เศรษฐกิจปีหมูหิน มองทะลุปัจจัยเสี่ยง ลุ้นจีดีพี 5% 
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2179 31 ธ.ค. - 03 ม.ค. 2550 |
|
|
|
เศรษฐกิจปีหมูหิน มองทะลุปัจจัยเสี่ยง ลุ้นจีดีพี 5% |
|
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ( ปี 2548 -2549) เป็นที่วิตกกันมากถึงสถานการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย จนถึงกับมีการประเมินกันว่าเป็นปี "เผาจริง "สำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะปัจจัยเสี่ยงที่เแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศในขณะนั้น เต็มไปด้วยอุปสรรคต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี สวนทางกับนโยบาย
ของรัฐบาลที่แล้วที่ต้องการเห็นจีดีพีขยายตัวสูง
ถึงกระนั้น! เศรษฐกิจไทยก็สามารถประคองตัวเองผ่านมรสุมได้อย่างหวุดหวิด จีดีพีปี 2548 อยู่ที่ระดับ 4.50 % ซึ่งไม่ได้ต่ำจนเลวร้าย ส่วนปี 2549 เสียงส่วนใหญ่ประมาณการกันว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 4.50 - 5.00 % ได้ ถึงแม้ว่าตลอดทั้งปี 2549 ปัจจัยการเมืองจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่เป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ยุบสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จนถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
เศรษฐกิจไทยปี 2550 หรือ 1 ปีจากนี้จะเป็นอย่างไร ภายใต้การบริหารประเทศและเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกรอบการบริหารเศรษฐกิจ พอเพียง ที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศไม่เน้นตัวเลขจีดีพี ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่เป็นข้อกังวล เพราะบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หรือการขยายตัวเมื่อ 5 ปีก่อน สอนว่า "อย่าขยายตัวเกินกำลังที่เศรษฐกิจรับได้"
****จีดีพีปี 2550 ยังโตได้ถึง 5 %
หากวัดจากประมาณการจีดีพีปี 2550 ของหน่วยงานทางเศรษฐกิจและสำนักวิเคราะห์ วิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เห็นสอดคล้องกันว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2550 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปี 2549
และมีโอกาสที่จีดีพีจะขยายตัวได้สูงถึง 5.00-5.50% โดยหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการจีดีพีปี 2550 ไว้ที่ 4.50-5.50 % สูงกว่าปี 2549 ที่คาดว่าจีดีพีอยู่ที่ 4.50-5.00 % สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประมาณการจีดีพี ปี 2549 ที่ 5.00 % ส่วนปี 2550 ประมาณการไว้ที่ 4.00-5.00 % สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการไว้ที่ 4.00-5.00 % และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประมาณการไว้ที่ 4.9 % สูงกว่าปี 2549 ที่ประมาณการไว้ที่ 4.7 %
**** "อุ๋ย"ย้ำบทบาทเอกชนกระตุ้นเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าการเข้ามาบริหารประเทศและเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะมีข้อจำกัดด้วยระยะเวลาทำหน้าที่เพียง 1 ปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ปลายปี 2550 หรือต้นปี 2551 แต่มีประเด็นซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจในปี 2550 คือ การตั้งงบประมาณปี 2550 ขาดดุล 146,200 ล้านบาท (ครม.แปรญัติเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายอีก 3,658 ล้านบาท ทำให้งบประมาณขาดดุลเพิ่มเป็น 149,858 ล้านบาท ) โดยงบประมาณรายจ่ายปี 2550 อยู่ที่ 1,566,200 ล้านบาท สูงกว่างบประมาณปี 2549 ที่ตั้งงบประมาณไว้ 1,360,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8 %
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีภาระที่จะต้องชำระหนี้ซึ่งคั่งค้างมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนซึ่งต้องชำระคืนหน่วยงานและสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวม 85,549 ล้านบาท โดยปี 2550 ตั้งงบใช้หนี้จากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลก่อนไว้ 46,215 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผลักชำระในปีถัดไป (งบประมาณดังกล่าวยังไม่นับงบที่ผ่านองค์กรรัฐวิสาหกิจที่เป็นงบสินเชื่อตามนโยบาย) ซึ่งในปี 