วัดฝีมือทีมไทยแลนด์ ปั้นยุทธศาสตร์เชิงรุก เพิ่มขีดความสามารถประเทศไทย 
ความพยายามสร้างทีมทำงานด้านเศรษฐกิจที่เป็นเอกภาพ ของหน่วยงานจากกระทรวงการต่างประเทศ พาณิชย์ เกษตร การคลัง ท่องเที่ยว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) รวมไปถึงหน่วยงานของเอกชน เช่นการบินไทย ฯลฯ ที่ออกไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ด้วยการวางยุทธศาสตร์และประสานการทำงานเชิงรุก ภายใต้ "ทีมไทยแลนด์(Team Thailand )" เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ในการเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขันในเวทีโลก ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 ยุคของนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มาจนถึงขณะนี้ การทำงานได้ก้าวไปสู่ผู้ปฏิบัติงานจริง และเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
แต่เมื่อมี คณะปฏิรูปการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.)เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ก็ได้แต่คาดหวังได้ว่า คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้นมา จะยังคงยึดแนวนโยบายให้" ทีมไทยแลนด์"ได้เดินหน้าปฏิบัติการณ์ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด
อัดฉีด Strategic Fund
เนื่องจาก ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรอบปี 2548-2549 กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในต่างประเทศ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงยุทธศาสตร์ ทีมไทยแลนด์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรอบปี 2548-49 ได้ปรับยุทธศาสตร์นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่นสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ รวมทั้ง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกไปพบปะและสร้างความเข้าใจยุทธศาสตร์ประเทศไทยโดยภาพรวม และป็นการแลกเปลี่ยนในระดับผู้ปฏิบัติงาน พร้อมๆกับการจัดทำแผนงานรายประเทศ ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะ 10 ประเทศเป้าหมายนำร่อง เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
"ถึงตอนนี้ การทำงานคืบหน้าไปมาก โดยทางส่วนกลางที่กรุงเทพฯ จะคอยสนับสนุนการทำงานกับทีมไทยแลนด์ เช่น ประสานกับหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาอุปสรรค รวมไปถึงการจัดหางบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาการจะทำโครงการใหญ่ๆเพื่อผลักดันเชิงยุทธศาสตร์ จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เอื้ออำนวย " นายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ และประสานงานทีมไทยแลนด์ เผย และกล่าวว่า" ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป สำนักงบประมาณได้จัดงบเงินประมาณให้ทีมไทยแลนด์ นำไปใช้ ภายใต้ งบยุทธศาสตร์รายประเทศ(Strategic Fund) จำนวนสูงถึง 2,000 ล้านบาท"
โดยการจัดสรรงบประมาณนี้ จะพิจารณาจากโครงการของแต่ละประเทศ ที่ทีมไทยแลนด์ ต้องไปจัดทำโครงการ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศนั้นๆ เช่น ยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-อเมริกาเหนือ และโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตามที่ได้กำหนดไว้ เช่น ครัวไทยสู่โลก ดีทรอยต์ออฟเอเชีย เมดดิคอลฮับ สปา ฯลฯ รวมไปถึงกรอบความร่วมมือทวิภาคี และเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) และผลักดันโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประเทศให้ได้มากที่สุด และตามลำดับความสำคัญที่วางไว้
"ทีมไทยแลนด์ แต่ละแห่งจะต้องแข่งขันกันเสนอเข้ามา โดยทางส่วนกลางจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการจากทีมไทยแลนด์ ที่ดีซี สหรัฐอเมริกา เสนอเข้ามาแล้ว" นายวิทวัสกล่าว
เร่งสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ ซัพพลายเชน
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในประเด็นสำคัญ และกำลังกลายเป็นภาระหนักของทีมไทยแลนด์ ที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากที่สุด ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตลอดการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการผลักดันของภาคเอกชน คือ "เครือข่ายโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน" ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการไทย เพราะปัจจุบันนอกจากไทยจะไม่มีกองเรือสำหรับขนส่งออกสินค้าของตัวเองแล้ว ยังไม่สามารถกระจายสินค้าเพื่อเข้าถึงตลาดเป้าหมายในแต่ละประเทศได้เหมือนกับคู่แข่งจากประเทศอี่นๆ
