สรุปข่าวหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หวั่นบาทแข็งกระทบส่งออกระยะยาว.! กลุ่มอัญมณี- ประมงกระอักเจอ 2 เด้ง !
สภาอุตฯหวั่นบาทแข็งอาจส่งผลระยะยาวผู้ส่งออกไม่รับ ออเดอร์เพิ่ม เหตุทุนหาย-กำไรหด ชี้กลุ่ม อัญมณี-ประมงอ่วมสุดเจอ 2 เด้งตัดสิทธิ์ GSP- ค่าเงินบาท ธุรกิจส่อเจ๊งระนาว ด้านสภาหอฯแนะภาคเอกชนปรับตัวรับต้นทุนเพิ่ม แต่ยังเชื่อมั่นส่งออกทะลุ 12.5% แน่นอน
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิด 2 ปรากฏการณ์ในบ้านเรา หนึ่งคือดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปีโดยสามารถพุ่งขึ้นเหนือระดับ 800 จุดโดยขึ้นสูงสุดที่ 825.45 จุด ในวันพุธ 4 ก.ค. ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นถึงกว่า 40,000 ล้านบาทขณะเดียวกันค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 33.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างหนักของนักลงทุนต่างชาติ และแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่องของผู้ส่งออก ซึ่งผลกระทบที่ตามอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้คือ ผู้ประกอบการส่งออกต่างโอดครวญตามๆกันจากอัตราการแลกเปลี่ยน ซึ่งทั้ง 2 สภาฯจากภาคเอกชนอย่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาหอการค้าไทยต่างประสานเสียงตรงกันค่าหากเงินบาทแข็งค่าไม่หยุดผู้ส่งออกไทยมีถึงขั้นสิทธิ์ปิดกิจการโดยเฉพาะผู้ส่งออกสิ่งทอ ประมง อัญมณี และอาหาร
รวบรวมปัญหาเสนอภาครัฐ
สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นว่า ภายใน 1สัปดาห์จากนี้กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า อาทิ กลุ่มประมง กลุ่มอัญมณี กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มอาหาร จะรวบรวมปัญหาเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งการดำเนินการลักษณะแบบนี้ทางกลุ่มสมาชิกส.อ.ท.เคยรวบรวมแนวคิดนำเสนอต่อภาครัฐมาแล้วในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาที่ 35 บาท/ดอลลาร์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับค่าเงินบาทที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นหากบาทแข็งค่าแบบค่อยเป็นค่อยไปผู้ส่งออกก็จะปรับตัวได้ทัน แต่ช่วงที่ผ่านมาภายใน 2-3 วันแข็งค่าขึ้น 30-40 สตางค์อย่างนี้ผู้ส่งออกก็ปรับตัวไม่ทันมันจึงส่งกระทบส่งออกอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือผู้ส่งออกขายดอลลาร์มากเกินไปทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีกเพราะกลัวว่าค่าเงินจะตกไปกว่านี้
อัญมณี-ประมงเคราะห์ซ้ำ-กรรมซัด !
ขณะกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ / ประมงซึ่งได้รับผลกระทบมาตลอดทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้รายได้เป็นบาทน้อยลงการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สหรัฐ รวมไปถึงต้นทุนวัตถุดิบ แม้ว่ายอดส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้จะขยายตัวแต่ผู้ประกอบการต่าง ได้รับผลกระทบในแง่ลบและหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าไปมากกว่าผู้ประกอบการรายเล็กก็อาจจะเลิกกิจการได้
ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลระยาวได้หากยังไม่ได้รับการแก้ไขผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดออเดอร์สินค้าลงเพราะไม่สามารถทำกำไรได้ ประธานส.อ.ท.ระบุ
ส่งออกยังตามเป้า 12.5%
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเป้าหมายส่งออกที่ 12.5% ในปีนี้จะสามารถทำได้ตามเป้าดูได้จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวที่ 17-18% และครึ่งปีหลังนับจากนี้ก็ไม่น่าจะต่ำว่า1 12% เป็นอย่างน้อยจึงทำให้มั่นใจว่าปีนี้ 2550 จะสามารถส่งออกไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดหมายไว้
ด้านประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า จากค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ในส่วนของสินค้าเกษตรไม่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากผลผลิตที่ออกมายังไปได้ดีและราคาตลาดโลกดีพอสมควรทำให้ยังส่งออกได้แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากก็ตาม
สภาหอฯแนะผู้ประกอบการปรับ
อย่างไรก็ตามในขณะนี้ผู้ประกอบการพยายามรักษาตลาดไว้จนกว่าค่าเงินบาทจะอยู่คงที่ช่วงระยะเวลาหนึ่งในระดับประมาณ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯหลังจากนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวโดยการลดต้นทุนซึ่งบางอุตสาหกรรมต้องใช้เวลา 6 เดือน - 1 ปี
ขณะที่การเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมานั้น ต้องการให้เข้าไปดูแลค่าเงินบาท ขณะที่เรื่องขบวนการปรับตัวต้องคุยกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการส่งออกยังเป็นไปตามเป้าเดิมของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 12.5 %
Source - ผู้จัดการรายสัปดาห์ (Th)
Thursday, July 12, 2007 15:59
จว.ระนองประชุมชี้ชะตาเทสโก้โลตัสวันนี้
ระนอง -เทสโก้-โลตัสไม่หยุดขยายสาขาในฝั่งอันดามัน ล่าสุดเตรียมลงเสาเข็มเพิ่มที่ระนองอีก 1 แห่ง ขณะที่พ่อค้าในระนองรุกฮือต้านเต็มที่ คาดเปิดบริการเมื่อใด ทำร้านค้าในจังหวัดปิดตัว 80% จังหวัดรับลูกประชุมหารือชี้ชะตาวันนี้( 13 ก.ค.) ขณะที่อบต.บางริ้นอนุญาตให้ก่อสร้างแล้ว จากที่ประชาชนในพื้นที่ 80-90% เห็นด้วย
ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ยังไม่หยุดขยายสาขาในฝั่งทะเลอันดามัน ล่าสุดเทสโก้โลตัส ได้ซื้อที่ดินบริเวณบ้านบางกลางริมถนนเพชรเกษม ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง เนื้อที่ 90 ไร่ เป็นเงิน 90 ล้านบาทอยู่ห่างจากเขตเทศบาลเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งห้างได้ยื่นหนังสือขออนุญาตก่อสร้างไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบางริ้น โดยขณะนี้อบต.บางริ้นอนุมัติให้ห้างเทสโก้โลตัสก่อสร้างได้แล้ว ในขนาด 400X400 ตารางเมตรตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
นายเทิดศักดิ์ คงโต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางริ้น(อบต.)กล่าวว่า ที่ตนตัดสินใจเซ็นคำขออนุญาตการก่อสร้างได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว พร้อมทั้งได้สอบถามถึงผู้คน ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งจากการสอบถามประชาชนพบว่าในจำนวน 10 คน มีผู้สนับสนุนให้ห้างเทสโก้ โลตัสเปิดสาขาที่ระนอง 8-9 คน
ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า การเปิดสาขาของโลตัสถือเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งสินค้าที่วางขายในห้างโลตัสเป็นสินค้าราคาประหยัด เหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันในขณะนี้ ที่บรรดาพ่อค้า แม่ค้าที่ออกมาคัดค้านส่วนใหญ่จะขายสินค้าในราคาที่สูง ทำให้ที่ผ่านมาประชาชนในระนองต้องเดินทางไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้บริการของเทสโก้โลตัส รวมถึงห้างอื่นๆ เพื่อจะได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่า รวมถึงการเข้ามาของห้างโลตัสตนมองว่าเป็นการนำความเจริญเข้ามา มากกว่าจะสร้างผลเสียทั้งในด้านการจ้างงาน เงินภาษี หรือช่องทางการขายที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถดึงดูดผู้คนในพื้นที่อื่นๆ ให้เข้ามายังระนองได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเปิดสาขาของโลตัสที่ระนอง ได้รับการคัดค้านจากผู้ประกอบการร้านค้าในจังหวัดระนอง โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯระนอง เพื่อให้ชะลอการเปิดสาขาของเทสโก้ โลตัส โดยจังหวัดจะนำเรื่องดังกล่าวประชุมสรุปผลในวันนี้( 13 ก.ค.) ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการได้ยื่นหนังสือถึงความเดือดร้อนกรณีเทสโก้โลตัสเข้ามาเปิดสาขาที่จ.ระนอง ถึงกระทรวงพาณิชย์ด้วย
นายวันชัย โชครุ่งเจริญถาวร ประธานชมรมพ่อค้าผู้ประกอบการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่าเหตุผลที่มีการนัดรวมตัวกัน เพราะต้องการแสดงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงความเดือดร้อนของกลุ่มพ่อค้า-ผู้ประกอบการหากมีการอนุญาตให้ห้างเทสโก้โลตัสเข้ามาเปิดสาขาในจังหวัดระนอง คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวเองไม่ต่ำกว่า 80%ในช่วง 1-2 ปีนี้
ทั้งนี้ เพราะไม่สามารถที่จะสู้กับการแข่งขันได้ เนื่องจากยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติมีเงินทุนมหาศาลที่จะเข้ามาทำตลาดและครอบครองตลาดในพื้นที่ตั้งสาขา เช่นดังผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ดังนั้น พวกตนจึงยื่นเงื่อนไขว่าในเขตพื้นที่จังหวัดระนองต้องไม่มีโลตัส
ด้านนางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่าที่ผ่านมาหอการค้าไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามดูแล และช่วยเหลือผู้ประกอบการมาโดยตลอด เริ่มจากการประชุมคณะอนุกรรมการผังเมืองระดับจังหวัด ที่ตนเป็นอนุกรรมการอยู่ ได้มีการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตอาคารพาณิชยกรรมค้าปลีกค้าส่ง ห้ามมีการก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรม ตั้งแต่ 300-1,000 ตารางเมตรในเขตอำเภอเมืองแล้ว และยังขยายออกไปยังพื้นที่รอบนอกตามรายละเอียดในหนังสือที่ รน.0020/ว 237 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2550 แต่ที่อบต.บางริ้นเซ็นอนุมัติอาจเป็นเพราะคำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันประกาศใช้
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่หอการค้า,ตัวแทนร้านค้าได้เข้ายื่นหนังสือต่อพาณิชย์จังหวัดระนอง เพื่อให้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายในให้ชะลอหรือระงับการก่อสร้าง โดยให้เหตุผลถึงความเดือดร้อนจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต ต่อระบบการค้าทุนนิยมผูกขาดข้ามชาติ ซึ่งปรากฏว่า พาณิชย์จังหวัดโดยนายสัญญารักษ์ สินสกุล พาณิชย์จังหวัดระนองได้ทำหนังสือด่วนมากที่ รน.0015/ ว 290 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2550 ถึงปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อให้ชะลอหรือระงับการก่อสร้างจัดตั้งศูนย์การค้าเทสโก้โลตัสในจังหวัดระนอง
นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ปฏิคมหอการค้าระนอง กล่าวว่า โดยส่วนตัว ตนเชื่อว่าถ้าหากห้างเทสโก้โลตัสไปเปิดสาขาที่จังหวัดระนองจริงจะส่งผลกระทบต่อร้านค้าในจังหวัดระนองเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเมืองเล็ก เพราะราคาสินค้าของห้างจะถูกกว่าราคาของร้านค้าทั่วไปมาก กลุ่มชนชั้นกลาง โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการ ชาวสวนที่มีรายได้มาก จะไปซื้อสินค้าในห้างกันหมด
ขณะเดียวกันชาวพม่า ไม่ว่าจะขายแรงงานอยู่ตามโรงงานในจังหวัดระนอง และ ที่อยู่ จ.เกาะสอง ประเทศพม่า ก็จะเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าในห้างเช่นเดียวกันจะส่งผลกระทบไปถึงผู้ส่งออกด้วย เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่เกาะสองหรือแม้กระทั่งที่เมืองมะริด ประเทศพม่าก็จะสั่งซื้อสินค้าจากห้างเช่นเดียวกัน เพราะราคาต่ำกว่าในท้องตลาดทั่วไป สุดท้ายแล้วร้านค้ารายย่อยหรือร้านโชวห่วย จะอยู่ไม่ได้หรือแม้กระทั่งร้านค้ารายใหญ่ ร้านมินิมาร์ทก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยถ้าให้ห้างขนาดใหญ่ไปเปิดสาขาที่ระนอง
นายสัญญารักษ์ สินสกุล พาณิชย์จังหวัดระนอง กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มพ่อค้าในเขตเทศบาลเมืองระนองมาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งในทางกฎหมายขณะนี้ไม่สามารถไปห้ามได้ เพราะกฎหมายค้าส่งค้าปลีกยังไม่ออกมา และกฎหมายผังเมืองของจังหวัดระนองยังไม่มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามตนได้ทำหนังสือส่งไปยังปลัดกระทรวงพาณิชย์แล้ว เพื่อขอความร่วมมือให้ชะลอโครงการออกไปก่อน
Source - ผู้จัดการรายวัน (Th)
Thursday, July 12, 2007 17:45
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคหัวทิ่มเป็นเดือนที่8
