ถ้าจะถามว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เด่นมากในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย ตั้งแต่ช่วงวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา ในทัศนะของผมคือ การขยายตัวของการค้าปลีกค้าส่ง (Hyper Market) รวมทั้งร้านประเภทสะดวกซื้อที่เห็นกันดาษดื่นทั่วกรุงเทพฯ ข้อมูลจากอธิบดีกรมการค้าภายในที่แถลงต่อสื่อมวลชนว่าห้างค้าปลีกค้าส่งประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต (เป็นที่ทราบกันดีว่า หมายถึงยักษ์ใหญ่ข้ามชาติสี่บริษัท คือ เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซี และแม็คโคร) นั้น ตอกย้ำข้อสังเกตข้างต้น
ไฮเปอร์มาร์เก็ต มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัวภายในระยะเวลาไม่ถึงห้าปี ตั้งแต่ปี 2544 จาก 1,822 สาขา เป็น 5,400 สาขา ประเด็นร้อนๆ เรื่องธุรกิจค้าปลีกมักจะวนเวียนมาอยู่ที่ปัญหาของร้านโชห่วยที่ถูกกระทบ แต่ผู้เขียนเห็นว่า ประเด็นหรือโจทย์ที่เย็นๆ แต่มีความสำคัญที่ควรมีการถกเถียงและหาข้อเท็จจริงหรือมีการวิจัยกันมากขึ้น คือการปรับตัวและพัฒนาการขององค์ประกอบที่สำคัญอันเกิดจากการขยายตัวของ Hyper Market ผลที่มีต่อคุณภาพการผลิต การให้บริการ ด้านค้าปลีก และผลโดยรวมต่อคุณภาพและขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว
เมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พบเห็นในต่างประเทศ ผู้เขียนคิดว่าระบบหรือภาคการค้าปลีก หรือภาค distribution ของไทย มีการแข่งขันและคุณภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ส่งผลที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคผ่านการเข้าถึงและความหลากหลายในคุณภาพและราคาสินค้าโดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ จะโดยตั้งใจหรือเป็นความบังเอิญจากผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ก็ตามที
ผู้เขียนคิดว่าเราเดินมาถูกทางที่ประเทศไทยมิได้มีนโยบายกีดกันแบบเข้มงวดกับการเข้ามาของบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติ ไม่ใช่เป็นเพราะเงินทุนที่นำเข้ามาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของนวัตกรรมและการจัดการที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน เมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สังคมดูจะมีความพอใจ แม้ความเป็นเจ้าของและอำนาจในการจัดการจะอยู่ในมือของคนต่างชาติและโครงสร้างตลาดมีการกระจุกตัวในบรรษัทข้ามชาติค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่เพียง 3-4 รายก็ตามที
ผู้เขียนเชื่อว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ใช่ประเภท Hit & Run เหมือนกองทุน Hedge Fund บริษัทเหล่านี้ส่งกำไรกลับก็จริง แต่เป็นการลงทุนระยะยาว ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้มีการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย การแข่งขันทางการค้าที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม
บรรษัทข้ามชาติค้าปลีกเกิดมาร้อยกว่าปีก็จริง แต่ก็ขึ้นๆ ลงๆ เป็นวัฏจักร การเข้ามาในเอเชียในทศวรรษ 1990 นี้ เริ่มมีมากขึ้นพร้อมกันไปทั่วโลก แต่บรรษัทเหล่านี้ก็เลือก เช่น ไม่สนใจจะเข้าไปในอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่เมื่อเทียบกับจีน ไม่ใช่เพราะอินเดียเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกช้า แต่เป็นเพราะต้นทุนการทำธุรกิจสูง โดยเฉพาะราคาและการเข้าถึงที่ดิน อุปสรรคเหล่านี้ไทยมีน้อยกว่าอินเดียมาก โดยเฉพาะช่วงที่ไทยและเอเชียมีวิกฤติ
เมื่อเข้ามาแล้วก็แข่งกันขยายตัวเพราะเห็นโอกาสและชิงความได้เปรียบคู่แข่ง ขยายสาขามากๆ ก็ดูยังมีกำไร สาเหตุเป็นเพราะอุปทานในการค้าปลีกสมัยใหม่ ไล่ตามไม่ทันอุปสงค์ที่ถูกอัดอั้นมานาน
อะไรคือสาเหตุที่อุปทานมักตามไม่ทันไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ประเทศส่วนใหญ่มองอุตสาหกรรมค้าปลีกไม่ใช่อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ต้องพึ่งต่างชาติ และไม่สำคัญเท่ากับอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าปลีกควรคุ้มครองไว้ให้กับคนในชาติโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย อินเดียและญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ผลที่ตามมาสำหรับประเทศเหล่านี้ ก็คือ ธุรกิจค้าปลีก หรือระบบ distribution ไม่มีประสิทธิภาพ productivity ต่ำมาก สินค้าราคาแพง บริการไม่ดี
โครงสร้างตลาดและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต ผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก และผู้บริโภค มีผู้ประกอบการรายเล็กๆ ซึ่งได้รับการคุ้มครองมากเกินไป ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด และการจัดการสมัยใหม่ ประเทศเหล่านี้ลืมไปว่า productivity หรือคุณภาพของภาคบริการก็มีความสำคัญต่อภาคการผลิต และจะมีผลต่อผลิตภาพโดยรวมระดับมหภาค (ทุกประเทศอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งจ้างงาน และมีส่วนแบ่งใน GDP สูงมาก)
ผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกต้องร่วมมือซึ่งกันและกัน ผู้ค้าปลีกที่ใหญ่ขึ้นกระทบและทำให้ระบบขายส่งต้องปรับตัว มีบทบาทในการร่วมบริหาร supply chain หรือระดับต้นน้ำ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็มีบทบาทมากขึ้นในระดับปลายน้ำ หรือระดับค้าปลีก
ทั้งหมดนี้ เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โครงสร้างตลาด รสนิยมผู้บริโภค และนโยบายของรัฐ การเปลี่ยนแปลงของ productivity ในภาคการค้าปลีกต้องเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมและแรงจูงใจที่มีการแข่งขันเท่านั้น การปฏิวัติทางด้านการค้าปลีก การปฏิวัติสารสนเทศหรือ information technology ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ต่อผลิตภาพของอุตสาหกรรมค้าปลีกผ่านการปรับปรุงระบบ logistics (เช่น การกระจายการส่งสินค้า การควบคุมสต็อกสินค้าที่ดีขึ้น เป็นต้น)
เริ่มจากกรณีของ Walmart Effects ในสหรัฐ ผู้เขียนคิดว่าทางการไทยควรทำให้การเข้าออกของผู้ค้าปลีกค้าส่งเป็นไปอย่างเสรี เพื่อทำให้โครงสร้างผู้ผลิตน้อยรายมีการแข่งขัน กำกับดูแล การใช้กลไกที่มีผลต่อการจำกัดการแข่งขันในแนวดิ่งจากอำนาจทางตลาดที่สูงขึ้นของผู้ค้าปลีกข้ามชาติรายใหญ่ที่กระทำต่อผู้ผลิต ขณะเดียวกัน ช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องการอบรมผู้ประกอบการรายย่อยให้มีขีดความสามารถในการปรับตัว เพื่อสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และให้ชุมชน องค์กรท้องถิ่น มีอิสระในการกำหนดนโยบาย
ในระยะยาวรัฐไม่สามารถรู้ความต้องการของผู้บริโภค ตลาดและการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเท่านั้น คือกลไกการค้นหาดุลยภาพหรือความพอเหมาะพอดี
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 26 กันยายน 2549 18:50 น.