หอการค้าตากกระทุ้งปัดฝุ่นเขตศก.พิเศษแม่สอด รับมือการค้า-ลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน หอการค้าตากกระทุ้งปัดฝุ่นเขตศก.พิเศษแม่สอด รับมือการค้า-ลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน
ตากวอนปัดฝุ่นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังดองอยู่ขั้นกฤษฎีกาแล้วเงียบหายหวังใช้ เป็นฐานการลงทุนแทนตลาดส่งออกที่ฝืดขึ้น ทุกวันเพราะพม่าจัดระเบียบตึงเปรี๊ยะ เผยเขต เศรษฐกิจเมียวดีจะเริ่มเดินเครื่องปีหน้า ถ้าไทยไม่เตรียมตัวมีสิทธิตกเวทีแน่
นายอภิสิทธิ์ ชลสาคร รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาคเอกชนในจังหวัดตากต้องการให้รัฐบาลนำโครงการต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนการค้าและการลงทุนชายแดน แต่ต้องหยุดชะงักไม่มีกำหนดขึ้นมาดำเนินการใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคที่กำลังเร่งตัว
ทั้งนี้ โครงการสำคัญที่รัฐบาลไทยดำเนินการจนมีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่ต้องหยุดไปคือโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะที่มีพื้นที่เตรียมไว้แล้วกว่า 2 พันไร่ในเขต ต.แม่ปะ อ.แม่สอด ห่างชายแดนไทย-พม่าราว 5 ก.ม.
"เราหวังกันไว้มากว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจะช่วยยับยั้งการไหลบ่าเข้ามาของแรงงานพม่าผิดกฎหมาย โดยตั้งโรงงานรับแรงงานเหล่านั้นแล้วให้ดำเนินการในพื้นที่ ขณะเดียวกันจะลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะผลิตสินค้าและส่งไปยังตลาดพม่า หรือตลาดประเทศอื่น แต่จนถึงปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษฝั่งไทยเงียบมานานแล้ว และยังไม่มีท่าว่าจะได้เริ่มใหม่" นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า
ขณะที่ฝั่งพม่านั้นมีการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษกระจายไปยังชายแดนทุกด้าน เฉพาะที่เมืองเมียวดีชายแดนติดต่อกับ อ.แม่สอด จ.ตาก เขาใช้พื้นที่กว่า 2 พันไร่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 9 ถนนสายเมียวดี-กอกะเร็ก คาดว่าภายใน 1 ปีเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่นี้จะเริ่มดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กว่า 1 ปีที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าจากไทยเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นและการหลีกเลี่ยงภาษี สินค้าไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีส่งออกโดยแบ่งเป็นลอต ใช้รถบรรทุกขนาดเล็ก ส่งข้ามช่องทางของเอกชนที่มีตลอดลำน้ำเมย บางส่วนส่งข้ามในพื้นที่ที่กะเหรี่ยงเคเอ็นยู.ดูแล
ขณะที่การส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่าตามช่องทางศุลกากรของ 2 ประเทศก็ต้องลดขนาดบรรทุกลงเนื่องจากสะพานมีรอยร้าว รถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่สามารถวิ่งผ่านได้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลพม่าเร่งปราบปรามกะเหรี่ยงเคเอ็นยู.ที่มีอิทธิพลตามแนวชายแดน สามารถยึดค่ายเคเอ็นยู.ได้เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา เชื่อว่ารัฐบาลพม่าจะพยายามควบคุมสถานการณ์ให้ได้ภายใน 1 ปี หากการสู้รบตามแนวชายแดนสงบ เชื่อว่าการค้าชายแดนจะขยายตัว และไทยจะเสียโอกาสหากไม่เตรียมตัว
"การควบคุมเข้มงวดจะทำให้การซื้อมาขาย ไปอย่างที่ไทยทำมาตลอดไม่ง่ายอีกต่อไป ไทยควรจะหันมาเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก ใช้วัตถุดิบและแรงงานจากพม่า หรือเป็นฐานรองรับการลงทุนจากต่างประเทศที่สนใจตลาดแถวนี้
แต่หากเรายังไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะดึงดูดใจนักลงทุนก็ยากที่จะมีใครมาไกลถึงแม่สอด การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากรัฐบาลเป็นสิ่งที่เราต้องการใช้เวลาและงบประมาณไม่มากนัก แต่จะช่วยสถานการณ์ของเราได้" นายอภิสิทธิ์กล่าว
รายงานจากด่านศุลกากรแม่สอดระบุว่า ในปีงบประมาณ 2549 สินค้าไทยส่งออกไปพม่ามีมูลค่า 1.16 หมื่นล้านบาท นำเข้า 1.25 พันล้านบาท ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 สินค้าส่งออกมีมูลค่า 5.31 พันล้านบาท นำเข้า 533 ล้านบาท
ขณะที่แผนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ /นิคมอุตสาหกรรมฯบริเวณชายแดน 2 ประเทศ (แม่สอด-เมียวดี) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฯในเมืองเมาะละแหม่ง ผะอัน เมียวดี และมู่ด่องของพม่า การศึกษาเสร็จสมบูรณ์เดือนสิงหาคม 2549 แต่ยังไม่แจ้งผลการศึกษา
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3896 (3096) หน้า 29 |