ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ได้มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้อัญเชิญพระบรมราชโองการ และต่อมา พล.อ.สุนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้อ่านพระบรมราชโองการ ความว่า
ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ตามที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไปนั้น
บัดนี้ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมควรได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2549 เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
จากนั้นพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถวายคำนับพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับสนองพระบรมราชโองการ และเปิดกรวยหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายคำนับและกลับมาประจำที่เดิม และถวายคำนับอีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี
รายละเอียด คำต่อคำ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เปิดใจถึงการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ผมมีเป้าหมายสองประการ ประการแรกคงเป็นปัญหาเรื่องทางการเมือง ประการสองคงเป็นปัญหาในเรื่องของทางภาคใต้ ผมตระหนักดีว่าปัญหาทั้งสองปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีความสำคัญ แล้วก็ต้องการความปรองดอง ความเข้าใจที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญของเรา เหตุหลักๆ ที่พอจะประมวลได้ก็น่าจะเกิดจากความไม่เป็นธรรมในสังคมของเราซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาทั้งทางการเมือง และปัญหาสถานการณ์ทางภาคใต้ ดังนั้น ผมจึงขอเรียนวิงวอนต่อพี่น้องประชาชนทุกคนว่า ผมใคร่ขอความร่วมมือที่จะร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาทั้งสอง การที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งสองนี้อยู่ที่ความสามัคคี ความรักใคร่ปรองดองของพวกเราทุกคนที่จะร่วมมือกันแก้ไข
ในหน้าที่ของผมนั้นซึ่งถือเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ก็คงจะพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถภายในกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ นั่นก็คือประมาณ 1 ปี เมื่อจบสิ้นวาระแล้วก็เป็นหน้าที่ของพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะได้มีการเลือกตั้งเพื่อสรรหาฝ่ายบริหารที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ตามความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคน ครับก็ขอเรียนในเบื้องต้นไว้เพียงเท่านั้น หากว่าสื่อมวลชนมีคำถามผมก็คงมีเวลาให้ประมาณ 4-5 คำถาม เชิญครับ
ถาม - ท่านมีกรอบแนวทางการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเรื่องเศรษฐกิจได้อย่างไร ตอนนี้มีใครอยู่ในใจที่จะอยู่ในทีมเศรษฐกิจแล้วหรือยัง
พล.อ.สุรยุทธ์ - ในขณะนี้ยังไม่มี ผมจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนี้ ในการที่จะเลือกบุคคลที่จะมาร่วมในคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ก็จะมีการชี้แจงนโยบายในเรื่องที่จะสร้างความมั่นใจในด้านเศรษฐกิจ คงจะต้องมีการหารือกันก่อน เพราะว่าคงมิได้เป็นนโยบายของผมแต่เพียงผู้เดียว คงเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีที่จะต้องช่วยกันพิจารณาในการบริหารงานนี้
ถาม - คิดว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ที่จะร่วมทีมไหมครับ
พล.อ.สุรยุทธ์ - ขอพิจารณานะครับ ผมตอบได้เพียงแค่นั้น เชิญครับเป็นคำถามที่ 2
ถาม - จากหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นอาซาฮีค่ะ ท่านคะ ก่อนหน้านี้ท่านเคยประกาศว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ท่านมาเป็นนายกรัฐมนตรีคะ
