ผู้ปกครองทหารเมียนมาร์เริ่มการโยกย้ายในกองทัพและรัฐบาล เพื่อเตรียมการโอนถ่ายอำนาจทางการเมืองไปสู่มือพลเรือน ทั้งนี้จากแหล่งข่าวทางการทูตในนครยานกอน
เมื่อเร็ว ๆ มีการผ่องถ่าย*รัฐมนตรีช่วย และผู้พิพากษาศาลสูงแปดคน ออกจากตำแหน่งเดิม และคาดกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในคณะรัฐบาลอีกหลายราย ตามมาในเร็ว ๆ นี้
(*มาจากคำว่า relieved ต่างจากไล่ออก ปลด หรือถีบหัวส่ง (fired, sacked or kicked out) เล็กน้อย คือผู้เขียนจงใจใช้คำ ให้ดูมีเจตนาเหมือนปลดจากตำแหน่ง แต่คาดว่าจะจากกันด้วยดี คือหากไม่ได้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม ก็โยกย้ายไปรับตำแหน่งอื่น)
นับเป็นการเริ่มต้นความพยายาม ที่จะเปลี่ยนสภาเพื่อสันติสุข และการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC-State Peace and Development Council ซึ่งก็คือ คณะปฏิวัติ นั่นเอง) เป็นองค์การพลเรือน เพื่อเตรียมการไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รองรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายพลตานฉ่วย ประธาน SPDC ก็มีแผนจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองขนานใหญ่ รวมไปถึงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ยกเลิกการที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือแทรกแซงวิสาหกิจเอกชนที่อ่อนแอ
แหล่งข่าวทางการทูตกล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดไปพ้องกับการรณรงค์ปราบปรามคอร์รับชั่นของรัฐบาลเข้าพอดี เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการจับกุมคุมขังเจ้าหน้าที่ศุลกากรระดับสูงหลายคน รวมทั้งอธิบดีผู้รับผิดชอบ และคาดว่าจะมีการส่งฟ้องศาลในเร็ววันนี้ การสอบสวนพบว่าการคอร์รับชั่นครั้งนี้ พัวพันไปถึงอีกหลายคนในกระทรวงเศรษฐการและธนาคารชาติ
การเปลี่ยนตัวบุคคลครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบหลายเดือนมานี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ก็มีการปรับเปลี่ยนตัว 2 รมช. ข่าวสาร คือเตงเส่ง กับพลจัตวา อ่องเตง ออกจากตำแหน่งโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ พลโท ขิ่นหม่องวิน รมช.กลาโหม, มยินต์เตง รมช.เหมืองแร่, พลจัตวา โสววินหม่อง รมช.วัฒนธรรม, พลจัตวา ตันตุน รมช.กิจการเขตชายแดน ชนชาติ และการพัฒนา, เตงตุน รมช.อุตสาหกรรม และเปเตง รมช.ขนส่ง ก็ถูกแนะให้เกษียณอายุ
ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศ รายชื่อผู้จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นการทดแทน แต่แหล่งข่าวในยานกอนกล่าวว่า คนเหล่านั้นน่าจะได้รับเลือกมาจากคนรุ่นใหม่ ที่จบมาจากวิทยาลัยป้องกันประเทศ (วปอ.เมียนมาร์) แต่นักการทูตอาวุโสเอเชียผู้หนึ่ง ที่คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้ดีกล่าวว่า มันเป็นเพียงการลิดรอนอำนาจของนายพลหม่องเอ ผู้นำหมายเลข 2 แห่ง SPDC เท่านั้น
เพราะหลังจากปลดนายพลขิ่นยุนต์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองแห่งชาติที่ทรงอำนาจ ออกไปเมื่อเดือนตุลาคม 2004 แล้ว ก็เหลือเพียงหม่องเอเท่านั้น ที่ถูกมองว่าจะขึ้นมาเทียบรัศมีตานฉ่วย หม่องเอกับขิ่นยุนต์ได้ชื่อว่าวิ่งเต้นเพื่อรักษาอำนาจในสภา SPDC มาตลอดหลายปีแล้ว ดังนั้นพวกนักการทูตดังกล่าวจึงมองว่า นี่เป็นการขลิบปีกหางของหม่องเอในรัฐบาล
ตัวอย่างเช่น ในการประชุม SPDC ไตรมาสที่ผ่านมานี้ (ปลายปีกลาย) ที่กรุงปิ่นมานา ที่คณะทหารตัดสินใจย้ายอย่างปุบปับ ผู้บัญชาการทหารประจำภาคต่าง ๆ หลายนายที่ภักดีต่อหม่องเอก็ถูกย้าย
วินมิน นักวิเคราะห์ปัญหาในเมียนมาร์ ซึ่งประจำอยู่ที่เชียงใหม่กล่าวว่า เขาก็ใช้วิธีการแบบเดิม ๆ คือจับลูกกะโล่ให้ชนกันเข้าไว้ เพื่อจะได้ถ่วงดุลอำนาจนั่นเอง
ประชาธิปไตยที่มีคณะปฏิวัตินำ
พอกองบัญชาการทหารและรัฐบาล เริ่มลงหลักปักฐานในนครหลวงแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ตานฉ่วยก็หันมาสนใจอนาคตทางการเมืองของประเทศ การปฏิรูปทางการเมือง ที่คณะทหารเรียกว่ากระบวนการปรองดองแห่งชาติ ถูกเตะถ่วงมานานพอควร ส่วนหนึ่งเพราะการย้ายเมืองหลวง ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการล้างบางในองคาพยพฝ่ายข่าวกรอง จากการที่ขิ่นยุนต์ถูกปลดดังกล่าว