"หนึ่งในเป้าหมายการขยายการค้า ตลาดส่งออก ของไทยในตลาดสหรัฐ ของทีมไทยแลนด์ คือ การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า ลอจิสติกส์ และการเจาะเข้าไปยังดิสตริบิวชั่นเช่น เช่น วอล-มาร์ท โคลฮ์ เซฟเวย์ บายอิ้งยูนิต รวมทั้งบริษัทเทรดดิ้งทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา" นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ วอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าว ซึ่งเป็นแผนงานที่ยังไม่ได้รวมถึงการวิจัยตลาดเชิงลึกเพื่อให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาด ภายใต้แบรนด์ไทย ซึ่งเสนอของบประมาณไว้ 10 ล้านบาท รวมทั้งการออกแบบสินค้า ให้เหมาะสมกับตลาด และการเข้าถึงสื่อต่างๆที่จะเป็นช่องทางในการเผยแพร่สินค้าไทย
เปิดตลาดใหม่ลาตินอเมริกา
ขณะที่ทีมไทยแลนด์กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ซึ่งมีประชากรรวมกัน 350 ล้านคน ได้วางยุทธศาสตร์เป็นตลาดใหม่ แม้กำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้จะยังจัดอยู่ในระดับต่ำ แต่เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน อัญมณีและก๊าซธรรมชาติ จึงมีแนวโน้มที่จะขยายไปตลาดที่กำลังซื้อสูง โดยสินค้าที่มองว่าจะมีศักยภาพในตลาดนี้ คือ รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลและผลไม้กระป๋อง ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรุง
หลายคนมองว่าลาตินอเมริกาเป็นตลาดที่มีอุปสรรค เนื่องจากระยะทางไกล ยังไม่มีบริการขนส่งเข้าโดยตรง ขาดข้อมูล ปัญหาด้านภาษาสเปน และหลายประเทศในลาติน มีมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน เช่น NTB ด้านสินค้าเกษตร เช่น เปรูกีดกันข้าวไทยเข้าประเทศโดยอ้างว่าอาจติดเชื้อจากไข้หวัดนกที่ยังคงมีแพร่ระบาดในไทย แต่ไทยก็ไม่ควรทิ้ง เพราะจีนกำลังรุกเข้าไปเต็มรูปแบบ วิมล คิดชอบ เอกอัครราชทูต ณ กรุงซานดิเอโก สาธารณรัฐชิลี กล่าว และยังเปิดเผยอีกว่า
"ปัจจุบัน ทีมไทยแลนด์ กำลังจ้างผู้เชี่ยวชาญศึกษาเชิงลึกเรื่องศักยภาพสินค้า และการลงทุนของไทยในลาตินอเมริกา รวมทั้งความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างไทย กับเปรู ชิลี และเมอร์โคซอร์ ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการตั้ง ดิสตริบิสชั่นเซ็นเตอร์เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าไทยในลาตินอเมริกา และการสร้างผู้เชี่ยวชาญของไทยเกี่ยวกับลาตินอเมริกาด้วย "
เช่นเดียวกับทีมไทยแลนด์ภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ซึ่งประชากรรวมกัน 40 ล้านคน โดยเฉพาะออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับไทย ส่งผลให้การค้าทั้งสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก และทั้งสองประเทศยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าไทยและด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ นายสุชาติ เลียงแสงทอง รองกงสุลใหญ่ สำนักงานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ทีมไทยแลนด์ ว่า มุ่งให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมสินค้าไทยและธุรกิจบริการ เช่น สินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทย ธุรกิจร้านอาหารไทย สปา รวมถึงด้านลอจิสติกส์ และการทำเน็ตเวิร์คกิ้งกับผู้ประกอบการในประเทศ รวมทั้งความร่วมมือกับคนไทยที่ทำงานในต่างแดน
"นอกเหนือจากการโปรโมตสินค้าไทย และบริการต่างๆ แล้ว ต้องการให้ทางส่วนกลางพิจารณาให้การสนับสนุนภาคธุรกิจคนไทยที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศด้วย"
เอกชนขานรับ
ยุทธศาสตร์การทำงานของทีมไทยแลนด์ ถึงขณะนี้ได้รับการขานรับและประสานการทำงานกับภาคเอกชนได้ก้าวหน้าในระดับหนึ่ง น.พ.สุรพงษ์ อำพันวงษ์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เผยถึงการทำงานของทีมไทยแลนด์ ขณะนี้ ว่า เป็นเรื่องควรสนับสนุนต่อเนื่อง เพราะเป็นการระดมความคิดร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างไรก็ตามเมื่อทำแล้วก็อยากเห็นการวัดผลสำเร็จ ซึ่งจะเป็นตัวที่จะนำมาแก้ไข ปรับปรุง "การที่จะรอช้าในการวัด คู่แข่งก็อาจไปไกลแล้ว และการแก้ปัญหาก็ต้องฉับไว เพื่อให้ทันเหตุการณ์"
ขณะที่นายสมพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) เผยถึงการจัดประชุมของทีมไทยแลนด์ที่ผ่านมาว่า เป็นสิ่งที่ดี และเป็นการเตือนให้ทีมไทยแลนด์ที่ทำงานในต่างประเทศระลึกเสมอว่ามีภาระกิจที่ต้องทำให้ประเทศไทยอยู่บนแผนที่โลบกทางเศรษฐกิจให้ได้ ในส่วนของเอ็กซิมแบงก์เองก็เข้ามาช่วยให้ข้อมูล แนวความคิด ทั้งเชิงยุทธศาสตร์และจุดอ่อน "ประเทศไทยเข้าไปผูกตัวเองชัดเจนกับการค้าโลก การลงทุน การที่กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับในข้อเสนอแนะต่างๆ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีใจมาก"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2152 28 ก.ย. - 30 ก.ย. 2549 |