|
นางออง ซาน ซู จี ที่ยังคงถูกขังอยู่ภายในบ้านพักมานานกว่า 10 ปี ในระยะ 17 ปีที่ผ่านมานี้ | |
 |
 |
เหตุการณ์ก็ได้ลุกลามไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทางการสั่งปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด ห้ามการชุมนุมประท้วง การปราศรัย ประกาศนี้ครอบคลุมพื้นที่กรุงย่างกุ้งทั้งหมด แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมในเมืองอื่นๆ ของพม่า รัฐบาลทหารถูกกดดันให้ต้องออกมายอมรับเรื่องการเสียชีวิตของนักศึกษา 41 คน ส่งผลกระทบสำคัญถึงขั้นนายพลเนวินประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า และได้ลงมติให้นายพลเส่งลวิน ขึ้นเป็นผู้นำพรรคแทน ในวันที่ 27 ก.ค.2531 เส่ง ลวิน ขึ้นรับตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า นำไปสู่ความขัดแย้งภายใน เนื่องจากเส่ง ลวินไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน 3 สิงหาคม 1988 2531 เส่ง ลวินประกากฎอัยการศึกเพื่อยุติการประท้วง แต่ไม่อาจหยุดยั้งความไม่พอใจของสาธารณชนได้ นักศึกษาประชาชนและพระสงฆ์ลุกฮือขึ้นจัดการชุมนุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้อง ให้ขับไล่เส่ง ลวิน ให้พ้นจากตำแหน่ง ให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ยุติการกดขี่สิทธิเสรีชน และคืนเสรีภาพแก่ประชาชน ผู้ชุมนุมได้ประกาศวันดีเดย์ในการประท้วงทั่วประเทศคือวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ซึ่งประชาชนต่างขานรับและออกจากบ้านพร้อมกัน เสียงเพลงจากนักศึกษาประชาชนดังกึกก้องขึ้นว่า "เรารักพวกท่าน ท่านเป็นพี่น้องเรา เราต้องการอิสรภาพ พวกท่านเป็นทหารของประชาชน โปรดมาอยู่ข้างเราเถิด เราเพียงต้องการ อิสรภาพเท่านั้น" กลางดึกของคืนนั้น กองทหารติดอาวุธครบมือเริ่มปฏิบัติการณ์สังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 4 วัน โดยระดมยิงเข้าไปในฝูงชน ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นเกือบหมื่น ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็น "กบฏคอมมิวนิสต์" อย่างไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้นแล้วบทบาททางด้านการปกครองก็ยังคงตกอยู่ในมือของกลุ่มทหาร มีการแต่งตั้งผู้นำพลเรือนขึ้นเป็นหุ่นเชิด 12 ส.ค.2531 เส่ง ลวิน ลาออกจากการเป็นผู้นำรัฐบาล และ ดร.หม่อง หม่อง อดีตผู้พิพากษาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายพลเนวิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า 18 ก.ย.1988 กลุ่มทหารนำโดยนายพลซอหม่อง (Saw Maung) ยึดอำนาจการปกครอง ประกาศตั้งสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) สมาชิกของคณะปฏิวัติ ประกอบด้วยนายทหารระดับนำจำนวน 21 นายซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารผู้ใกล้ชิดกับนายพลเนวิน ต่อมาบทบาทของผู้นำประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซู จี ก็ปรากฏขึ้น เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2531 โดยเข้าร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (National League of Democracy - NLD) และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2533 พรรคเอ็น แอล ดี ชนะแบบถล่มทลาย ได้ 392 ที่นั่งจาก 455 ที่นั่ง โดยที่พรรค National Unity Party ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้เพียง 10 ที่นั่ง แต่ฝ่ายทหารไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้ผู้ชนะ 23 เม.ย. 2535 นายพลซอหม่อง อ้างปัญหาสุขภาพลาออกจากตำแหน่งประธาน SLORC อย่างกะทันหัน โดยมีนายพลตาน ฉ่วย (Than Shwe) ขึ้นรับตำแหน่งแทน ตาน ฉ่วย เป็น 1 ใน 21 สมาชิกของคณะปฏิวัติ และเป็นนายทหารมือขวาของ ซอหม่อง ต่อมาในเดือน พ.ย. 2540 SLORC ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" (The State Peace and Development Council - SPDC) โดยมีนายพลตาน ฉ่วย เป็นผู้นำสูงสุดมาจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน แต่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตกและยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ว่ากำลังจะมีการปฏิรูปอะไรขึ้นในประเทศนี้.
โดย ผู้จัดการออนไลน์ |
8 สิงหาคม 2549 09:53 น. | |