สภาพัฒน์ปรับยุทธศาสตร์แผนฯ 10
สร้างสมดุลประเทศไทย
ทุนนิยม-เศรษฐกิจพอเพียง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาทางสังคมที่เสื่อมถอย โดยมุ่งความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ไปที่ตัวบุคคลและครอบครัวเป็นหลัก "ในแผน 10 นี้เราใช้คนเป็นศูนย์กลาง ยึดความรู้มาเป็นอันดับ 1 ดึงศักยภาพของคนออกมา โดยกลับมาดูที่คน ครอบครัว ชุมชน โครงสร้างทางสังคมให้ใช้การพึ่งพาตัวเองทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นธรรม" เด็ก เยาวชนในปัจจุบันขาดคุณธรรม ศีลธรรม ขาดหิริโอตตัปปะจากครอบครัวไม่อบอุ่น ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กรอบแนวคิดของแผน 10 ที่นำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นทางสายกลางให้คนรู้จักพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนเงื่อนไขความรอบรู้รอบคอบและระมัดระวัง เงื่อนไขคุณธรรมที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและเงื่อนไขความเพียรที่มีความขยัน อดทน มีสติ เพื่อนำไปสู่วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมการเมืองที่สมดุล มั่นคงและยั่งยืน ในแผนฉบับนี้ให้ความสำคัญกับทุนทั้ง 3 คือทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 3 ทุนจะขับเคลื่อนภายใต้คนที่มีคุณภาพ มีความรู้ และมีจริยธรรม
เริ่มจากทุนทางเศรษฐกิจ : แผนพัฒนาฉบับนี้ยังคงมุ่งไปที่ตัวคนเน้นการสร้างคนที่มีคุณภาพในทางวิชาชีพ จากการพัฒนาทักษะ ความรู้ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ หนึ่งในแนวทางที่เสนอไว้ได้แก่การให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้มากขึ้น เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ความรู้ทางด้านวิชาชีพและการช่วยเหลือทางด้านเงินทุน ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ภาคการเกษตรของไทย เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้นอย่างเช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ไม่เพียงแค่นั้นการดึงเอาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นจุดขายในภาคบริการ ทั้งด้านการท่องเที่ยว สปา หรืออาหารไทย
ทุนทางด้านสังคม : ที่ถือเป็นหัวใจหลักของแผนพัฒนาฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญกับครอบครัวชุมชนเป็นหลัก เพื่อช่วยพัฒนาด้านจิตใจของคน ในครอบครัวและชุมชน ในแผนนี้ชัดเจนว่าเน้นการส่งเสริมสถาบันทางสังคม ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และฟื้นฟู อนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงาม รวมถึงภูมิปัญญาไทยที่คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญ
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : เป็นการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากที่ผ่านมา เท่ากับเป็นการอนุรักษ์ภาคเกษตรกรรมให้สามารถเป็นทุนเศรษฐกิจที่สำคัญต่อไป และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงตามเป้าหมายที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก
ประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และประชาชนภาคการเกษตรจะมีรายได้และผลผลิตที่ดีขึ้น ส่งผลไปถึงลูกหลานส่วนพื้นที่การเกษตรที่กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมจะถูกพัฒนา
เจาะเบื้องลึกแผนพัฒนาฯ 10
เปิดแนวคิดนอกกรอบสู่ความสุขยั่งยืน
เพื่อที่จะวางโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมเพื่อปรับแนวทางของเศรษฐกิจ และสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งยึดติดกับกระแส ทุนนิยม ให้บรรเทาเบาลง และสอดคล้องเข้าสู่ทิศทาง เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาตามแนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ขณะนี้ยอมรับตรงกันว่า เป็นทางรอดทางเดียวของเศรษฐกิจไทย
5 ยุทธศาสตร์สู่ความพอเพียง
โดยแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 นี้ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ คน ชุมชน โครงสร้างเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากร และการสร้างธรรมาภิบาล
ยุทธศาสตร์แรก : การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ เป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาคน ทั้งในมิติของจริยธรรมและมิติของความรู้ มุ่งสู่ สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ทั้งการเร่งปฏิรูปการศึกษา ขยายรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งการ เรียนให้รู้ การพัฒนาหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการพัฒนาด้านจิตใจเพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมฐานความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยได้ตั้งเป้าหมาย เมื่อเสร็จสิ้นแผนฯ 10 ดังนี้
