ
ข้อ 4 เงื่อนไขในการยื่นคำขอเข้าทดสอบ
(1) ผู้ยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้องรับผิดชอบในการ ตรวจสอบและรับรองตนเองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีความผิดพลาดอันเกิดจากผู้ยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร หรือถ้าภายหลังการสมัครสอบ กรมสรรพากรตรวจพบว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ จะถือว่าการสมัครสอบหรือผลการทดสอบนั้นเป็นโมฆะ และจะไม่มีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
(2) ผู้ยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้องตรวจสอบวิชาที่ต้องการเข้ารับการทดสอบให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ เนื่องจากกรมสรรพากรจะไม่อนุญาตให้ท่านเพิ่ม ลด เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกวิชาที่ท่านแสดงความประสงค์ไว้ได้ และหากยื่นคำขอเข้าทดสอบวิชาที่ได้ผ่านเกณฑ์การทดสอบมาแล้ว กรมสรรพากรจะถือผลการทดสอบครั้งหลังเป็นเกณฑ์แทนผลการทดสอบครั้งก่อน (ไม่ว่าท่านจะเข้าทดสอบในวิชานั้นหรือไม่ก็ตาม)
(3) ผู้ยื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้องบันทึกข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนตามแบบคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ถูกต้องตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนที่ท่านถืออยู่ มิฉะนั้น ท่านจะไม่มีสิทธิเข้ารับการทดสอบ
(4) เมื่อท่านได้ชำระค่าธรรมเนียมการทดสอบแล้ว กรมสรรพากรจะไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการทดสอบให้
ข้อ 5 ค่าธรรมเนียมในการทดสอบ
ผู้ขอเข้ารับการทดสอบต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมในการทดสอบวิชาละ 500 บาท
ข้อ 6 เกณฑ์การตัดสิน
ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องสอบได้คะแนนในแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าผ่านการทดสอบ และสามารถสะสมผลการทดสอบของแต่ละวิชาที่สอบผ่านได้ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบ
ข้อ 7 การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการทดสอบ
กรมสรรพากรจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการทดสอบในวันที่ 25 สิงหาคม 2549 โดยผู้ขอเข้ารับการทดสอบสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) หรือที่ชั้นล่างอาคารกรมสรรพากร ซอยพหลโยธิน 7 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
ข้อ 8 ขอบเขตเนื้อหาวิชาที่ทำการทดสอบ และข้อปฏิบัติในการเข้ารับการทดสอบ
ขอบเขตเนื้อหาวิชาที่ทำการทดสอบ และข้อปฏิบัติในการเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามรายละเอียดที่แนบท้ายประกาศนี้
หากผู้เข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรทุจริตในการทดสอบหรือ ฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อปฏิบัติในการเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่แนบท้ายประกาศนี้ ผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิในการเข้าทดสอบ
(1) กรณีที่ผู้เข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรทุจริตในการทดสอบตามที่กำหนดไว้ตาม 2 ของข้อปฏิบัติในการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะไม่ได้รับการตรวจข้อสอบในครั้งที่ทุจริตและถูกตัดสิทธิในการเข้าทดสอบตลอดไป
(2) กรณีที่ผู้เข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ตาม 3 ของข้อปฏิบัติในการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะไม่ได้รับการตรวจข้อสอบ ในครั้งที่ฝ่าฝืน และจะถูกตัดสิทธิในการเข้าทดสอบเป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว
ข้อ 9 วัน เวลา และสถานที่ทดสอบ
วัน/เวลา
|
วิชา
|
สถานที่ทดสอบ
|
วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2549
เวลา 9.00-12.00 น.
|
การบัญชี
|
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ |
วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2549
เวลา 9.00-12.00 น.
|
การสอบบัญชี
|
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ |
เวลา 13.00-16.00 น.