ผู้จัดการรายวัน-ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ดิ่งหัวต่อเป็นเดือนที่ 8 หลังข่าวร้ายยังมีต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมัน บาทแข็ง แม้สถานการณ์ด้านการเมืองจะดีขึ้นก็ตาม จับตาเดือนก.ค.จะเกิดจุดเปลี่ยนความเชื่อมั่น หลังคนหวั่นธุรกิจเจ๊งจากพิษค่าบาท ทำให้มองแนวโน้มเศรษฐกิจส่อวิกฤต จนทำให้โอกาสความเชื่อมั่นฟื้นเป็นไปได้ยากขึ้น
นายธวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เปิดเผยว่า ผลการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,243 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเดือน
มิ.ย. 2550 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกือบทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับ 71.0 ลดจากเดือนพ.ค.ที่ระดับ 71.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ 71.9 จาก 72.2 ยกเว้นดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน อยู่ระดับ 87.4 เพิ่มขึ้นจาก 87.1
จากดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. เท่ากับ 76.8 ลดจากเดือนพ.ค.ที่ระดับ 76.9 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ระดับ 74.0 ลดจาก 74.9 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ระดับ 75.1 จาก 74.8
เดือนนี้ คนยังวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ โดยดัชนีความเชื่อมั่นที่เกี่ยวกับปัจจุบันลดลงทุกรายการ ขณะที่สถานการณ์อนาคตคนเริ่มวิตกน้อยลง ทำให้ดัชนีเกี่ยวกับอนาคตปรับตัวดีขึ้นมา แต่ทุกรายการก็ยังเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 โดยอยู่ระดับต่ำสุดรอบ 49-64 เดือน
สาเหตุที่ความเชื่อมั่นในปัจจุบันยังไม่กลับคืนมา เนื่องจากคนยังวิตกปัจจัยลบเรื่องราคาน้ำมันที่ทรงตัวระดับสูง ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งหวั่นเกรงว่าจะกระทบกับการส่งออกและทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง รวมทั้งผู้บริโภคยังไม่มั่นใจว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเกิดผลเป็นรูปธรรม แม้ว่าในเดือนนี้จะมีปัจจัยบวกเข้ามามากก็ตาม เช่น สถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลาย โดยการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ การส่งออกไทย 5 เดือนแรกขยายตัวสูงขึ้น และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ คือความเชื่อมั่นในเดือนก.ค. โดยเฉพาะข่าวการปิดโรงงานสิ่งทอ อาจเป็นจุดเปลี่ยนของดัชนีความเชื่อมั่น เนื่องจากผู้บริโภคหวาดวิตกว่าอาจจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทย แม้การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องจิตทยาของคนที่อยู่ในจุดเปาะบางมาก
ดังนั้นหากค่าของเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีโรงงานหรือบริษัทที่ต้องปิดกิจการมากขึ้น
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคงกลับมาฟื้นยากในปีนี้
เดือนก.ค.เป็นสัญญาณสำคัญที่ต้องจับตา เพราะการสำรวจเดือนมิ.ย.ยังไม่มีเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยเพียงแค่ 10 วัน แข็งค่าขึ้นมา 1 บาท ซึ่งทางศูนย์ฯจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะกลับมาประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะปรับตัวเลขขยายตัวเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็น
4-4.5% นายธนวรรธน์กล่าว
Source - ผู้จัดการรายวัน (Th)
Thursday, July 12, 2007 18:54
โรงงานยอมเปิดกิจการ ศุกร์13ขอรัฐช่วยกู้50ล้านพยุงกิจการ
โรงงานไนกี้-อาดิดาส ยอมเปิด "ศุกร์ 13" พร้อมขอให้รัฐช่วยเรื่องเงินกู้ 50 ล้าน มาพยุงกิจการ ขณะแรงงานโบ้ย ให้ขอในนามสมาพันธ์สิ่งทอ พร้อมโยนให้คลังช่วยหาแหล่งเงิน กระทรวงแรงงานเผยมีโรงงานกว่า 1,994 ราย ย่านสมุทรปราการส่อเค้าเลิก หลังพบขาดส่งเงินสมทบประกันสังคมกว่า 210 ล้านบาท เผย 6 เดือนมีโรงงานปิดแล้ว 6 พันแห่ง "สุรยุทธ์" มั่นใจไม่กระทบภาพรวม รมช.พาณิชย์แนะผู้ผลิตเร่งปรับตัว ประธานสภาหอการค้าฯ ระบุไม่ใช่เหตุจากค่าเงินเพียงอย่างเดียว ขณะโรงงานภาคเหนือ-อีสาน ส่อเค้าเจ๊งตาม
ความคืบหน้าจากเหตุการณ์ บริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการตัดเย็บชุดกีฬาส่งออก ยี่ห้อไนกี้ และอาดิดาส ตั้งอยู่เลขที่ 79 หมู่ 14 ซอยกิ่งแก้ว 38 ถนนกิ่งแก้ว-ลาดกระบัง ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้ปิดโรงงานเมื่อเช้าวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้คนงานประมาณ 6,000 คน ตกงานโดยไม่ทราบล่วงหน้า และนายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินเดือนและค่าชดเชยตามกฎหมายที่ระบุไว้ จนมีการปิดถนนประท้วง
นายกฯชี้รง.ปรับตัวไม่ได้
เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 12 กรกฎาคม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ ซึ่งมีคนมองว่าเป็นเพราะค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า ผลกระทบก็คงต้องมีบ้างในบางส่วน แต่คิดว่าในภาพรวมคงไม่มีปัญหา คงเป็นเรื่องเฉพาะส่วนเฉพาะโรงงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไม่กังวลกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ก็มีความกังวล แต่ไม่ได้หมายความว่ากังวลจนเกินเหตุ เพราะมีผู้ที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลได้พูดมาตั้งแต่ทำหน้าที่ว่า ให้มีการปรับตัว บางส่วนก็ปรับได้ ส่วนปรับไม่ได้ก็เหมือนกับโรงงานที่ต้องปิดไป ซึ่งก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็น
ด้านนางอรนุช โอสถานนนท์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผันผวนของเงินบาทอย่างเดียว แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะต้องปรับตัวรองรับการเปิดเสรีมาเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีแล้ว ซึ่งช่วงที่ผ่านมาภาครัฐก็พยายามให้ผู้ประกอบการปรับตัว ไม่ให้หวังพึ่งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะการผลิตเสื้อผ้าจำนวนมากที่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ไม่สามารถแข่งขันต้นทุนกับจีนและอินเดียได้ เนื่องจากไทยมีต้นทุนสูงกว่า
"ผู้ประกอบการไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้เป็นเสื้อผ้าแบรนด์เนมชั้นสูง เพื่อออกไปทำตลาดในต่างประเทศ เนื่องจากตลาดยุโรปและสหรัฐ รวมทั้งญี่ปุ่น ยังต้องการสินค้าเสื้อผ้าที่เป็นแบรนด์เนม ซึ่งผู้ประกอบการก็เข้าใจดีและมีหลายธุรกิจที่ปรับตัว แต่บางธุรกิจยอมรับว่าไม่สามารถปรับตัวได้" นางอรนุช กล่าว
สภาหอการค้าหวั่นลุกลาม
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คงไม่ใช่เกิดจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างเดียว โดยบริษัทอาจมีปัญหาการบริหารการเงินมาแล้ว แต่ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดังนั้น โรงงานขนาดเล็กคงจะมีการลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่
"การที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีต้นทุนแพงขึ้นกว่าร้อยละ 10 ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ซึ่งวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ สภาหอการค้าฯ จะเข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อภาครัฐและเอกชนจะได้ร่วมมือกันแก้ปัญหา และหาแนวทางว่าภาครัฐจะมีมาตรการอะไรเข้ามาสนับสนุนเป็นพิเศษบ้าง ขณะที่ภาคเอกชนอาจจะต้องขยับราคาสินค้าขึ้น และต้องยอมสูญเสียตลาดส่งออกบางแห่ง รวมทั้งจะมีการลดต้นทุนการผลิตโดยการเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน ดังนั้น เอกชนจะขอให้ภาครัฐลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เพื่ออุดหนุนให้ผู้ส่งออกเป็นพิเศษ" ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าว
ขณะที่ นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โรงงานดังกล่าวเป็นผู้ผลิตเสื้อยืดกีฬาส่งออก เจ้าของเป็นชาวฮ่องกง และมีปัญหามาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่สามารถปรับตัวในหลายๆ ด้านตามที่ผู้ซื้อต้องการ จึงถูกถอนคำสั่งซื้อจนต้องปิดโรงงานในที่สุด ประกอบกับธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ขณะที่มีกำไรต่ำ รวมถึงมีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเดือดร้อน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นสัญญาณที่แสดงถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะบางรายมีคำสั่งจากลูกค้าจนผลิตไม่ทัน ถือเป็นเรื่องการบริหารจัดการของเจ้าของธุรกิจ และนับจากนี้ไปการรับจ้างผลิตถ้าไม่แข็งแรงและใหญ่พอที่จะรับจ้างงานระดับโลกจะอยู่ได้ยาก
ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องปิดกิจการว่า กลุ่มที่ต้องปิดกิจการเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวได้และไม่ประสงค์จะทำธุรกิจต่อ อีกทั้งไม่สามารถผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการตัดเย็บขนาดเล็ก เช่น เย็บเสื้อผ้าส่งโบ๊เบ๊ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เมื่อจีนส่งสินค้าเข้ามาขายในราคาถูกจะไม่สามารถอยู่ได้ ต้องเลิกกิจการ อีกส่วนที่ต้องปิดกิจการ ได้แก่ กลุ่มโรงงานรับจ้างผลิตให้ยี่ห้อต่างๆ ส่งให้ต่างประเทศ ซึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมสิ่งทอ คือ ต้องย้ายฐานไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศที่ต้องทุนต่ำ เช่น ลาว
เผยต้องจ่ายชดเชย180ล้าน
นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงการปิดโรงงานบริษัท ไทยศิลป์ฯ ว่า กำลังตรวจสอบสาเหตุการปิดโรงงานว่า เหตุผลที่แท้จริงคืออะไร เพราะทราบว่าบริษัทนี้ยังมีกำไรและมีคำสั่งซื้อเข้ามา รวมทั้งสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของบริษัทว่ามีเท่าไร เพราะหากต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยึดทรัพย์มาจ่ายให้ลูกจ้าง ก็จะทราบข้อมูลชัดเจน
"จากการประเมินรายจ่ายที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างนั้น พบว่าเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 180 ล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างค้างจ่ายงวดที่ผ่านมา 10 วัน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ซึ่งคนงานส่วนใหญ่มีอายุงานระหว่าง 5-10 ปี นอกจากนี้ ยังแนะนำให้คนงานจ่ายเงินสมทบตาม มาตรา 39 ให้สำนักงานประกันสังคมต่อ" นายผดุงศักดิ์ กล่าวและว่า การปิดบริษัทไทยศิลป์ฯ ไม่มีสัญญาณมาก่อน เพราะนายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นปกติ รวมทั้งจ่ายเงินสมทบให้สปส.สม่ำเสมอ
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า การที่นายจ้างจะย้ายฐานการผลิตถือเป็นเรื่องของบริษัท แต่ควรมาคุยกันก่อน ไม่ใช่จู่ๆ ปิดโรงงานหนี ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทไทยศิลป์ฯ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คงต้องใช้มาตรการเข้ม เพราะไม่ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้าง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่มีอยู่ 230 ล้านบาท มาใช้ก็ต่อเมื่อนายจ้างหลบหนีไปต่างประเทศ แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้เชื่อว่านายจ้างมีเงินที่จะจ่ายให้ลูกจ้างได้อยู่แล้ว นายผดุงศักดิ์ กล่าวและว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน 56 แห่ง แสดงความประสงค์จะรับคนงานที่ตกงานเข้าไปทำงาน ซึ่งมีตำแหน่งงานว่างกว่า 4,000 ตำแหน่ง ขณะนี้มารับสมัครถึงหน้าโรงงาน
ด้านนายพรมมา ภูมิพันธ์ ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์เลิกจ้างของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าน่าจะรุนแรงขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายแห่งกำลังเกิดปัญหา มีการลดกำลังการผลิตและปิดเครื่องจักรบางตัว แล้วย้ายคนงานไปไว้แผนกอื่น ปัจจัยสำคัญเกิดจากผลกระทบด้านการลงทุนและค่าเงินบาทที่แข็งตัว เพราะราคาสินค้าไทยแพงขึ้น ทำให้ต่างชาติหันไปซื้อสินค้าจากจีนและเวียดนามแทน แม้คุณภาพสู้ไม่ได้ แต่ราคาถูกกว่า
เตรียมออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย
