สมศักดิ์ ลงพื้นที่ อ.แม่สอด รับฟังปัญหาแรงงานต่างด้าวแทน ทักษิณ หลังยกเลิกกำหนดการกะทันหัน เนื่องจากฝนตกหนัก-สภาพอากาศปิด ส่งผลเครื่องบินลงไม่ได้ ด้านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เสนอ 9 มาตรการจัดการระบบแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ
วันนี้ (16 ส.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางมาประชุมนักธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวที่ อ.แม่สอด จ.ตาก แทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี หลังจากสภาพอากาศปิด ฝนตกหนัก เครื่องบินไม่สามารถบินลงจอดที่สนามบิน อ.แม่สอด ได้
คณะรักษาการนายกรัฐมนตรีได้ไปเปลี่ยนกำหนดการไปประชุมข้าราชการที่ศาลากลางจังหวัดตากแทน ทำให้ประชาชนกว่า 5,000 คนที่ไปรอต้อนรับและให้กำลังใจต่างผิดหวังและเดินทางกลับบ้าน
ทั้งนี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลัง ได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุมผู้ประกอบการเกี่ยวกับการจัดระบบแรงงานต่างด้าว ที่โรงแรมเซ็นทรัลแม่สอดฮิลล์ อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง พม่า-ลาว-กัมพูชา 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ แรงงานที่มีใบอนุญาตหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2549 และอนุญาตให้อยู่ต่อไปอีก 1 ปี
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ แรงงานต่างด้าวทั้งที่มีและไม่มีทะเบียนประวัติ หรือ ท.ร.38/1 ที่ลงทะเบียนไว้ระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2549 อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2550 และยกเลิกเก็บค่าประกันตัว
ทั้ง 2 กลุ่มได้มายื่นขอใบอนุญาตเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มแรกมาขอต่อใบอนุญาต จำนวน 460,014 คน เป็นสัญชาติพม่า 405,379 คน, ลาว จำนวน 29,683 คน และกัมพูชา จำนวน 24,952 คน และแรงงานกลุ่มที่ 2 มาขอใบอนุญาต จำนวน 208,562 คน เป็นพม่า จำนวน 163,499 คน, ลาว 21,653 คน และ กัมพูชา จำนวน 23,410 คน
ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตใช้แรงงานต่างด้าว 5 อันดับแรก คือ เกษตร, ก่อสร้าง, ผู้รับใช้ในบ้าน, ต่อเนื่องประมงทะเล และประมงทะเล โดยกรุงเทพมหานครมีการขออนุญาตมากที่สุด รองลงมา คือ สมุทรสาคร, เชียงใหม่, ตาก และภูเก็ต
นายสมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและทะเบียนแรงงานที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก และดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และออกใบอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอีกจำนวน 143,012 คน ด้วยแรงงานส่วนใหญ่จะทำงานด้านการเกษตร และปศุสัตว์ รองลงมา คือ การผลิตสิ่งทอ ขายปลีก ขายส่ง การผลิตเครื่องแต่งกาย ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป
นายอำนาจ นันทหาร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมตาก ในฐานะภาคเอกชนที่ดูแลแรงงานต่างด้าวและการลงทุนในพื้นที่ ขอเสนอให้รัฐบาลได้ใช้มาตรการการจัดระบบการจัดจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพิเศษ เป็นปัจจัยส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดน และผลักดันเข้าศูนย์ประสานงานข้อมูลและทะเบียน ประวัติแรงงาน แบบ One Stop Service เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้ ได้เสนอมาตรการการจัดระบบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนที่แตกต่างจากพื้นที่ชั้นใน 9 ข้อ ประกอบด้วย 1.กำหนดอัตราการประกันแรงงาน คนละ 1,000 บาท, 2.กำหนดเงินบริจาคและค่าฝึกงาน คนละ 1,000 บาท 3.อัตราค่าตรวจโรค คนละ 600 บาท 4.อัตราเงินประกันสุขภาพคนละ 1,300 บาท 5.ค่าคำขอใบอนุญาต คนละ 100 บาท
6.ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานปีละ 1,800 บาท (3 เดือน 450 บาท, 6 เดือน 900 บาท, 1 ปี 1,800 บาท) 7.อนุญาตให้มีการขอโควตาการใช้แรงงานได้ ตามความต้องการไม่กำหนดเงื่อนไข เวลาและพิจารณาในระดับจังหวัด 8.ให้ทดแทนแรงงานได้หากคนเดิมออกไป และ 9.มีมาตรการลงโทษแรงงานที่หนีจากนายจ้าง หากจับได้นำเข้าศูนย์และคืนเงินประกันนายจ้าง
สำหรับมาตรการทั้ง 9 ข้อ นี้จะมีผลดี คือ 1.จะมีการจ้างแรงงานที่เข้มข้น เฉพาะพื้นที่ชายแดน และง่ายต่อการควบคุม การจัดระบบ และผลักดันกลับประเทศ และมีการนำแรงงานเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน 2.ส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดน และเขตนิคมอุตสาหกรรมชายแดน (แม่สอด) และ 3.ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเข้าแรงงานตามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ให้บรรลุผล
โดย ผู้จัดการออนไลน์ |
16 สิงหาคม 2549 16:49 น. |