|
ความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
|
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ |
ข้อ 10 การประกาศผลการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
กรมสรรพากรจะประกาศผลการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ครั้งที่ 11 (2/2549) ในวันที่ 30 ธันวาคม 2549 โดยผู้ขอเข้ารับการทดสอบสามารถตรวจสอบผลการทดสอบได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) หรือที่ชั้นล่างอาคารกรมสรรพากร ซอยพหลโยธิน 7 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน
อธิบดีกรมสรรพากร
******************************
ขอบเขตเนื้อหาวิชาที่ทำการทดสอบ ครั้งที่ 11 (2/2549)
1. วิชาการบัญชี ทดสอบความรู้การบัญชีเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน โดยครอบคลุมในเรื่องแม่บทการบัญชี การบันทึกบัญชี การจัดทำงบการเงินตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ.2544 ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2544 การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน มาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่าย การบัญชีต้นทุนผลิตสินค้า ทั้งนี้ ไม่รวมถึงมาตรฐานการบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดให้ใช้เฉพาะบริษัทมหาชน
2. วิชาการสอบบัญชี ทดสอบความรู้เกี่ยวกับการสอบบัญชีตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานและการรายงานสำหรับผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร โดยครอบคลุมถึงหลักฐานการสอบบัญชีและวิธีการรวบรวมหลักฐาน หลักพื้นฐานของการควบคุมภายใน การประเมินความเสี่ยง เทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการตรวจสอบบัญชี การจัดทำกระดาษทำการ แนวการตรวจสอบ การสอบทานและการควบคุมงานสอบบัญชี จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี
3. วิชาความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทดสอบความรู้เกี่ยวกับ
(1) ประมวลรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ หน้าที่เกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการ การนำส่งภาษี การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การจัดทำรายงานและบัญชีพิเศษตามประมวลรัษฎากร รวมถึงประกาศเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ประกาศและคำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
******************************
วิธียื่นคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
1. ขั้นตอนการยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ (บภ.01) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
1.1 เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th
1.2 คลิกเลือกหัวข้อ ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี และคลิกหัวข้อ ยื่นแบบ แล้วคลิกเลือก คำขอเข้าทดสอบ (บภ.01)
1.3 บันทึกชื่อ-ชื่อสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของท่าน แล้วคลิก ตกลง
1.4 หน้าจอจะแสดง ข้อตกลงในการยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อท่านยอมรับข้อตกลงดังกล่าวแล้วให้คลิก ตกลง
1.5 หน้าจอจะแสดงแบบ บภ.01 ดังนี้
1.5.1 กรณีเป็นผู้สมัครรายเก่า หน้าจอจะแสดงข้อมูลเดิมที่ท่านเคยสมัครไว้แล้ว ซึ่งท่านสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลตามที่ต้องการได้
1.5.2 กรณีเป็นผู้สมัครรายใหม่ ให้บันทึกข้อมูลในหน้าจอแบบ บภ.01 ให้ถูกต้องครบถ้วน
1.6 เมื่อบันทึกเรียบร้อยแล้ว ให้คลิก ตกลง หน้าจอจะปรากฏแบบ บภ.01 ตามที่ท่านได้บันทึก
ข้อมูลไว้ เพื่อให้ตรวจสอบอีกครั้ง
1.6.1 กรณีถูกต้อง ให้คลิก ยืนยัน เพื่อยืนยันการยื่นแบบฯ
1.6.2 กรณีต้องการแก้ไขรายการข้อมูลที่ได้บันทึกไว้แล้ว ให้คลิก ย้อนกลับ เพื่อกลับไปแก้ไขรายการข้อมูลให้ถูกต้องก่อน เมื่อตรวจสอบจนเป็นที่แน่ใจแล้วว่าถูกต้อง ให้คลิก ยืนยัน เพื่อยืนยันการยื่นแบบฯ
1.7 หน้าจอจะปรากฏข้อความ ข้าพเจ้าขอรับรองว่าข้อมูลตามแบบคำขอเข้าทดสอบดังกล่าวข้างต้นเป็นความจริงทุกประการ ให้คลิก OK
1.8 หน้าจอจะปรากฏ ใบชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารใน ระบบ Teller Payment ให้ท่านสั่งพิมพ์ใบชำระค่าธรรมเนียมฯ และนำไปชำระเงิน ณ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ เป็นอันเสร็จสิ้นการเข้าระบบการยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ
2. การชำระเงินค่าธรรมเนียมการทดสอบ
เมื่อทำรายการยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ (บภ.01) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว ให้พิมพ์ใบชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารในระบบ Teller Payment ที่ออกจากระบบการยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ นำไปชำระเงิน ณ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ ซึ่งท่านจะได้รับสำเนาใบรับชำระค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการจากธนาคารเป็นหลักฐาน
3. การพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน และใบแสดงวิชาที่ขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
ท่านสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อเรียกดูแบบคำขอเข้าทดสอบ(บภ.01) ใบชำระค่าธรรมเนียมฯ ใบเสร็จรับเงินและใบแสดงวิชาที่ขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และสั่งพิมพ์เก็บไว้เป็นหลักฐานในการสมัคร ภายหลังจากที่ได้ชำระเงินค่าธรรมเนียม 3 วันทำการ ดังนี้
3.1 เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th
3.2 คลิกเลือกหัวข้อ ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี และคลิกหัวข้อ ยื่นแบบ แล้วคลิกเลือก สถานะการยื่นแบบฯ/พิมพ์ใบเสร็จ
3.3 บันทึกชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของท่าน แล้วคลิก ตกลง
3.4 หน้าจอจะปรากฏสถานะการยื่นแบบฯ ซึ่งท่านสามารถสั่งพิมพ์แบบ บภ.01 ใบชำระค่าธรรมเนียมฯ หรือใบเสร็จรับเงินและใบแสดงวิชาฯ ได้ในหน้าจอนี้
4. หลักฐานที่ต้องนำส่ง
4.1 ผู้ขอเข้ารับการทดสอบที่สำเร็จการศึกษาภายในประเทศ ไม่ต้องนำส่งเอกสารหลักฐานใด ๆ ต่อกรมสรรพากรจนกว่าจะผ่านการทดสอบครบ 3 วิชา และเป็นผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
4.2 ผู้ขอเข้ารับการทดสอบที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศและขอเข้ารับการทดสอบครั้งแรกจะต้องนำส่งภาพถ่ายเอกสารอย่างละ 3 ชุด ดังต่อไปนี้
4.2.1 ปริญญาบัตร
4.2.2 ใบแสดงผลการศึกษารายวิชา (Transcript) ตลอดหลักสูตร
4.2.3 คู่มือการศึกษาตามหลักสูตรในปีที่เข้าศึกษา
เอกสารหลักฐานดังกล่าวข้างต้น ผู้ขอเข้ารับการทดสอบต้องรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมลงลายมือชื่อกำกับลงในเอกสารข้างต้น บรรจุซองจดหมาย วงเล็บมุมซองว่า ยื่นคำขอเข้าทดสอบผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และนำส่งภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบ มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิเข้ารับการทดสอบ โดยกรมสรรพากรจะถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับจดหมายเป็นสำคัญ และส่งไปยัง
สำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร กรมสรรพากร
เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 |
หมายเหตุ
1. ผู้ยื่นแบบคำขอเข้าทดสอบผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะสามารถเข้าระบบ เพื่อยื่นแบบคำขอฯ ได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น ก่อนการคลิก ตกลง ขอให้ท่านตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ให้ถูกต้องครบถ้วน
2. กรณีต้องการขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล หรือเลขประจำตัวประชาชนที่ได้บันทึกไว้แล้วตามแบบ บภ.01 ให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขด้วยแบบ บภ.03 ทางอินเทอร์เน็ต ก่อนวันเข้าทดสอบ
3. หากท่านมีปัญหาในการสมัคร ท่านสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์
0-2272-9170 ในวันเวลาราชการตั้งแต่เวลา 8.30 น.-16.30 น.
******************************
ข้อปฏิบัติในการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ครั้งที่ 11 (2/2549)
1. ผู้เข้ารับการทดสอบต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือระบุอยู่ไปในวันทดสอบทุกครั้ง หากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเลขประจำตัวประชาชนในเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับข้อมูลการยื่นแบบ บภ.01 กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมการทดสอบจะไม่อนุญาตให้เข้าทดสอบ