วันเดียวกัน นายศักดา เทพเจริญนิรันดร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า สำนักงานได้เปิดสายด่วน 1546 ให้คำปรึกษากรณีคนงานบริษัท ไทยศิลป์ฯ ที่ถูกเลิกจ้างกว่า 6,000 คน และได้รับการประสานงานจากบริษัทสิ่งทอว่าจะไปตั้งโต๊ะรับสมัครงานที่หน้าโรงงานในเช้าวันนี้ ส่วนคนงานที่ถูกเลิกจ้างได้ทยอยมาเขียนคำร้องขอรับค่าชดเชยในส่วนของค่าจ้างค้างจ่าย ค่าบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายเงิน และค่าชดเชยตามอายุงาน คือ อายุงาน 120 วัน ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน อายุงาน 1 ปี ได้ค่าชดเชย 3 เดือน อายุงาน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 6 เดือน และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 10 เดือน ซึ่งสำนักงานจะออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยภายใน 10 วัน โดยนัดเจรจาระหว่างผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง 10 คน และผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ในเช้าวันเดียวกันนี้
"ถ้าการเจรจาไม่เป็นผล สำนักงานสวัสดิการฯ จะเร่งดำเนินการออกคำสั่งช่วยเหลือคนงานควบคู่กันไป ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท หากนายจ้างจะโต้แย้งสามารถดำเนินการได้ภายใน 60 วัน ถ้าไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถขยายเวลาได้อีก 30 วัน โดยสำนักงานสวัสดิการฯ จะเร่งช่วยให้คนงานได้รับค่าชดเชยเร็วที่สุด" สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าว
ทั้งนี้ ใน จ.สมุทรปราการ มีโรงงานมากกว่า 9,900 โรงงาน มีคนงานมากกว่า 1 ล้านคน และที่ผ่านมาก็มีปัญหาการถูกเลิกจ้างเข้ามาร้องเรียนสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการเฉลี่ยมากกว่าวันละ 100 คน โดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาการไม่จ่ายค่าจ้าง
นายจ้างเจรจายอมจ่ายชดเชย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งไปรอที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า ผู้บริหารบริษัท ไทยศิลป์ฯ ได้เข้าพบและเจรจากับเจ้าหน้าที่ตามนัดหมายแล้ว และเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น
ทางช่วยเหลือเร่งด่วนกรณีนายจ้างหนี ไม่มาเจรจา เรามีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่จะช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกลอยแพได้ทันที และเงินประกันการว่างงานจากประกันสังคม ส่วนเรื่องอายัดทรัพย์เป็นกระบวนการสุดท้าย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว
ด้านนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้ไปดูพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อดูแลปัญหาการเลิกจ้างของโรงงานบริษัท ไทยศิลป์ฯ ด้วย แต่การเจรจาเป็นหน้าที่ของทีมเจรจา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการดูแลอยู่ ส่วนรัฐมนตรีมีหน้าที่ของรัฐมนตรีที่จะต้องไปดูแล
ม็อบส่ง20ลูกจ้างเจรจานายจ้าง
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 08.00 น.วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรถบัส 3 คัน ของจังหวัดสมุทรปราการ ไปรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประท้วงอยู่บริเวณถนนกิ่งแก้ว เพื่อเดินทางไปที่หน้าศาลากลางจังหวัด ตามที่แกนนำตกลงไว้กับนายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ แต่กลุ่มคนงานไม่ยินยอม โดยส่งตัวแทน 20 คน ไปเจรจาแทน ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ยังคงปิดถนนสายกิ่งแก้ว ฝั่งขาเข้า กทม. เพื่อประท้วงเช่นเดิม
นอกจากนั้น ยังมีพนักงานจากบริษัทเดียวกัน ซึ่งทำงานอยู่ที่สาขาบางปลา และสาขาสำโรง ประมาณ 600 คน เดินทางมาสมทบกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งบรรยากาศบนเวทีปราศรัยในช่วงเช้า กลุ่มผู้ชุมนุมได้กล่าวโจมตีนายจ้างที่เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
ในส่วนของการจราจรนั้น พ.ต.ท.วสันต์ หมั่นสลุง สว.จร.สภ.ต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในสังกัดจัดการจราจรเป็นไปอย่างคล่องตัว โดยใช้ถนนกิ่งแก้ว ฝั่งขาออก กทม. เป็นเส้นทางการสัญจรของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน โดยอำนวยความสะดวกให้รถวิ่งสวนทางกัน
นายจ้างร่ำไห้ขอโทษลูกจ้าง
ส่วนการเจรจาที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ มีนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ เป็นประธานการเจรจา ระหว่างตัวแทนลูกจ้าง 20 คน ส่วนฝ่ายนายจ้างมีเจ้าของคือ นายพิพรรษ อุนโอภาส และนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส มาเจรจากันด้วยตนเอง
นายพิพรรษ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ขอแสดงความเสียใจและขอโทษพนักงานทุกคน แต่ขอความเห็นใจกับการกระทำ โดยบอกว่าจำเป็นต้องปิดกิจการกะทันหันโดยไม่บอกล่วงหน้า เพราะค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโรงงานรับยอดสั่งซื้อล่วงหน้าประมาณ 3-4 เดือน และขาดทุนทุกยอดสั่งซื้อ ตนพยายามประคับประคองหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ไปไม่ได้ ส่วนค่าชดเชยต่างๆ ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไร บริษัทจะจ่ายให้ลูกจ้างทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเจรจาว่า มีตัวแทนพนักงานบริษัทไทยศิลป์ฯ กว่า 100 คน จับกลุ่มรอที่หน้าห้องเจรจา เพื่อฟังผลการเจรจา และมีตัวแทนรถรับจ้างที่บริษัทจ้างรับส่งพนักงานมารอพบ แจ้งว่าบริษัทเป็นหนี้ค้างอยู่ 1 งวด วงเงินประมาณ 1 ล้านบาท รวมทั้งคู่ค้า 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ขายส่งผ้าและไหมปักให้โรงงาน ซึ่งบริษัท ไทยศิลป์ฯ ค้างหนี้กว่า 60 ล้านบาท มารอพบด้วย
ยอมเปิดกิจการศุกร์ 13
อย่างไรก็ตาม หลังการเจรจาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมสามารถสรุปผลการเจรจาและทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ผู้แทนบริษัท ผู้แทนฝ่ายรัฐ และผู้แทนลูกจ้าง 4 ข้อ ดังนี้
1.บริษัทตกลงเปิดดำเนินกิจการตามปกติ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 เวลา 08.00 น. โดยลูกจ้างตกลงยินดีเข้าทำงานตามปกติในวันเวลาดังกล่าว และจะร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกัน 2.นายจ้างตกลงว่า วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2550 ถือเป็นวันทำงานตามปกติของลูกจ้าง 3.นายจ้างตกลงจะประกาศภายในวันนี้ เพื่อยกเลิกประกาศปิดกิจการ ฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เพื่อเปิดกิจการทำงานตามปกติต่อไปตามข้อ 1 และ 4 กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของลูกจ้าง นายจ้าง และผู้แทน ลูกจ้าง รับจะปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเจรจานั้น นายจ้างขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเจรจาการขอกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนต่อจำนวน 50 ล้านบาท แต่ภาครัฐเสนอให้บริษัททำเรื่องขอกู้ในนามสมาพันธ์สิ่งทอฯ โดยให้ขอกู้เพียง 40 ล้านบาท และให้เสนอไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาหาแหล่งเงินกู้
นายอภัย กล่าวภายหลังการเจรจาว่า ได้ทำหน้าที่คนกลางประสานให้เกิดความตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย ส่วนเรื่องธุรกิจจะเปิดกิจการต่อไป แล้วจะใช้เงินทุนจากที่ไหนนั้น ทราบมาว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากสมาพันธ์สิ่งทอฯ ส่วนกรณีมีโรงงานปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องติดตามแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนต่อไป
หลังจากประชุมเสร็จสิ้น นายอภัย ได้เดินทางไปชี้แจงกับพนักงานด้วยตัวเอง พร้อมตัวแทนพนักงานที่ร่วมเจรจา 3 ฝ่าย โดยมีพนักงานจำนวนมากรอฟังผลการเจรจา ซึ่งตัวแทนพนักงานได้ผลัดกันชี้แจงถึงผลการหารือ 3 ฝ่าย และย้ำว่า ถ้าพนักงานยอมรับข้อตกลงด้วยการกลับเข้ามาทำงาน ก็จะมีเงินเดือนออกในวันที่ 20 กรกฎาคม แต่ถ้าไม่รับข้อตกลง นายจ้างก็ไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชย ส่วนข้อเรียกร้องของพนักงานที่ต้องการให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้น นายอภัยจะเรียกประชุมหารืออีกครั้ง
นายชุลี กองยุทธ์ แกนนำพนักงานบริษัทศิลป์ไทย กล่าวว่า ลูกจ้างรู้สึกยินดีมากที่ได้กลับเข้ามาทำงานที่เดิมและช่วงที่หยุดไปก็ได้เงินชดเชย ก่อนหน้านี้หลายคนไม่ทราบชะตาของชีวิตของตัวเอง หากเป็นไปได้เราอยากให้ตั้งเป็นสหภาพแรงงาน วันหลังหากมีปัญหาอีกจะได้มีแรงต่อสู้ แต่ก็เชื่อว่านายจ้างรับปากแล้วว่าจะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้นอีก เพราะนายจ้างเองก็รู้ว่าตอนนี้ลูกจ้างคิดอะไรอยู่
เผยครึ่งปีบริษัทเจ๊งแล้ว 6 พันแห่ง
นายสมชาย วงษ์ทอง ผอ.สำนักคุ้มครองแรงงาน กสร. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์การเลิกจ้างไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 75 แห่ง และกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ กทม. 10 แห่ง ทราบว่าระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549-31 พฤษภาคม 2550 มีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้ว 35 แห่ง มีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 9,133 คน แยกเป็นสถานประกอบการในพื้นที่ กทม. 12 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 3,998 คน ในส่วนภูมิภาค 23 แห่ง ใน จ.จันทบุรี นครปฐม ระยอง สระบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 5,135 คน
ส่วนสถานประกอบการที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ อุตสาหกรรมการผลิต 29 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 7,990 คน รองลงมา งานให้บริการชุมชน 1 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 1,009 คน ประเภทตัวกลางทางการเงิน 1 แห่งเลิกจ้าง 67 คน เกษตรกรรม ป่าไม้และล่าสัตว์ 1 แห่ง เลิกจ้าง 25 คน ขายส่ง ซ่อมรถยนต์เลิกจ้าง 24 คน
"มีข้อมูลรายงานว่ามีสถานประกอบการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศแล้ว 1 แห่ง และสถานประกอบการที่จะมีการเลิกจ้างอีก 2 แห่ง คือประเภทกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์หนังแท้ หนังเทียมส่งออก มีลูกจ้าง 1,304 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งรวมทั้งธุรกิจ ประเภทวินาศภัยและประกันรถยนต์ มีลูกจ้าง 1,295 คน กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง" ผอ.สำนักคุ้มครองแรงงาน กสร. กล่าว
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการค้างชำระขาดส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของสถานประกอบการทั่วประเทศ พบว่ามีสถานประกอบการ 18 ประเภทและนายจ้าง 29,400 ราย ค้างชำระเงินสมทบ ได้แก่ สิ่งทอ 1,037 ราย ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักร 3,079 ราย การค้า 6,037 ราย ประเภทกิจการอื่นๆ 8,479 ราย ขนส่ง 1,867 ราย ผลิตส่วนประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ 1,655 ราย ผลิตโลหะ 960 ราย ผลิตอาหารเครื่องดื่ม 734 ราย แปรรูปไม้ 724 ราย ผลิตกระดาษ 664 ราย ผลิตเคมีภัณฑ์ 650 ราย ทำเหมืองแร่ 147 ราย ผลิตแร่โลหะ 307 ราย สาธารณูปโภค 197 ราย อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ 369 ราย ส่วนราชการ 436 ราย และไม่พบประเภทกิจการ 12 ราย รวมเป็นมูลค่าเงินสบทบที่จะต้องจ่าย 2,324 ล้านบาท
สิ่งที่น่าวิตกจากข้อมูลดังกล่าวขณะนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 พฤษภาคม 2550 มีสถานประกอบการประกาศเลิกจ้างแล้ว 6,054 แห่ง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงาน 48,631 คน ประเภทกิจการที่เลิกจ้างมากที่สุดคือ กิจการผลิตจำนวน 23,157 คน รองลงมาคือก่อสร้าง 532 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 5,636 คน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามาจากผลกระทบจากภาวะเงินบาทที่แข็งขึ้นและมีแนวโน้มหลายกิจการยังจะเลิกจ้างตามมา เพราะแบกภาระหนี้ไม่ไหว นายสุรินทร์ กล่าว
หวั่นพิษเงินบาททำอุตฯแปรรูปเหนือพัง
ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคการส่งออกนั้น นายองอาจ กิตติคุณชัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคซี อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ประกอบการแปรรูปและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 ค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงถึง 16% โดยครึ่งแรกของปี 2550 เปลี่ยนแปลงแล้ว 7-8% ซึ่งไม่ได้กระทบเฉพาะผลกำไรที่ลดน้อยลงเท่านั้น แต่กระทบถึงต้นทุนการผลิตด้วย
นายองอาจ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการส่งออกอาหารแปรรูปของภาคเหนือ แต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจมีผลกระทบกับยอดส่งออก เนื่องจากผู้ส่งออกไม่สามารถปรับลดต้นทุนการดำเนินกิจการที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินบาท ทั้งค่าแรงงาน ต้นทุนผลผลิต ฯลฯ
"หากภายใน 1-2 เดือนนี้ ภาครัฐยังไม่เข้ามาเยียวยาหรือหามาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก เชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหารอาจได้รับผลกระทบและถึงขั้นปิดกิจการไม่ต่างกับโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ประกาศปิดกิจการกะทันหันและลอยแพพนักงานกว่า 6,000 คนได้" นายองอาจ กล่าว
น.ส.สุปราณี ศิริอาภานนท์ อุปนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผา ลำปาง กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่ากระทบกับผู้ประกอบการโรงงานเซรามิกทั้ง 200 โรงงานในจังหวัด โดยเฉพาะผู้ส่งออกโดยตรง 11 ราย เนื่องจากออเดอร์ที่ตกลงซื้อขาย ตกลงตอนอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายถึงหากรับออเดอร์มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินจากการขายสินค้าหายไปแล้ว 6 ล้านบาท
"หากภาครัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเข้าขั้นวิกฤติเป็นไปได้สูง เพราะขณะนี้ผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากเรามีต้นทุนที่สูงกว่ามาก" น.ส.สุปราณี กล่าว
โรงงานแหอวนอ่วม
นายบูรพา เสรีโยธิน ประธานกรรมการ บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกแหอวนรายใหญ่ในประเทศ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้บริษัทได้รับผลกระทบมาก เพราะรับออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศที่อัตราแลกเปลี่ยน 35.50 ต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันต้องส่งออกสินค้าในอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาทกว่า ทำให้สินค้าที่ส่งออกกำไรลดลงแล้ว 2 บาท
"ในช่วงต้นปี ค่าเงินแข็งค่าอยู่ที่ 37-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บริษัทที่แย่อยู่แล้ว กำไรในการส่งออกแหอวนก็แค่ 6% แต่พอเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 33 บาทกว่า ขณะที่ต้นทุนในการผลิตและการขนส่งกลับเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้สัดส่วนกำไรที่เคยได้นั้นหายไปเลย เรียกได้ว่าการส่งออกในขณะนี้เหมือนกับส่งออกฟรี เพราะเรารับออเดอร์ผลิตสินค้ามาล่วงหน้าก็ต้องผลิตสินค้าป้อนให้ลูกค้า ดังนั้นจึงอยากจะให้แบงก์ชาติเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเร่งด่วน โดยค่าเงินบาทควรจะอยู่ในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ส่งออกมากเกินไป เพราะการส่งออกนั้นต้องสู้กับอัตราแลกเปลี่ยนมาโดยตลอด" นายบูรพา กล่าว
นายบูรพา กล่าวถึงมาตรการรองรับจากพิษเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้ว่า คงต้องรอดูสถานการณ์ไประยะหนึ่งก่อนว่าแบงก์ชาติจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง แต่หากสถานการณ์ยังย่ำแย่ก็คงจะมีการพิจารณาเรื่องลดต้นทุนการผลิตและลดอัตราแรงงาน เพื่อไม่ให้รับภาระต้นทุนที่สูงจนเกินไป เพราะหากต้นทุนสูงจนเกินไปก็สู้ประเทศคู่แข่งอย่างจีนไม่ได้ เพราะเขามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เมื่อต้นทุนต่ำก็สามารถแข่งขันกับประเทศไทยได้
ด้าน นายเกษม กองกูล สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากที่ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทก็พบว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาทิศทางค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่า ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้เริ่มลงพื้นที่เข้าไปพบปะกับนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการ์เมนท์และผลิตรองเท้าว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคงสามารถประคับประคองตัวไม่ได้ และยังไม่มีการปรับลดการจ้างแรงงานแต่อย่างใด แต่มีบางบริษัทที่เตรียมจะย้ายฐานการผลิตไปยังภาคกลาง เช่น บริษัท มิกวางไทย จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรองเท้าของไนกี้ และอาดิดาส
รง.สิ่งทอตาก 4 แห่งวิกฤติ
นายอำนาจ นันทหาร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งตัว ทำให้ผู้ประกอบการสิ่งทอในจังหวัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กได้รับผลกระทบ โดยพบว่ามีผู้ประกอบการในจังหวัดตาก 4 รายเป็นซับคอนแทรคท์ของโรงงานไทยศิลป์ ต้องปรับตัว รับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะเริ่มรับจ้างผลิตสินค้าให้ยี่ห้อต่างๆ แทนผู้ว่าจ้างรายเดิมให้มากขึ้นเพื่อทดแทนรายได้ที่สูญเสียไป โดยรายได้ที่ผู้ประกอบการสูญเสียไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
"สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ได้มีมาตรการช่วยเหลือโรงงานสิ่งทอในพื้นที่ โดยเบื้องต้นมีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันปัญหา ซึ่งจะมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ผู้ประกอบการรับทราบเพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น" ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าว
ด้าน นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีเคการ์เม้นท์ แม่สอด จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันรับจ้างผลิตเสื้อผ้าให้ยี่ห้อดังกว่า 40 ราย และได้เตรียมวางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ มาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว หลังจากที่สินค้าจากประเทศจีนเริ่มเข้ามาตีตลาด จนทำให้ตลาดสิ่งทอของไทยมีแนวโน้มไม่สดใส โดยลดสัดส่วนการส่งออกจาก 40% เหลือเพียง 10%
หอเชียงใหม่ชี้ค่าเงินบาททำศก.ทรุดตัว
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นว่า ได้ส่งผลกระทบให้ภาพรวมของเศรษฐกิจในพื้นที่ทรุดตัวลงไป โดยผู้ได้รับผลกระทบมากคือผู้ส่งออก และอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่งหามาตรการหลายด้านเพื่อทำให้เกิดดุลทางการค้าที่ดี โดยให้นักวิชาการมืออาชีพทั้งส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนร่วมประชุมระดับความลับ เพื่อเร่งหามาตรการให้ตลาดทุนสามารถเดินหน้า และทำให้มีการปรับตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ประกอบการ
นายสุคินธท์ วงศ์ษา นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกหัตถกรรมภาคเหนือ (Nohmax) กล่าวว่า หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ได้ส่งผลกระทบด้านการส่งออกในรอบ 10 ปี จากในปี 2540 โดยมีผู้ส่งออกรายเก่าที่ตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนได้ระหว่าง 35-39 บาทต่อดอลลาร์ แต่ผู้ส่งออกสามารถแบกรับการขาดทุนได้ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ท่านั้น ทำให้ในขณะนี้ต้องได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนผู้ส่งออกรายใหม่ที่จะทำการตกลงกับลูกค้า ต้องทำการเจรจาทางการค้า ซึ่งอาจมีการปรับลดราคาลง
ด้าน นางดารัตน์ วิภาตะกลัศ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเสื้อผ้า และอุตสาหกรรมการเกษตรในภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวมาก และ
ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ได้ทำหนังสือเสนอยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายรายจะต้องทยอยปิดกิจการในเร็วๆ นี้
โรงงานส่งออกรองเท้าเลิกอีกราย
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายกมล ริ้วทองชุ่ม เจ้าพนักงานแรงงานสำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ลูกจ้างบริษัทชิงโปร ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้าส่งออกใน จ.สมุทรปราการ ประมาณ 60 คน ได้เข้ายื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ว่าถูกเลิกจ้าง โดยนายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และในวันที่ 11 กรกฎาคม มีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร
Source - เว็บไซต์คมชัดลึก (Th)
Thursday, July 12, 2007 19:34
สอนมวย"แบงก์ชาติ"แก้บาทแข็ง
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล แนะรัฐบาลต้องผ่าทางตันด้วยการส่งเอกชนช่วยคนแบงก์ชาติเลิกกางตำราแก้บาท ชี้ทางออก ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการทุนสำรอง-ขยายเวลาการถือครองเงินดอลลาร์ให้ผู้ส่งออก-ลดดอกเบี้ย เตือนการแทรกแซงค่าเงินอาจเสียหายรุนแรง ด้าน ฉลองภพ-ธาริษา ถกด่วนก่อนแถลงแก้กฎหมายบริหารหนี้ให้คลังร่วมปกป้องค่าเงิน-ให้บริษัทจดทะเบียนออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยไม่จำกัดวงเงิน เผยยอดเงินไหลเข้า 1.36 แสนล้านบาท เฉพาะ 2 สัปดาห์ล่าสุด 34,000 ล้าน
วานนี้ ( 12 ก.ค.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวถึงแนวทางการแก้วิกฤติค่าเงินบาทของประเทศในขณะนี้ว่า กลไกที่จะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ การให้ภาคเอกชนขยายเวลาถือครองดอลลาร์ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.50 เปอร์เซ็นต์
โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศว่า สามารถทำได้ 3 ทาง คือ การนำไปชำระคืนหนี้ต่างประเทศ การนำเข้าสินค้า และการนำเงินออกไปลงทุน ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดในอดีต เนื่องจากเป็นการขยายช่องทางที่จะระบายออกไปในระดับที่สามารถควบคุมได้ และเหมาะสมกับสภาพคล่องของประเทศ
ทั้งนี้ การไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือตราสารหนี้ในต่างประเทศอาจจะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญพอสมควร แต่หนทางที่ง่ายคือการขยายเวลาให้คนไทยถือครองเงินตราต่างประเทศได้นานขึ้นหรือนำไปฝากธนาคารพาณิชย์ในสกุลดอลลาร์ได้
สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า ทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนที่เป็นการค้าตามปกติและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จนส่งผลให้ตลาดเงินในประเทศขาดสมดุลเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจจริง การที่แบงก์ชาติเอาบาทออกมาแล้วซื้อดอลลาร์เข้าไป ถ้าเป็นเรื่องปรับนิดปรับหน่อยเพื่อชะลอไม่ให้เปลี่ยนแปลงฮวบฮาบก็พอทำได้ แต่ถ้าหักหาญจะไปเปลี่ยนทิศทางตรงนี้อันตรายเหมือนในอดีตที่เราเคยทำมาแล้ว
นายประสาร มองว่า การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจสร้างความเสียหาย แต่หากทางการไม่เข้าแทรกแซง บาทก็ยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะการค้าต่างประเทศยังเกินดุล ขณะที่เงินทุนยังเคลื่อนย้ายเข้ามาอีก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าถึง 33 บาทกว่าๆ
รัฐบาลควรต้องเร่งผ่านทางตัน โดยระดมสมองคนที่มีความสามารถ มีประสบการณ์สัมผัสกับภาคธุรกิจเอกชน เข้ามาช่วยเปิดความรู้ให้คนแบงก์ชาติมีมุมมองที่กว้างขึ้น และเลิกคิดในกรอบตำรา เพราะประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือจีน เขาก็ปกป้องความเสี่ยงมากกว่าการดำเนินตามกลไกตลาด การกางตำราแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่ฟังเสียงใคร อาจทำให้หลงทางได้
นายประสาร เชื่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดแรงจูงใจในการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามา ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาฟองสบู่ เป็นต้น เพราะหากลดลงแล้วจะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่
