พณ.ฝ่าด่านหินดันส่งออกปี50 โชว์แผนเผด็จศึกสกัดนำเข้าพุ่ง 
|
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2181 07 ม.ค. - 10 ม.ค. 2550 |
|
|
|
พณ.ฝ่าด่านหินดันส่งออกปี50 โชว์แผนเผด็จศึกสกัดนำเข้าพุ่ง |
|
พาณิชย์โชว์แผนส่งออกปีหมูหิน ดันจีดีพีโต 5% ระดม 7 มาตรการลุยเต็มสูบภายใต้งบจำกัด มั่นใจทั้งปีฝ่าด่านทะลุเป้า ด้านนำเข้าพร้อมรับมือ 3 กลุ่มสินค้าใหญ่ไหลทะลักจากค่าบาทแข็ง ขีดเส้นทั้งปีต้องขยายตัวไม่เกิน 13% โวเกินดุลการค้าแน่ ด้านเอกชนยังไม่มั่นใจค่าเงินบาท หวั่นขบวนการเก็งกำไรทำป่วนอีก
นายกุญญพันธ์ แรงขำ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก(สอ.) กระทรวงพาณิชย์(พณ.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่ากรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนภาคการส่งออกของประเทศ ปี 2550 ได้กำหนดแผนส่งเสริมการส่งออกไว้ 7 มาตรการหลัก ประกอบด้วยมาตรการแรก ใช้การเจรจาการค้าเพื่อเปิดตลาดและแก้ไขปัญหาการถูกกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป(อียู) ที่ไทยมีปัญหาถูกกีดกันการค้าค่อนข้างมาก มาตาการที่สอง การรักษาตลาดหลัก (สหรัฐ ญี่ปุ่น อียู 15 ประเทศสมาชิกเดิม และอาเซียนเดิม 5 ประเทศ)ไม่ให้ส่งออกลดลงจากปี 2549 โดยจะดำเนินกิจกรรมที่สำคัญๆ อย่างการจัดและเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ,จัดคณะผู้แทนการค้าเยือนต่างประเทศ ,การจัดโปรโมชั่นสินค้าไทยร่วมกับผู้ซื้อ/ห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ, การสนับสนุนเอกชนในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อรักษาตลาด เป็นต้น
สำหรับมาตรการที่สาม เร่งส่งเสริมการส่งออกเป็นกรณีพิเศษในตลาดใหม่ๆ ที่ให้ความนิยมสินค้าไทยมากกว่าคู่แข่งขันทั้งในอาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา(กานา แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไนจีเรีย)โดยจัดในรูปแบบ คอนซูเมอร์ เซลส์โปรโมชั่น เน้นสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่นิยมในแต่ละตลาด ส่วนมาตรการที่สี่ คือการส่งเสริมธุรกิจบริการใหม่ๆที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก อาทิ แฟรนไชส์ร้านอาหาร สปา นวดแผนไทย ฯลฯ
มาตรการที่ห้า การวางรากฐานการส่งออกในระยะกลาง/ยาว ที่สำคัญคือการส่งเสริมและพัฒนาผู้ส่งออกรายใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีและโอท็อปเป็นพิเศษ โดยการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ในการส่งออก การบริหารจัดการองค์กร กลยุทธ์การเจาะตลาด ช่องทางการตลาด รวมทั้งไปเจาะตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าหมายจะสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ในภูมิภาคไม่ต่ำกว่า 500 ราย การส่งเสริมและผลักดันภาคเอกชนออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น การจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยเอกชนในการพัฒนาการออกแบบและผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาด เป็นต้น
มาตรการที่หก การสนับสนุนภาคเอกชนในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยดำเนินการพัฒนาระบบอี-โลจิสติกส์เพื่อไปสู่การให้บริการแบบ Electronic Certification ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาเทรด โลจิสติกส์ โพรวายเดอร์ ในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านปริมาณและประสิทธิภาพในการให้บริการ และมาตรการสุดท้าย ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก ที่สำคัญคือ การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม การกีดกันทางการค้า กฎระเบียบ ขั้นตอนการการดำเนินการภายใน เป็นต้น