2. ห้ามนำเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอบในวิชานั้นเข้าห้องสอบเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีเจตนาทุจริตในการทดสอบ และไม่ได้รับการตรวจข้อสอบในครั้งที่ทุจริต และถูกตัดสิทธิในการเข้าทดสอบตลอดไป
3. ห้ามนำแบบทดสอบ กระดาษคำตอบ สมุดคำตอบ และเอกสารอื่นใด และคัดลอกแบบทดสอบ ออกจากห้องสอบ รวมถึง ห้ามเปิดสัญญาณเครื่องมือสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดในห้องสอบ (ให้นำไว้ใต้ที่นั่งสอบ) หากฝ่าฝืนจะถือว่าทำการทุจริตในการทดสอบจะไม่ได้รับการตรวจข้อสอบในครั้งที่ฝ่าฝืนและจะถูกตัดสิทธิในการเข้าทดสอบเป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ฝ่าฝืนข้อห้ามนี้
4. การแต่งกาย ผู้เข้ารับการทดสอบต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิเข้ารับการทดสอบ
(1) ผู้หญิงให้สวมเสื้อ กระโปรงหรือกางเกงทรงสุภาพ รองเท้าหุ้มส้น รัดส้น หรือส้นสูง
(2) ผู้ชายให้สวมเสื้อ กางเกง โดยสอดชายเสื้อไว้ในกางเกง และสวมรองเท้าหุ้มส้น
5. การเดินทางถึงสถานที่ทดสอบ
(1) ผู้เข้ารับการทดสอบควรไปถึงสถานที่ทดสอบก่อนเวลาทดสอบแต่ละวิชาไม่น้อยกว่า 30 นาที แต่จะเข้าห้องสอบได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบแล้ว
(2) ผู้เข้ารับการทดสอบที่ไปถึงห้องสอบหลังจากเริ่มทดสอบวิชาใดไปแล้ว 30 นาที จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทดสอบในวิชานั้น
(3) เมื่อไปถึงสถานที่ทดสอบให้ตรวจดูผังที่นั่งสอบที่ป้ายประกาศ และผังที่นั่งสอบที่ติดไว้ที่หน้าห้องสอบว่าสอบที่ห้องใด ชั้นใด ตึกใด ถ้าไปผิดสถานที่จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบ
6. ห้ามนำเครื่องคำนวณเลขที่มีขีดความสามารถเกินกว่าการคำนวณเลขเข้าห้องสอบ (อนุญาตให้ใช้เครื่องคำนวณเลขที่มีขีดความสามารถในการบวก ลบ คูณ หาร ถอดรูท และคิดเปอร์เซ็นต์เท่านั้น)
7. กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการทดสอบ ให้ติดต่อกองกลางประจำอาคารทดสอบนั้นๆ ก่อนเวลาเข้าห้องสอบ
8. อุปกรณ์การสอบ ผู้เข้ารับการทดสอบต้องจัดเตรียม ดินสอดำ 2B ยางลบ ปากกาหมึกสีน้ำเงิน และอุปกรณ์สำหรับใช้ในการทดสอบ มาให้พร้อม
9. เมื่อเข้านั่งในห้องสอบและก่อนลงมือทำข้อสอบ
(1) วางบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐบนโต๊ะเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจ
(2) กรอกรายละเอียดในกระดาษคำตอบปรนัย และปกสมุดคำตอบตามที่กำหนดให้ถูกต้องครบถ้วน ดังนี้
- กระดาษคำตอบปรนัย ให้กรอกข้อความลงในช่องว่างที่กำหนดด้วยปากกาหมึกสีน้ำเงินหรือดินสอดำ2B และใช้ดินสอดำ 2B ระบายในวงกลมของเลขประจำตัวสอบ แถว ที่นั่งสอบ รหัสแบบทดสอบ โดยเริ่มจากช่องซ้ายสุดของกระดาษคำตอบ
- สมุดคำตอบอัตนัย ให้กรอกข้อความลงในช่องว่างที่กำหนดไว้บนปกสมุดคำตอบด้านซ้ายมือด้วย ปากกาหมึกสีน้ำเงินเท่านั้น และห้ามเขียนคำตอบบนปกสมุด
- หากไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดข้างต้น จะไม่ตรวจกระดาษคำตอบของท่าน
(3) ลงลายมือชื่อผู้เข้ารับการทดสอบในบัญชีลงลายมือชื่อผู้เข้ารับการทดสอบที่เจ้าหน้าที่กำหนด
10. การทำข้อสอบ
(1) ข้อสอบปรนัยที่มีกระดาษคำตอบให้ระบายคำตอบในวงกลมด้วยดินสอดำ 2B
(2) ข้อสอบอัตนัยที่กำหนดให้ตอบในสมุดคำตอบ ให้เขียนคำตอบแต่ละข้อในสมุดคำตอบแต่ละเล่มตามสีที่กำหนดด้วยปากกาหมึกสีน้ำเงินเท่านั้น และห้ามฉีกกระดาษคำตอบออกจากเล่ม
(3) ห้ามเขียนชื่อ นามสกุล หรือทำเครื่องหมายใด ๆ ลงในกระดาษคำตอบหรือสมุดคำตอบ เว้นแต่ที่กำหนดไว้ให้
(4) หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม (2) - (3) กรรมการจะไม่ตรวจกระดาษคำตอบของท่าน
11. การส่งกระดาษคำตอบและสมุดคำตอบ
(1) ยกมือให้สัญญาณเพื่อส่งกระดาษคำตอบ สมุดคำตอบ แบบทดสอบให้แก่เจ้าหน้าที่ และรออยู่ที่โต๊ะจนกว่าเจ้าหน้าที่จะเก็บเอกสารดังกล่าวพร้อมทั้งให้ลงลายมือชื่อส่งเอกสารก่อนออกจากห้องสอบ
(2) เมื่อหมดเวลา และกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบสั่งให้หยุดเขียนคำตอบ จะต้องหยุดทันที แต่จะออกจากห้องสอบได้ต่อเมื่อกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบได้อนุญาตแล้ว
หมายเหตุ ให้ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ที่แจ้งต่อกรมสรรพากรให้ถูกต้อง หากมีข้อผิดพลาดให้ยี่นคำร้องขอแก้ไขตาม แบบ บภ.03 ทางอินเทอร์เน็ต หรือหากมีข้อสงสัยให้ติดต่อที่ โทร. 0-2272-8188 ในวันและเวลาราชการก่อนวันเข้าทดสอบ
|