กระทบท้องถิ่นห้ามขยายสาขา เล็งบังคับขออนุญาตพาณิชย์
พาณิชย์ เรียกถก ยักษ์ค้าปลีกค้าส่ง 15 ราย วางเกณฑ์ ขยายสาขา ใช้สูตรคำนวณรายได้ ถ้ากำไรมากจนกระทบโชห่วยต้องหยุดสยายปีกทันที
นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมเรียกประชุมร่วมกับสมาคมค้าปลีกและ ค้าส่งขนาดใหญ่ 15 ราย ในวันที่ 13 กันยายน เพื่อหารือถึงการขยายสาขา โดยวางกรอบจะใช้ตัวเลขมูลค่าการซื้อขาย ในธุรกิจค้าปลีกภายในพื้นที่ และปริมาณการสต๊อกสินค้ามาเป็นสูตรคิดคำนวณ ในการอนุญาตให้เปิดสาขาได้หรือไม่
สาขาใดที่มีแผนการตลาดและการ ทำรายได้ในสัดส่วนที่สูงจนกระทบต่อจำนวนร้านค้าย่อยที่มีอยู่ ก็ให้ยุติการก่อสร้างและแผนการขยายสาขาของ ค้าปลีกนั้นๆ
กระทรวงพาณิชย์ ยังศึกษาต่อว่า จะออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมในกฎหมายทะเบียนพาณิชย์ วางเงื่อนไขค้าปลีกขนาดใหญ่รายใดต้องการเปิดสาขา ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน
จากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ได้เร่งการจัดซื้อพื้นที่และก่อสร้างสาขาย่อยในระดับอำเภอเป็นจำนวนมาก จังหวัดละ 3-4 แห่ง จึงต้องมีการรื้อฟื้นกฎหมายหรือกฎระเบียบที่มีอยู่มาใช้ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อเป็นการเบรกการเข้าถึงพื้นที่ที่โชห่วยไม่พร้อมจะแข่งขันได้ นายปรีชา เปิดเผย
ในสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์จะจัดประชุมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เพื่อพิจารณาเห็นชอบการบังคับใช้แนวทางปฏิบัติการค้าปลีกค้าส่ง (ไกด์ไลน์) และเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายค้าปลีกเดิมถือว่ามีความสมบูรณ์แล้ว กว่า 90% แต่ที่ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและสถานการณ์ค้าปลีก ที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากสถานการณ์ เดิม กฎหมายค้าปลีกมีการยกร่างตั้งแต่ปี 2544 ดูได้จากการขยายสาขาของค้าปลีกขนาดใหญ่ในปี 2544 รวมกันประมาณ 1,800 สาขา ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,600 สาขา ในปี 2549
เฉพาะสาขาขนาดเล็ก (เอ็กซ์เพรส) ที่แข่งขันโดยตรงกับร้านค้าย่อย (โชห่วย) ขยายตัวได้เร็วจาก 2 สาขา เป็น 300 สาขา ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่ม เช่น การกำหนดใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ต้องขอ เพิ่มทุกครั้งที่มีการเปิดสาขา ไม่ใช่ได้ไลเซ่นส์เดียวแล้วขยายได้โดยเสรีจนมีสาขาเกลื่อนเมือง
กรมได้ออกหนังสือเชิญค้าปลีกขนาดใหญ่ 15 ราย มาประชุมหารือในวันที่ 13 กันยายน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและลงนามบันทึกความร่วมมือข้อตกลง (เอ็มโอยู) ในการชะลอขยายสาขา พร้อมกำหนดเป้าหมายการเปิดสาขาและจัดทำประชาพิจารณ์ร่วมกัน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งให้เร่งศึกษากฎหมายค้าปลีก เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งจะมีการนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบโดยเร็วที่สุด พร้อมกับให้ประสานงานกับหน่วยงานที่มีกฎหมายและกฎระเบียบอยู่แล้ว เพื่อใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นายศิริพล เปิดเผย
โพสต์ทูเดย์ วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2549