"การกำหนดเป้าหมายการส่งออกโต 12.5% เราได้หารือกับกลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญๆแล้วว่าเป็นเป้าหมายที่อยู่ในความสามารถทำได้ ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดของกรมส่งเสริมการส่งออกที่มีอยู่ประมาณ 2,200 ล้านบาท จากเดิมที่มีงบรวมกับงบที่ได้จากดอกเบี้ยเงินฝากของกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่เก็บจากภาคเอกชนประมาณ 2,600 ล้านบาท/ปี แต่ในปีที่ผ่านมาเงินดอกเบี้ยของกองทุนฯที่จะนำมาใช้ไม่มีเหลือ ดังนั้นงบที่กรมได้มาจึงต้องใช้เป็นกองทุนด้วยดังนั้นเราต้องเน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด"นายกุญญพันธ์ กล่าวและว่า
สำหรับปัจจัยเสี่ยงการส่งออกที่เราห่วงมากที่สุดในปีนี้คือ ค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน และภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว แต่จากมาตรการที่กรมเตรียมไว้เชื่อว่าถึงที่สุดแล้วจะสามารถผลักดันการส่งออกได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย
ด้านการนำเข้าซึ่งจะเป็นอีกตัวที่ชี้วัดว่าไทยจะเกินดุลหรือขาดดุลการค้า ล่าสุดนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) ซึ่งดูแลการบริหารการนำเข้าสินค้าและบริการ เปิดเผยว่า ในปีนี้ทางกรมมีแผนที่จะบริหารการนำเข้าให้อยู่ในวงจำกัดโดยตั้งเป้าหมายต้องขยายตัวไม่เกิน 13% จากปีที่ผ่านมา โดยแนวทางที่สำคัญ การติดตามสถานการณ์และบริหารการนำเข้าใน 3 กลุ่มสินค้าหลักที่มีการนำเข้าสูงได้แก่ กลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง กลุ่มสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป และกลุ่มสินค้าทุนต่อเนื่องจากปี 2549 โดยจะมีการหารือกับผู้ประกอบการในรายอุตสาหกรรมเพื่อวางแผนการนำเข้าเป็นรายเดือน และร่วมกันกำหนดปริมาณการนำเข้าสินค้าเท่าที่จำเป็น มิให้เกิดการเก็งกำไร
นอกจากนี้จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สินค้าไทยที่มีศักยภาพผลิตได้ในประเทศ โดยจะจัดแมชชิ่งระหว่างผู้ประกอบการกับกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรเพื่อให้เกิดการพบปะเจรจาซื้อขายสินค้าในประเทศ การรณรงค์และส่งเสริมการใช้สินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง การประสานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบกำกับดูแลการนำเข้า เช่น สำนักงานมาตรฐานลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้การนำเข้าเป็นไปตามระเบียบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด
รวมถึงประสานงานกับกรมศุลกากรให้เข้มงวดการปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสินค้าต่างๆ มาตรการทั้งหมดเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการการนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัจจัยค่าเงินบาทยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการส่งออกในปีนี้ โดยหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2549 ทำให้ผู้ส่งออกเบาใจระดับหนึ่ง แต่ค่าเงินบาทก็ยังไม่อ่อนค่าอย่างที่อยากเห็นคือที่ระดับ 36.75-38.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดเฉลี่ยยังอยู่ที่ 35.80-35.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นว่าขบวนการเก็งกำไรในประเทศยังอยู่ เงินบาทที่ยังแข็งค่าทำให้ผู้ส่งออกยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันในระยะยาวได้
ดังนั้นทางธปท.ต้องเฝ้าระวังและออกมาตรการเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้แข็งค่าขึ้นอีก ส่วนการลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกเพราะหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งเป้าที่ภาคเอกชน
| |