ภาพลวงตากำลังซื้อ 1.3 พันล้านคน โอกาส ปัญหา อุปสรรคการค้าจีน
จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) มีมูลค่าสูงถึง 2.26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีนาคมปีนี้จีนมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก 875,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปี 2548 จีนได้เปรียบดุลการค้าทั่วโลก มูลค่า 102,104.994 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับสองของโลก คิดเป็น 15.56% จีนจึงเป็นประเทศที่มีบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคเอเชียและในโลก
รายงานวิจัยล่าสุดประจำเดือนตุลาคม 2549 เรื่อง จีน : หนึ่งประเทศ หลายมณฑล หลากกฎเกณฑ์ จากโครงการศึกษาวิจัย โอกาส ปัญหา และอุปสรรคทางการค้าในการเข้าสู่ตลาดจีน อันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน-จีน โดยเจาะลึกเป็นรายมณฑล ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ระบุชัดว่า
ปีที่ผ่านมาการค้าระหว่างไทยกับจีนทวีความสำคัญมากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 20,343.20 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 9,183.40 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 11,159.80 ล้านเหรียญสหรัฐ
ระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด ในปี 2548 ไทยขาดดุลจีนสูงถึง 1,946.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะวิจัย ชี้ว่า เปรียบเทียบไทยกับจีนในแง่ขนาดพื้นที่ จีนใหญ่กว่าไทย 19 เท่า มีประชากรมากกว่าไทย 20 เท่า และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย 10 เท่า แต่ประชากร 1.3 พันล้านคน ทั้งประเทศ กลับเป็นภาพลวงตาของกำลังซื้อ ที่ไม่สามารถเหมารวมเป็นตลาดเดียวได้ จำเป็นต้องวิเคราะห์หาโอกาสและศักยภาพระดับมณฑลบนความหลากหลายแทน
แม้จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก แต่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่อันดับที่ 100 จากปัญหาช่องว่างการกระจายรายได้ ชาวจีน 70% อาศัยอยู่ในชนบท ขณะที่กลุ่มฐานะดีและปานกลางซึ่งมีอำนาจซื้อ 200-300 ล้านคน กระจุกตัวอยู่ในเมืองสำคัญด้านชายฝั่งทะเลตะวันออก
จากความแตกต่างทางด้านรายได้และจำนวนประชากรในเมืองและชนบท ทำให้ในการศึกษาเพื่อเข้าสู่ตลาดจีน ต้องทำความเข้าใจลักษณะการใช้จ่ายและประเภทของผู้บริโภค เพื่อให้เข้าใจสภาพแต่ละตลาด
หลังจากมังกรจีนเลื้อยตัวเข้าไปเป็นสมาชิก WTO ในปี 2544 ทำให้รัฐบาลต้องเปิดเสรีการค้าและการลงทุนกับต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนสภาพใช้จ่ายและการบริโภค
แม้ว่าผู้บริโภคจีนจะมีรายได้และอำนาจซื้อที่สูงขึ้น แต่ภาวะแวดล้อมที่ราคาสินค้าใหม่ๆ เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายในครัวเรือนในอนาคต มีจำนวนไม่น้อยที่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย และให้ความสำคัญกับการเก็บออม
ดร.อักษรศรี กล่าวว่า ความที่จีนมีขนาดใหญ่มีประชากรกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ อุปนิสัยและวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค/มณฑลมีผลต่อพฤติกรรมและรสนิยมของชาวจีนแตกต่างกันไป เช่น รูปแบบการดำเนินชีวิต การแต่งกาย การรับประทานอาหารนอกบ้าน จากพื้นที่ศึกษา 18 มณฑล ในขณะที่บางแห่งเน้นการอยู่แบบพอเพียง บางมณฑลก็ใช้ชีวิตหรูหราฟู่ฟ่าอินเทรนด์พิมพ์เดียวกับหนุ่มสาวฮ่องกง
ปีที่ผ่านมา ไทยมีตลาดส่งออก 10 อันดับแรก ได้แก่ กว่างตง เจียงซู ซ่างไห่ เจ้อเจียง ซานตง ฝูเจี้ยน เป่ยจิง เทียนจิน เหลียวหนิง และเจียงซี ตามลำดับ เกือบครึ่งของการส่งออกอยู่ที่มณฑลกว่างตง คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 6.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ศักยภาพของสินค้าไทยในตลาดจีน ธานี ชัยวัฒน์ หนึ่งในทีมวิจัย และเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ไทยเรายังมีนโยบายเชิงรับมากกว่าเชิงรุกในการเปิดตลาดการค้ากับจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงงานขนาดมหึมาของโลก
ที่ต้องมองให้ออก คือ แต่ละประเทศที่กรูกันเข้าไปทำการค้ากับจีนต่างกลัวอะไร? คำตอบชัดเจนอยูแล้ว เพราะสิ่งที่นักลงทุนหวั่นเกรงก็คือความสามารถในการแข่งขัน
หลายมณฑลทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมค้าปลีกล้วนมีการแข่งขันสูง การเจาะเข้าไปแต่ละมณฑลที่มีศักยภาพต้องทำงานหนักและทุ่มเททำตลาด มีไม่กี่มณฑลที่ไทยได้ดุลการค้าส่วนใหญ่ขาดดุลจากการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่จีนใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากหลายประเทศในอาเซียนนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม
สอดรับกับมุมมองของ พิษณุ เหรียญมหาสาร รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ยอมรับว่า ไทยเรายังจับภาพไม่ชัดในการเข้าไปร่วมวงศ์ไพบูลย์กับการเติบโตของจีน
หลักชัย กิตติพล ผู้บริหารจากบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประสบการณ์ 29 ปีในการทำธุรกิจส่งยางพาราไปจีนว่า การทำธุรกิจในช่วงปี 2523-2533 เป็นเรื่องของระบบสายสัมพันธ์ แค่เมาก็ทำธุรกิจในจีนได้แล้ว เพราะบางมณฑลมีธรรมเนียมการดื่มเหล้า ถ้าไม่เมาไม่ใช่พี่น้องกัน การค้าขายกับจีนต้องใจสปอร์ตและเปิดกว้างให้มาก
แต่พอเข้าสู่ปี 2538 สถานการณ์เปลี่ยนไปเกิดจีนรุ่นใหม่ ธุรกิจมีการแข่งขันมากขึ้น เริ่มเข้าสู่กฎเกณฑ์มาตรฐานโลก การทำธุรกิจในจีนน่าสนใจ แต่ต้องระมัดระวัง
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงจีนผ่านมุมมองนักวิชาการว่า อีกปีสองปีจากนี้จีนจะมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาก็เคลื่อนตัวจาก Production Based Economy ไปเป็น Service and Finance Based Economy
ความโดดเด่นของจีนทั้งแง่ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกว่า 31 ล้านคน ที่พร้อมจะจับจ่ายทั่วโลก ทำให้ถนนทุกสายมุ่งหาจีน
ไทยจะได้ประโยชน์แค่ไหน? จากการเติบใหญ่ของจีน เขาวิเคราะห์ว่า ไทยเราถนัดแต่ส่งออกสินค้าต้นน้ำ (วัตถุดิบ) อย่างเก่งก็แค่กลางน้ำ ซึ่งถ้ามองถึงกลยุทธ์การบริหารเอฟทีเอ ของจีนจะตรงข้ามกันเลยกับญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นจะกังวลกับการปกป้องผลิตผลในประเทศ ข้าวมันไก่ใส่น้ำตาล ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ และน้ำตาล จีนกลับมีวิธีคิดในมุมใหม่ของเอฟทีเอ จนทำให้บรรดามหาอำนาจนั่งไม่ติด
ไทยจำเป็นต้องรู้นโยบายประเทศจีนว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ? การหยิบยกแนวคิด Global Supplychain Management หรือการบริหารห่วงโซ่อุปทาน มาบริหารสินค้าคงคลังทั้งโลก ปลุกให้โลกตื่นตัว และผลักดันให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดเป็น Regional Supplychain Management ลากยาวทั้งเอเชีย
จีนเป็นตัวแปรสำคัญที่บุกตลาดญี่ปุ่น และปลุกตลาดโลกให้คึกคัก
โจทย์ที่ต้องตีให้แตก คือ ความจำเป็นในการพัฒนาชิ้นส่วนทั้งตลาดอาเซียนเพื่อป้อนให้จีน ในก้าวจังหวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ Service Based Economy โดยไม่มองข้ามอุปสรรคการลงทุนทั้งปวงที่พร้อมจะสอยนักลงทุนไทยร่วง
รายงานวิจัยชิ้นนี้ระบุชัดว่า แม้ว่าจีนจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากร 1.3 พันล้านคน แต่การเข้าถึงตลาดไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าจะให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจเหมือนกันหมด เนื่องด้วยอุปนิสัย รสนิยม และความชอบแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน
นักธุรกิจซึ่งรู้จักผลิตภัณฑ์ของตัวเองดีที่สุด จำเป็นต้องเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเองว่า ตลาดเป้าหมายอยู่ที่เมืองไหน? มณฑลใด?
เพื่อให้ภาพลวงตากลายเป็นภาพจริงที่จับต้องได้ และมีโอกาสความสำเร็จที่เอื้อมถึง...
วรนุช เจียมรจนานนท์