ส่งออกเชียร์สนั่นมาตรการแบงก์ชาติ 
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2176 21 ธ.ค. - 23 ธ.ค. 2549 |
|
|
|
ส่งออกเชียร์สนั่นมาตรการแบงก์ชาติ |
|
มาตรการ 18 ธันวาคมของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ครั้งนี้ สร้างความปั่นป่วนในวงการตลาดเงิน-ตลาดทุนในทันที แต่ก็ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงทันตาเห็นเช่นกัน ผู้สื่อข่าว"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบทัศนะผู้ส่งออกในหล่ายกลุ่มสินค้า พบว่า ส่วนใหญ่พอใจกับมาตรการนี้ของ ธปท. แต่ยังไม่มั่นใจว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้มากน้อยเพียงใด ต้องจับตามองในช่วงหนึ่งสัปดาห์จากนี้ไป ส่วนหนึ่งเห็นว่า ธปท.ควรมีมาตรการเสริมออกมาอีกหากมาตรการนี้ยังไม่ได้ผล
นายพรชัย ชื่นชมลดา นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ กล่าวว่า เป็นมาตรการที่ดี แก้ปัญหาได้ตรงจุด และถือเป็นมาตรการที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อตลาดทุน แต่ในแง่ภาคส่งออกถือว่าได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามหากมาตรการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงตามวัตถุประสงค์ ทาง ธปท.ควรมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาอีก สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 38 บาทบวกลบ จะทำให้ภาคส่งออกทำงานในปี 2550 ได้ง่ายขึ้น
เช่นเดียวกับนายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ที่เห็นด้วย แต่ยังติงว่าออกมาค่อนข้างช้า จะทำให้การเก็งกำไรค่าเงินบาทลดลง คงต้องติดตามอีก 2-3 วันว่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้มากน้อยเพียงใด ส่วนตัวไม่คิดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐเหมือนในปีที่ผ่านมาได้ แต่อาจจะอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 36-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หากไม่มีความผันผวนมากภาคส่งออกจะทำงานง่ายขึ้น
ขณะที่นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด และบริษัทในเครือ ก็เห็นว่า จากนี้ไปอีก หนึ่งสัปดาห์หวังว่าเงินบาทคงอ่อนค่าลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น จะทำให้ผู้ส่งออกทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และบริษัทจะเริ่มเจรจากับลูกค้าเพื่อลงออเดอร์ในรอบใหม่ได้
เช่นเดียวกับส่วนนางซิง ชิง ทองดี ประธานสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า มาตรการของ ธปท.หากทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงและมีเสถียรภาพได้ จะเป็นผลดีกับการส่งออกผักผลไม้ เพราะเป็นสินค้าที่มีอายุการส่งมอบเร็วกว่าสินค้าอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก
ผู้ส่งออกหลายรายยังมองว่าแม้มาตรการที่ ธปท.ออกมาจะส่งกระทบต่อตลาดทุน แต่เทียบกันแล้วในภาคเศรษฐกิจจริง หรือภาคการผลิตในประเทศ มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของไทยมากกว่า เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน เงินหมุนเวียนในประเทศ ขณะที่ตลาดทุนผู้ที่ได้รับประโยชน์มีเพียงผู้ซื้อ ผู้ขายหุ้น และโบรกเกอร์เท่านั้น ไม่มีการสร้างงานในประเทศ และยังเป็นช่องโจมตีค่าเงินบาท อย่างไรก็ดีรัฐบาลควรดูแลให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้และไม่กระทบเศรษฐกิจ
อนึ่ง ภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี (จีดีพีประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 6 ล้านล้านบาท)โดยในปี 2548 ไทยมีการส่งออกมูลค่า 4,439,310.6 ล้านบาท ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 4,106,859.8 ล้านบาท
| |