หอการค้าทั่วประเทศ ร่วมจับตาบอร์ดแข่งขันชุดใหม่ ลงดาบไฮเปอร์มาร์เก็ตเอาเปรียบค้าปลีกรายย่อย โดยเฉพาะขายต่ำกว่าทุน-ทำเฮ้าส์แบรนด์ หวั่นธุรกิจขยายตัวครอบงำเศรษฐกิจไทย ชี้เร่งกำหนดนิยาม "ผู้มีอำนาจเหนือตลาด" และการผูกขาดทางธุรกิจให้ชัด เผย "ไกด์ไลน์ค้าปลีก" ภารกิจด่วน จ่อวัดกึ๋นกรรมการชุดใหม่
จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า 12 คน แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระลง โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง และประกาศกำหนดส่วนแบ่งตลาด ยอดเงินขาย จำนวนทุน จำนวนหุ้น หรือจำนวนสินทรัพย์ของธุรกิจที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า
รวมถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนว่าการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฉบับนี้ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่และการเก็บหรือนำสินค้าไปเป็นตัวอย่าง
เปิดรายชื่อกรรมการขีดแข่งขัน
รายชื่อคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการจำนวน 6 คน ได้แก่ นายศักดา ธนิตกุล, นายอนันต์ จันทรโอภากร, นายศุภัช ศุภชลาศัย นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ , นายเสงี่ยม สันทัด ,นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ,ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจำนวน 3 คน ได้แก่ นายฉัตรชัย บุญรัตน์ นายไพรัช บูรพชัยศรี ว่าที่ ร.อ. จิตร์ ศิรธรานนท์ และผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 3 คน ได้แก่ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ นายบดินทร์ อัศวาณิชย์ และนายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ
ด้านนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ประธานหอการค้าจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถวิจารณ์รายชื่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ได้ แต่เข้าใจว่าหอการค้าทั่วประเทศ กำลังจับตาการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ และจะได้ตรวจสอบประวัติคณะกรรมการแต่ละรายไปพร้อมกัน
ในเบื้องต้นหอการค้าทั่วประเทศ น่าจะยอมรับและให้เกียรติ เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมการชุดนี้ ทำงานอย่างเต็มที่ และรอจับตาว่าจะสามารถลงโทษผู้ที่กระทำผิดตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าได้อย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด เช่น พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะปัจจุบันปัญหาค้าปลีกเริ่มรุนแรงมากขึ้น มีการขยายสาขาออกไปนอกเมืองตามอำเภอต่างๆ และยังมีพฤติกรรมขายต่ำกว่าทุน
ดังนั้นต้องพยายามยับยั้งไม่ให้ค้าปลีกขนาดใหญ่เหล่านี้ ขยายตัวจนสามารถครอบงำธุรกิจค้าปลีกของคนไทยได้เบ็ดเสร็จ เพราะธุรกิจค้าปลีกถือเป็นเครื่องมือการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้ว เกือบทุกประเทศจำกัดการขยายสาขา แต่ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในไทยกลับขยายสาขาได้อย่างเสรี ถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคเกินความจำเป็น สวนทางกับเศรษฐกิจพอเพียง
เท่าที่ดูในเบื้องต้น เห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีประวัติด่างพร้อย เป็นบุคคลสาธารณะทางหอการค้าจะต้องเข้ามาตรวจสอบประวัติต่อไป และจับตาดูการทำงานว่าจะลงโทษผู้เอาเปรียบทางการค้าหรือไม่ เพราะตำแหน่งคณะกรรมการชุดนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และต้องเข้ามาช่วยบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ทำหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องชี้ผิดชี้ถูก ตรวจสอบพฤติกรรมผู้กระทำผิดกติกา"
เขา ยังกล่าวว่า วาระเร่งด่วนที่ต้องการให้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาดูแลเป็นอันดับแรก คือ พฤติกรรมของค้าปลีกขนาดใหญ่ เนื่องจากค่อนข้างมีพฤติกรรมเอาเปรียบรายเล็ก โดยเฉพาะประเด็นการขายต่ำกว่าทุน โดยซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ แล้วกลับไปวางจำหน่ายแข่งในราคาที่ต่ำกว่า
ปัจจุบันห้างใหญ่ซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์จำนวนมากในราคาต่ำ ถือว่าได้เปรียบด้านต้นทุนแล้ว แต่ยังนำมาวางขายแข่งกับสินค้าแบรนด์เดียวกัน หรือทำเป็นอีกแบรนด์หนึ่ง (House Brand) ในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่แฟร์
ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า เท่าที่ดูจากรายชื่อเห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้มีความเป็นกลางไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และคาดหวังว่าคณะกรรมการชุดนี้จะลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะคณะกรรมการชุดก่อนไม่สามารถเอาผิดใครได้จริงๆจังๆทั้งที่บางกรณีควรจะลงโทษ หรือหากกฎหมายยังไม่ครอบคลุมก็ควรจะประกาศผ่านสื่อมวลชน เพื่อเป็นการประจานให้สาธารชนรับทราบ ถือเป็นการลงโทษทางสังคมแทน
