พม่าเดินหน้าจัดระเบียบค้าชายแดน ตั้งเป้าผุด"เขตเศรษฐกิจพิเศษ"19แห่ง
พม่าลุยจัดระเบียบการค้าชายแดน เตรียมความพร้อมก่อนจัดตั้ง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" หลังประสบความสำเร็จจากชายแดนจีนมาแล้ว ล่าสุดสั่งปิดด่านเมียวดี-แม่สอดชั่วคราว สินค้าไทยที่เคยส่งออกนอกระบบกระทบแน่ แต่สินค้าต้องห้ามอาจได้รับอานิสงส์ ขณะที่การค้าด่านแม่สายยังราบรื่นแต่เชื่อว่าระยะต่อไปจะมีการจัดระเบียบเหมือนกัน นายด่านแม่สอดรับข้อมูลยังสับสน

นายเสรี ไทยจงรักษ์ นายด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการที่รัฐบาลพม่าสั่งปิดด่านเมียวดี และการสัญจรบนสะพานมิตรภาพไทย-พม่า มาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมายังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการค้าชายแดนบริเวณดังกล่าว แต่การส่งออกมีผลกระทบบ้างแต่ไม่ได้หยุดสิ้นเชิง ยังคงมีการส่งออกตามช่องทางที่ได้รับอนุญาต แต่ส่วนที่ได้รับผลกระทบคือการเดินทางเข้าออกของประชาชน ซึ่งสาเหตุของการสั่งปิดด่านยังไม่ชัดเจน มีการระบุกันไปหลายสาเหตุ อยู่ระหว่างประสานงานกันของฝ่ายความมั่นคงของ 2 ประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปิดสะพานมิตรภาพส่งผลกระทบต่อการส่งออกชายแดนไม่มากนัก เพราะปกติการส่งออกมีการกระจายไปยังช่องทางการค้าตลอดแนวชายแดนซึ่งมีจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลและทหารกะเหรี่ยง โดยเฉพาะช่องทางที่อยู่ในพื้นที่ทหารกะเหรี่ยงยังคงส่งออกได้เป็นปกติ และปีที่ผ่านมาการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพก็ลดน้อยลงอยู่แล้ว เพราะสะพานชำรุดทำให้รถยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ผู้ส่งออกต้องขนถ่ายสินค้าใส่รถขนาดเล็กทยอยส่งออกทั้งทางสะพานและช่องทางริมแม่น้ำเมย
ทยอยผุดเขตเศรษฐกิจพิเศษแหล่งข่าวในอำเภอแม่สอดกล่าวว่า การปิดด่านชายแดนเมียวดีเกี่ยวเนื่องกับการพยายามจัดระเบียบการค้าชายแดนของรัฐบาลพม่าที่ดำเนินการมาหลายปี เพื่อให้การค้าอยู่ในระบบและจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และจัดการกับเจ้าหน้าที่ที่คอร์รัปชั่น รวมทั้งมีผลจากโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่รัฐบาลพม่าดำเนินการแห่งแรกที่เมืองมูเซ ชายแดนพม่า-จีนมาหลายปีแล้ว และจัดให้มีกิจการค้าชายแดนระหว่างกัน รวมทั้งงานแสดงสินค้าร่วมกันมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพม่ามีแผนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเช่นนี้ที่เมืองเมียวดี ติดชายแดนไทย และอีกแห่งคือเมืองดาบูติดชายแดนอินเดีย
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มาก โดยจัดเตรียมพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารที่จำเป็นไว้แล้ว รวมทั้งมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ดูแลการค้าชายแดนจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ติดชายแดนไทยที่ จ.เชียงรายมาประจำเพื่อเตรียมการผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด
"ด่านแม่สอดเป็นช่องทางการค้าไทย-พม่าที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุดในภาคเหนือ แต่เขารู้สึกว่าเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะการค้าชายแดนที่ไม่เป็นระบบและมีช่องทางให้ชนกลุ่มน้อยแสวงหาประโยชน์ หากสามารถจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษพม่าจะเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่ฝ่ายไทยจะไม่กระตือรือร้นร่วมด้วย" แหล่งข่าวกล่าวและว่า หากมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เชื่อว่าพม่าจะยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าสินค้า 15 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย เพราะต้องการให้มีการนำเข้าและเสียภาษีถูกต้อง ปัจจุบันแม้จะมีการห้ามนำเข้าแต่มีการลักลอบอยู่ต่อเนื่อง
