 |
|
ธนาคารกลางพม่าได้ออกกฎใหม่เกี่ยวกับเงินสำรองของธนาคารเอกชนและสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งทุกแห่งจะต้องมีเงินทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเป็น 10 เท่าของเงินฝาก เพื่อลดอัตราเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การล้มละลายของสถาบันการเงิน | |
 |
สถาบันการเงินเหล่านั้น ซึ่งให้บริการด้านการเงินธุรกิจบ้านจัดสรร การก่อสร้าง การค้าและการผลิต ได้เสนอดอกเบี้ยสูงถึง 5% ให้แก่ผู้ฝากเงินโดยไม่จำกัดจำนวน หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยถึง 60% ต่อปี ซึ่งสูงเป็น 6 เท่าจากอัตราที่กำหนดโดยธนาคารกลาง หลังการล้มละลายของสถาบันการเงินเหล่านั้น วิกฤตการณ์ก็ได้ลามไปสู่ธนาคารของธนาคารเอกชนหลาย ผู้ฝากเงินเกิดตื่นตระหนกเกรงว่าธนาคารจะล้มตามกันไป ฝูงชนแห่ไปถอนเงินจากธนาคารเกือบจะหมดเกลี้ยง เงินสำรองมีไม่พอจ่าย ทำให้ธนาคารทั่วประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติเช่นเดียวกัน ในเดือน มี.ค.2548 ทางการได้สั่งปิดธนาคารเอกชน 2 แห่งคือ ธนาคารเอเชียเวลท์ (Asia Wealth Bank) กับ ธนาคารเมียนมาร์เมย์ฟลาวเวอร์ (Myanmar Mayflower Bank) หลังจากพบว่ามีเส้นสายโยงใยกับขบวนการฟอกเงิน ต่อมาในเดือน ส.ค. ปีเดียวกันธนาคารเมียนมาร์ยูนิเวอร์แซลแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนใหญ่อีกแห่งหนึ่งก็ถูกปิดอีกแห่ง ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน ทางการพม่าได้ถ่ายโอนกิจการธนาคารไปเป็นของรัฐทั้งหมดในปี 2506 ภายใต้รัฐบาลของนายพลเนวินแต่หลังจากที่ประเทศได้เริ่มยอมรับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดในปี 2531 ก็ได้อนุญาตให้ธนาคารเอกชนเปิดดำเนินการได้อีกครั้งหนึ่งในปี 2535 ซึ่งตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีธนาคารแห่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งในครั้งหนึ่งเคยมีถึง 20 แห่งทั่วประเทศ มีสาขารวมกันถึง 350 สาขา แต่หลังจากนั้นในช่วงหนึ่งทางการได้เข้าควบรวมกิจการธนาคาร 3 แห่งและรวมธนาคารสหกรณ์อีก 3 แห่งเข้าด้วยกัน เมื่อสิ้นปี 2548 จึงเหลือธนาคารเอกชนทั่วประเทศอยู่ 15 แห่ง อย่างไรก็ตามยังคงมีธนาคารของรัฐบาลอีก 5 แห่ง ซึ่งได้แก่ ธนาคารกลาง ธนาคารเศรษฐกิจพม่า (Myanmar Economic Bank) ธนาคารการค้าต่างประเทศพม่า (Myanmar Foreign Trade Bank) ธนาคารเพื่อการพาณิชย์และการลงทุน (Myanmar Investment and Commercial Bank) กับธนาคารเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท (Myanmar Agricultural and Rural Development Bank) ทางการพม่ายังคงควบคุมวาณิชย์ธนกิจต่างๆ อย่างใกล้ชิด เมื่อปีที่แล้วทางการได้สั่งห้ามการโอนเงินจากต่างประเทศโดยไม่ผ่านระบบธนาคารปกติ อีกทั้งยังสั่งเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์และเงินสกุลจั๊ต ในขณะที่การค้าข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนกับไทย กำลังเฟื่องฟู.
โดย ผู้จัดการออนไลน์ |
12 กรกฎาคม 2549 21:04 น. |
|