เดือด! ศูนย์เยาวชนฯจี้รัฐหยุดทรยศประชาชน ยุติ ม.ออกนอกระบบ 
เดือด! ศูนย์เยาวชนฯจี้รัฐหยุดทรยศประชาชน ยุติ ม.ออกนอกระบบ |
โดย ผู้จัดการออนไลน์ |
14 ธันวาคม 2549 18:17 น. |
 |
อาจารย์ มข.ร้องสภาคณาจารย์ถูกปิดเหตุจากการเคลื่อนไหวให้ระงับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่เข้า ครม.ชี้ หากนำ ม.ออกนอกระบบได้ค่าเรียนพุ่งแน่เพราะเป็นมติ ครม.ปี 47 ผู้เรียนต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน ส่วนสภานิสิตจุฬาฯเตรียมเปิดเวทีอภิปรายเย็นวันนี้ ขณะเดียวกัน ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) ออกแถลงการณ์เรื่องขอให้รัฐบาลเฉพาะกาล หยุดทรยศประชาชน !! ยุติการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ นพ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ภาควิชาเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในส่วนของสภาคณาจารย์ได้ทำหนังสือคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยได้ยื่นหนังสือให้ระงับการนำ พ.ร.บ.เข้าสู่ ครม.แก่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าสู่ครม.ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ทั้งนี้ เป็นช่วงที่สภาคณาจารย์ครบวาระพอดี แต่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งใหม่เนื่องจากทางฝ่ายผู้บริหารอ้างว่ามีบางคณะไม่ส่งคนมาสมัคร ซึ่งหากเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นทุกครั้งจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อม แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังไม่มีสภาคณาจารย์และอธิการบดียังมีคำสั่งให้รองอธิการบดีทำหนังสือลงมายังผู้อำนวยการกองกลางไม่ให้ตนทำหน้าที่รักษาการประธานสภาคณาจารย์ด้วย ทั้งนี้ ต่อมาตนได้ดำเนินเรื่องโดยการฟ้องศาลปกครองแต่ก็ไม่เป็นผลเพราะไม่มีหลักฐานที่เป็นคำสั่งจากอธิการบดีการกระทำดังกล่าวในส่วนของอธิการบดีถือว่าเป็นการเลี่ยงไม่ออกคำสั่งเองนี่คือหลักธรรมาภิบาลที่ผู้บริหารทำใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย และล่าสุดอธิการบดีได้ส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ถึงคณาจารย์ทุกคนในมหาวิทยาลัยเพื่อรับฟังความคิดเห็นว่าต้องการจะแก้ไขในส่วนใดบ้างแล้วจะนำรวบรวมเพื่อเปิดเวทีให้ทุกคนได้พูดแต่ในแง่ของหลักพ.ร.บ.คัดค้านไปก็ไม่เป็นผลอยู่แล้ว นพ.พิศิษฐ์ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนตนต้องการคัดค้านเพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนราชการพิเศษมากกว่าที่จะนำออกนอกระบบกลายเป็นเรื่องของการค้าขายทุกรูปแบบเพราะเมื่อกลายเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะส่งผลให้ค่าเล่าเรียนแพงขึ้นเพราะในมติ ครม.วันที่ 7 เมษายน 2547 ระบุไว้ว่าผู้เรียนต้องจ่ายเงินให้ในส่วนของเงินเดือนพนักงานด้วยและล่าสุดในรัฐบาลชุดนี้บอกแล้วว่าไม่มีเงินให้กู้ยืมจะได้รับเฉพาะคนยากจนที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้คนชั้นกลางก็ไม่มีเงินมาเรียนแน่นอน รัฐบาลชุดนี้หมุนเงินไม่เป็นแถมยังไม่ยอมลดเพดานลงมาอีกและคาดว่ามติครม.ดังกล่าวผู้บริหารบางคนยังไม่ทราบเรื่องด้วยซ้ำเพราะไม่ได้ติดตาม ขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่มีสภาคณาจารย์และในส่วนตัวผมก็เหมือนถูกระงับการทำงานไปโดยปริยายไม่สามารถทำอะไรได้ แต่การเคลื่อนไหวที่ทำได้ก็คือเดินทางไปให้ข้อมูลกับมหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป ได้พยายามติดต่อไปยังสื่อต่างๆโดยเฉพาะสื่อทีวีแต่ก็ได้รับการปฏิเสธได้คำตอบว่าเกรงใจรัฐบาล ในส่วนของนักศึกษาเองก็ออกมาเคลื่อนไหวอะไรมากไม่ได้เพราะมีข้อบังคับที่ว่าด้วยวินัยนักศึกษา คือ ห้ามนักศึกษาทำการอันใดอันเป็นการทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย หากฝ่าฝืนจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอธิการดีที่จะทำการลงโทษถึงขั้นสูงสุดด้วยการไล่ออกได้ แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับแกนนำนักศึกษาหลายร้อยคนทุกคนก็เข้าใจในเรื่องนี้ดี สำหรับวันนี้ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีการเปิดเวทีเพื่ออภิปรายถึงเรื่องผลได้ผลเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบซึ่งจัดโดยสภานิสิตจุฬาฯได้มีตัวแทนจากทั้งฝ่ายผู้บริหารที่สนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกระบบอาทิ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดี จุฬาฯ นายกองค์การนิสิตจุฬาฯ และฝ่ายคัดค้าน อาทิ นายเก่งกิจ นิติเรียงลาภ แกนนำเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา โดยจะเริ่มเวลา 16.00 น. คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนึ่ง ในวันนี้ ทางศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องขอให้รัฐบาลเฉพาะกาล หยุดทรยศประชาชน !! ยุติการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ความว่า ความสับสนของสังคมและนักการศึกษาบางส่วนในปัจจุบันมักจะตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ, หรือตั้งธงเกินประเด็นว่า ออกไม่ออกก็แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย, หรือไม่ก็ ออกนอกระบบแล้วจะทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพกว่าระบบราชการ, มหาวิทยาลัยต้องขึ้นค่าเล่าเรียนอยู่แล้วตามปกติแม้ไม่ออก, มีข้อมูลเพียงพอหรือยังที่จะคัดค้าน ม.นอกระบบ, กระทั่ง ทำไมต้องเอาเงินภาษีของประชาชนไปแบกรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้คุณหนูทั้งหลายที่เขารวยอยู่แล้ว เรียนเองทำไมไม่จ่ายเอง ฯลฯ เพื่อป้องกันความสับสนในประเด็นดังกล่าว ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD.) ขอชี้แจงต่อสาธารณะและเรียกร้องต่อรัฐบาลเฉพาะกาล ดังนี้ 1. ความต่างของการออกนอกระบบที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน คือ ไม่มีอะไรใหม่ในเรื่องการปฏิรูปคุณภาพทางการศึกษา มีเพียงรูปแบบการบริหารใหม่ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ของแต่ละมหาวิทยาลัยเองที่แยกแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นเอกเทศ ภายใต้อำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จของอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยตามที่เขียนโครงสร้างอำนาจไว้ใน พ.ร.บ. ของแต่ละมหาวิทยาลัยโดยไร้การตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมจากสังคม ที่ผ่านมานั้น ประชาชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมโดยผ่านผู้แทนสู่นโยบายด้านการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ แต่ พ.ร.บ.ออกนอกระบบ คือการยกอำนาจและประโยชน์ของมหาวิทยาลัยสู่กลุ่มบุคคลคณะใดคณะหนึ่งเข้าเป็นเจ้าของและบริหารจัดการเองแต่เพียงเท่านั้น โดยอ้างประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงเป็นเพียงแต่ความคล่องตัวของผู้บริหารมหาวิทยาลัย และซ้ำร้ายนอกจากประชากรในมหาวิทยาลัยจะถูกทอดทิ้งให้ขึ้นต่อเผด็จการใหม่แล้ว การศึกษาที่ควรเป็นเข็มมุ่งของชาติในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยังถูกลอยแพให้ขึ้นต่อกลไกตลาดและการค้าแบบ กำไร-ขาดทุน ด้วย กล่าวตามความจริง ก็เปรียบเสมือนเราเอาแก้วระบบราชการที่ครอบมหาวิทยาลัยออก มหาวิทยาลัยก็อยู่ที่เดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงปฏิรูปก้าวไปไหน แต่ถูกทิ้งร้างใต้แก้วครอบใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมซึ่งขึ้นต่อกระแสโลกาภิวัตน์ นั่นคือ การศึกษาจะขึ้นต่อการค้าและการลงทุน 2. สิทธิทางการศึกษา เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ และเป็น หน้าที่ ของรัฐที่จะต้องดูแล จัดบริการสาธารณะนี้แก่ประชาชน โดยเฉพาะปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่สหประชาชาติประกาศไว้เมื่อ 58 ปีที่แล้ว ข้อ 26 ก็บัญญัติไว้ว่า (1) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องเป็นสิ่งที่ให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่า อย่างน้อยที่สุดในการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาทางเทคนิคและวิชาอาชีพ จะต้องจัดมีขึ้นเป็นอันเปิดโดย ทั่วไป และการศึกษาชั้นสูงขึ้นไปจะต้องเป็นอันเปิดสำหรับ ทุกคนเข้าถึงได้โดยเสมอภาค ตามมูลฐานแห่งคุณวุฒิ และ (2) การศึกษาจะมุ่งไปในทางพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ และเพื่อความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพมูลฐานให้มั่นคงแข็งแรง จะต้องส่ง เสริมความเข้าใจ ขันติธรรม และมิตรภาพในระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือศาสนา และจะต้องส่งเสริมกิจกรรมของสหประชาชาติเพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ดังนั้น รัฐบาลจะปฏิเสธหน้าที่นี้โดยนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสู่กลไกตลาดเสรีนิยมไม่ได้ ซึ่งการให้นักศึกษาต้องรับผิดชอบตนเองในอนาคตโดยไร้หลักประกันนี้สวนทางกับหลักพื้นฐานดังกล่าว ที่รัฐมีหน้าที่จัด รัฐสวัสดิการ การศึกษาอย่างเต็มที่ และเกือบทุกประเทศในยุโรป ให้ประชาชนเรียนฟรีถึงระดับปริญญาเอก เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตนเอง ตามสิทธิของประชาชนในรัฐ ที่รัฐจะปล่อยให้คลื่นทุนนิยมเสรีย่ำยีสิทธิประชาชนนี้ตามยถากรรมไม่ได้ 3. การต่อต้านคัดค้านนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จึงเป็นเรื่อง สิทธิทางการศึกษา ของพลเมืองไทย ที่ไม่ใช่ คำถามมุมแคบว่า ออก-ไม่ออก ผลดีผลเสียต่างกันอย่างไร, ออกไม่ออกก็แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยต้องขึ้นค่าเล่าเรียนอยู่แล้วตามปกติแม้ไม่ออก หรือการถามว่า มีข้อมูลเพียงพอหรือยังที่จะคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยนอกระบบ เพราะทั้งนี้ เรื่องนี้ เป็นเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐ และจุดยืนที่ต่างกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับเครือข่ายนิสิต นักศึกษา ที่ขึ้นต่อผลประโยชน์ของตนเอง หรือผลประโยชน์ของสังคม ต้องตั้งคำถามว่า กรณีมหาวิทยาลัยสุรนารี ของ ศ.วิจัตร ศรีสะอ้าน ที่ตั้งมาเพื่อออกนอกระบบโดยตรงแต่แรกนั้น แต่ได้รับงบประมาณจากรัฐเอาไปบริหารเอง ผลประโยชน์ตกอยู่กับใคร? ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญคือ รัฐจะต้องดูแลและสนับสนุนการศึกษาเป็น บริการสาธารณะ โดยแก้ไขความไม่เป็นธรรมของ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ของประชาชนใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมทุกคนได้รับความเท่าเทียมในโอกาสดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นลูกกรรมกร แรงงาน ชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง หรือชาวเขา การศึกษา ซึ่งรัฐบาลไม่เคยกระจายโอกาสทางการศึกษานี้เลย และถ้างบประมาณไม่พอ รัฐจะต้องหางบประมาณเพิ่มเพื่อ สิทธิ ดังกล่าว โดยเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า มิใช่ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเอาเงินภาษีของประชาชนไปแบกรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้คุณหนูทั้งหลายที่ครอบครัวร่ำรวยอยู่แล้ว การศึกษาไม่ควรมีไว้มิให้ไพร่ได้วิชาหรือคนจนไม่มีโอกาสเรียน และไม่ใช่มีไว้ ซื้อ-ขายแสวงหากำไร บนความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจนี้ และถ้ารัฐบาลจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ต้องเกลี่ยงบประมาณยืนหลักที่การศึกษานี้พร้อมกับการปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกัน สุดท้ายนี้ แทนที่รัฐบาลจะคิดนำมหาวิทยาลัยออกนอกนระบบ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งโจทย์การปฏิรูปมหาวิทยาลัยใหม่ โดยเน้นการปฏิรูปสหวิทยาการ การพัฒนาภูมิปัญญาตนเอง มากกว่าการเน้นกลไก โครงสร้างความสัมพันธ์ที่กำลังจะกีดกันรัฐออกไปจากความรับผิดชอบดังกล่าวโดยไร้หลักประกัน และสังคมไทยจะเสื่อมโทรมเลวร้ายลงอย่างรุนแรงขึ้น หากการศึกษาไทยขาดความรับผิดชอบจากรัฐและมหาวิทยาลัยเป็นแค่เพียงโรงงานผลิตบัณฑิตจักรกลออกสู่ตลาดแรงงานทุนนิยมเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลเฉพาะกาลนอกจากไม่มีความชอบธรรมในการผลักดันหรือพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็คือการ ขายชาติ ที่ไม่ต่างจากรัฐบาลระบอบทักษิณแต่อย่างใด และเรื่องนี้ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD.) จะมีการประชุมใหญ่ประจำปีทั่วประเทศ เพื่อวางแผนการเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว รวมถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลเฉพาะกาล ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ และจะมีการแถลงข่าว ในเวลา 16.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน เชื่อมั่นในพลังประชาชน 14 ธันวาคม 2549
| | |