2546 สินเชื่อตามนโยบายมีวงเงินรวม 176,600 ล้านบาท ปี 2547 มี 287,700 ล้านบาท ปี 2548 ตั้งไว้ 340,800 ล้านบาท แต่ก็ยังเป็นที่คาดหวังว่างบประมาณที่รัฐบาลต้องจ่ายชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้น จะช่วยต่อยอดให้สถาบันการเงินเหล่านี้นำไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ตลอดปี 2549 ทั้งในช่วงที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหลังจากที่รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลปัจจุบันแล้ว ได้พยายามย้ำให้ภาคเอกชนตระหนักถึงบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยชี้ว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรี ภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะภาคเศรษฐกิจที่มาจากเอกชนมีขนาดใหญ่กว่าภาครัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนของภาคเอกชนประมาณ 73-74 % และภาครัฐบาลมีสัดส่วนเพียง 26-27 %
จากการประเมินอัตราการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนในปี 2550 สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์การลงทุนรวม ปี 2550 ขยายตัว 6.2 % (แยกเป็นการลงทุนของภาคเอกชน ขยายตัว 7.0 % สูงกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 4.4 % แต่การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 4 % เท่ากับปีก่อน) เทียบกับปี 2549 ที่การลงทุนรวมขยายตัว 4.3 % อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนจะยังไม่ใช่ปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2550 เพราะรายได้ด้านเกษตรซึ่งไม่ช่วยหนุนให้ปริมาณการบริโภคของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ในขณะนี้ภาระหนี้สินของครัวเรือนยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
****ปัจจัยเสี่ยงต้องระวัง
ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจมหภาคในปี 2550 ซึ่งต้องระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่แตกต่างจากในปี 2549 เพียงแต่ปัจจัยส่วนใหญ่ทุเลาความรุนแรงและผลกระทบลง เช่น อัตราเงินเฟ้ออัตราดอกเบี้ยขาลง แต่เศรษฐกิจไทยปีหน้า ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง ประกอบด้วย
1. เงินบาทแข็งค่า เป็นผลกระทบจากจากแนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัวจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึง 700,000-800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 2.0 % จากที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3 % และอาจชะลอตัวต่อเนื่องถึงในไตรมาสที่ 4 ของปี สะท้อนแนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังอ่อนค่าต่อในปี 2550
แนวโน้มความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปี 2550 ยัง มีแนวโน้มแข็งค่าตามทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าแนวโน้มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปี 2550 ตั้งแต่ครึ่งหลังเป็นต้นไป มีแนวโน้มขยับใกล้ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้งหนึ่ง
2. ราคาน้ำมันในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อ เป็น 2 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงกัน เห็นได้จากปี 2548 และปี 2549 ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับราคาสูงและผันผวน ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป(Headline Inflation) หรือเงินเฟ้อที่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน ปรับตัวสูงทะลุ 6 % ทำให้ธปท.ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) หลุดกรอบ 0-3.5 % ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือ Inflation Targeting
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกในปี 2550 ไม่ใช่ปัจจัยที่ไว้วางใจได้ โดยคาดว่าระดับของราคาน้ำมันในปี 2550 ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่อาจไม่ผันผวนเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา (ทีดีอาร์ไอคาดว่าระดับของราคาน้ำมันเวสเท็กซัสเฉลี่ยทั้งปี 2550 จะใกล้เคียงกับในปี 2549 ซึ่งเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 66.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปี 2549 ซึ่งราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 56.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล )
