ดึงอปท.-เอกชนหนุนตากสู่ศูนย์อัญมณีเอเชีย เปิดรถไฟตาก-แม่สอดพันล้าน/ฟื้นสนามบิน 
ดึงอปท.-เอกชนหนุนตากสู่ศูนย์อัญมณีเอเชีย เปิดรถไฟตาก-แม่สอดพันล้าน/ฟื้นสนามบิน |
โดย ผู้จัดการรายวัน |
23 พฤศจิกายน 2549 18:21 น. |
 |
ตาก - ผู้ว่าฯตาก เสนอสร้างทางรถไฟ ตาก-แม่สอด ใช้งบฯพันล้านเป็นเส้นทางการค้าและท่องเที่ยว พร้อมขยายรันเวย์สนามบิน เพื่อดันแม่สอดเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีแห่งเอเชีย ให้อปท.และเอกชนผนึกกำลังร่วมสร้างฝันให้เป็นจริง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประชุมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดตาก โดยมีนายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธาน ที่ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอแม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ-ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบด้วย นายก อบจ.ตาก นายกเทศมนตรี และนายกอบต.ในพื้นที่ อ.แม่สอด กว่า 30 คน ที่เข้าร่วมประชุม ในการประชุมนายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า มีแผนจะก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายตาก-แม่สอด ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร(กม.)ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้า-ผลผลิตทางการเกษตร-และเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว โดยจะดำเนินการพร้อมกับการขยายสนามบินแม่สอด เพื่อรองรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่ อ.แม่สอด ดังนั้น จึงขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการร่วมกันดำเนินนโยบายตามแผนดังกล่าว โดยขณะนี้ตนได้ติดต่อกับนายศิวะ แสงมณี ประธานบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อจะได้นำร่างแผนเส้นทางรถไฟตาก-แม่สอด เสนอต่อที่ประชุมบอร์ดต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวอีกว่า นอกจากแผนการสร้างเส้นทางรถไฟตาก-แม่สอด แล้ว ตนยังเสนอให้มีการขยายสนามบินแม่สอด ทั้งการขยายรันเวย์และอื่นๆ เพื่อให้สายการบินมาเปิดเที่ยวบินอีกครั้ง พร้อมผลักดันเป็นสนามบินมาตรฐานรองรับการเป็นสนามบินนานาชาติในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสนามบินแม่สอดมีรันเวย์ยาวเพียง 1,500 เมตร โดยจะต้องใช้งบประมาณอีกเกือบ 300 ล้านบาท ในการขยายรันเวย์เพิ่ม 500- 600 เมตร สำหรับแผนการสร้าง เส้นทางรถไฟและขยายสนามบินแม่สอดครั้งนี้ นายชุมพล กล่าวว่า เพื่อรองรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจชายแดนตาก รวมทั้งการผลักดันแม่สอดเป็นศูนย์การค้าอัญมณีแห่งเอเชียในอนาคต ด้านนายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะอนุกรรมการการค้าชายแดนหอการค้าไทย บอกว่า การสร้างเส้นทางรถไฟ แม่สอด-ตาก ควรเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟ นครสวรรค์- กำแพงเพชร-ตาก และพิษณุโลก-สุโขทัย-ตาก ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อไปยังอ.แม่สอด เข้าสู่พม่า ไปยังเมืองมะละแหม่ง ระยะทางอีกเพียง 65 กม. และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังจีน ระยะทางอีกประมาณ 130 กม. ซึ่งมีเส้นทางรถไฟมาเชื่อมกับมะละแหม่งเช่นกัน ทั้งนี้ หากมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ แม่สอด-ตาก จริง ก็สามารถพัฒนาไปสู่เส้นทางการค้าชายแดนโดยขนลำเลียงสินค้าทางรถไฟ ซึ่งจะประหยัดทั้งค่าขนส่งและจำนวนสินค้า และยังเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้เส้นทางรถไฟแม่สอด-ตาก ยังจะเป็นเส้นทางการนำสินค้าภาคการเกษตร ที่เป็นแหล่งผลิตขนาด ใหญ่ในพื้นที่ เช่น อ.พบพระ-แม่สอด-แม่ระมาด-ท่าสองยาง-และ อ.อุ้มผาง ออกไป จำหน่ายยังกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวมทั้งส่งออกต่างประเทศ ตามเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว ขณะที่นายกฤษฎา ทองธรรมชาติ นายด่านศุลกากรแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ด่านศุลกากรแม่สอด พร้อมที่จะกำหนดพื้นที่เป็นเขตปลอดอากร เพื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศโดยไม่เสียภาษี แต่อยากให้ผู้ประกอบการได้มีความพร้อมและความแน่นอนทางการตลาดต่างประเทศ และต้องศึกษาให้พร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเขตปลอดอากร ต้องเข้าใจว่าเขตปลอดอากร หากมีการนำสินค้าที่ผลิตในพื้นที่เขตปลอดอากรมาจำหน่ายในประเทศต้องเสียภาษีเช่นกัน การปลอดอากรนั้นจะยกเว้นเฉพาะสินค้าที่ผลิต เพื่อการส่งออกเท่านั้น ส่วนนายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า พม่า ได้กำหนดให้จังหวัดเมียวดีเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม และกำลังพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 1 ใน 19 เมืองหลัก เพื่อเชื่อมโยงกับ อ. แม่สอด จ.ตาก ฝ่ายไทยก็ควรเร่งดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด และพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น เส้นทางคมนาคม-การขยายสนามบิน ฯลฯ รองรับการเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญทางการค้า-การลงทุน-และการท่องเที่ยวของชายแดนแม่สอด
| | |