มีรายงานข่าวว่ามีผู้สนับสนุนขิ่นยุนต์เป็นร้อย ๆ ถูกส่งเข้าคุกด้วยข้อหาต่าง ๆ นานา ทั้งการคอร์รับชั่นและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ตานฉ่วยก็หมกมุ่นอยู่แต่การรวบรวมอำนาจทางทหารและรัฐบาล เข้ามาให้กำมือของตน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็มีกำหนดจะประชุมกันอีกในปีนี้ ขณะเดียวกัน เญียนวิน รัฐมนตรีต่างประเทศก็บอกกับรัฐมนตรีในกลุ่มอาเซียน เมื่อเดือนเมษายนนี้ว่า รัฐธรรมนูญจะยังไม่แล้วเสร็จ ภายใน 2 ปีนี้แน่ ๆ
หากรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ (ตามแผนการที่ SPDC เรียกว่า แผนที่สู่ประชาธิปไตย) ก็จะมีมาตรากำหนดให้มีการแสดงประชามติ และจัดให้มีการเลือกตั้งหลังจากนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาร์ครั้งที่แล้ว กลุ่มฝ่ายค้านของพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย และพวกเขาก็ยังยืนยันให้เคารพต่อผลการลงคะแนนในครั้งนั้น
แต่มีเครื่องบ่งชี้ว่า SPDC จะปฏิรูปการเมืองของประเทศ ไปโดยไม่ให้ NLD เข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทหารเพิ่มการรังควาญพวก NLD มากขึ้น หมายกำจัดพรรคการเมืองสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย และลิดรอนแขนขาของกลุ่มขบถชนชาติส่วนน้อยต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลไปแล้ว
ขณะเดียวกัน คาดว่าในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ตานฉ่วยอาจจะยอมสละเก้าอี้หนึ่ง หรือสองตัว ในจำนวนทั้งหมด 3 ตัว ที่สำคัญที่สุดของเขา อันได้แก่ประธาน SPDC, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, และรมต.กลาโหม
นักการทูตจากเอเชียผู้หนึ่งในยานกอนเผยว่า เราคาดว่า ในการโยกย้ายครั้งนี้ ตานฉ่วยจะลาออกจากตำแหน่งรมต.กลาโหม
ในเวลาเดียวกัน ก็มีการคาดว่าในอีกไม่กี่เดือนนี้ SPDC จะเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นสภาเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Democracy and Development Council - SDDC) เพื่อบอกใบ้ว่ากำลังโอนอำนาจไปสู่พลเรือน นับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจ คณะปฏิวัติก็เปลี่ยนชื่อจากสภาเพื่อการฟื้นฟูขื่อแปแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) มาเป็น SPDC ในปี 1997 ดังนั้น หลังจากนั้นมาอีก 9 ปี จะเปลี่ยนมาเรียกชื่อใหม่อีกครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเลข 9 เป็นเลขถูกโฉลกกับโหราศาสตร์ของพม่าอยู่แล้ว
คาดว่าความคิดดังกล่าวจะเป็นแบบนี้คือ สภาชุดนี้จะยังควบคุมอยู่เหนือสุด คอยดูแลองคาพยพทั้งทางทหารและรัฐบาลพลเรือน สภาการทหาร จะเข้ามาแทนที่กองบัญชาการทหาร ที่ปัจจุบันนำโดยนายพลธูระฉ่วยมานน์ แต่ตานฉ่วยต้องมีส่วนช่วยในองคาพยพนี้เหมือนเก่า
วินมินให้ความเห็นว่า เข้าใจว่าทางจีนคงเห็นด้วยกับแนวคิดนี้แล้ว และหลังจากลาออกจากรัฐบาล และตำแหน่งทั้งหมดในพรรคแล้ว ตานฉ่วยก็มีแผนจะเจริญรอยตามรอยเท้าเติ้งเสี่ยวผิง (ผู้นำจีนผู้ล่วงลับไปแล้ว)
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือพลเรือนจนครบแล้ว คือหากมีนายทหารคนใดเข้ามาเป็นสมาชิกในครม. จะต้องลาออกจากตำแหน่งทางทหารโดยอัตโนมัติ แม้แต่นายกรัฐมนตรีโสววิน ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งทหารทหารเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
ฝ่ายเจ้าหน้าที่จีนเชื่อว่า ตานฉ่วยจะต้องลงจากตำแหน่งทางทหารในปีนี้เช่นกัน เพราะคาดว่าเขาจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพลเรือน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ท่านคงต้องการเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพ แหล่งข่าวทางทหารที่ใกล้ชิดผู้หนึ่งกล่าว
ถึงแม้ว่าทหารรุ่นใหม่ จะก้าวขึ้นมาดูแลการบริหารประเทศประจำวัน และควบคุมเส้นทางสู่ระบอบประชาธิปไตย ให้ดำเนินไปตามขั้นตอนทั้ง 7 ตานฉ่วยก็จะยังคงกุมอำนาจอยู่หลังบัลลังก์ต่อไปตามเดิม
โดย แลร์รี่ จากัน |
4 กรกฎาคม 2549 16:11 น. |