"พาณิชย์" สบช่องช่วงปลอดการเมือง คลอดไกด์ไลน์ค้าปลีก 8 ข้อ คุมพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของยักษ์ค้าปลีก ค้าส่ง หลังพยายาม ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ถูกการเมืองปัดตกมาโดยตลอด "ศิริพล" เผยหากได้รับการร้องเรียน พร้อมจะพิจารณาทันที ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากรณีร้องเรียนขนส่งน้ำมันไปสนามบินสุวรรณภูมิ คณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชนแก้ปัญหาค้าปลีกถกวันนี้
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า วานนี้ (3 ต.ค.) ว่า ได้อนุมัติแนวทางพิจารณาการปฏิบัติ ทางการค้า (ไกด์ไลน์) ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย (ซัปพลายเออร์) ภายใต้มาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เพื่อกำหนดพฤติกรรมทาง การค้าระหว่างผู้ประกอบการดังกล่าวให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี เป็นธรรมและป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการค้าปลีก ค้าส่งรายใหญ่เอาเปรียบซัปพลายเออร์ จนทำให้ได้รับความเสียหายทางธุรกิจ โดยจะมีผลบังคับใช้ทันที หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับไกด์ไลน์ดังกล่าว ประกอบด้วยพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันไม่ใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม 8 ลักษณะ ได้แก่ 1. การกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม เช่น การขายต่ำกว่าทุน การกดราคารับซื้อ 2. การเรียกรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เช่น การเรียกเก็บค่าแรกเข้าสินค้า (เอน- ทรานซ์ฟี) โดยไม่บอกล่วงหน้า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนรูปแบบสินค้าเล็กๆ น้อยๆ (ไมเนอร์เชนจ์)
3. การคืนสินค้าโดยไม่เป็นธรรม หรือนอกเหนือไปจากสัญญาซื้อขาย 4. การใช้สัญญาการฝากขายที่ไม่เป็นธรรม เช่น กรณีที่ห้างทำสัญญาขายฝากกับซัปพลายเออร์จะได้กำไรชิ้นละ 50 สตางค์ แต่กลับเปลี่ยนสัญญาเป็นซื้อขาด เพื่อหวังกำไรเพิ่มขึ้น เพราะการทำสัญญาซื้อขาดจะได้กำไรมากกว่าขายฝาก 5. การบังคับให้ซื้อ หรือให้จ่ายค่าบริการ เช่น บังคับให้ซัปพลายเออร์ซื้อสินค้าต่างตอบแทนนอกเหนือจากสัญญาซื้อขาย 6. การใช้พนักงานของผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายอย่าง ไม่เป็นธรรม เช่น บังคับให้ซัปพลาย-เออร์ส่งพนักงานไปขายสินค้าที่ห้าง และต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้ห้างด้วย
7. การปฏิเสธการรับสินค้าที่สั่งซื้อ/ผลิตพิเศษ เป็นตราเฉพาะของผู้สั่งผลิต (ไพรเวท แบรนด์) หรือเป็นตราเฉพาะของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (เฮาส์แบรนด์) เช่น สั่งให้ซัปพลายเออร์ผลิตสินค้าไพรเวท แบรนด์ หรือเฮาส์แบรนด์ เมื่อผลิตเสร็จแล้ว ปฏิเสธที่จะรับสินค้า และ 8. การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ เช่น การที่ห้างตอบโต้ซัปพลายเออร์อย่างไม่เป็นธรรม กรณีที่ซัปพลายเออร์ร้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมของห้างกับทางการ โดยที่ห้างอาจประวิงการจ่ายค่าสินค้า หรือลดการสั่งซื้อ เป็นต้น
"การมีไกด์ไลน์ดังกล่าว จะเป็น แนวทางในการปฏิบัติของผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ที่มีต่อ ซัปพลายเออร์ และเป็นเครื่องชี้เตือน ว่า พฤติกรรมใดหากทำแล้วอาจเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 29 ขณะเดียวกันก็จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะใช้พิจารณาว่าพฤติกรรม ใดไม่สามารถทำได้ หากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น" นายการุณกล่าว
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เมื่อไกด์ไลน์มีผลบังคับใช้ กรมฯ จะนำการร้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ของห้างมาพิจารณา โดยหากผู้ร้องรายใดยังต้องการให้กรมฯ ดำเนินการต่อ ก็ให้ยืนยันการร้องเรียนเข้ามา ก็จะพิจารณากรณีนั้นๆ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องด้านน้ำมัน ตรวจสอบเรื่อง ร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานระบบท่อขนส่งไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นักวิชาการ และกรมการค้าภายใน
ทั้งนี้ การร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการขนส่งน้ำมันทาง ท่อนั้น เมื่อประมาณปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้รับการร้องเรียนจากบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อรายหนึ่ง ระบุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่ค่าใช้จ่ายบางส่วนถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการขนส่งไปที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และคู่แข่งขันสามารถตั้งราคาต่ำกว่าทุนได้ ทำให้บริษัทดังกล่าวไม่สามารถแข่งขันได้โดยเสรีอย่างเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (4 ต.ค.) คณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจะมีการประชุมเป็นนัดแรก เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งพ.ศ....นั้นกรม ปรับปรุงใกล้เสร็จแล้ว และจะนำเข้าสู่ การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังจากที่มีรมว.พาณิชย์แล้ว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ที่ผ่านมากรมการค้าภายใน มีความพยายามจะเสนอไกด์ไลน์ให้มี ผลบังคับใช้ มาตั้งแต่ปี 2545 แต่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่มีรมว.พาณิชย์เป็นประธาน ทั้งนายอดิศัย โพธารามิก นายวัฒนา เมืองสุข และนายทนง พิทยะ ไม่ยอมพิจารณา อนุมัติ จนมาถึงสมัยที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ก็มีแนวโน้มว่าจะพิจารณาอนุมัติให้ และมีกำหนดจะประชุมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า วันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลกลับถูกยึดอำนาจเสียก่อน
โดย ผู้จัดการรายวัน |
4 ตุลาคม 2549 11:27 น. |