ทั้งนี้รัฐบาลพม่าได้ประกาศแผนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 19 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเมียวดีเป็นเมืองนำร่อง ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งการประมงและอื่นๆ โดยในปี 2550 ทางรัฐบาลมีแผนจะประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษประมาณ 8 เขต ที่จังหวัดเมียวดี-จังหวัดผาอัน-เมืองมะละแหม่ง-เมืองย่านลิน-เมืองท่าเรือชายฝั่งอันดามัน-กรุงเนปิดอว์ และเมืองปิมานาเมืองหลวงแห่งใหม่ด้วย
พม่าเข้มงวดสินค้าไทยการส่งออกสินค้าไทยไปยังพม่าเริ่มประสบปัญหาจากความเข้มงวดของรัฐบาลพม่ามากว่า 1 ปีแล้ว เฉพาะไตรมาส 4 ปี 2549 การส่งออกลดลงจากระยะเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 20.3 เหลือ 3,388.2 ล้านบาท เนื่องจากประสบปัญหาการเข้มงวดการนำเข้าสินค้าของพม่าอย่างต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจับกุมธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตบริเวณชายแดนไทย-พม่า ทำให้ผู้ประกอบการค้าไม่สามารถชำระเงินจากการทำธุรกรรมการค้าได้ ส่งผลให้การส่งออกลดลงมาก สินค้าส่งออกสำคัญคือ เคมีภัณฑ์และพลาสติก ยานพาหนะและชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์แร่และโลหะ ผลิตภัณฑ์พืชผลวัตถุดิบจากสัตว์และพืช
ขณะที่การนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 นำเข้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 58.3 มูลค่า 485.7 ล้านบาท โดยนำเข้าไม้สัก ผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่ง ไข่มุก อัญมณี และเครื่องเพชร
นอกจากนี้ การส่งออกตลอดปีงบประมาณ 2549 มีมูลค่า 11,684 ล้านบาท ขณะที่สินค้าส่งออกผ่านด่านศุลกากรแม่สอดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2549-ก.พ.2550 มีมูลค่า 4,224.5 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญนอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงส่งออกน้ำมันเบนซิน 5.2 ล้านลิตร ดีเซล 7.8 ล้านลิตร ผู้ส่งออกรายสำคัญ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด บริษัท ไออาร์พีซี. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนสินค้านำเข้ามีมูลค่า 426.2 ล้านบาท สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ไม้ ผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ และโค กระบือมีชีวิต ปีงบประมาณ 2549 มีการนำเข้าโค กระบือมีชีวิต 21,423 ตัว มูลค่า 96.9 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ สหภาพพม่ายังคงประกาศห้ามนำเข้าสินค้าตามแนวชายแดน 15 รายการ คือ ผงชูรส, น้ำหวาน และเครื่องดื่ม, ขนมปังกรอบทุกชนิด, หมากฝรั่ง, ขนมเค้ก, ขนมปังเวเฟอร์, ช็อกโกแลต, อาหารกระป๋อง (เนื้อสัตว์ และผลไม้), เส้นหมี่ทุกชนิด, เหล้า, เบียร์, บุหรี่, ผลไม้สดทุกชนิด, ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้ในครัวเรือนและใช้ส่วนตัวทุกชนิด, สินค้าที่ควบคุมการนำเข้าโดยกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ส่วนสินค้าห้ามส่งออกมีข้าว น้ำตาลทราย ถั่วลิสง เมล็ดและน้ำมันงา ไม้สัก แต่ยังคงมีการลักลอบส่งออกต่อเนื่อง
นายชูชัย อุดมโภชน์ นายด่านศุลกากรแม่สาย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" หลังร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่าส่วนท้องถิ่น (TCB) ครั้งที่ 51 ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก สหภาพพม่าตรงข้ามด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ว่า ไม่มีการนำประเด็นเรื่องการปิดด่านมาเจรจาเพราะไม่ใช่ประเด็นท้องถิ่น การค้าและการสัญจรชายแดนยังคงดำเนินไปตามปกติ ไม่มีสัญญาณใดๆ จากฝ่ายพม่าว่าจะมีการปิดด่านแม่สาย หรือการจัดระเบียบการค้าชายแดนบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าพม่าเข้มงวดกับการนำเข้าสินค้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา