ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และกระทรวงการคลัง จัดทำ "รายงานภาวะเศรษฐกิจรายภาคและแนวโน้มเศรษฐกิจรายภาคปี 2550" แยกรายภาคดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นสัดส่วนจีดีพีประเทศ 9.8% ปี 2550 คาดขยายตัว 4.03% มูลค่า 408,710 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวลดลงจากปี 2549 ที่ขยายตัว 4.1% มูลค่า 392,880 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้ ภาคการเกษตร แม้จะเป็นช่วงที่สินค้าเกษตรราคาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ปัญหาภาวะภัยแล้งและสถานการณ์ไข้หวัดนก ส่งผลให้ผลผลิตภาคการเกษตรชะลอตัวลง
ภาคเหนือ คิดเป็นสัดส่วนจีดีพีประเทศ 8.4% ปี 2550 ขยายตัว 4.2% มูลค่า 351,620 ล้านบาทลดลงจากปี 2549 อยู่ที่ 4.81% มูลค่า 337,440 ล้าน เนื่องจากสินค้าเกษตรมีราคาดี
ภาคใต้ คิดเป็นสัดส่วนจีดีพีประเทศ 8.6% ปี 2550 ขยายตัว 4.05% มูลค่า 358,850 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 อยู่ที่ 4.53% มูลค่า 344,890 ล้านบาท เนื่องจากราคายางพาราเพิ่มขึ้น 2.3% ส่วนปาล์มน้ำมันผลผลิตใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของภาคใต้ และแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก
ในส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) แม้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ส่งผลทางจิตวิทยาของนักลงทุน นักท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ทั่วไป แต่สัดส่วนต่อจีดีพี 2.91% ถือว่าน้อยมาก ทำให้ไม่กระทบต่อภาพรวมของประเทศ
ภาคกลาง คิดเป็นสัดส่วนจีดีพีประเทศ 29.1% ปี 2550 ขยายตัว 5.27% มูลค่า 1,245,410 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 อยู่ที่ 5.79% มูลค่า 1,183,040 ล้านบาท เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญต่อจีดีพี ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ไม่สูง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง การส่งออกยังขยายตัวได้ดี สินค้าเกษตรก็มีราคาดี
กรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีประเทศ 44.1% ปี 2550 ขยายตัว 4.24% มูลค่า 1,851,870 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 อยู่ที่ 4.80% มูลค่า 1,776,610 ล้านบาท เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวดี ส่วนการวางระเบิดในกทม.ปลายปี 2549 แต่ข่าวลือลอบวางระเบิดยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการลดลง จะส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอย การลงทุน และการท่องเที่ยวชะลอตัว
ผศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการขยายตัวจีดีพีแต่ละภูมิภาค ชะลอตัวทุกพื้นที่ทำให้คาดการณ์จีดีพีทั้งประเทศปีนี้ขยายตัว 4.5% มูลค่า 4,216,460 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 อยู่ที่ 5% มูลค่า 4,034,860 ล้านบาท
ปัจจัยลบค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกและท่องเที่ยว ภัยแล้งที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร สถานการณ์การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ การก่อความไม่สงบโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ สถานการณ์ไข้หวัดนก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ปรับตัดลดลงต่อเนื่อง
ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจคือ อัตราเงินเฟ้อในแต่ละภูมิภาคแนวโน้มปรับตัวลดลง ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง