พาณิชย์ออกเกณฑ์ขายต่ำกว่าทุน ตีกรอบให้บวกค่าบริหารได้ 6-7%

"พาณิชย์" ยึดสหรัฐและเยอรมนี ต้นแบบกำหนดเกณฑ์ขายสินค้าต่ำกว่าทุน ชี้ให้บวกค่าใช้จ่ายในการจำหน่าย 6-7% ยกเว้นสินค้าโปรโมชั่น ใกล้หมดอายุ
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ยกร่างหลักเกณฑ์การขายต่ำกว่าทุนในไกด์ไลน์ค้าปลีก โดยอาศัยอำนาจภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าเสร็จสิ้นแล้ว โดยพิจารณาเทียบเคียงจากประเทศที่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เช่น สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน โดยพบว่าแต่ละประเทศมีการคิดต้นทุนสินค้าไม่แตกต่างกัน โดยจะคำนวณจากต้นทุนซื้อสินค้า จากใบอินวอยด์หักด้วยส่วนลดทางการค้า และบวกด้วยค่าใช้จ่ายในการจำหน่าย
สหรัฐกับเยอรมนี ใช้ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายประมาณ 6% ซึ่งของไทยก็จะยึดหลักที่ 6-7% เช่นกัน เพราะจากการพิจารณาต้นทุนการจำหน่ายของแต่ละผู้ประกอบการ ก็พบว่าต้นทุนอยู่ในระดับนี้ และจะใช้เกณฑ์นี้ในการพิจารณาต้นทุนของสินค้า โดยจะเสนอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ารับทราบ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป นายศิริพล กล่าว
สำหรับการพิจารณาต้นทุนสินค้านั้น ยกตัวอย่างเช่น สินค้ารายการหนึ่งมีต้นทุนซื้อที่ 100 บาท หักส่วนลดทางการค้า 15% ก็เท่ากับว่าต้นทุนสินค้าอยู่ที่ 85 บาท แต่หากบวกค่าใช้จ่ายในการขายอีก 6-7 บาท ราคาต้นทุนสินค้าก็ควรจะอยู่ที่ 91-92 บาท ซึ่งหากขายสินค้าต่ำกว่าราคานี้ ก็จะถือว่าเป็นการขายสินค้าต่ำกว่าทุน และมีความผิด
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการค้าปลีกเห็นว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายไม่สูงถึง 6-7% ก็สามารถชี้แจงรายละเอียดมาได้ หากจะมีการขายสินค้าต่ำกว่าทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่หลักเกณฑ์ปฏิบัติทางการค้า สำหรับธุรกิจค้าปลีก (ไกด์ไลน์) กำหนดไว้ เช่น สินค้านั้นใกล้หมดอายุ สินค้าใกล้เน่าเสีย หรือสินค้าที่จัดโปรโมชั่นเป็นครั้งคราว เป็นต้น
การขายสินค้าต่ำกว่าทุน ได้สร้างผลกระทบในระบบการค้าปลีกอย่างมาก โดยเฉพาะโมเดิร์นเทรดขายสินค้าต่ำกว่าทุนเพื่อจูงใจลูกค้า แต่อาศัยทำกำไรจากช่องทางอื่น ซึ่งทำให้โชห่วยเสียเปรียบและซัพพลายเออร์เสียหาย
นายศิริพล กล่าวอีกว่า สมาคมยานยนต์ซึ่งมีสมาชิก เช่น ค่ายรถโตโยต้า ฮอนด้า และอีซูซุ และอื่นๆ ได้เข้ามาหารือเพื่อสอบถามถึงแนวทางปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยเฉพาะกรณี 3 รายรวมกันเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เพื่อให้มีหลักปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ผิดกฎหมาย เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ ซึ่งบริษัทแม่อยู่ในญี่ปุ่น ก็ไม่เคยมีปัญหาการปฏิบัติตามกฎหมาย และเมื่อมาลงทุนในไทยก็ไม่อยากปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย