ยุทธศาสตร์ไทย-พม่า ถึงเวลาต้องทบทวน
|
|
|
|
ยุทธศาสตร์ไทย-พม่า ถึงเวลาต้องทบทวน |
ประเทศไทยกับพม่าได้กำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างกัน 5 สาขา คือ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Facilitation) ความร่วมมือทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรม (Agricultural and Industrial Cooperation) การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม (Transport Linkages) การท่องเที่ยว (Tourism Cooperation) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)แต่ปรากฏว่าช่วง 1-2 ปี แต่ละยุทธศาสตร์แทบไม่มีความคืบหน้า สำนักยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลเพราะเหตุใดยุทธศาสตร์เหล่านี้จึงไม่เดินหน้า อะไรคือปัญหาและอุปสรรค ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ฯอยู่ระหว่างทำการประเมินผล
อย่างไรก็ดีจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจ และทั้งสองประเทศน่าจะได้ร่วมมือกันในด้านต่างๆ ผมขอเริ่มต้นด้วยการนำท่านให้ทราบถึงการค้าของไทยและพม่า ซึ่งพบว่าไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2550 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยมีมูลค่าส่งออกไปพม่า 13,704 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 7.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สินค้าที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปพม่ามากที่สุดคือ น้ำมันสำเร็จรูป สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยจากพม่า ปี 2550 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยมีมูลค่าการนำเข้าจากพม่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน โดยลดลงร้อยละ 69.87 จากช่วงเดียวกันปี 2549 หรือมีมูลค่านำเข้าเหลือเพียง 9,693 ล้านบาท สินค้าที่ไทยนำเข้าจากพม่ามากที่สุดคือ ก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ถ้าพิจารณาดุลการค้าของไทยกับพม่าพบว่าไทยขาดดุลการค้ากับพม่ามาโดยตลอดจนกระทั้งในปี 2550 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยกลับมาเกินดุลกับพม่า จากการนำเข้าที่หดตัวลงอย่างรุนแรง
ในส่วนของการค้าชายแดนพบว่าพม่าได้เปิดประเทศสู่ระบบการค้าเสรีและได้เปิดจุดการค้าที่สำคัญกับไทย 3 จุด คือ ด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตรงกับด่านท่าขี้เหล็กของพม่า ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ตรงกับด่านเมียวดีของพม่า และด่านศุลกากรระนอง จังหวัดระนอง ตรงกับด่านเกาะสองของพม่า ทำให้มูลค่าการค้าขายของไทยกับพม่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ส่วนการลงทุนในสหภาพพม่านั้นมี 2 ส่วน คือ การลงทุนโดยนักลงทุนพม่า และการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งโครงการที่ลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิต ปศุสัตว์ ประมงและโรงแรม เป็นต้น โดยที่นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในพม่าได้ด้วยเงินทุนของตนเองทั้งหมด 100% ในรูปแบบที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ (100% foreign owned) หรือการลงทุนร่วม (joint venture) ระหว่างนักลงทุนชาวต่างชาติ กับองค์กรธุรกิจในประเทศพม่า โดยนักลงทุนจากต่างประเทศจะต้องมีสัดส่วนในการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ของเงินทุนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้นักลงทุนจากต่างประเทศจะต้องลงทุนขั้นต่ำ สำหรับภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในพม่าที่ผ่านมาเป็นการลงทุนในสาขาพลังงาน ซึ่งได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ประมง โรงแรมและการท่องเที่ยว และการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม
อย่างไรก็ตามพม่าได้ออกกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งส่งผลทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับพม่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นั่นคือ การที่กระทรวงพาณิชย์พม่า ห้ามนำเข้าสินค้าในรูปแบบการค้าปกติทางทะเล จำนวน 15 รายการ ซึ่งประกอบด้วย ผงชูรส น้ำหวานและเครื่องดื่ม ขนมปังกรอบทุกชนิด หมากฝรั่ง ขนมเค๊ก ขนมเวเฟอร์ ช็อกโกแลต อาหารกระป๋อง (เนื้อสัตว์และผลไม้) เส้นหมี่ทุกชนิด เหล้า เบียร์ บุหรี่ และผลไม้สดทุกชนิด
รัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศและคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ นอกจากนี้การเปิด L/C เพื่อนำเข้าสินค้ามาขายในพม่า ต้องเป็นเงินที่ได้จากการส่งออกเท่านั้นและมีการกำหนดเพดานการนำเข้า ไม่เกินปีละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบริษัท ปัญหาการเรียกเก็บเบี้ยใบ้รายทางเป็นจำนวนมากจากรถบรรทุกสินค้าก็เป็นปัญหาหนึ่งที่การขนส่งสินค้าจากชายแดนเข้าไปยังกรุงย่างกุ้งทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนสูง และปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย ทำให้ไม่มีความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทยกับพม่า
หากทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันภายใต้ยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นหากได้ประเมินปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์แล้ว การค้า-ลงทุนไทยกับพม่า หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ | | | | |