พม่าจัดระเบียบตั้ง 'เจ้าจ่ามเฮือน' คุมการค้า จังหวัดเมียวดี 
รัฐบาลพม่า SPDC ประกาศดันเมืองเมียวดีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หลังเข้าจัดระเบียบการค้าชายแดนใหม่ สั่งปิด 19 ท่าเรือสินค้า พร้อมให้สัมปทาน"เจ้าจ่ามเฮือง"ลูกชายขุนส่ารับสัมปทานสร้างโกดังสินค้าใหม่ 5 แห่ง และเปลี่ยนระบบการค้ามาใช้ L/C แทน
นายจิระศักดิ์ ไพบูลย์ธรรมโรจน์ ประธานชมรมพ่อค้าชายแดนไทย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า ภายหลังรัฐบาลทหารพม่า หรือ SPDC ได้จับ กุมพ่อค้าพม่ากว่า 250 ราย ที่ลักลอบนำสินค้าไทยเข้าประเทศโดยไม่เสียภาษี รวมทั้งยึดสินค้าทั้งหมดคิดเป็นมูลค่ากว่า 5,000-7,000 ล้านจ๊าต ต่อมาผู้พิพากษาพม่าได้สั่งลงโทษจำคุกพ่อค้าพม่าที่ถูกจับกุมเป็นเวลา 3 - 7 ปี ตามแต่โทษ และจำนวน สินค้าที่ถูกจับกุมไปเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น ล่าสุดรัฐบาลพม่าได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดเมียวดี และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการค้าชายแดน โดยรัฐบาลได้มอบสัมปทานการสร้างโกดังสินค้าขนาดใหญ่จำนวน 5 แห่ง ตามจุดพิกัดต่างๆ รวมพื้นที่ประมาณ 40 เอเคอร์ ( 1 เอเคอร์เท่ากับ 2.5 ไร่)ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีแก่เจ้าจ่ามเฮือน ลูกชายขุนส่า เป็นผู้รับสัมปทาน
ทั้งนี้เพื่อจัดระเบียบการชายแดนและรูปแบบการค้าใหม่ทั้งหมด โดยพ่อค้าทุกคนจะต้องเปิด L/C และนำสินค้ามากักเก็บที่โกดังสินค้าที่รัฐบาลจัดไว้ และสั่งยกเลิกโกดังสินค้าเก่ากว่า 10 แห่งของเอกชนทั้งหมด ซึ่งการจัดระบบการค้าแบบ L/C จะใช้การซื้อ-ขายผ่านระบบธนาคาร ทำให้ผู้ค้ารายย่อยระดับวงเงิน 200,000 -300,000 บาท ไม่สามารถทำการค้าโดยการเปิด L/C ได้ ส่วนการที่รัฐบาลพม่าตั้งเมียวดีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ก็เพื่อรองรับกับการที่ฝั่งไทยจะตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 19 ตุลาคม 2547
แหล่งข่าวจากแวดวงการค้าชายแดน กล่าวว่า พล.อ.หม่องเอ รองประธานสภาสันติภาพและการพัฒนา แห่งรัฐ หรือ SPDC และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการให้ทหารจับกุมสินค้าลักลอบผ่านแดนตามท่าเรือริมแม่น้ำเมย และสั่งปิดท่าเรือ 19 แห่ง รวมทั้งจับกุมพ่อค้าและยึดสินค้า เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น เพื่อจัดระเบียบการค้าและต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลการค้าและจัดเก็บภาษีเองทั้งหมด เพื่อไม่ให้สินค้าผ่านเขตอิทธิพลของฝ่ายกะเหรี่ยง ทั้งกะเหรี่ยงพุทธ DKBA และกะเหรี่ยงคริสต์ KNU ที่มีการเก็บภาษีเถื่อนมาโดยตลอด ซึ่ง พล.อ.หม่องเอ มีความสนิทกับ เจ้าจ่ามเฮือน บุตรชายขุนส่าเป็นพิเศษ จึงได้ให้สัมปทานจัดสร้างโกดังสินค้า และดูแลระเบียบการค้าทั้งหมด โดยมีการจัดเก็บภาษีร่วมกับเจ้าหน้าที่พม่า ทั้งฝ่ายทหาร ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และกรรมการค้าชายแดน อย่างไรก็ตามในช่วงที่พม่ากำลังมีการจัดระเบียบการค้าชายแดนและรอการสร้างโกดังสินค้าของรัฐบาลใหม่อยู่นี้ ส่งผลให้การค้าชายแดนลดลงอย่างมาก
ต่อเรื่องนี้นายกฤษฎา ทอง ธรรมชาติ นายด่านศุลกากรอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า สถานการณ์การค้าชายแดนไทย - พม่าค่อนข้างจะเลวร้ายลงมาก ขณะนี้มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือวันละประมาณ 2 แสนบาท จากเดิมที่มีการซื้อขายเป็นวงเงินหมุนเวียนถึงวันละ 20 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าก็เกิดผลกระทบเช่นกัน โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีของศุลกากรแม่สอดลดลงเหลือวันละ 1.8 หมื่นบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับสินค้าไม้ประดิษฐ์ หากเข้ามามาก การจัดเก็บภาษีก็มากขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาการค้าชายแดนที่ซบเซาอย่างหนักนี้ คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดชายแดนที่มีพรมแดนและการค้าเชื่อมโยงระหว่างไทยกับพม่า ได้จัดการประชุมเพื่อหารือเรื่องการเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการภายในประเทศ บริเวณชายแดนพม่า-ไทย ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนของผู้ประกอบการไทย ที่สำนักงานหอการค้าไทย โดยนายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ทางหอการค้าจังหวัดตาก ได้สรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขมาเสนอ คือ ให้ทางการพม่าพิจารณาทบทวนการประกาศรายการสินค้าต้องห้าม 15 รายการ ที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2536 อาทิ ผงชูรส น้ำหวาน เครื่องดื่ม ขนมปังกรอบ หมากฝรั่ง ขนมเค็ก ขนมเวเฟอร์ ช็อกโกแลต อาหารกระป๋องที่ทำจากเนื้อสัตว์และผลไม้ เส้นหมี่ เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลไม้สดทุกชนิด ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้ในครัวเรือนและใช้ส่วนตัวทุกชนิด ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีการสั่งซื้อจากไทยจำนวนมาก ให้เปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บภาษีแทน โดยปรับปรุงขั้นตอนการนำเข้าส่งออกให้รวดเร็วขึ้น
ขณะที่พาณิชย์จังหวัดตาก กำลังรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับอุปสรรคการค้าชายแดนจากกลุ่มผู้ส่งออกตามแนวชายแดน เพื่อประมวลเสนอเข้าที่ประชุมร่วมกับพม่า ลาว เวียดนาม(JTC) ที่คาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือนนี้ด้วย โดยมีประเด็นหลักประกอบด้วย เสถียรภาพค่าเงินจ๊าด นโยบายการค้าของรัฐบาลพม่าไม่ชัดเจน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เส้นทางคมนาคมจากชายแดนไทยสู่พื้นที่ชั้นในด้านเมียวดียังจำกัด ต้องสลับวันเดินทางรถยนต์ และปัญหาพม่าขึ้นบัญชีสินค้าต้องห้าม 15 รายการ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2138 10 ส.ค. - 12 ส.ค. 2549 |
| |