กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารุกให้บริการ www.dbd.go.th "ฐานข้อมูลสู่ธุรกิจ"  กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารุกให้บริการ www.dbd.go.th "ฐานข้อมูลสู่ธุรกิจ"
ในสภาวการณ์ดำเนินธุรกิจของโลกปัจจุบันซึ่งมีการแข่งขันกันสูง ความได้เปรียบของผู้ที่มีข้อมูลเชิงลึก กลายเป็นแต้มต่อในการประกอบธุรกิจ ที่ผ่านมามีบริษัทที่ดำเนินการผิดพลาดจากการขาดข้อมูลเชิงลึก เพื่อเป็นฐานความรู้ในการตัดสินใจ จากสถิติของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า การเลิกกิจการนิติบุคคลล่าสุดเดือนพฤศิจกายน 2549 มีจำนวนรวม 845 ราย หรือคิดเป็นทุนจดทะเบียน 3,921 ล้านบาท ขณะที่จำนวนธุรกิจ 2,117 ราย มีทุน จดทะเบียน 4,871 ล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่ น่าสนใจไม่น้อย เพราะธุรกิจที่ปิดกิจการต่างมีทุนจำนวนสูง
สาเหตุของปัญหาธุรกิจปิดกิจการก็คือ การขาดข้อมูลเชิงลึก สำหรับใช้วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อตัดสินใจในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นในปี 2550 นี้ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใต้การนำของ "นายคณิสสร นาวานุเคราะห์" อธิบดี คนใหม่ จึงได้ปรับบทบาทจากผู้บริการจดทะเบียนการค้า มาเป็นผู้ให้บริการสารสนเทศทางการ ประกอบธุรกิจเชิงลึก โดยริเริ่มการให้บริการข้อมูลผ่าน "ฐานข้อมูลสู่ธุรกิจ" ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (www.dbd.go.th) ซึ่งดีเดย์เตรียมเปิดให้บริการในเดือนมกราคมนี้
ฐานข้อมูลสู่ธุรกิจจะเปิดให้บริการข้อมูลประกอบด้วยข้อมูลนิติบุคคลที่รับจดทะเบียนไว้ประมาณ 800,000 ราย และสถานภาพของนิติบุคคลตามหมวดธุรกิจ (TISC หมวด A-Q) เช่น เกษตรกรรม, การประมง, การทำเหมืองแร่/เหมืองหิน, การผลิต, การไฟฟ้า/แก๊ส/การประปา, การก่อสร้าง, การขายส่งขายปลีก, โรงแรม ภัตตาคาร, การขนส่งสถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม
ธุรกิจตัวกลางทางการเงิน, บริการอสังหาริมทรัพย์, การให้เช่าและบริการธุรกิจ, การบริหารราชการ/การป้องกันประเทศ, การศึกษา การบริการด้านสุขภาพ, การบริการชุมชน, ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล และองค์การระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีบริการข้อมูลผู้ถือหุ้นตามสัญชาติซึ่งจะเป็นการประมวลผลมาจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดที่ได้จัดส่งไว้เป็นหลักฐานต่อกรม โดยจะประกอบด้วยข้อมูลการลงทุนและจำนวนนิติบุคคลซึ่งมีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งที่ลงทุนในหมวดธุรกิจต่างๆ และข้อมูลการลงทุนและจำนวนนิติบุคคลของสัญชาติต่างๆ ในหมวดธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
ข้อมูลงบการเงินจะเป็นข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากภาคธุรกิจรายปีนับจากปี 2542 จนถึงปีปัจจุบันซึ่งแต่ละปีจะมีกว่า 300,000 ราย โดยสามารถเรียกดูข้อมูลสำคัญของงบการเงิน อัตราส่วนทางการเงินย้อนหลังของธุรกิจ ค่าเฉลี่ยระดับหมวดธุรกิจ สามารถนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (profitabilitity) และอัตราส่วนวิเคราะห์ความคล่องตัว (liquidity) อัตราส่วนวิเคราะห์ความสามารถในการใช้สินทรัพย์ (asset manage ment efficiency) และอัตราส่วนวิเคราะห์ความสามารถในการก่อหนี้ (leverage)
และที่สำคัญจะมีข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจกับกลุ่มธุรกิจ หรือระหว่างธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง และใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ตำแหน่งหรือฐานะการเงินของตัวเองเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจ และลักษณะที่สองจะเป็นการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจตามขนาด
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับอย่างชัดเจน นอกจากข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงลึกแล้ว ยังช่วย "ตอบโจทย์" คู่ค้าทางธุรกิจให้ผู้ใช้บริการได้ เพราะฐานข้อมูลนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ใช้บริการในการค้นหาผู้ประกอบการลักษณะเป็นแหล่งวัตถุดิบ/บริการ (supplier) หรือลูกค้า (customer) โดยจะสามารถใช้ฐานข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินและนิติบุคคล เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ถึงศักยภาพของคู่ค้าทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ
นอกจากการเปิดตัวฐานข้อมูลใหม่แล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังได้ปรับบทบาทรองรับการขยายตัวของการทำธุรกิจผ่านอินเทอร์เน็ต (E-commerce) ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดได้สร้างมาตรฐานด้วยการกำหนดเครื่องหมาย "trustmark" เพื่อรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการบนโลกไซเบอร์
เพราะระบบนี้เป็นที่นิยมใช้ในสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่มีการขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสูงสุดถึง 31,431 เว็บไซต์ ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียก็มีความนิยมใช้เช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้ระบบอีคอมเมิร์ซอย่างมากเช่นกัน
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ต้องการการันตีจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถสมัครออนไลน์โดยผ่านเว็บไซต์ www.trustmark thai.com โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เงื่อนไขที่จะต้องผ่านหลักเกณฑ์ 8 ข้อ หากผ่านจะปรากฏสัญลักษณ์ vertified บนหน้าเว็บไซต์นั้น |