ขณะที่แบบจำลองเศรษฐกิจของธปท. ประเมินผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทุก 1 % มีผลกระทบต่ออัตราเงินแฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.01 % อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.05 % และจีดีพีลดลง 0.03 % )
นอกจากนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2550 มีโอกาสชะลอตัวลงจากปี 2549 (อัตราเงินเฟ้อที่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ) โดย ธปท.คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ระดับ 4.30-4.80 % ในปี 2549 และคาดว่าในปี 2550 จะอยู่ที่ 1.50-3.00 % ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน) ปี 2549 คาดการณ์ที่ 2.0-2.50% และในปี 2550 คาดการณ์ที่ 1.50-2.50 %
3. อัตราดอกเบี้ย ผลจากอัตรเงินเฟ้อในปี 2550 ที่มีแนวโน้มปรับลดลง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธปท.ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายการเงิน จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 14 วันลง อย่างเร็วที่สุดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงได้ประมาณไตรมาสแรกของปี 2550 จาก ณ สิ้นปี 2549 ซึ่งอาร์/พี 14 วันอยู่ที่ 5.00 % (อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED อยู่ที่ 5.25 %) ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักคือ ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และผลจากมาตรการ 18 ธ.ค.2549 จะกระทบต่อการไหลออกของเงินทุนจนกระทบต่อสภาพคล่องในระบบหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งแรกของปี 2550 ในวันที่ 17 มกราคม 2550 กนง.จะปรับเปลี่ยนการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจากอาร์พี 14 วัน เป็นอาร์พี1 วัน เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสะท้อนการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นของสถาบันการเงินในตลาดเงินได้ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2550 มีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงได้ประมาณ 0.50 % ซึ่งจะมีผลต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในระบบทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
4.ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 เห็นชอบอนุมัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2550 (งบกลาง) จากรัฐบาล จำนวน 500 ล้านบาท และสำนักเลขาธิการและศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ที่ขอสนับสนุนงบประมาณอีก 55.9 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อย
5.สถานการณ์การเมือง ถึงแม้ว่าในระยะ 1 ปีนี้จะมีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารงานแล้วก็ตาม แต่ปัญหาคลื่นใต้น้ำที่ยังคุกรุ่นอยู่ อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจตลอดปี 2549 ต่ำกว่าระดับ 50 มาโดยตลอด (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเลวลง หรือจำนวนผู้ตอบว่าดีขึ้นน้อยกว่าจำนวนผู้ตอบว่าแย่ลง) โดยเดือนม.ค.อยู่ที่ 45.2 , ก.พ. 45.0 , มี.ค.44.8 , เม.ย.43.5, พ.ค. 43.8, มิ.ย. 43.7 , ก.ค. 43.1 , ส.ค. 43.0 , ก.ย. 43.5 , ต.ค. 44.6 ซึ่งในเดือนต.ค. 2549 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีดตัวขึ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มชัดเจนมากขึ้น
6.ความชัดเจนของนโยบายการเงิน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายทางการการดูแลค่าเงินบาท เพราะผลกระทบของมาตรการ 18 ธันวาคม 2549 ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นและนักลงทุนต่างชาติที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยชะลอการตัดสินใจเพื่อรอดูนโยบาย
7.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคส่งออกที่ชะลอลง ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2550 อยู่ที่ 3.2 % ลดลงจากประมาณการการขยายตัวในปีนี้ที่ 3.9 %
