คณะอนุกรรมการการแข่งขันทางการค้าสรุปไกด์ไลน์ค้าปลีก 8 ข้อ ชงคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาหวังใช้ภายในเดือนกันยายน
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการการแข่งขัน ทางการค้า พ.ศ.2542 ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุป แนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (ไกด์ไลน์) สำหรับธุรกิจค้าปลีก ต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิจารณา ซึ่งมีสาระสำคัญ 8 ข้อหลัก ประกอบด้วย
1.การกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม คือขายต่ำกว่าทุน หรือการซื้อขายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคาปกติในท้องตลาด 2.การเรียกผลประโยชน์ที่ ไม่เป็นธรรม 3.การคืนสินค้าที่ไม่เป็นธรรม 4.การใช้สัญญาขายฝากที่ไม่เป็นธรรม 5.การบังคับซื้อหรือขายหรือชำระค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม 6.การ ใช้พนักงานของบริษัทผู้ผลิตสินค้า ให้ผลิตสินค้าให้โดยไม่เป็นธรรม 7.การปฏิเสธซื้อสินค้าที่สั่ง ให้ผู้ผลิตผลิตให้ เช่น สั่งผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ 1 แสนชิ้น แต่รับซื้อเพียง 2 หมื่นชิ้น และ 8.การปฏิบัติไม่เป็นธรรมของผู้ค้าปลีกที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
ไกด์ไลน์ชุดนี้คณะทำงานได้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และมีการเก็บข้อมูลจากประเทศต่างๆ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เมื่อไกด์ไลน์ทั้ง 8 ข้อที่จัดทำขึ้น ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการแข่งขันฯ ผู้ค้าทุกรายในประเทศต้องยึดเป็นหลักในการทำการค้า ถ้ามีการร้องเรียนหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นภายหลัง จะส่งให้คณะกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเป็นผู้พิจารณา นายศิริพล กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะ ให้ไกด์ไลน์ค้าปลีก มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายนนี้ แม้ในไกด์ไลน์ค้าปลีกจะไม่มีการกำหนดบทลงโทษ แต่หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษ ตามมาตรา 29 ว่าด้วยปฏิบัติการค้าไม่เป็นธรรม ปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ทั้งปรับทั้งจำ
นายบุญชัย โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล ในฐานะประธานคณะกรรมการค้าส่งและค้าปลีก หอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตสินค้าได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากดิสเคาต์สโตร์ขนาดใหญ่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า (เอนทรานซ์ฟี) โดยไม่ เป็นธรรม เช่น หากสินค้ายี่ห้อเดิม ชนิดเดิม มี การปรับแพ็กเกจใหม่ มีสีใหม่ หรือไมเนอร์เชนจ์ ก็ต้องจ่ายเป็นค่าเอนทรานซ์ฟีใหม่ทั้งหมด
เมื่อเจ้าของสินค้ามีการปรับรูปแบบสินค้าให้ทันสมัยขึ้น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เรียกเก็บเอนทรานซ์ฟีใหม่ทั้งหมด 4.5 แสนบาทต่อสินค้า 1 รายการ (SKU) ในแต่ละเดือนมีสินค้าเข้าออก ราว 200 รายการ ส่วนนี้ห้างรับไปเต็มๆ แต่เป็น การเพิ่มต้นทุนให้ผู้ผลิตโดยไม่จำเป็น เมื่อไกด์ไลน์ชุดนี้ออกมาบังคับใช้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะ 7 ปีแล้ว ถึงจะมี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าตั้งแต่ปี 2542 แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก นายบุญชัย กล่าว
ที่สำคัญต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลเรื่องการ เก็บเอนทรานซ์ฟี เพราะผู้เก็บจะเรียกเก็บจากปริมาณสินค้าคูณด้วยจำนวนสาขาที่สินค้าจะเข้าไปวางจำหน่าย หากมีสาขามากก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ที่สูงขึ้น และขณะนี้ค่าเอนทรานซ์ฟีก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีเงินจ่ายสินค้าชนิดนั้น ก็เข้าไปวางจำหน่ายในดิสเคาต์สโตร์ไม่ได้
โพสต์ทูเดย์
26 สิงหาคม 2549