วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3844 (3044)
เศรษฐกิจพอเพียงในเวที APECการประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งที่ 18 จะเริ่มต้นขึ้นในระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ที่ ฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยฝ่ายไทยจะมี นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะ โดยนายเกริกไกร เตรียมที่จะชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศสมาชิก APEC รับทราบว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะ"ไม่ขัด" กับหลักการเปิดเขตการค้าเสรี แต่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้ามากยิ่งขึ้น
ส่วนวาระในการประชุมระดับรัฐมนตรี APEC จะมีเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณากัน 2 เรื่องคือ 1)แผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Action Plan) เพื่อกำหนดรายละเอียดของแผนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายโบกอร์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเปิดเสรีการค้าการลงทุนในปี 2553 (ค.ศ.2010) สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และปี 2563 (ค.ศ.2020) สำหรับประเทศ กำลังพัฒนา 2)แผนการอำนวยความสะดวกทาง การค้า (Trade Facilitation Action Plan)
นอกจากนี้ ที่ประชุม APEC จะหารือถึงความคืบหน้าของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) ที่จะเสนอให้ APEC พิจารณา ความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง เขตการค้าเสรี ของ APEC หรือ FTAAP ก่อนที่จะหารืออย่างจริงจังในการประชุมที่ประเทศออสเตรเลียใน ปี 2550
สำหรับท่าทีของ APEC ต่อการเจรจาองค์การการค้าโลก (WTO) รอบโดฮานั้น ประเทศไทย ในฐานะสมาชิกกลุ่ม G 20 จะร่วมผลักดันให้ฟื้นการเจรจารอบโดฮา โดยเร็ว โดยในส่วนของ G 20 เตรียมสรุปข้อเสนอให้เร่งการเจรจารอบโดฮาขึ้น ภายในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งจะจัดขึ้นต้นเดือนธันวาคมที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ท่ามกลางความหวังที่ว่า สหภาพยุโรป-สหรัฐ-อินเดีย และบราซิล จะยอมผ่อนปรนข้อเรียกร้องเพื่อให้การเจรจา WTO สามารถดำเนินการต่อไปได้
"ในการประชุม APEC ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดจะหารือทวิภาคีร่วมกับประเทศต่างๆ หลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ในประเด็นความร่วมมือด้านการค้าข้าว ญี่ปุ่นในประเด็นการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ออสเตรเลียในปัญหาการค้าและความร่วมมือด้านการค้า และรัสเซีย ในเรื่องขอให้ไทยสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก WTO ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียจะมีการพิจารณาแนวทางการลดภาษีนำเข้าในสินค้าบางชนิดให้กับไทย" นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าว
ขณะที่ นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการหารือทวิภาคีระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น คาดว่าจะหารือถึงความเป็นไปได้ในการลงนาม ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
เรื่องนี้จะมีการพูดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) คนใหม่ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งแทน นายโชอิจิ นากาคาวา เพื่อให้ทราบนโยบายการเจรจาของฝ่ายไทย