ผมคิดว่าพอจะมีเหตุผลที่อธิบายได้เพราะเศรษฐกิจภายในทั้งอุปโภคบริโภคค่อนข้างซบเซา และเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ถ้าจะลดอีกสัก 1 สลึงก็อธิบายได้ แต่ถ้าจะไม่ลดก็พอมีเหตุผลที่ไม่ตรงกับทิศทางของต่างประเทศนายประสาร กล่าว
ในส่วนของรัฐบาลหากมีการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยคลายแรงกดดันลงได้ในระดับหนึ่ง โดยรัฐบาลไม่ควรไปกังวลเรื่องเวลาในการบริหารงานที่เหลือไม่มาก แต่ต้องเร่งทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจจริงให้กลับมาฟื้นตัวเพื่อรักษาสมดุล ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
*** พี่หลองเรียกธาริษาถกด่วน
บ่ายวันเดียวกัน นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าหารือเพื่อแก้ไขวิกฤติผลกระทบค่าเงินบาทและรวบรวมข้อมูลเสนอแก่นายกรัฐมนตรี
นายฉลองภพ กล่าวก่อนเข้าประชุมฯ ว่า สิ่งที่ควรแก้ปัญหาค่าเงินบาทเร่งด่านในขณะนี้ คือ การจัดทำระบบที่ดี เพื่อทำให้เราสามารถดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสามารถแก้ไขปัญหาเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนให้เกิดความผันผวน
โดยระยะแรก เราต้องพิจารณาว่า ระบบที่มีอยู่มีอะไรที่เป็นข้อจำกัด ซึ่งทำให้เราไม่สามารถดูแลสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีเท่าที่ควร เพื่อจะเข้าไปพัฒนาจุดนั้นให้ยืดหยุ่นและดูแลได้เต็มที่ โดยที่แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือเพิ่มเติม เพียงแต่ทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีอุปสรรคในการบริหารน้อยที่สุด ถ้าเราไปดูจีน ทำไมจีนทำได้ จีนเขาเงินไหลเข้ามามากกว่าไทยหลายเท่าตัว
ก่อนหน้านี้ ผมเองได้ปรึกษากับแบงก์ชาติว่า ควรจะต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย ในการดูแลปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะทำให้วิธีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนมีประสิทธิภาพยิ่งกว่านี้ โดยในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น จะมีเครื่องมือในการช่วยดูแล ซึ่งอยู่ในกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ ที่คาดว่า จะออกได้ในรัฐบาลชุดนี้ ในกฎหมายดังกล่าวจะมีมาตรการที่บอกว่า ในกรณีที่ต้องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ หรือต้องการสร้างสภาพคล่อง พร้อมไปกับการสร้างอัตราผลตอบแทน ก็สามารถออกพันธบัตรเพื่อการนี้ได้ จะทำให้ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งกฎหมายจะให้สิทธิไปลงทุนในตราสารที่ไม่มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือต่างประเทศ
เมื่อมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเยอะ กระทรวงการคลังก็จะมีเครื่องมือ มีความสามารถ เข้าไปซื้อเงินต่างประเทศ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ธปท.ในการดูแลค่าเงินได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ ถือว่า ธปท.ทำหน้าที่อยู่คนเดียว ซึ่งมีจุดอ่อนของเครื่องมือที่จะเข้าไปดูแลตลาดทุนด้วย
หลังการหารือ รมว.คลัง และผู้ว่าฯ ธปท.ร่วมกันแถลงผลการหารือว่า อาจใช้มาตรการเสริมบางส่วนที่มีผลลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการให้หน่วยงานรัฐที่มีแผนจะกู้เงินจากต่างประเทศพิจารณาว่าจะสามารถปรับเป็นการกู้เงินในประเทศแทนได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า
คลัง และแบงก์ชาติจะร่วมกันรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทต่อนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ ( 13 ก.ค.) รวมถึงรายงานเรื่องความสามารถในการรับมือความผันผวนของค่าเงินและการเสริมสร้างระบบในการรับมือร่วมกันระหว่างคลังกับแบงก์ชาติในระยะต่อไป" นายฉลองภพกล่าวและว่า คลังและ ธปท.จะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ส่งออกว่าทางการจะดูแลอย่างเต็มที่และยังมีเครื่องมือทางการเงินที่สามารถรับมือได้ ส่วนครึ่งปีหลังไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก แม้ว่าทางการจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบริหารค่าเงิน แต่คงไม่สามารถจะหยุดความผันผวนได้
ยังมีมาตรการเสริมให้ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจกู้เงินในประเทศแทนการออกไปกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อลดแรงกดันค่าเงินบาทนั้น ในปีงบประมาณ 50 ภาครัฐมีความจำเป็นต้องกู้เงินประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คงเปลี่ยนมากู้ในประเทศส่วนหนึ่งเท่านั้น
นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.กำลังผลักดันมาตรการเสริมที่จะช่วยลดแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่า โดยจะเสนอให้กระทรวงการคลังผ่อนปรนให้มีการไหลออกของเงินไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น โดยในเบื้องต้นมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะวางแนวทางให้นักลงทุนรายบุคคลสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้นอกเหนือจากที่มีการลงทุนผ่านกองทุนรวม
ยังจะขยายเพดานให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นำเงินออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ โดยไม่จำกัดวงเงินนางธาริษา กล่าว และว่า ความเสี่ยงที่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญต่อจากนี้ คือการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีเงินทุนไหลเข้าแล้ว 4 พันล้านดอลลาร์ (136,000 ล้านบาท คำนวณดอลลาร์บาทที่ 34) ขณะที่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินเข้ามามากถึง 1 พันล้านดอลลาร์ (34,000 ล้านบาท)
วานนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.31/33 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดที่ 33.30/35 บาท/ดอลลาร์ นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพเปิดเผยความเคลื่อนไหวระหว่างวันว่า เงินบาทอ่อนค่าลงมาแตะที่ 33.40 บาท/ดอลลาร์ ก่อนที่ รมว.คลังและผู้ว่าฯ ธปท.จะหารือแต่หลังจากหารือเสร็จเงินบาทก็กลับมาแข็งค่าที่ 33.31 บาท/ดอลลาร์ และทรงตัวจนกระทั่งปิดตลาด
ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) ว่า วานนี้อยู่ที่ 30.67 บาทต่อดอลลาร์ หรือมีส่วนต่างจากเงินบาทตลาดในประเทศถึง 2.64 บาท
*** นายกฯ เชื่อแบงก์ชาติคุมได้
ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าว่า ยังไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นกังวลมากนัก เพียงแต่เฝ้าดู ตนคิดว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ รมว.คลัง ก็ได้ติดตามสถานการณ์อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ความเชื่อมั่นที่ภาครัฐจะมอบให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติจะเพิ่มความมั่นใจให้อย่างไรบ้าง พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้ประกอบการก่อนว่าขอให้มีความมั่นใจ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ให้มากขึ้น ในส่วนของนักลงทุนเองตนเชื่อว่าในขณะนี้ก็มีเงินทุน ระยะสั้นที่เข้ามาในตลาดหุ้นค่อนข้างสูง เราก็ดูอยู่ สิ่งเหล่านี้คงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามทั้งสิ้น นักลงทุนของไทยที่ลงทุนระยะสั้น จะต้องระมัดระวัง
*** ปชป.ชี้ช่องใช้ประโยชน์บาทแข็ง
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาลและ ธปท.เพิ่มมาตรการบรรเทาแข็งค่าขึ้นโดยการเร่งรัดการใช้เงินตราต่างประเทศ เพิ่มการลงทุนโดยเฉพาะเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะยาว และจะทำให้สามารถใช้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออก เป็นประโยชน์ แทนที่จะใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยไร้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
แบงก์ชาติจะต้องมีความกล้าหาญมากขึ้นในการแทรกแซงรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ให้กระทบกับผู้ส่งออกอย่างรุนแรงเกินไป อย่าลืมว่าการแทรกแซง ในช่วงที่บาทกำลังแข็งค่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการแทรกแซงที่แบงก์ชาติเคยในอดีตเมื่อที่ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงเงินบาทขาลงจนหมดจำทำให้เกิดวิกฤติ แต่กรณีปัจจุบันกลับกันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่อาจจะส่งผลเพียงแค่ทำให้เงินหมุนเวียนเพิ่ม อาจจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ แต่ว่าแบงก์ชาติมีเครื่องมือที่ หลากหลายเข้ามาบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแทรกแซงนายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า 2 นโยบายที่ควรจะนำมาใช้ทันที คือ 1. การให้ผู้ส่งออกเปิดบัญชีเงินต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องบังคับให้แปรเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทเท่ากับการเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศก็มักจะมีรายจ่ายเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นเงินตราต่างประเทศเช่นกัน และ 2.เปิดให้บุคคลหรือนิติบุคคลไทย พิจารณาลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ขณะนี้ถูกปิดกั้นโดยกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศมีดุลการค้าเป็นบวกพันล้านถึงหมื่นล้านบาท ดังนั้นถ้าลดการกดดันไปได้บ้างก็มีผลแน่นอน นอกจากนี้ การวิธีเพิ่มการนำเข้าที่เหมาะสมที่สุดคือเพิ่มการลงทุน ในประเภทการลงทุนสาธารณูปโภค ซึ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทุนมีสัดส่วนสูงในการลงทุน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศแล้ว ยังเป็นการใช้เงินตราต่างประเทศที่สะสมจากการส่งออกให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม และบรรเทาปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนไปในตัว ทางพรรคประเมินว่า ทุนสำรองเราอยู่ระดับสูงไปอีกนานไม่มีความเสี่ยง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทุก 1 บาท/เหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยลดลง 0.2-0.3 เปอร์เซ็นต์ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าคาดว่า จะทำให้รายได้จากส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังต้องสูญเสียไป 10,000-20,000 ล้านบาท ธปท.ต้องแทรกแซงค่าเงินบาท ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีก 0.25 เปอร์เซ็นต์ ในเดือน ก.ค.นี้ ออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าบาทเฉพาะจุด เช่น ในตลาดตราสารหนี้ และส่งเสริมการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ หากไม่สามารถรักษาค่าเงินบาทให้อยู่ที่ไม่เกิน 33.5 บาท/เหรียญได้ จะส่งสัญญาณร้ายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อาจไม่ถึง 4 เปอร์เซ็นต์
วิกฤติค่าเงินบาทอยู่ในช่วงอันตรายหรือมีระดับเตือนภัยสีส้มเข้ม ธปท.ต้องเร่งรักษาค่าเงินไม่ให้แข็งค่าขึ้นอีก และออกมาตรการสกัดการเก็งกำไร แต่หากจะออกมาตรการควบคุมเงินไม่ให้ไหลเข้าตลาดหุ้นคงทำได้ยาก เพราะตลาดหุ้นไทยยังมีผลตอบแทนต่อหุ้น (พี/อี) ต่ำ มาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เหมาะสม และเกิดผลในทางจิตวิทยาระหว่างประเทศ เพราะอาจทำให้ต่างประเทศมองได้ว่า เงินบาทถูกเก็งกำไรจริงและเทขายหุ้น ตลาดหุ้นทรุด ความมั่งคั่งหายไป เกิดวิกฤติได้ง่าย
*** ธปท.ถกปรับจีดีพีรับบาทแข็ง
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าฯ ธปท. ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงการพิจารณาดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าจะมีการหารือเพื่อทบทวนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกครั้งว่าจะต้องปรับลดหรือไม่ เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า
Source - ผู้จัดการรายวัน (Th)
Thursday, July 12, 2007 22:39
สาวฉันทนาเฮนายจ้างขอโทษ-เปิดโรงงานต่อ
ผมขอโทษ: นายพิพรรษ อุนโอภาส เจ้าของโรงงานไทยศิลป์ฯ ร่ำไห้ขณะให้สัมภาษณ์ขอโทษพนักงานกว่า 6,000 คนที่ต้องปิดกิจการกะทันหัน แต่ยินยอมจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างและจะดำเนินการกิจการต่อ หลังได้รับความช่วยเหลือ
น้ำตาร่วงอ้างขาดทุนยอมจ่ายชดเชย-ร้องอุ้ม50ล.
