ไร้ทางแก้ค้าชายแดนแม่สอด วูบ 30 ล้าน/วัน 
ค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านแม่สอดสูญวันละกว่า 30 ล้าน หลังพม่าคุมเข้มสินค้านำเข้า ล่าสุด จับผู้นำเข้าชาวบ้านด้านเมียวดีไปแล้วถึง 23 คน ยึดสินค้าต้องห้าม / สั่งห้ามเคลื่อนย้ายสินค้านอกรายการ ต้องห้ามที่ตรวจพบมหาศาล พร้อมเตรียมลุยค้นโกดังสินค้าทุกแห่งวันพรุ่งนี้ (28 ก.ค.) รัฐ/เอกชนไทยในพื้นที่ชายแดนตากยังไร้ทางออก แก้ปัญหาสินค้าตกค้าง ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตาก ว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่หอการค้าจังหวัดตาก ได้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย นายอำพล ฉัตรไชยากฤษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก นายวุฒิชัย วงษ์นาคเพ็ชร์ พาณิชย์จังหวัดตาก และ นายกฤษฎา ทองธรรมชาติ นายด่านศุลกากรแม่สอด พร้อมทั้งสมาชิกหอการค้าและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบร่วมหารือ เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขกว่า 30 คน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการค้าชายแดนระหว่าง ไทย-พม่า ด้านอ.แม่สอด จ. ตาก นายบรรพจน์ ก่อเกียรติเจริญ รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก ที่ได้รับมอบหมายให้ประสานข้อมูลจากผู้ประกอบการทั้งในฝั่งไทยและพม่า สรุปได้ว่า ในความสัมพันธ์การค้าระหว่างไทย-พม่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สิ่งของที่เคยสั่งซื้อและนำเข้าจากไทย ด้าน อ.แม่สอด ถูกกีดกัน โดยก่อนหน้านี้ หอการค้าได้ประชุมผู้ประกอบการและแจ้งเตือนไปแล้ว แต่ระยะแรกไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก กระทั่งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปัญหาภายในประเทศของพม่า โดยเจ้าหน้าที่ของพม่าได้เข้มงวดสินค้าห้ามนำเข้าประเทศ 15 รายการ และเข้าตรวจค้นสินค้าตามโกดังหลายแห่ง ในเมืองเมียวดี และอีกหลายเมือง ที่มีสินค้านำเข้าจากไทย และจับกุมนักธุรกิจ ผู้ประกอบการพม่าไปแล้ว 23 คน รวมทั้งเรียกตัวประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี ไปสอบสวนที่เมืองย่างกุ้ง เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านเช่นกัน จนกระทั่งปัจจุบัน ยังติดต่อไม่ได้ คาดว่า อาจจะถูกควบคุมตัวโดยทางการทหารพม่าก็ได้ ทั้งนี้ มีข่าวลือว่า ทางการทหารของพม่าจะเอกซเรย์ โกดังเก็บสินค้าทุกพื้นที่ วันพรุ่งนี้ (28 ก.ค.) โดยเฉพาะพื้นที่ยึดครองของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ส่วนมากผู้ประกอบการนำสินค้าไปเก็บไว้ ทำให้ผู้ประกอบของไทย วิตกว่า หากสินค้าถูกทางการทหารพม่ายึด จะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่สินค้าที่ส่งออกเป็นเงินเชื่อ หากถูกยึดและผู้ประการฝั่งพม่าถูกจับ จะทำให้สูญเสียรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้หารือเพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา สินค้าที่ส่งออกไปแล้ว และที่ยังคงตกค้างอยู่ฝั่งไทยว่าจะสามารถนำกลับคืนได้หรือไม่ นายกฤษฎา ทองธรรมชาติ นายด่านศุลกากรแม่สอด ชี้แจงว่า สินค้าที่ส่งออก นอกประเทศผ่านด่านศุลกากรแม่สอด มีสินค้าที่ผ่านพิธีการศุลกากรต่างกัน บางอย่างเป็นสินค้าคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม บางอย่างเป็นสินค้าส่งเสริมการส่งออก และสินค้าส่งออกชดเชยและสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรม สินค้าทั้งหมด เมื่อผ่านพิธีการทางศุลกากรออกนอกราชอาณาจักรแล้ว ไม่สามารถนำกลับเข้าประเทศได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นสินค้าส่งออก ที่ยกเว้นภาษี มีราคาต่ำกว่าสินค้าตามท้องตลาด หากนำย้อนกลับเข้ามาจะทำให้มีราคาถูกกว่าปกติ ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายได้ แต่ก็มีทางเป็นไปได้ว่า จะนำสินค้าบรรทุกไว้บนเรือแพ จอดชิดริมตลิ่งฝั่งไทยไว้ก่อนไม่นำขึ้นฝั่งถือว่ายังไม่นำกลับเข้าราชอาณาจักร ส่วนของที่ตกค้างในคลังสินค้า หากที่ด่านศุลกากรแม่สอด ยังไม่ได้บันทึกว่าเป็นสินค้าส่งออกไปแล้ว ให้ตรวจรับกลับคืนไปได้ แต่หากตรวจและลงบันทึก ว่า เป็นสินค้าที่ส่งออกไปแล้ว ยังไม่ได้ขนข้ามไปยังฝั่งพม่าให้เก็บไว้ในคลังสินค้าก่อน ซึ่งตามระเบียบแล้วไม่สามารถทำได้ แต่ในส่วนนี้ได้นำเรียนอธิบดีกรมศุลกากรอนุโลมให้ เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกสินค้าไปยังฝั่งพม่าจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
