ทำอย่างไรจึงจะได้ VAT คืน  การประกอบธุรกิจที่มีอยู่ทุกวันนี้มีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ ธุรกิจขายสินค้ากับธุรกิจให้บริการ เมื่อมีการประกอบธุรกิจย่อมมีรายได้หรือรายรับเกิดขึ้น ต้องนำรายได้หรือรายรับดังกล่าวไปเสียภาษีอากร ซึ่งภาษีอากรที่ต้องเสียมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ธุรกิจขายสินค้าและธุรกิจให้บริการโดยทั่วไปแล้วหากมีรายรับตั้งแต่ 1,800,000 บาทต่อปีมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วมีหน้าที่ต้องคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น และหากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ให้เป็นเครดิตภาษีและให้ผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษี หรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ปัญหาของภาษีมูลค่าเพิ่มที่มักจะเกิดขึ้นกับการดำเนินกิจการก็คือ การขอภาษีซื้อคืนหรือการเครดิตภาษีขาย (นำภาษีซื้อไปหักภาษีขาย) ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม "ภาษีซื้อ" หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บที่มักจะเกิดจากการที่กิจการหรือผู้ประกอบการได้จ่ายค่าใช้จ่ายออกไป แล้วถูกผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บนั้นก็คือภาษีซื้อของกิจการ ที่ผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธินำภาษีซื้อนั้นไปขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขาย (เครดิตภาษี) หลักเกณฑ์ในการขอภาษีซื้อคืนก็คือ 1. ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในเดือนใดถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีนั้น เช่น กรณีที่ 1 ผู้ประกอบการได้รับใบกำกับภาษีซื้อในเดือนกันยายน 2549 และใบกำกับภาษีลงเดือนกันยายน 2549 ดังนั้นใบกำกับภาษีซื้อจึงถือเป็นภาษีซื้อในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งมีสิทธินำไปคำนวณหักภาษีขายหรือขอคืนภาษีในเดือนกันยายน 2549 ที่จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนตุลาคม 2549 กรณีที่ 2 ผู้ประกอบการได้รับใบกำกับภาษีซื้อในเดือนกันยายน 2549 และใบกำกับภาษีลงเดือนกรกฎาคม 2549 ดังนั้นใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งมีสิทธินำไปคำนวณหักภาษีขายหรือขอคืนภาษีในเดือนกันยายน 2549 ที่จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนตุลาคม 2549 2. ภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะมีเหตุจำเป็นให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 ปีนับจากวันที่ได้มีการออกใบกำกับภาษี 2.1 ภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะเหตุดังต่อไปนี้ (1) เหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า (2) เหตุสุดวิสัย (3) ได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี 2.2 ภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะมีเหตุจำเป็นตามข้อ 2.1 ให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นได้ แต่ต้องไม่เกิน 6 เดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี เช่น ได้รับใบกำกับภาษีเดือนพฤศจิกายน 2549 แต่ใบกำกับภาษีลงเดือนมิถุนายน 2549 ให้ถือเป็ภาษีซื้อของเดือนพฤศจิกายน 2549 มีสิทธินำไปเครดิตภาษีขายในเดือนพฤศจิกายน 2549 เนื่องจากไม่เกิน 6 เดือน การปฏิบัติดังกล่าวให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุข้อความว่า "ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษี..." ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ในแต่ละเดือนภาษีที่ผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มได้คำนวณภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ หากภาษีขายน้อยกว่าภาษีซื้อ ผู้ประกอบการดังกล่าวมีสิทธิขอภาษีซื้อคืนได้ ในการขอภาษีซื้อคืนจะสามารถขอคืนได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ ขอคืนเป็นเงินสด หรือ นำไปหักภาษีขาย (เครดิตภาษี) หากผู้ประกอบการเลือกขอคืนเป็นเงินสดจะต้องขอคืนภายใน 3 ปีนับจากวันที่ได้มีการออกใบกำกับภาษี หากผู้ประกอบการเลือกนำไปเครดิตภาษีขาย (หักออกจากภาษีขาย) ต้องไม่เกิน 6 เดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี หากเกิน 6 เดือนผู้ประกอบการจะต้องขอคืนเป็นเงินสดเท่านั้น และต้องไม่เกิน 3 ปี |