แฉ6เดือนธุรกิจเจ๊งระนาว6พันแห่ง-ตกงาน5หมื่น
สภาหอฯผวาพิษบาททุบศก.รอถกคลังขอลดภาษี
พนักงานบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด กว่า 6 พันคนที่ถูกเลิกจ้างเพราะบริษัทปิดกิจการกระทันหัน ได้รับข่าวดีเมื่อนายจ้างยอมขอโทษและรับปากจะเปิดกิจการต่อ หลังเปิดโต๊ะเจรจากับภาครัฐ ขณะที่กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิด "อาฟเตอร์ช็อค" ตามมาทันที โดยหลายฝ่ายได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะทยอยปิดกิจการอีกหลายแห่ง เนื่องมาจากปัญหาสะสมด้านเศรษฐกิจ และพิษเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 6 เดือนที่ผ่านมามีสถานประกอบการประกาศเลิกจ้างแล้ว 6,054 แห่ง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานเกือบ 5 หมื่นคน
ตั้งโต๊ะเจรจา3ฝ่ายยุติปัญหาบ.ไทยศิลป์
ทั้งนี้การเจรจา 3 ฝ่ายระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างบริษัทไทยศิลป์ฯ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคม ที่ศาลากลาง จ.สมุทราปราการ โดยมีนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผวจ.สมุทรปราการ เป็นประธานการเจรจา ร่วมกับตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง 20 คน และเจ้าของบริษัทไทยศิลป์ฯ คือ นายพิพรรษ และนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส
สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเจรจานายจ้างได้ให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเจรจาการขอกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนต่อจำนวน 50 ล้านบาท แต่ภาครัฐเสนอให้บริษัททำเรื่องขอกู้ในนามสมาพันธ์สิ่งทอ โดยให้ขอกู้เพียง 40 ล้านบาท และให้เสนอไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาหาแหล่งเงินกู้
เปิดบันทึกข้อตกลงยอมเปิดกิจการต่อ
ภายหลังการเจรจา นายอนุวัฒน์ เปิดเผยว่า ฝ่ายนายจ้างยินยอมรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานตามกฎหมาย โดยแจ้งว่าแม้แต่หลักทรัพย์ที่ดินของตนเองถ้าสามารถจำหน่ายได้ก็ยินดีเพื่อนำเงินมาชดเชยให้ลูกจ้างมั่นใจได้ว่าสามารถจ่ายค่าชดเชยได้แน่นอน โดยผลการประชุมได้มีการลงบันทึกร่วมกันแล้วว่าจะดำเนินการต่อ ซึ่งรัฐบาลได้ประสานกับสถาบันสิ่งทอเข้ามาให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาดังกล่าว
ด้านนายอภัย เปิดเผยว่า ผลการเจรจาระหว่างตัวแทน 3 ฝ่ายได้มีการบันทึกข้อตกลง 4 ข้อคือ 1.บริษัทตกลงจะเปิดกิจการปกติในวันที่ 13 กรกฎาคม เวลา 08.00 น. โดยลูกจ้างยินดีเข้าทำงานตามปกติ 2.นายจ้างตกลงว่า วันที่ 11และ 12 กรกฎาคมที่สั่งปิดถือเป็นวันทำงานตามปกติของลูกจ้าง 3.นายจ้างตกลงจะประกาศยกเลิกประกาศปิดกิจการในวันเดียวกันนี้ เพื่อเปิดกิจการตามปกติ และ4.กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง นายจ้างและผู้แทนลูกจ้าง จะหารือเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ส่วนเงินค่างวดที่ค้างยังไม่ได้จ่ายให้คนงาน ฝ่ายสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบเรื่องแล้ว นอกจากนี้ในวันที่ 13 กรกฎาคม กระทรวงแรงงานจะเข้าหารือกับพนักงานเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ตามที่พนักงานร้องขอ
นายจ้างร่ำไห้ขอโทษ-พนง.เฮ!ได้ทำงานต่อ
ขณะที่นายพิพรรษ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ขอแสดงความเสียใจและขอโทษพนักงานทุกคน แต่ขอความเห็นใจ ส่วนสาเหตุที่ต้องปิดกิจการกะทันหันไม่บอกล่วงหน้า เพราะจำเป็นจริงๆ ซึ่งเกิดจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวต่อเนื่อง ประกอบกับโรงงานรับยอดสั่งซื้อล่วงหน้า 3-4 เดือน และที่ผ่านมาขาดทุนทุกยอดสั่งซื้อ ตนพยายามประคับประคองหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ไปไม่ได้ ส่วนค่าชดเชยไม่ว่ามีเงินเท่าไรก็จะจ่ายให้ลูกจ้างทุกคนตามกฎหมาย หลังจากนี้จะเข้าไปคุยกับสถาบันสิ่งทอฯ ที่จะให้การช่วยเหลือเพื่อให้โรงงานดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งเรื่องเงินทุนต่างๆ และจะรับคนงานเข้าทำงานเหมือนเดิม นอกจากนั้นยังได้พูดคุยกับลูกค้าของบริษัทและทราบว่าลูกค้ายินดีให้ความช่วยเหลือทุกอย่างจะให้การสนับสนุนบริษัทเหมือนเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังทราบผลการเจรจา กลุ่มพนักงานบริษัทไทยศิลป์ฯ ซึ่งชุมนุมประท้วงอยู่หน้าโรงงานบริเวณ ถ.กิ่งแก้ว หน้าโรงงานบริษัทไทยศิลป์ฯ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งแยกไปชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดต่างพากันโห่ร้องด้วยความดีใจ
ลูกจ้างรง.ผลิตรองเท้าร้องถูกเลิกจ้าง
วันเดียวกัน นายกมล ริ้วทองชุ่ม เจ้าพนักงานแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ลูกจ้างจากบริษัท ชิงโปร ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้าส่งออก ในจ.สมุทรปราการ ประมาณ 60 คน เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการว่าถูกเลิกจ้าง โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เจ้าของบริษัท ชิงโปร เป็นชาวไต้หวัน ขณะนี้ยังตามตัวไม่พบ และบริษัทฯ ขาดส่งเงินสมทบต่อประกันสังคมมานาน จนมีคำสั่งศาลให้ประกันสังคมเข้ายึดอายัดทรัพย์สิน และประกาศหยุดกิจการ โดยลูกจ้างทั้งหมดมี 85 คน และต่างไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการเลิกจ้าง
แฉ6เดือน6พันรง.เจ๊ง-ตกงาน5หมื่น
ด้านนายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการค้างชำระ ขาดส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของสถานประกอบการทั่วประเทศ พบว่า มีสถานประกอบการ 18 ประเภท และนายจ้าง 29,400 ราย ค้างชำระเงินสมทบ รวมเป็นมูลค่าเงินสบทบที่จะต้องจ่าย 2,324 ล้านบาท
"ที่น่าวิตกคือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 พฤษภาคม 2550 มีสถานประกอบการเลิกจ้างแล้ว 6,054 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 48,631 คน กิจการผลิตเลิกจ้างมากที่สุดจำนวน 23,157 คน ซึ่งมาจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นและมีหลายกิจการจะเลิกจ้างอีก เพราะรับภาระไม่ไหว" นายสุรินทร์ กล่าว
"พิษบาทแข็ง"ทำภาคอุตฯวูบ
นายสมชาย วงษ์ทอง ผอ.สำนักคุ้มครองแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์การเลิกจ้างไปที่ กสร.จังหวัด 75 แห่ง และกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานใน กทม. 10 แห่ง ทราบว่าระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549-31 พฤษภาคม 2550 มีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้ว 35 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 9,133 คน สถานประกอบการที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างมากที่สุดคืออุตสาหกรรมการผลิต 29 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 7,990 คน
"สาเหตุมาจากปัญหาด้านการเงินที่มีแนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งขึ้น นอกจากนี้มีข้อมูลว่ามีสถานประกอบการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศแล้ว 1 แห่ง และจะมีการเลิกจ้างอีก 2 แห่ง คือ กิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์หนังแท้หนังเทียมส่งออก มีลูกจ้าง 1,304 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง รวมทั้งธุรกิจประเภทวินาศภัยและประกันรถยนต์ มีลูกจ้าง 1,295 คน กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง" นายสมชาย กล่าว
"เครื่องหนัง-ยาง"เสี่ยงปิดกิจการตาม
นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้ว่า สำหรับสถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากเงินบาทแข็งมีบางกิจการ ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณี และยาง ขณะนี้กรมสวัสดิการฯกำลังเปรียบเทียบข้อมูลสถานประกอบการกับประกันสังคมที่ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบให้เป็นประจำทุกเดือน ถ้ามีการขาดจ่ายจะเป็นสัญญาณบอกเหตุของการหยุดกิจการ แต่การเปรียบเทียบ 2 -3 เดือนที่ผ่านมากับช่วงเดียวกันปีที่แล้วข้อมูลไม่ต่างกันมากนัก
วอนรัฐรับบาทแข็งทำ ศก.พัง
ส่วนนายสุกิจ คงปิยาจารย์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า จากการที่เงินบาทแข็งค่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกัน หลังผู้ประกอบการส่งสัญญาณว่าได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท แต่ภาครัฐกลับบอกว่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้ส่งผลกระทบ ซึ่งไม่สอดคล้องความจริง ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ยากที่อุตสาหกรรมไทยจะอยู่รอดจากปัญหาเงินบาท โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่พอจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ได้ คือ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่อัตราดังกล่าวไม่สามารถการันตีว่าทุกบริษัทจะอยู่รอดได้หรือไม่
สถาบันสิ่งทอแนะย้ายฐานเข้า"ลาว"
ขณะที่นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ชี้ว่า ทางรอดของอุตสาหกรรมสิ่งทอ คือ ต้องย้ายฐานไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศที่ต้นทุนต่ำ เช่น ลาว ทั้งนี้สถาบันได้ส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการปรับตัวมานานพอสมควรแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ยังประกอบธุรกิจต่อไปและมีผลทางบวกให้ประเทศ ซึ่ง 5 เดือนแรกปีนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการเติบโตดีที่สุด คือ เคหะสิ่งทอ โดยสิ้นปี 2550 คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอยังเดินหน้าต่อไปได้ มีอัตราการเติบโตร้อยละ 3-4 จากปีที่แล้วที่มียอดส่งออก 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตฯแปรรูปผวาซ้ำรอยไทยศิลป์
นายองอาจ กิตติคุณชัย รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงใหม่ ชี้ว่า อุตสาหกรรมการส่งออกอาหารแปรรูปของภาคเหนือในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,000 ล้านบาท ถ้าค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอาจกระทบกับยอดส่งออกดังกล่าวได้ ถ้า 1-2 เดือนนี้ ภาครัฐไม่เข้ามาเยียวยาเชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหารอาจได้รับผลกระทบและถึงขั้นปิดกิจการ
ขณะที่นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ประธานหอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จะเชิญผู้ประกอบการทุกรายมาหารือเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปิดกิจการ เพราะมีผู้ประกอบการโรงงานสับปะรดกระป๋องบางรายแจ้งว่าอาจจำเป็นต้องปิดโรงงาน เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนวันละกว่า 100,000 บาท หลังจากค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นเรื่อยๆ
ระวังพิษบาททุบ รง.ขนาดเล็กเจ๊งระนาว
ทั้งนี้มีความเห็นจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เช่น นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่ากระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีสัญญาณการขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว โรงงานขนาดเล็กคงลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่นอน โดยวันที่ 16 กรกฎาคม สภาหอฯจะพบกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือกันว่าภาครัฐจะมีมาตรการอะไรเข้ามาสนับสนุนเป็นพิเศษบ้าง ซึ่งเอกชนจะขอให้ลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร
นายกฯกังวลบาทแข็งกระทบภาคอุตฯ
ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า กรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมีผลกระทบต่อการเลิกกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วน แต่ภาพรวมคงไม่มี เป็นเรื่องเฉพาะส่วน เฉพาะโรงงาน และยอมรับว่ามีความกังวลกับเรื่องนี้ แต่ไม่กังวลจนเกินเหตุ เพราะจุดนี้มีผู้รับผิดชอบดูแลอยู่
ส่วนนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ชี้ว่า กรณีที่บริษัทไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการ เนื่องจากขาดศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เกิดปัญหาจากเงินบาทแข็งค่า โดยหลังจากนี้การนำเงินออกไปลงทุนเพื่อทำการผลิตหรือการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ธปท.จะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)
Friday, July 13, 2007 01:57
สิ่งทอไทยไม่ถึงทางตัน เร่งปรับตัวเพิ่มมูลค่า
การเลิกกิจการของบริษัทไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด โดยไม่แจ้งให้ลูกจ้างกว่า 5 พันราย และกระทรวงแรงงานรับทราบนั้น สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งผู้ประกอบการ และลูกจ้างทั่วประเทศเพราะอาจหมายถึง สัญญาณของภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ แต่ในอีกหลายมุมเห็นว่า การปิดกิจการครั้งนี้เกิดจากการที่ผู้ประกอบการปรับรับกับสถานการณ์ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น "กรุงเทพธุรกิจ" นำความเห็นจากมุมมองต่างๆ มาช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น
