เวียดนามผงาดดูดทุนทั่วโลก ติงไทยประมาท! เสียโอกาสลงทุน 
ในช่วงระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้รับการเชิญจากกระทรวงอุตสาหกรรม ไปเยือนนครโฮจิมินห์ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมของนักลงทุนไทย และศึกษาภาวะตลาดและดูลู่ทางการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของเวียดนามเวลานี้อยู่ในช่วงขาขึ้น และกำลังเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลก(WTO) ในเร็วๆนี้
สำหรับการไปเยือนครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพการเจริญเติบโตของเวียดนามเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมาแล้ว จะเห็นการขยายสนามบินตัน เซิน ยัต ให้ใหญ่มากขึ้นจากที่ปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี และจำนวนรถมอเตอร์ไซด์ที่มีจำนวนหนาแน่นขึ้นแทบทุกถนน
-เป็นประเทศอุตสากรรมในอีก14ปี
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ รายงานว่าในปี 2549 นี้ เวียดนามได้ประมาณการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีอยู่ที่ 7.7 % ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากปี 2548 อยู่ที่ 8.5 % เนื่องจากเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนสินค้าขั้นกลางในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยเวียดนามได้วางเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไว้ว่า เมื่อถึงปี 2020 เวียดนามจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา
สำหรับนครโฮจิมินห์นี้ ถือเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมตอนใต้ของเวียดนาม และเป็นประตูสำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย ที่มีท่าเรือแม่น้ำขนาดใหญ่ของประเทศ หรือท่าเรือไซง่อน รองรับเรือได้ถึงขนาด 20,000 ตัน มีการขนส่งสินค้ากว่า 10 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ด้านอุตสาหกรรมมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นจังหวัดที่มีการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดของประเทศ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีโครงการจากต่างประเทศเข้ามาประมาณ 126 โครงการ เงินลงทุน 749.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบทั้งประเทศจำนวน 339 โครงการ เงินลงทุน 2,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อนับโครงการลงทุนสะสมรวม 1,999 โครงการ เงินลงทุน 13,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐแต่มีการลงทุนจริงที่เกิดขึ้นแล้วเพียง 6,173 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนทั้งหมดเท่านั้น
ส่วนประเภทการลงทุนในนครโฮจิมินห์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าสาขาที่มีจำนวนโครงการลงทุนสูงสุดจะเป็นด้านอุตสาหกรรมจำนวน 250 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 1,434.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาด้านบริการ 74 โครงการ เงินลงทุน 813.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โรงแรมและท่องเที่ยว 6 โครงการ เงินลงทุน 401.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
-ม่องไบนิคมฯแห่งใหม่ดึงนักลงทุน
ทั้งนี้ จากการไปเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมม่องไบ ตั้งอยู่ชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา มีเนื้อที่ 1,356 เฮคเตอร์ หรือประมาณ 8,400 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา รองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาได้อีกจำนวนมาก และมีการมองว่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยด้วยนั้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เป็นนิคมฯที่เกิดขึ้นมาใหม่ มีการสร้างศูนย์การค้า ห้องอาหาร รองรับการลงทุนไว้พร้อมแล้ว แต่คงยังไม่สามารถแข่งขันกับนิคมฯในไทยได้ ซึ่งนิคมฯแห่งนี้อยากให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากเข้ามาลงทุน เพราะมีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมรองรับอยู่ ซึ่งเป็นไปได้ที่ทางภาครัฐจะกลับไปหารือกับนักลงทุนไทยที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุน แต่จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากจริงๆ อย่างเช่น สิ่งท่อ แปรรูปอาหาร โดยพยายามมองว่าเวียดนามเป็นตลาดหนึ่งในภูมิภาคนี้
ในขณะที่การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมของไทยนั้น จะมุ่งไปที่อุตสาหากรรมใช้แรงงานน้อย แต่ได้มูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้ามากกว่า