ทั้งนี้พฤติกรรมการขายต่ำกว่าทุน โดยการจำหน่ายสินค้าราคาถูก ด้วยการจำกัดจำนวนชิ้น จำกัดเวลาซื้อ เพื่อจูงใจให้คนเข้าไปซื้อสินค้า อีกทั้งควรกำหนดเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมากฎหมายเขียนกว้างมาก ยังไม่มีการตีความอำนาจเหนือตลาด หรือกำหนดนิยามเอาผิดการผูกขาดให้ชัด
เล็งฟันพฤติกรรมขายต่ำกว่าทุน
ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ กล่าวว่า หากบอร์ดเรียกประชุมภารกิจแรกที่จะเร่งผลักดันเพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกของไทยแข่งขันได้ คือ การส่งเสริมให้กฎหมายมีความเป็นธรรมสอดคล้องกับการเปิดเสรี ไม่ให้มีพฤติกรรมขายต่ำกว่าทุน ทำลายผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเงินทุนที่สูงกว่า
ที่ผ่านมายังไม่มีการบังคับใช้และดูแลพฤติกรรมให้กฎหมายแข่งขันฯ บังคับใช้ เช่น กรณีรถยนต์ฮอนด้า บังคับให้ดีลเลอร์จำหน่ายสินค้าเพียงยี่ห้อเดียว จนถึงปัจจุบันยังเอาผิดไม่ได้
ทั้งนี้คณะกรรมการจะต้องเข้าไปกำหนดนิยาม และเป็นไกด์ไลน์เพื่อควบคุมดูแลธุรกิจค้าปลีก เนื่องจาก บางนิยามที่กฎหมายเขียนไว้ไม่ชัดเจน เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ในมาตรา 25-29 ว่าด้วยเรื่อง การป้องกันการผูกขาด อาทิ มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด กำหนดหรือรักษาระดับซื้อ หรือขายสินค้า หรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือกำหนดเงื่อนไขในลักษณะบังคับโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะการแจ้งยอดขายและต้นทุนโดยรวมทั้งปีนั้นไม่ยุติธรรม เพราะการซื้อสินค้าในปริมาณมาก และยอมขายต่ำกว่าทุน
ขณะเดียวกันกลับยอมให้นำยอดรายได้และกำไรจากส่วนอื่น หรือสินค้าอื่นมารวมเพื่อให้ต้นทุนสูงขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่สะท้อนจริง ต่างกับผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีการคำนวณสินค้ามาเป็นต้นทุนโดยตรงไม่มีต้นทุนอื่นแอบแฝง จึงแข่งขันด้านราคากับค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตต่างชาติไม่ได้ เพราะหากนับจำนวนชิ้นที่มากกว่า ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าโชห่วยรายย่อย
ต้องเข้าไปแก้ไขกฎหมายและกำหนดนิยามของการขายต่ำกว่าทุน และอำนาจเหนือตลาดให้ชัดเจน สามารถเอาผิดผู้ละเมิดกฎหมายได้ เพราะค้าปลีกรายใหญ่ทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม และยังมีพฤติกรรมบีบซัพพลายเออร์ให้ซื้อสินค้าในราคาต่ำ ซึ่งในต่างประเทศมีการนำกฎหมายแข่งขันทางการค้ามาใช้ระบุถึงการขายต่ำกว่าทุน หรือ อำนาจเหนือตลาดไว้กว่า 100 ปีแล้ว ขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดเป็นไกด์ไลน์เพื่อควบคุมธุรกิจค้าปลีกด้วย เขากล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า หลังจากมีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่แล้ว คาดว่าจะประชุมให้เร็วที่สุดเพื่อพิจารณาวาระที่ค้างอยู่ เช่น ไกด์ไลน์ค้าปลีก ที่รูปแบบจะคล้ายกับหลักเกณฑ์เดิม คือ กำหนดขึ้นเพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ทำธุรกิจเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบรายเล็ก หรือซัพพลายเออร์
จัดแบ่งออกเป็น 5 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1.การกำหนดราคาขายต่ำเกินควรหรือต่ำกว่าใบแจ้งหนี้
แนวทางที่ 2.การใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า เอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ในลักษณะทำลาย ทำให้เสียหาย ขัดขวาง กีดกัน หรือจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้อื่น หรือเพื่อไม่ให้ผู้อื่นประกอบธุรกิจหรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจ
แนวทางที่ 3.ปฏิบัติกับคู่ค้าไม่เท่าเทียมกัน โดยกำหนดเงื่อนไขหรือราคาที่แตกต่างกันหรือปฏิเสธที่จะประกอบธุรกิจด้วย โดยไม่มีเหตุผลสมควร เช่น ยกเลิกขายสินค้าของคู่ค้าโดยนำสินค้าชนิดเดียวกันของตนมาจำหน่ายแทน
แนวทางที่ 4.การกระทำด้วยประการใดๆให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือความลับทางการค้า หรือเทคโนโลยีของคู่ค้าแล้วนำมาใช้ประโยชน์ในการแข่งขันกับคู่ค้าอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การทำสินค้าเฮ้าส์แบรนด์
แนวทางที่ 5.การบังคับหรือชักจูงให้ลูกค้าต้องประกอบธุรกิจกับตนเอง โดยไม่มีเหตุผลอันควร เช่น สร้างความเข้าใจผิดเสนอผลประโยชน์ที่ไม่สมเหตุสมผลในทางการค้า เป็นต้น
กรุงเทพธรุกิจ