พาณิชย์ชงร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกเข้า ครม.พรุ่งนี้ (8 พ.ค. 2550)
พาณิชย์ เตรียมชงร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีก เข้า ครม.อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ หลังถูกตีกลับไปแก้ไข หวั่นข้อครหาเอื้อทุนต่างชาติ ศิริพล ชี้ ร่างฉบับปรับปรุงใหม่ เน้นแนวทางให้ทุกฝ่าย อยู่ร่วมกันได้ อย่างสันติ
วันนี้ (7 พ.ค.) นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการภายใน เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์ จะสามารถนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้อีกครั้ง หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงพาณิชย์ นำกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องของอำนาจคณะกรรมการกลางกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งจะมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นตามความจำเป็นของแต่ละจังหวัดที่ไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ รายงานข่าวกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้มีกระบวนการขัดขวางกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีผลบังคับใช้ โดยอ้างเหตุผลมีกฎหมายอื่นสามารถดูแลได้ และการออกกฎหมายขณะนี้จะกระทบการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แต่โดยความจริงแล้วเป็นการขัดผลประโยชน์ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่บางรายที่มีส่วนแบ่งตลาดในตลาดค้าปลีกของประเทศไทยสูงมาก โดยกระทรวงพาณิชย์ยืนยันที่จะให้กฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาบังคับใช้ต่อไป เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินค้าได้
โดยก่อนหน้านี้ นายศิริพล ได้เรียกตัวแทนผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น ที่มาของคณะกรรมการกลางกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กกค.) และมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา 7(4) ที่เป็นส่วนของกรรมการผู้แทนสถาบัน หรือองค์กรเอกชน จำนวน 5 คน ได้มีการเสนอให้เพิ่มตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ และรายเล็ก อย่างละ 1 รายเข้าไปเป็นกรรมการ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยที่จะให้เพิ่มเติมเข้าไป
ซึ่งเดิมทีกรรมการในส่วนนี้ จะได้รับการสรรหาจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิต สมาคมการค้าที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันละ 1 คน แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า น่าจะให้มีตัวแทนผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายเล็กเข้ามาเป็นกรรมการ ก็เลยใส่เข้าไป และเบื้องต้นจะตัดสมาคมผู้ผลิตออก ส่วนเดิมที่ห้ามตั้งคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็น ก็จะปรับคำให้เหมาะสม แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะกรรมการที่มีส่วนได้เสีย ก็จะไม่ได้สิทธิในการพิจารณาเรื่องที่มีส่วนได้เสียอยู่แล้วจะมีกรรมการทั้งสิ้น 18 คน ประกอบด้วย รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน กรรมการจากส่วนราชการ 8 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน กรรมการผู้แทนสถาบันหรือองค์กรเอกชน 5 คน
ถึงแม้กระทรวงพาณิชย์จะได้มีการสรุปแนวทางในคัดเลือกกรรมการทั้ง 18 คน ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้มีการตั้งข้อสังเกต เกรงว่า จะมีอำนาจล้นฟ้า จึงโยนร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ ดังกล่าวให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณาทบทวนใหม่ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะเกรงว่าอำนาจของคณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดชี้ขาดในเรื่องต่างๆ มากเกินไป ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นอย่าง ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาด ซึ่งได้แสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้นมานั้นไม่ใช่ เทวดา ที่จะเป็นผู้กำหนดและรู้ไปทุกเรื่อง รัฐควรจะกำหนดในร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ ให้มีความชัดเจนระบุลงไปเลยว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น กับผู้การประกอบธุรกิจ
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ต่างยืนยันว่า ในการประชุมชี้แจงกับผู้บริหารของกรมการค้าภายใน ส่วนใหญ่ภาครัฐจะเป็นผู้ชี้ และพยายามกล่อมให้ผู้ประกอบการยอมรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกในเรื่องต่างๆ ที่อ้างว่า ได้มีการแก้ไขมาแล้ว โดยไม่มีรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ให้ผู้ประกอบการได้พิจารณาในรายละเอียด ซึ่งจะทำอย่างไรให้เชื่อว่าภาครัฐจะไม่บิดพลิ้วในเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีก เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ ที่กระทรวงพาณิชย์จะได้นำเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรีก็ได้ใช้วิธีเช่นเดียวกันนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปลีก ยอมรับ และไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ แล้วก็ออกมาสรุปว่าผู้ประกอบการยอมรับในร่างดังกล่าว จึงเสนอ ครม.พิจารณา แต่ก็ถูกตีตกให้มาแก้ไขเป็นการด่วน ซึ่งเป็นบทเรียนที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องทบทวนก่อนที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งจึงเป็นที่จับตามองว่า หากครั้งนี้ถูกตีกลับออกมาอีกครั้งคงดูไม่จืด
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีคงต้องมีการทบทวนและพิจารณาให้รอบคอบเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ พ.ร.บ.ต่างด้าว ซึ่งล้วนเป็นระเบิดเวลากับเศรษฐกิจไทยที่กำลังดิ่งเหวลงเรื่อยๆ หากประกาศใช้ และไม่ทบทวนถึงผลดีผลเสียตามมาต่างชาติก็คงชะลอการลงทุนจากประเทศไทยอย่างแน่นอน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ |
7 พฤษภาคม 2550 22:29 น. |