· จะมีจำนวนปีศึกษาเฉลี่ยเป็น 10 ปี
· ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักของทุกระดับสูงกว่า 55%
· แรงงานระดับกลางที่มีคุณภาพต้องไม่ต่ำกว่า 60% ของแรงงานทั้งประเทศ
· มีแรงงานเพิ่มขึ้น 4-5%
· จำนวนบุคลากรวิจัย 8 คนต่อประชากร 10,000 คน
· การลดอัตราเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้
· อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยต่ำกว่า 15%
· ผู้อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง
ยุทธศาสตร์ 2 : การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศไทย ในฐานการใช้งบประมาณ การใช้ทรัพยากร เพื่อการแก้ไขปัญหาของชุมชน ขบวนการของการทำแผนชุมชน ในการสร้างสมดุลระหว่างหนี้สิน และรายได้ของชุมชน การดูแลทรัพยากรธรรมชาติในหมู่บ้าน และจะบริหารจัดการอย่างไร ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลจะเข้ามาเสริมในด้านชุมชน ถ้าวันนี้ไม่มียุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนที่แยกออกมาต่างหาก รัฐธรรมนูญที่กำหนดการกระจายอำนาจไปจะเป็นเพียงการให้เงินลงไปเท่านั้น แต่เงินไม่ได้บวกกับปัญญาก็จะไม่ยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ 3 : การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน จากปัญหาด้านเศรษฐกิจกับโครงสร้างการผลิตและการบริการยังไม่สมดุล จึงต้องมีการปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ
· เน้นการผลิตที่เป็นเชิงมูลค่าเพิ่ม เริ่มกระจายความเสี่ยงการผลิตจากการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมอย่างเดียวลงสู่ภาคบริการ
· เน้นจุดแข็งด้านการเกษตร เข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรสร้างความมั่นคงของอาหารในระดับชุมชน
· เน้นการออมเพื่อเป็นฐานในการลงทุนในอนาคต
· เน้นยุทธศาสตร์เรื่องพลังงานที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
โดยแผนฯ 10 ตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจระดับมหภาคมีเสถียรภาพ ดังนี้
- อัตราเงินเฟ้อต่ำ
- อัตราการว่างงานอยู่ระดับเหมาะสม
- ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลก็ไม่เกิน 2% ต่อจีดีพี
- ทุนสำรองเพียงพอ
- หนี้สาธารณะและฐานะการคลังอยู่ในกรอบการคลังที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจภายในยังต้องเข้มแข็งและมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจโดยรวมและสามารถมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนตลาดโลกได้
ยุทธศาสตร์ 4 : การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้วางแนวทางการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 แนวทาง คือ
1. การรักษาฐานทรัพยากรและความสมดุลของระบบนิเวศน์ เพื่อความยั่งยืนของฐานการผลิต การดำรงชีวิตและการพึ่งตนเองของสังคมชุมชน
2. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน
3. การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
4. การบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อสร้างพื้นฐานของการพัฒนา โดยอาศัยพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับเทคโนโลยีที่นำไปสู่การยกระดับความสามารถ การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ 5 : การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศสู่ความยั่งยืน การปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลมากขึ้น ดังนี้
- ปรับโครงสร้างกลไก และกระจายการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐสู่ภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชน
- การกระจายอำนาจ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถรับผิดชอบจัดบริการสาธารณะตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่
- สร้างความเจริญเศรษฐกิจ สังคม แก่ท้องถิ่นชุมชนได้อย่างแท้จริง
- ส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้เข้าร่วมในการบริหารจัดการประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือระหว่างภาคราชการ บ้าน วัด โรงเรียน และสื่อในการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องธรรมาภิบาล
- ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็ง สุจริต และมีธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น
และเพื่อความเข้าใจในยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 มากขึ้น ทีมเศรษฐกิจ ได้สรุปคำสัมภาษณ์นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อให้เห็นแนวคิดเบื้องหลังของแผนพัฒนาฯดังกล่าว
*********