พล.อ.สุรยุทธ์ - ที่ผมได้รับหน้าที่ในฐานะผู้บริหารนี้ก็เนื่องจากทางหัวหน้า หรือว่าประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้มาพบกับผม แล้วก็อธิบายถึงเหตุผลที่จำเป็นจะต้องดำเนินการในการเข้ามาปฏิรูปการปกครองในช่วงนี้ ผมก็ได้รับฟังแล้วก็ได้มีการหารือกันว่าความเหมาะสมเป็นอย่างไรบ้าง มีบุคคลอื่นที่ทางประธานคณะมนตรีฯ ได้ไปพบหรือว่าได้หารือไว้ในใจอย่างไรบ้าง นั่นก็เป็นเรื่องที่ท่านประธานได้บอกผมว่าในทุกๆ ด้านแล้วก็อยากจะให้ผมเข้ามารับภาระ ถ้าจะตอบตรงๆ ผมเองไม่ได้มีความคิดที่จะรับหน้าที่ในการบริหารนี้ แต่ว่าด้วยความจำเป็นก็จำเป็นต้องรับ เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง ผมมองถึงปัญหาในระยะยาวของบ้านเมืองของเรา ถ้าหากว่าเราร่วมมือกัน และแก้ไขได้ ก็เหมือนกับว่าเราผ่านช่วงเวลาวิกฤตอันนี้ไปแล้ว แล้วก็สามารถที่จะฟันฟ่าอุปสรรค เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของบ้านเมืองของเรา
ถาม - การพิจารณาสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีครั้งนี้จะเน้นในเรื่องอะไรเป็นพิเศษ
พล.อ.สุรยุทธ์ - ครับ คงจะเรียนได้ว่าผมจะพยายามเลือกบุคคลที่จะมาร่วมงานในลักษณะที่มีความเป็นกลาง มีความรู้ มีความสามารถ และมีความเต็มใจที่จะมาร่วมกันแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง
ถาม - ท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีแบบไหนของประเทศไทย
พล.อ.สุรยุทธ์ - ก็คงเป็นแบบของตัวของผมเอง ก็คือพยายามที่จะเป็นกันเองกับทุกๆ ส่วน พยายามที่จะลงไปรับข้อมูลจากทุกๆ ภาค ทุกๆ ส่วน และถ้าเป็นไปได้ก็คงมีโอกาสไปพบปะกับพี่น้องประชาชนในทุกๆ ภาค ทุกๆ ส่วนให้มากที่สุดเท่าที่เวลาของผมจะอำนวย
ถาม - ใน 1 ปีของการบริหารงานคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง
พล.อ.สุรยุทธ์- ผมคงยังไม่สามารถที่จะพูดถึงอนาคตข้างหน้าได้ แต่อยากจะเรียนว่าผมขอความร่วมมือจากทุกๆ ท่านเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าในปัจจุบัน คงตอบได้เพียงเท่านี้ว่าเราอยากเห็น อยากได้รับสิ่งที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ถาม - ที่ผ่านมาข้าราชการมีปัญหาในการทำงานในส่วนของรัฐบาลชุดที่แล้ว ภายใต้การบริหารงานของท่านข้าราชการจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร
พล.อ.สุรยุทธ์ - ผมจะยืนอยู่บนระบบของคุณธรรม สร้างความเป็นธรรมในระบบการบริหารงานเป็นหลัก ซึ่งระบบคุณธรรมนี้หมายถึงว่าเราจะดูในเรื่องของความสามารถ เรื่องของประสิทธิภาพ เรื่องของความซื่อตรงเป็นหลักที่สำคัญ
ถาม - ในส่วนของเศรษฐกิจ รัฐบาลชุดที่แล้วเน้นตัวเลขของเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีท่านจะเน้นอะไร
พล.อ.สุรยุทธ์ - ถ้าจะเรียนในเรื่องนี้คงจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน เราคงไม่ได้มุ่งในเรื่องของตัวเลขจีดีพีมากนัก แต่คงจะดูในเรื่องของตัวที่วัดความผาสุกของพี่น้องประชาชนมากกว่า ขอเชิญเป็นคำถามสุดท้ายครับ
ถาม - หนักใจไหมที่ต้องมารับตำแหน่งในช่วงเวลานี้
พล.อ.สุรยุทธ์ - ขออนุญาตให้ท่านอื่นได้บ้างไหมครับ
ถาม - เรื่องการปราบทุจริตในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ท่านมีนโยบายอย่างไรบ้าง
พล.อ.สุรยุทธ์ - ในส่วนของฝ่ายบริหารเราจะให้ความร่วมมือมากที่สุด เพราะว่าในเรื่องของการดำเนินการนั้นคงจะยืนอยู่บนหลักของความยุติธรรม โดยใช้กฎหมาย แล้วก็องค์กรอิสระหรือว่าหน่วยงานทางด้านความยุติธรรมต่างๆ นั้นก็คงมีหน้าที่ดำเนินการไป ถ้าหากว่าต้องการการสนับสนุน เช่นว่า หลักฐาน เช่นว่า เอกสารต่างๆ เราก็พร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆ เรื่อง คงจะขอเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ
ประวัติ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24