อุตฯสิ่งทอปรับตัวไม่ทัน
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2550 หอการค้าไทยได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวของภาคธุรกิจมาแล้ว โดยขณะนั้นเริ่มมีการลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ซึ่งการที่บริษัทไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ปิดโรงงานเครื่องนุ่งห่มแสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตแท้จริง (Real Sector) ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยน โดยบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้พยายามปรับตัวอยู่แล้วด้วยการเพิ่มปรับปรุงสินค้าให้มีความแตกต่างและเพิ่มคุณภาพสินค้าให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า แต่เงินบาทแข็งค่าเร็วมาก จนผู้ประกอบการปรับตัวตามไม่ทัน หากโรงงานเครื่องนุ่งห่มปิดตัวก็จะกระทบกับโรงงานทอผ้าเป็นลูกโซ่
นายพงษ์ศักดิ์ ชี้ว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีแรงงานรวม 1.06 ล้านคน และหากแรงงาน 1 ใน 3 ต้องออกจากงานจะทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 1 ล้านคน โดยหากเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องและอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้โรงงานต้องปิดตัวลงต่อเนื่องและผลกระทบจะมากขึ้น
ทั้งนี้กระทรวงการคลังและธปท.ต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่าประเทศอื่นในเอเชีย เพื่อให้ภาคการผลิตแท้จริงอยู่ได้ หากภาครัฐปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ภาคการผลิตแท้จริงจะทยอยหยุดหรือปิดกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นธุรกิจให้กลับคืนมาได้
นายสุกิจ คงปิยาจารย์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และไม่มีสายป่านยาว ต้องปิดตัวเองลง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจของไทยหรือต่างชาติที่ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกัน หลังจากที่ผู้ประกอบการส่งสัญญาณว่า ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท แต่ภาครัฐกลับบอกว่า เงินบาทแข็งค่าไม่ส่งผลกระทบ ซึ่งไม่สอดคล้องความจริง ทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และหากยังเป็นเช่นนี้ ยากที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยอยู่รอดได้จากปัญหาเงินบาทแข็งค่า
ขณะนี้อุตสาหกรรมไทยอยู่ระหว่างอาการเจ็บป่วย และต้องการรับการรักษาพยาบาล แต่ภาครัฐกลับบอกว่า เป็นปัญหาระยะสั้น และไม่น่าจะเกิดผลกระทบยาว ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นที่จะหามาตรการช่วยเหลือ ขณะที่เอกชนเองก็มีการปรับปรุงวิธีการผลิต ลดต้นทุน เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ แต่กลับไม่แน่ใจว่า จะหวังพึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่ นายสุกิจ กล่าว
สถาบันพัฒนาสิ่งทอยันธุรกิจโตได้
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึงกรณีบริษัท ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ปิดกิจการกะทันหัน ว่า โรงงานดังกล่าวเป็นผู้ผลิตเสื้อยืดกีฬาส่งออกเจ้าของเป็นชาวฮ่องกง และมีปัญหามาแล้วก่อนหน้านี้ไม่สามารถปรับตัวในหลายๆ ด้านตามที่ผู้ซื้อต้องการจึงถูกถอนคำสั่งจ้างให้ตัดเย็บเสื้อจนต้องปิดโรงงานในที่สุด
ประกอบกับธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ขณะที่มีกำไรต่ำรวมถึงมีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเดือดร้อน แต่ไม่ได้เป็นสัญญาณที่แสดงถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอตกต่ำ เพราะบางรายมีคำสั่งจากลูกค้าจนผลิตไม่ทันก็มี จึงเป็นเรื่องการบริหารจัดการของเจ้าของธุรกิจและนับจากนี้ไปการรับจ้างผลิตถ้าไม่แข็งแรงและใหญ่พอที่จะทำการรับจ้างงานระดับโลกจะอยู่ได้ยาก
นายวิรัตน์ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องปิดกิจการนั้นเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวได้และไม่ประสงค์จะทำธุรกิจต่อ อีกทั้งไม่สามารถผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการตัดเย็บขนาดเล็ก เช่น เย็บเสื้อผ้าส่งโบ๊เบ๊ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เมื่อจีนส่งสินค้าเข้ามาขายในราคาถูกจะไม่สามารถอยู่ได้ต้องเลิกกิจการ
อีกส่วนที่ต้องปิดกิจการ ได้แก่ กลุ่มโรงงานรับจ้างผลิตให้กับยี่ห้อต่างๆ ให้กับต่างประเทศ ซึ่งผู้สั่งซื้อจากต่างประเทศมีแนวโน้มต้องการการบริการแบบเบ็ดเสร็จเพียงรายเดียวไม่ต้องการคนกลางมากราย จึงเลิกคำสั่งซื้อจากโรงงานขนาดเล็ก ยกเว้นจะปรับตัวให้มีขนาดใหญ่และแข็งแรงพอในลักษณะที่ต่างชาติต้องการ ซึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมสิ่งทอ คือ ต้องย้ายฐานไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศที่ต้นทุนต่ำ เช่น ลาว
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยนับตั้งแต่ ปี 2005 เมื่อมีเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จึงไม่มีการจำกัดโควตาสินค้าของแต่ละประเทศ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งทางสถาบันฯ ได้ส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการปรับตัวมาแล้วในระยะเวลาพอสมควร จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ยังคงประกอบธุรกิจต่อไปและมีผลกระทบทางบวกให้กับประเทศอีกด้วย ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการผลิตเส้นใย ด้ายและผ้าผืนยังเติบโตร้อยละ 10 และเติบโตดีที่สุด คือเคหะสิ่งทอ มีแต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มียอดการผลิตลดลง แต่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การแข่งขันมีหลายมิติทั้งเทคโนโลยี คุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมองจีน อินเดีย และเวียดนามเป็นคู่ค้าที่ดี โดยไทยได้ส่งผ้าหรือด้ายไปขายจีนรวม 800 ล้านบาท ในปี 2549 นับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมีตลาดอาเซียนรองรับ ด้านเครื่องนุ่งห่ม ไทยไม่สามารถแข่งขันเรื่องค่าแรงถูกอย่างเวียดนาม เพราะมีค่าจ้างเฉลี่ย 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งไทยคงไม่แข่งขันในเรื่องต้นทุนต่ำในการผลิตสินค้า แต่จะแข่งขันการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสิ้นปี 2550 คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอยังเดินหน้าต่อไปได้ มีอัตราการเติบโต 3-4% จากปีที่แล้วที่มียอดส่งออก 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แนะจับตาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแนะรัฐบาลควรมีการประสานกับตัวแทนบริษัทผู้ว่าจ้างบริษัทไทยศิลป์ผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดัง ให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบตามหลักการบริหารจัดการที่ดี ที่บริษัทที่มีชื่อเสียงทั่วโลกนิยมปฏิบัติและยึดถือ เพราะเรื่องดังกล่าวอาจกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทและสินค้า อีกทั้งเป็นการรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ตามหลักการจ้างงาน ในส่วนของเจ้าของบริษัทธุรกิจต่างๆ ควรมีการรวมตัว หากต้องเผชิญปัญหาทางธุรกิจและต้องการเลิกจ้างพนักงาน ควรรีบปรึกษากระทรวงแรงงานทันที
ปกติการจ้างงานบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกจะคำนึงถึงเรื่องการผลิตสินค้าที่ไม่เอาเปรียบลูกจ้างและพนักงาน ฉะนั้นหากเรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลกจะไม่เป็นผลดีกับสินค้ายี่ห้อเหล่านี้ รัฐบาลต้องเรียกร้องให้บริษัทผู้ว่าจ้างแสดงความรับผิดชอบด้วย นายแล กล่าว
นายแล กล่าวอีกว่า ส่วนสินค้าที่น่าจับตาและอาจเกิดปัญหาเช่นเดียวกับบริษัทไทยศิลป์ฯ คือ สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยรัฐบาลควรจับตาดูสินค้าส่งออกที่ทำยอดได้ 1 ใน 10 และมีแรงงานเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือ ส่วนสัญญาณบ่งบอกจะเกิดปัญหากับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถสังเกตได้ง่าย เพราะมีหน่วยงานคอยตรวจสอบ แต่หากไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้าแสดงว่าบริษัทดังกล่าวมีการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Friday, July 13, 2007 02:10
ม.หอการค้าไทยหวั่นผู้ผลิตปิดตัว ฉุดบริโภคครึ่งปีหลังชะลอตัวยาว
ม.หอการค้าไทย หวั่นข่าวบาทแข็งค่า ปิดโรงงานส่งผลจิตวิทยาต่อการบริโภค คาดชะลอตัวยาวตลอดครึ่งปีหลัง ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ทรุดต่อเนื่องอยู่ระดับต่ำกว่า 100 ทุกรายการ เผชิญปัจจัยลบทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงินผันผวน ชี้ส่งสัญญาณร้ายต่อเศรษฐกิจไทย
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,243 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 71 ลดลงจากเดือนพ.ค.ที่อยู่ระดับ 71.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 71.9 ลดลงจากเดือนพ.ค. ที่อยู่ระดับ 72.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.4 ลดลงจากเดือนพ.ค. ที่อยู่ระดับ 87.1
ปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกือบทุกรายการปรับลดลงต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้บริโภคยังเห็นว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวอยู่ ความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาท ที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและระบบเศรษฐกิจในอนาคต ความกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวสูง และผู้บริโภคยังเห็นว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม
ข่าวปิดโรงงานส่งผลจิตวิทยาบริโภคชะลอ
ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ได้แก่ ราคาน้ำมันเดือนที่ผ่านมา ยกเว้นน้ำมันดีเซลยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ภาวการณ์ส่งออกเดือนพ.ค. ขยายตัว 20.9% มีมูลค่า 13,049.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 39.39 จุด ณ สิ้นเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 776.79 จุด เงินบาทแข็งค่าส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว และมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ
ช่วงที่ผ่านมาก่อนที่จะมีสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นเพราะการเมืองเริ่มคลี่คลายว่าจะมีการเลือกตั้ง การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ช่วง 10 วันที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนแข็งค่าขึ้นถึง 1 บาท และซ้ำด้วยข่าวการปิดโรงงานสิ่งทอ ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไป พบว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะการส่งออกจะมีปัญหาการส่งออกลดลง รวมถึงผลกระทบทางจิตวิทยา ทำให้การบริโภคชะลอตัวตลอดครึ่งปีหลัง ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ เดือนมิ.ย. อยู่ที่ 57.3 ลดลงจากเดือนพ.ค. ที่อยู่ระดับ 58 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่เดือนมิ.ย. อยู่ที่ 70.1 ลดลงจากเดือนพ.ค. ที่อยู่ระดับ 70.9 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เดือนมิ.ย. อยู่ที่ 61.9 ลดลงจากเดือนพ.ค. ที่อยู่ระดับ 63.7 ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (เอสเอ็มอี) เดือนมิ.ย. อยู่ที่ 75.2 ลดลงจากเดือนพ.ค. ที่อยู่ระดับ 76.3
เล็งปรับประมาณการจีดีพีสิ้นปีใหม่อีก
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์เตรียมปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีอีกครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะปรับเพิ่มเป็น 4-4.5% นั้น แต่จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องประเมินปัจจัยทางเศรษฐกิจใหม่ เพราะการส่งออกไม่น่าจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีได้อีกต่อไป เนื่องจากเดิมศูนย์คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าในระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การบริโภคที่ชะลอตัวลงเพราะข่าวการปลดคนงานโรงงานสิ่งทอ และสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้บริโภคนำสองสิ่งนี้มารวมกันและกังวลว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะมาจากการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งต้องพิจารณาอีกว่าจะมีความสามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบได้ทันเวลาหรือไม่ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจขยายตัวทั้งปีอย่างเป็นทางการของศูนย์ยังอยู่ที่ 3.5-4% แต่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ อย่างไร ต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การจ้างงานว่า คาดว่าจะมีอัตราการว่างงานทั้งปี จะอยู่ที่ 1.8% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพี ที่คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวที่ระดับ 3.5-4% ถือว่าอยู่ระดับต่ำ เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับนี้ สามารถมีการว่างงานได้ถึง 2% อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในส่วนการจ้างงานใหม่ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่มีสัญญาณการปลดคนงาน ยกเว้นการปิดโรงงานไทยศิลป์ฯ ถือเป็นกรณีเฉพาะ แต่ถ้าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น คือมีความผันผวนเร็วอีก ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีโอกาสสูงอยู่ที่ระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศ เพราะเป็นสัญญาณว่ามีการเก็งกำไรเกิดขึ้น
