" แม้ 'แฮ่ช้ง' จะเป็นโปลิโอตั้งแต่เด็ก แต่เป็นเพียงการพิการที่ร่างกาย หาเป็นที่จิตใจไม่ สังเกตได้จากความมุ่งมั่นที่จะหาความมั่นคงให้กับชีวิตในอนาคต แม้จะต้องเลือกมาเสี่ยงโชคในต่างบ้านต่างเมือง เขาก็ไม่คิดว่าเป็นอุปสรรคแม้แต่น้อย "
บนสนามการเมืองของจังหวัดตาก "ตันติสุนทร" เป็นอีกตระกูลหนึ่งที่สร้างคุณประโยชน์รอบด้าน เช่นเดียวกันกับสนามธุรกิจ นับกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทอย่างสูงในแวดวงของอุตสาหกรรมเหมืองแร่, อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยมีรากฐานเติบโตมาจากร้านค้าโชห่วยตามสไตล์การทำมาค้าขายของคนจีนบนผืนแผ่นดินไทย
ย้อนหลังไปราว 119 ปี "แฮ่ช้ง แซ่ตั้ง" หนุ่มชาวจีนวัย 18 ปี ต้นตระกูลตันติสุนทร ได้ตัดสินใจหนีความยากจนจากหมู่บ้านเตี้ยอัน เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีนมาตายเอาดาบหน้าที่เมืองไทย ตามคำชักชวนของมิตรสหายชาวจีนที่มาปักหลักทำมาหากินที่จังหวัดตากก่อนหน้านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า "เมืองไทยอุดมสมบูรณ์"
แม้จะไม่รู้อนาคตข้างหน้า แต่ "แฮ่ช้ง" เดินหน้าแล้วไม่มีถอย ใช้เวลาเดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองจีนทะเลโพ้นมาที่เมืองไทย ร่วม 10 วัน ก่อนจะเดินทางมาปักหลักที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยสมัยนั้นสภาพบ้านเมืองยังไม่เจริญล้อมรอบด้วยป่าผืนใหญ่ และคนในพื้นที่ก็ใช้ชีวิตในเมืองชนบททั่วไป
แม้ตัวของ "แฮ่ช้ง" เอง จะเป็นโปลิโอตั้งแต่เด็ก เดินไม่ได้ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยัน แต่ก็เป็นเพียงการพิการที่ร่างกาย หาเป็นที่จิตใจไม่ สังเกตได้จากความมุ่งมั่นที่จะหาความมั่นคงให้กับชีวิตในอนาคต แม้จะต้องเลือกมาเสี่ยงโชคในต่างบ้านต่างเมือง เขาก็ไม่คิดว่าเป็นอุปสรรคแม้แต่น้อย
ประการสำคัญ ที่พึ่งทางใจที่เคียงข้างความลำบากมาด้วยกัน ตั้งแต่สมัยอยู่เมืองจีน คือ "นางแจง" ผู้เป็นภรรยา ที่ได้เดินทางรอนแรมมาอยู่ด้วยกันที่เมืองไทยนั้น นับเป็นยาชูกำลังที่ดีให้กับ "แฮ่ช้ง" มาโดยตลอด อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้เขามีเรี่ยวแรงในการสร้างรากฐานให้กับครอบครัวเป็นปึกแผ่น แม้จะไม่ใช่ในวันนี้ แต่ก็น่าจะมีผลในวันข้างหน้า
"อุดร" อดีตนักการเมืองชื่อดัง บุตรคนที่ 5 เล่าถึงปูมหลังการเริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยของ "แฮ่ช้ง" ว่า
"แรกๆ เตี่ยก็ต้องมารับจ้างทำงานทั่วไปเหนื่อยสายเลือดแทบขาด แต่ก็ไม่เคยย่อท้อกับโชคชะตา กระทั่งวันหนึ่งได้ใช้ตัดสินใจใช้เงินก้อนเล็กๆ อันเกิดจากการเก็บหอมรอมริบอย่างมัธยัสถ์ ไปหาซื้อกะปิ, พริก, น้ำปลา ข้าวสาร อาหารแห้งมาจำหน่ายให้กับชาวบ้านในละแวกถนนตากสิน เพราะมองว่าด้วยความถนัดของชาวจีนคงหนีไม่พ้นการขายของชำ"
ในสมัยนั้นการค้าขายของคนต่างถิ่น ต้องใช้ความมุมานะพยายามอย่างสูงกว่าที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ แต่ด้วยบุคลิกของ "แฮ่ช้ง" ที่เป็นคนใจกว้าง หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา มีอัธยาศัยดีกับคนรอบข้าง จึงไม่ใช่เรื่องยากในการเข้าถึง และได้ใจลูกค้า กระทั่งสามารถสร้างร้านค้าของชำขนาดเล็กเป็นของตนเองได้สำเร็จในระยะเวลาต่อมา
"รักษ์" บุตรคนที่ 6 สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองการใช้ชีวิตในต่างแดนของ "แฮ่ช้ง" ว่า
"แม้เตี่ยจะมีสายเลือดเป็นคนจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมาอยู่ต่างแดนบนผืนแผ่นดินไทย ก็ไม่มองข้ามที่จะปรับตัวให้กับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ มักจะพร่ำสอนลูกๆ หลานๆ เสมอว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหนต้องแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นๆ ด้วย และไม่ทำความเดือดร้อนให้กับคนรอบข้าง เพราะนั่นหมายถึงว่า เราก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมาเช่นเดียวกัน และการดำรงชีวิตก็จะเป็นสุข"
บนเส้นทางการใช้ชีวิตต่างบ้านต่างเมือง จากเดิมที่ชายหนุ่มชาวจีนผู้นี้ต้องแบกเสื่อผืนหมอนใบ ทนต่อความลำบากนานา นัปการ พอเริ่มทำมาค้าขายมีกำไรขึ้นมา ก็เริ่มที่จะมองหาทำเลที่ตั้งในการสร้างฐานธุรกิจดั่งเช่นชาวจีนทั่วไป และสิ่งที่ต้องยอมรับว่า เพียงเวลาไม่กี่ปีที่เขา และภรรยาตั้งหลักชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่อยู่ต่างแดนหาใช่แผ่นดินเกิด
นั่นคือ คำว่า "ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน" อันเป็นหลักการค้าขายที่ยึดถือมาโดยตลอดที่อยู่ใต้ร่มเงาแผ่นดินไทย
ในที่สุด เมื่อมีจังหวะที่ดีหลายด้านๆ "แฮ่ช้ง" ไม่รอช้าได้ปรึกษากับนางแจง ผู้เป็นภรรยา ถึงการทำมาค้าขาย และตัดสินใจเปิดร้านขายของชำ ชื่อว่า "ตั้งซ้งกี่" บริเวณถนนตากสิน อำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยเช่าบ้านไม้ชั้นเดียว ขนาด 3-4 เมตร จากชาวไทยในละแวกนั้น เปิดขายสินค้าเบ็ดเตล็ดตั้งแต่นั้นมา
ติดตามกำเนิดธุรกิจร้านค้าของชำ "ตั้งซ้งกี่" ของตระกูลตันติสุนทร จังหวัดตาก ในตอน 2
สกาวรัตน์ ศิริมา sakaorat@nationgroup.com