*****ศก.ยังต้องพึ่งส่งออกและรายได้จากท่องเที่ยว
ถึงแม้ว่านักธุรกิจ นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ จะเทเสียงส่วนใหญ่ว่า ภาคส่งออกไม่ใช่ พระเอกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2549 โดยหันไปโฟกัสที่การลงทุนภาครัฐแทน เพราะในปีนี้รัฐบาลประกาศแล้วว่าจะต้องเดินหน้ารถไฟฟ้า 3 สายได้อย่างแน่นอน แต่ด้วยสัดส่วนของภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณ 67 % ของจีดีพี ภาคส่งออกจึงยังมีน้ำหนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ แม้ว่าจะถูกกระทบจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้ตัวเลขการขยายตัวของภาคส่งออกในปี 2550 ขยายตัวได้ที่ระดับประมาณ 12.5 % แต่ก็ถือเป็นการขยายตัวบนฐานของการส่งออกที่มีขนาดใหญ่มาก
อีกปัจจัยหนึ่ง คือ รายได้จากการท่องเที่ยว แม้ว่าจะไม่ได้คิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจีดีพี แต่ตัวเลขการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ในแต่ละไตรมาสของปี 2549 ยังเป็นความหวังได้ว่า ภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยปี 2550 (ดูข้อมูลรายรับจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ไตรมาสของปี 2549 จากตารางประกอบ)
***ภาคส่งออก ยังลูกผีลูกคน
เมื่อหันกลับไปมองภาคการส่งออก ซึ่งเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกมากขึ้น จากสัดส่วนของการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ปี 2541 ที่มีสัดส่วน 48.60% เพิ่มขึ้นเป็น 62.46 % ในปี 2548
แต่ในปี 2550 นักธุรกิจภาคส่งออกและกูรูเศรษฐกิจต่างฟันธงไปแล้วว่า ส่งออก ไม่ใช่พระเอกทุกสำนักวิจัยประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในปี 2550 ชะลอตัวลงจากปี 2549 เช่น ทีดีอาร์ไอ คาดมูลค่าส่งออกในรูปสกุลเงินบาทขยายตัว 9.9 % ชะลอลงจากปี 2549 ที่ขยายตัว 10.7 % สภาพัฒน์ฯ คาดภาคส่งออกขยายตัว 9 % ชะลอลงจากปี 2549 ที่ขยายตัว 16.8 % (มูลค่าการส่งออกในปี 2550 อยู่ที่ 139,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2549 ที่มีมูลค่าการส่งออก 126,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการขยายตัวของการส่งออกขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งในปี 2550 ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลง
รายงานจับตาเศรษฐกิจเอเชีย (Asia Economic Monitor) ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี ล่าสุด (7 ธ.ค.2549) ชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปปี 2550 ชะลอการเติบโต และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกที่ชะลอตัวลงในปีหน้า (ปี 2550) ด้วย โดยคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกจะเติบโต 4.4 % ชะลอตัวจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9 % ซึ่งในปี 2549 นับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียช่วงปี 2540-2541 ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชียตะวันออก ต้องพึ่งพาแนวโน้มการส่งออก ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบอย่างมากจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ก็อาจมีผลกระทบต่อประเทศในเอเชียตะวันออกด้วย ขณะที่ รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อเดือนธันวาคม 2549 คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอตัวลงเหลือ 4.50 % จากปี 2549
สำนักวิจัยต่างประเทศคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ขยายตัว 2.5 % ชะลอลงจากปี 2549 ซึ่งคาดว่าขยายตัว 3.3 % เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 2.0 % จากที่ขยายตัว 2.7 % ในปี 2549 และเศรษฐกิจกลุ่มยูโรที่คาดว่าจะขยายตัว 1.9 % ต่ำกว่าปี 2549 ที่ขยายตัวถึง 2.6 %
