ทหารจัดระเบียบค้าชายแดนอีสานใต้ เผยมูลค่าการค้าปี'49 พุ่ง 7 พันล้าน 
ทหารจัดระเบียบค้าชายแดนอีสานใต้ เผยมูลค่าการค้าปี'49 พุ่ง 7 พันล้าน |
โดย ผู้จัดการรายวัน |
22 ธันวาคม 2549 23:20 น. |
 |
 |
|
พล.ต.ธวัชชัย สมุทรสาคร ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี | |
 | ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-กองกำลังสุรนารีจัดระเบียบการค้าชายแดน เน้นคุมเข้มจุดผ่อนปรนสกัดลักลอบนำเข้าไม้ผิดกฎหมายรวมทั้งจับตาผลประโยชน์ส่งออกน้ำมันเข้าประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมให้ตรวจสอบการเข้า-ออกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด เผยปี 2549 มูลค่าการค้าชายแดนอีสานใต้พุ่ง 7 พันล้าน ไทยได้ดุล 1,376.4 ล้านบาท พล.ต.ธวัชชัย สมุทรสาคร ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กองบัญชาการกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้จัดประชุมผู้ประกอบการค้าชายแดนเพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าตามด่านผ่านแดนถาวร-จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ในพื้นที่รับผิดชอบของกองกำลังสุรนารี ที่มีเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)และประเทศกัมพูชา ด้าน จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และ จังหวัดบุรีรัมย์ มีนายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการทั้งทหารประจำพื้นที่ชายแดน เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจภูธร ฝ่ายปกครองจังหวัด และเจ้าหน้าที่ด้านการข่าวและความมั่นคง เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจและทบทวนมาตรการการส่งออก-นำเข้าสินค้าตามแนวชายแดนและประสานความร่วมมือด้านความมั่นคงส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบการค้าขายชายแดนทั้งฝั่งด้านไทย-สปป.ลาวและไทย-กัมพูชา ให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการจัดระเบียบช่องทางข้ามแดนตามจุดผ่านแดนชั่วคราว เป็นความจำเป็น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อความมั่นคงในระยะยาว รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าขายชายแดน ในการช่วยกันป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบการค้าที่จะส่งผลต่อความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันการค้าขายตามแนวชายแดนด้านการส่งออกโดยเฉพาะชายแดนไทย-กัมพูชาด้านจังหวัดสุรินทร์ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น จากปีที่ผ่านมาถึง 10% ส่วนการนำเข้าสินค้าจากกัมพูชายังคงปกติมีอัตราไม่สูงนักโดยสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดเป็นลำดับ 1 ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง รองลงมา คือ วัสดุก่อสร้าง ส่วนการค้าชายแดนด่านผ่านแดนถาวรเขตติดต่อกับ สปป.ลาว สินค้าที่ทางนักธุรกิจฝ่ายไทยสั่งเข้าประเทศมากที่สุดเป็น ไม้แปรรูป และในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า สปป.ลาวจะมีการจำหน่ายไม้แปรรูปส่งออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีนักธุรกิจทั้งชาวไทยและเวียดนามได้ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลซื้อไม้หลายราย พล.ต.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ได้ขอให้ผู้ประกอบการค้าชายแดนทุกรายได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อความมั่นคงของประเทศโดยเฉพาะสินค้าที่เป็นไม้แปรรูปที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ให้มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทย เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ตามแนวชายแดนไทยเข้าไปสวมตอ ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่ทหารสามารถจับกุมได้เป็นระยะๆ และเป็นไม้หวงห้ามแสดงว่าคนมีเงินยังมีความต้องการไม้สูง ซึ่งหากเป็นการสั่งซื้อถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ทางทหารเองก็ไม่ขัดข้อง ส่วนด่านผ่านแดนที่อนุญาตให้นำเข้าไม้แปรรูปจากต่างประเทศ ต้องไม่มีมากเกินไปและต้องเป็นด่านผ่านแดนถาวรเท่านั้นไม่ใช่จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า เนื่องจากจุดผ่อนปรนต่างๆ ตามแนวชายแดนทหารมีความห่วงใยเพราะมีจำนวนหลายจุดมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วว่าอยากจะอนุญาตให้มีจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าจังหวัดละจุดเท่านั้น สำหรับประชาชนเพื่อนบ้านและคนงานของบริษัทต่างๆ ที่ทำงานใกล้ชายแดนและมีการเดินทางผ่านเข้า-ออกทุกวันขอให้เจ้าหน้าที่ทำบัตรตรวจสอบการผ่านแดนให้ถูกต้อง ป้องกันการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อการตรวจสอบและที่สำคัญเป็นความมั่นคงของประเทศ ด้านการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อบ้านที่สำคัญ ให้ยึดระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะจะมีข้อครหาได้ว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้ทหารเราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องตามที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด ขอให้บริษัทส่งออกน้ำมันทุกรายปฏิบัติตามกฎหมายไทยเราอย่างเคร่งครัด ค้าชายแดนอีสานใต้ปี'49 พุ่ง 7 พันล้าน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มูลการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา และ สปป.ลาวในปีงบประมาณ 2549 (ต.ค.48- ก.ย.2549) ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองกำลังสุรนารี ผ่านด่านผ่านแดนสำคัญหลักจำนวน 6 แห่ง พบว่า มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 7,010.4 ล้านบาท แบ่งเป็นนำเข้า 2,817 ล้านบาท ส่งออก 4,193.4 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้ารวม 1,376.4 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ มีมูลค่าสินค้านำเข้า 33,111,198.60 บาท อากรขาเข้า 1,735,564.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 982,995.00 บาท สินค้าส่งออก 699,913,165.75 บาท 2. ด่านผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ สินค้านำเข้า 5,077,993.71 บาท อากรขาเข้า 345,247.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 20,118.00 บาท สินค้าส่งออก 279,857,077.69 บาท 3. ด่านผ่านแดนถาวรช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี สินค้านำเข้า2,732,087,029.45 บาท อากรขาเข้า 30,586,714.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 175,216,912.00 บาท สินค้าส่งออก 2,898,439,175.90 บาท 4. ด่านศุลกากรเขมราฐ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี สินค้านำเข้า 43,199,239.88 บาท อากรขาเข้า 4,115,945.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,711,780.84บาท สินค้าส่งออก 310,963,881.54 บาท 5. จุดผ่านปรนช่องสายตากู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ สินค้านำเข้า 3,058,833.00 บาท สินค้าส่งออก 3,892,327.00 บาท และ 6. จุดผ่อนปรนช่องกร่าง ต.บักได กิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ สินค้านำเข้า 488,659.00 บาท สินค้าส่งออก 359,851.00 บาท
| | |