ส่วนเวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญกับไทยนั้น ตนมองว่ายังห่างไกล แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะระบบการเมืองที่เป็นอยู่ทำให้นักลงทุนยังไม่เข้ามามากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายที่ยังไม่เอื้ออำนวย ถ้าจะได้เปรียบจะเป็นเรื่องแรงงานที่มีจำนวนมากเท่านั้น
ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์นั้น แม้จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าประเทศไทย แต่มองว่าหากนักลงทุนผลิตแล้วไม่มีกำไรก็ไม่เข้ามา ที่สำคัญต้องมาดูว่าแรงงานมีป้อนความต้องการหรือ มีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ มีระบบสาธารณูปโภครองรับแค่ไหน ระบบราชการเป็นอย่างไรซึ่งตนมองเวียดนามมีความตั้งใจ แต่ยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจนอยู่ แต่เชื่อว่าสิทธิประโยชน์ที่ไทยให้นั้นดีกว่าเวียดนามด้วยซ้ำ ซึ่งการจะไปปรับปรุงสิทธิประโยชน์ใหม่นั้นถือเป็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็นเพราะเพียงพอแล้ว ควรจะมุ่งไปที่การสร้างระบบสาธารณูปโภค สร้างบุคลากร มากกว่าการแข่งขันเรื่องสิทธิประโยชน์ แต่จะไปมองดูทางสิงคโปร์แทนว่าวันนี้ให้อะไร ที่จะสามารถไปดึงนักลงทุนที่สิงคโปร์มาลงทุนในไทย เราคงไม่ลดไปแข่งขันด้านแรงงาน
แต่มีเสียงจากภาคเอกชน ได้สะท้อนให้ภาครัฐเห็นว่า หากไทยยังเฉยหรือไม่ปรับตัวด้านสิทธิประโยชน์บีโอไอแล้ว จะทำให้เวียดนามกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย และทำให้เสียโอกาสในการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ
-ไทยเสียโอกาสหากไม่ปรับสิทธิประโยชน์
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว ที่เข้ามาในเวียดนาม 11 ปีแล้ว มองว่าเวลานี้ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก จะเน้นเข้ามาลงทุนในเวียดนามก่อน ขณะที่ไทยเองอาจจะมีปัญหาสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะวันนี้เวียดนามให้สิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้น เรื่อยๆ อย่างภาษีเงินได้นิติบุคคลประเทศไทยวันนี้จ่าย 30 % แต่ในเวียดนาม ถ้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและส่งออก 100 % จ่าย 10 % เท่านั้นและตลอดชีพ แต่ว่าหากว่า 4 ปีแรกยกเว้น 100 % อีก 7 ปี ต่อมาเหลือครึ่งหนึ่ง และหลังจากนั้นเสียเพียงแค่ 10 % กรณีส่งออก ถ้าเทียบแย่ที่สุด เช่น การบริการ หากอยู่ในนิคมเสียภาษี 4 ปีแรกยกเว้นเหมือนกัน อีก 7 ปี เสีย 50 % และหลังจากนั้นเสีย 20 % ถ้าภาคการผลิตเสียแค่ 15 % เท่านั้น
อีกทั้งการที่เวียดนามมีประชากร 83 ล้านคน มีอัตราการเจริญเติบโตแรงงาน 1 ล้านคนต่อปี นอกจากนั้นคุณภาพแรงงานอายุต่ำกว่า 30 ปี มากถึง 60 % และส่วนใหญ่จบขั้นมัธยมปลาย ดังนั้นแรงงานจึงมีคุณภาพ และยังถูกกว่าไทยเกือบครึ่งหนึ่ง ขณะที่ระบอบการเมืองเป็นสังคมนิยม ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นไม่มีการประท้วงเรื่องค่าแรงงานเกิดขึ้น ซึ่งนักลงทุนชอบในส่วนนี้
จึงเป็นจุดแข็งของเวียดนาม ซึ่งพรรคไหนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลอยากจะให้ไปศึกษาเพื่อนบ้านว่าไปถึงไหนแล้ว และนำมาทบทวน เพราะการเสียภาษี 30 % สูงกว่าเพื่อนบ้านมาก ซึ่งจุดนี้ทำไทยเสียโอกาส เพราะสิทธิประโยชน์ แรงสนับสนุนต่างกัน และมองว่าในอีก 14-15 ปี เวียดนามจะเปรียบเสมือนยักษ์หรือเสือที่ตื่นแล้ว และถ้าไทยยังไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ระวังเสือตัวนี้จะกระโดดกัดเรา
ส่วนอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนามนั้น จะเน้นเรื่องการใช้แรงงานเป็นหลักจะเป็นประเภทใดก็ได้ แต่ต้องไม่สร้างมลพิษ
สำหรับการแผนรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ในส่วนของนิคอมอุตสาหกรรมซิตี้ เบียนหัว มีเนื้อที่ 4,375 ไร่ หรือ 700 เฮคเตอร์ ขณะนี้ได้พัฒนาไปประมาณ 200-300 เฮคเตอร์ มีโรงงานเกือบ 100 แห่ง ซึ่งยังสามารถรองรับการลงทุนได้อีกมาก ประกอบกับอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาล ในพื้นที่อีกประมาณ 13,000 ไร่ ที่จะเข้าไปพัฒนา ซึ่งจะต้องทำการศึกษาอีกประมาณ 1 ปี และจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเวียดนามจะต้องมีสนามบินแห่งที่สองเกิดขึ้น และสะพานข้ามแม่น้ำดองไน เพื่อย่นระยะเวลาในการเดินทาง
ทั้งหมดนี้ ภาคเอกชนที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ได้ฝากไปถึงภาครัฐ ว่าจะทำอย่างไรจะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในไทยมากกว่าการไปลงทุนในเวียดนาม อยากให้รัฐบาลกลับไปคิดว่าจะทำอะไรต่อจากนี้ ก่อนที่นักลงทุนจะหนีไปเวียดนามเสียหมด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2138 10 ส.ค. - 12 ส.ค. 2549
|