นอกจากภาคส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าแล้ว ประเด็นเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ยังเป็นสาเหตุหลักต่อการขยายตัวของภาคส่งออก โดยปี 2550 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกทั้งปีไว้ที่ 12.5 % คิดเป็นมูลค่า 145,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2549 ที่ตั้งเป้าหมายการส่งออก 17.5 % คิดเป็นมูลค่า 130,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ จากปาฐกถาพิเศษ "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้า" โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ระบุถึงทางออกที่ภาคส่งออกไทยจะต้องหันไปหาตลาดอื่นเพื่อชดเชยการชะลอตัวของตลาดสหรัฐฯ ที่ยังมีปัญหสะสมจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมากว่า ตลาดที่น่าสนใจและกำลังขยายตัวสูงคือ Non-Japan East Asia 9 ได้แก่ จีน ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย เห็นได้จากปี 1987 (พ.ศ.2530) East Asia 9 ค้าขายกับ G3 อยู่ถึง 54.3 % และค้าขายในกลุ่ม 9 ประเทศนี้เพียง 24.3 % ของยอดการค้าทั้งหมด แต่ในปี 2005(พ.ศ.2548) ยอดค้าขายกับ G3 ลดลงเหลือ 35 % ขณะที่ยอดค้าขายภายในกลุ่มเพิ่มขึ้น 45 % และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
กลางปี 2549 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯและรมว.คลัง เคยกล่าวเตือนถึงการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยในการเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ไว้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า "Competitive Nutcracker Effect" คือ ถูกบีบอยู่ระหว่างประเทศที่มีเทคโนโลยี แรงงานมีทักษะและผลิตภาพสูง กับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ หากมองเฉพาะประเทศในเอเชีย ข้างหนึ่งจะเป็นญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ขณะที่อีกข้างหนึ่งจะเป็นประเทศที่ในระยะหลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ภายใต้ภาวะการณ์เช่นนี้ หากเราไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เหมาะสม ไม่ช้าก็เร็ว จะไม่สามารถทนแรงกดดันจากการแข่งขันได้ และกลายเป็นทางผ่านของประเทศที่ไล่ตามหลัง
****มาตรการ18ธ.ค. 2549 ช็อคทุนนอก
ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าหลังสถานการณ์ทางการเมืองหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 ชัดเจนขึ้นแล้ว แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2550 ดูจะราบรื่นลงตัว แม้ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นในปี 2549 ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด และเป็นที่คาดการณ์ว่าไตรมาสแรกของปี 2550 จะเริ่มมีการลงทุนเอกชน เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization :CU ) ในปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 74-76 % นั้น แสดงว่าทุกอย่างรอการลงทุนอยู่
แต่แล้ว ! มาตรการ 18 ธันวาคม 2549 หรือ มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินที่รรับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้ 30 % ของเงินตราต่างประเทศที่นักลงทุนนำเข้ามาแลก ส่วนที่เหลือ 70 % ให้รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าที่สถาบันการเงินกันเงินไว้จะขอคืนได้เมื่อครบกำหนด 1 ปีแต่หากลูกค้ารายใดนำเงินลงทุนกลับคืนก่อนครบระยะเวลา 1 ปี จะได้รับเงินคืนเพียง 2 ใน 3 ของเงินที่กันไว้
แม้ว่ากระทรวงการคลังและธปท.จะกลับลำทบทวนมาตรการดังกล่าว โดยยกเว้นการกันสำรองให้สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) แต่ผลกระทบจากมาตรการ 18 ธ.ค.2549 ซึ่งกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2549 ตก 108.41 จุด หรือเป็นประวัติการณ์ในรอบ 31 ปี และการปรับเปลี่ยนมาตรการแบบกลับไปกลับมา ทำให้ขณะนี้มีปัญหาที่ตามมาแล้วคือ การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งหมายถึงการชะลอการตัดสินใจนำเงินเข้ามาลงทุนในปี 2550 ด้วย
แม้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะนิยามเศรษฐกิจไทยปี 2550 เป็น "ปีหมูหิน" เพราะปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย จากปี 2549 ยังเป็นปัจจัยที่ต้องระวังสำหรับปี 2550 บวกกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แต่ในปี 2550 ก็มีปัจจัยบวกจากการตั้งงบประมาณขาดดุลกว่า 1.4 แสนล้านบาท ดังนั้นเป้าหมายจีดีพีที่ 5 % จึงยังเป็นเป้าหมายที่น่าลุ้นอยู่ ถึงรัฐบาลนี้จะบอกแล้วว่าไม่ได้โชว์ตัวเลขจีดีพีเหมือนรัฐบาลก่อนก็ตาม
| |