|
|
 |
 | ด้านนายวุฒิชัย วงษ์นาคเพ็ชร์ พาณิชย์จังหวัดตาก กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า มูลค่าการค้าชายแดนด้านแม่สอด ลดลงอย่างมาก จากที่มีมูลค่าส่งออกกว่า 1,100 ล้านบาท เหลือเพียง 733,137,812 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งที่ผ่านมาเตรียมที่จะจัดประชุมระหว่างนักธุรกิจชาวไทยและพม่า ในวันที่ 2 กันยายน 2549 เพื่อกระชับสัมพันธ์การค้าร่วมกันในระดับท้องถิ่น โดยได้มีการประสานทุกฝ่ายไว้แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดีได้ อีกทั้งในวันที่ 20-26 สิงหาคม 2549 คณะผู้บริหารจังหวัดตากจะเดินทางไปเมืองย่างกุ้ง เพื่อศึกษาเส้นทางสินค้าของไทย ว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการกีดกันสินค้าจากไทย สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในพม่า แต่ไม่ใช่เกิดจากภาคธุรกิจเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย แต่เป็นเรื่องของฝ่ายบ้านเมืองของพม่าเอง ซึ่งจะได้รายงานไปยังหน่วยเหนือ เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า หากปล่อยให้การค้าชายแดนระหว่างไทย - พม่า เกิดภาวะชะงักงัน ผู้ประกอบการไม่สามารถค้าขายกันได้ตามปกติ จะทำให้เกิดความเสียหายถึงวันละกว่า 30 ล้านบาท เบื้องต้น นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องสินค้าที่คงค้างในฝั่งไทยและตามแนวชายแดนฝั่งพม่า ว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนอย่างไร จะต้องมีการเข้าไปเชื่อมสัมพันธ์กับทางการพม่า ต้องเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติของทางการพม่า เพราะถ้าหากใช้เวลานานจนกว่าสถานการณ์คลี่คลายไปเอง ก็ยังไม่ทราบว่านานเท่าไร อาจจะ 1-3 เดือน หรือมากกว่านั้น ยิ่งทำให้เกิดความเสียหาย ต่อเศรษฐกิจชายแดนและในการส่งออกในภาพรวมอย่างมหาศาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเข้าตรวจค้นสินค้าของผู้ประกอบการฝั่งพม่าในโกดังต่างๆ รวมถึงการเข้มงวดสินค้าที่นำเข้ามาจากฝั่งไทย รวมทั้งที่นำเข้าจากประเทศจีน จะพุ่งเป้าไปที่สินค้าต้องห้าม 15 รายการ ที่พม่าห้ามนำเข้าประเทศ ดังนี้คือ ผงชูรส น้ำหวาน/เครื่องดื่ม ขนมปังกรอบทุกชนิด หมากฝรั่ง ขนมเค้ก ขนมเวเฟอร์ ช็อกโกแลต อาหารกระป๋อง (ที่ทำจากเนื้อสัตว์และผลไม้) เส้นหมี่ทุกชนิด เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลไม้สดทุกชนิด ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้ในครัวเรือนและใช้ส่วนตัวทุกชนิด และสินค้าควบคุมการนำเข้า โดยกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งสินค้าต้องห้ามส่วนใหญ่ข้างต้น เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ มีการสั่งซื้อจากไทยจำนวนมากเช่นกัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เชื่อว่า การเข้มงวดนำเข้าสินค้าต้องห้าม 15 รายการของพม่า เนื่องจากการเหตุผลทางการเมืองภายในของพม่า ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการทหารเกือบทั้งหมด ซึ่งหากมีการตรวจพบสินค้าต้องห้าม ตามที่กำหนด ทางการทหารพม่าจะยึดและขนย้ายไปพื้นที่ชั้นในทันที ส่วนสินค้าที่นอกเหนือจากสินค้าต้องห้าม ที่อยู่ในโกดังเก็บสินค้าในประเทศพม่า จะไม่มีการตรวจยึดแต่ห้ามเคลื่อนย้ายจนกว่าจะได้รับอนุญาต ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ผู้ประกอบการที่ใช้โทรศัพท์ไปยังพม่า มีสัญญาณคล้ายถูกดักฟัง และล่าสุดมีผู้ประกอบการจำนวนหลายรายไม่สามารถติดต่อนักธุรกิจพม่า โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ ได้ คาดว่า จะมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ระหว่างกัน ทำให้ตอนนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างขาดการติดต่อกันอย่างสิ้นเชิง |
โดย ผู้จัดการออนไลน์ |
27 กรกฎาคม 2549 14:11 น. | |