เกิด - 28 สิงหาคม 2486 ที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของ พ.ท.พโยม จุลานนท์ กับนางอัมโภช จุลานนท์
สถานภาพ - สมรสกับ พ.อ.หญิง คุณหญิง จิตรวดี จุลานนท์ (สกุลเดิม "สันทัดเวช")
การศึกษา
ก่อนรับราชการ
- ร.ร.เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์
- ร.ร.เซนต์คาเบียล
- ร.ร.สวนกุหลาบ
- ร.ร.เตรียมทหาร
- ร.ร.นายร้อย จปร. รุ่น 12 ปี 2508
เมื่อเข้ารับราชการแล้ว
- หลักสูตรชั้นนายร้อย เหล่าทหารราบ พ.ศ. 2509
- หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศจู่โจม พ.ศ. 2509
- หลักสูตรชั้นนายพัน เหล่าทหารราบ สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511
- หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52 พ.ศ. 2516
- หลักสูตรเสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2517
- หลักสูตรการบริหารทรัพยากร กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2517
- หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2536
ประวัติการทำงาน
- ประจำศูนย์การทหารราบ พ.ศ. 2508
- ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31 พ.ศ. 2509
- ผู้บังคับชุดปฏิบัติการ กองร้อยรพิเศษ กองรบพิเศษ (พลร่ม)ที่2 พ.ศ. 2513
- ครูโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ พ.ศ. 2515
- ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 23 พ.ศ.2521
- ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 กองพลรบพิเศษที่ 1 พ.ศ.2526
- ผู้บัญชาการกองรบพิเศษที่ 1 พ.ศ.2532
- ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พ.ศ.2535
- แม่ทัพภาคที่ 2 พ.ศ.2537
- ที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพบก พ.ศ. 2540
- ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พ.ศ.2540
- ผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2541 - 2545
- ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ.2545 -2546
ตำแหน่งพิเศษ
- ราชองค์รักษ์เวร พ.ศ. 2526
- นายทหารคนสนิท นายกรัฐมนตรี (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) พ.ศ. 2521-2531
- นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2531
- สมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 1 และ 2 พ.ศ. 2535 และ 2539
- ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกล้าหาญ
- เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 พ.ศ. 2517
- เหรียญกล้าหาญ รามาธิบดี (รามมาลา) พ.ศ. 2533
- มหาวชิรมงกุฏ พ.ศ. 2535
- มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2538
- ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พ.ศ. 2539
เกร็ดชีวิต
พ.ท.พโยม จุลานนท์ บิดาของพล.อ.สุรยุทธ์ เคยดำรงตำแหน่งระดับแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเป็นที่รู้จักกันในนาม "สหายคำตัน" โดยได้หนีเข้าป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 ขณะที่พล.อ.สุรยุทธ์ เพิ่งอายุได้แค่ 6 ขวบ และเรียนอยู่ชั้น ป.2 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
หลังจากพล.อ.สุรยุทธ์ รับราชการในยศร้อยตรี ในปี พ.ศ. 2508 ได้ไปศึกษาต่อหลักสูตรเสนาธิการทหารบกที่สหรัฐอเมริกา และทำงานในหน่วยรบต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในขณะที่บิดาก็ยังเป็นแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น
พลเอกสุรยุทธ์ เป็นผู้นิยมการเดินป่าชมธรรมชาติ เป็นประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเป็นที่ปรึกษาของเยาวชนกลุ่ม"รักษ์เขาใหญ่" ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ในชื่อ "ลุงแอ๊ด" หลังจากเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2546 ได้อุปสมบท และออกธุดงค์ในภาคอีสาน