เอกชนหวังครึ่งปีหลังปชช.ใช้จ่ายเพิ่ม
นายพิริยะ วิเศษจินดา ประธานบริษัท จีอี มันนี่ ประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคน่าจะขยายตัว 8 - 10% เทียบกับจีดีพีที่คาดว่าจะขยายตัว 4% เนื่องจากขณะนี้มีสัญญาณหลายอย่างในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีหุ้นไทยและเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าต่างชาติยังเชื่อมั่นในประเทศไทย แต่คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งที่จะส่งผลถึงผู้บริโภคให้เกิดความเชื่อมั่นตาม โดยจีอีมั่นใจว่าคนไทยยังต้องใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้นโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่คงต้องใช้เวลาจึงจะเห็นผล
นางยุวดี จิราธิวัฒน์ พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่าคนไทยมีพฤติกรรมซื้อสินค้าน้อยลง แต่ไม่ได้หยุดซื้อ ซึ่งเซ็นทรัลจะกระตุ้นการจับจ่ายด้วยกิจกรรมภายหลังจากนี้ทุกเดือน เชื่อว่าครึ่งปีหลังการใช้จ่ายน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่ไม่สามารถคาดการณ์ยอดขายและกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากประเมินได้ยาก แต่ภายหลังจากออกแคมเปญ 60 ปีเซ็นทรัล พบว่ายอดขายขยายตัว 12% ถือว่าน่าพอใจตามสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Friday, July 13, 2007 02:11
จี้ผู้ผลิตเพิ่มมาตรฐาน หนีบาทแข็ง-แข่งราคา
ภาครัฐจี้ผู้ผลิตเพิ่มมาตรฐานสินค้า ลดปัญหาการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะสิ่งทอ อาหารแปรรูป เร่งหาทางช่วยผู้ประกอบการใน 5 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า
พาณิชย์ยอมรับสินค้าเกษตรแบกภาระหนัก เตือนผู้ส่งออกอย่าตื่นขายดอลลาร์ซ้ำเติมเงินบาท นัดหารือภาคเอกชนอีกครั้ง 16 กรกฎาคมนี้
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังประชุมคณะทำงานติดตามอุตสาหกรรมรายสาขาว่า จากการติดตามปัญหาอุปสรรคอุตสาหกรรมรายสาขา พบว่าส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านราคา โดยเฉพาะสิ่งทอ อาหารแปรรูป รองเท้ากีฬา ผู้ประกอบการต้องลดราคาสินค้าเพื่อชิงตลาด เนื่องจากโรงงานที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ลดราคาสินค้าทุ่มตลาด ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ค้าปลีกรายใหญ่ขายสินค้าราคาต่ำ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าจำเป็นต้องขายสินค้าต่ำกว่าทุน เพื่อความอยู่รอด
"กระทรวงอุตสาหกรรม คงต้องใช้มาตรฐานโรงงานที่เข้มงวด เพื่อควบคุมโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานให้ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อให้การแข่งขันอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน" นายปิยะบุตร กล่าวและว่า ปัจจุบันมีอุตสาหกรรม 5 สาขา ที่มีปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลกระทบต่อการส่งออก จึงได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รับไปพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ด้านนางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 80% เพราะเมื่อส่งออกแล้วมูลค่าเป็นเงินบาทจะลดลง อย่างไรก็ตาม หวังว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะขณะนี้มีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมาก เมื่อนักลงทุนขายทำกำไรแล้วจะทำให้เงินออกไปจากไทย และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้
ขระที่นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภากรรมการหอการค้าไทย เกี่ยวกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขณะนี้ สองฝ่ายเห็นตรงกันว่าผู้ส่งออกไม่ควรตื่นตระหนกกับการแข็งค่าของเงินบาทมากเกินไป เพราะจะยิ่งส่งผลกระทบให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการเทขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกในระยะนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะประชุมร่วมกับภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้
Source - เว็บไซต์คมชัดลึก (Th)
Friday, July 13, 2007 02:12
3หมื่นโรงงานส่งสัญญาณปิดกิจการ
สปส.ส่งสัญญาณกว่า 3 หมื่นราย ส่อเค้าปิดกิจการ เหตุขาดส่งเงินสมทบประกันสังคม 2.3 พันล้าน เผยครึ่งปีแรกมีบริษัทแจ้งปิดกิจการแล้ว 6 พันแห่ง คนงานถูกเลิกจ้าง 5 หมื่นคน กระทรวงแรงงาน กล่อมไทยศิลป์อาคเนย์เปิดกิจการต่อ ขณะที่เจ้าของโรงงานตั้งเงื่อนไขสมาพันธ์สิ่งทอหัวหอกกู้แบงก์ 50 ล้านบาทฟื้นฟูกิจการ "อภัย" ล้อมคอก สั่งกรมสวัสดิการตรวจสอบโรงงานเจรจานายจ้างก่อนลอยแพพนักงาน นายกฯ ชี้เป็นเรื่องเฉพาะราย
จากการปิดกิจการ ของบริษัท ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ย่าน
บางพลี จ.สมุทรปราการ ทำให้ลูกจ้างกว่า 5 พันคนตกงานนั้น นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อมูลการค้างชำระขาดส่งเงินสมทบ
กองทุนประกันสังคมของสถานประกอบการทั่วประเทศ พบว่ามีสถานประกอบการกว่า 29,400 ราย ค้างชำระส่ง เงินสมทบให้ประกันสังคม
อันดับแรก คืออุตสาหกรรมสิ่งทอจำนวน 1,037 ราย ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักร 3,079 ราย การค้า 6,037 ราย ประเภทกิจการอื่นๆ 8,479 ราย ขนส่ง 1,867 ราย ผลิตส่วนประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ 1,655 ราย ผลิตโลหะ 960 ราย ผลิตอาหารเครื่องดื่ม 734 ราย แปรรูปไม้ 724 ราย ผลิตกระดาษ 664 ราย ผลิตเคมีภัณฑ์ 650 ราย ทำเหมืองแร่ 147 ราย ผลิตแร่โลหะ 307 ราย สาธารณูปโภค 197 ราย อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ 369 ราย ส่วนราชการ 436 ราย และไม่พบประเภทกิจการ 12 ราย รวมเป็นมูลค่าเงินสมทบที่จะต้องจ่าย 2,324 ล้านบาท
ครึ่งปีแรกเจ๊งแล้ว6พันราย
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าวิตกจากข้อมูลดังกล่าวขณะนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-25 พ.ค.50 มีสถานประกอบการประกาศเลิกจ้างแล้ว 6,054 แห่ง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงาน 48,631 คน ประเภท กิจการที่เลิกจ้างมากที่สุดคือ กิจการผลิตจำนวน 23,157 คน รองลงมาคือก่อสร้าง 532 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 5,636 คน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามาจากผลกระทบจากภาวะเงินบาทที่แข็งขึ้น และมีแนวโน้มหลายกิจการยังจะเลิกจ้างตามมา เพราะแบกภาระนี้ไม่ไหว
นอกจากนี้ สปส.ได้รายงานสถานการณ์ผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ พบว่ามีโรงงานกว่า 1,994 ราย ที่มีปัญหาสภาพคล่อง ขาดทุนกระทั่งขาดส่งเงินให้กับกองทุนประกันสังคมจำนวนกว่า 210.37 ล้านบาท มีแนวโน้มว่าอาจจะปิดกิจการและเลิกจ้างได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ส่งเจ้าหน้าที่เจรจาก่อนที่จะปิดกิจการ
อุตฯ สิ่งทอเลิกจ้างมากสุด
นายสมชาย วงษ์ทอง ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองแรงงาน (กคร.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์การเลิกจ้างไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 75 แห่ง และกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ กทม. 10 แห่ง ทราบว่าระหว่างวันที่ 1 พ.ย.49 ถึง 31 พ.ค.50 มีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้ว 35 แห่ง ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 9,133 คนแยกเป็นสถานประกอบการในพื้นที่ กทม.12 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 3,998 คน ในส่วนภูมิภาคจำนวน 23 แห่ง เช่น จันทบุรี นครปฐม ระยอง สระบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี เป็นต้น มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 5,135 คน
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สถานประกอบการที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ อุตสาหกรรมการผลิต 29 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 7,990 คน รองลงมา งานให้บริการชุมชน 1 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 1,009 คน ประเภทตัวกลางทางการเงิน 1 แห่ง เลิกจ้าง 67 คน เกษตรกรรม ป่าไม้ และล่าสัตว์ 1 แห่ง เลิกจ้าง 25 คน ขายส่ง ซ่อมรถยนต์เลิกจ้าง 24 คน สาเหตุเกิดจากภาวะปัญหาด้านการเงิน ที่มีแนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลรายงานว่า มีสถานประกอบการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศแล้ว 1 แห่ง และสถานประกอบการที่จะมีการเลิกจ้างอีก 2 แห่ง คือประเภทกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์หนังแท้ หนังเทียมส่งออก มีลูกจ้าง 1,304 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง รวมทั้งธุรกิจประเภทวินาศภัยและประกันรถยนต์มีลูกจ้าง 1,295 คน กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
ไทยศิลป์ไม่มีสัญญาณเลิกกิจการ
นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงการปิดตัวของบริษัท ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ว่า กำลังตรวจสอบของสาเหตุการปิดโรงงานครั้งนี้ ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร เพราะทราบว่าบริษัทแห่งนี้ยังมีกำไรและมีคำสั่งซื้อเข้ามา รวมทั้งได้สั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของบริษัทว่ามีเท่าไร เพราะหากต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยึดทรัพย์มาจ่ายให้ลูกจ้าง ก็จะได้ทราบข้อมูลชัดเจน
นายผดุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปิดบริษัทไทยศิลป์นั้น ไม่มีสัญญาณมาก่อนเลย เพราะนายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นปกติ รวมทั้งจ่ายเงินสมทบให้สปส.สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ได้ทำหนังสือไปถึงเจ้าหน้าที่ 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้ตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ ว่ามีสัญญาณบอกเหตุอะไรหรือไม่ ที่ทำให้เชื่อว่าจะมีการเลิกจ้าง
กล่อมเจ้าของไทยศิลป์ยอมเปิดกิจการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเจรจา 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ เพื่อหาข้อยุติปัญหา บริษัท ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ปิดกิจการกะทันหัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ใช้เวลาเจรจาประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที โดยมีนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการเจรจา มีผลสรุปการเจรจาด้วยการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันของ 3 ฝ่าย คือ ผู้แทนบริษัท ผู้แทนฝ่ายรัฐ และผู้แทนลูกจ้าง จำนวน 4 ข้อ ดังนี้
1. บริษัทตกลงเปิดดำเนินกิจการตามปกติ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 เวลา 08.00 น. โดยลูกจ้างตกลงยินดีเข้าทำงานตามปกติในวันเวลาดังกล่าว และจะร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกัน 2. นายจ้างตกลงว่า วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2550 ถือเป็นวันทำงานตามปกติของลูกจ้าง 3. นายจ้างตกลงจะประกาศภายในวันนี้ เพื่อยกเลิกประกาศปิดกิจการ ฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เพื่อเปิดกิจการทำงานตามปกติต่อไปตามข้อ 1. และ 4. กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของลูกจ้าง นายจ้าง และผู้แทนลูกจ้าง รับจะปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
สำหรับบรรยากาศหลังการเจรจา พนักงานต่างแสดงความยินดีเมื่อรู้ว่าจะเปิดกิจการต่อ นายชุลี กองยุทธ์ แกนนำพนักงานบริษัทศิลป์ไทย กล่าวว่า ลูกจ้างรู้สึกยินดีมากที่ได้กลับเข้ามาทำงานที่เดิมและช่วงที่หยุดไปก็ได้เงินชดเชย ก่อนหน้านี้ หลายคนไม่ทราบชะตาชีวิตของตัวเอง แต่ก็เชื่อว่านายจ้างรับปากแล้วว่า จะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้นกับบริษัทนี้อีก
บริษัทตั้งเงื่อนไขรัฐช่วยกู้50ล้านบาท
นายอภัย กล่าวว่า ได้ทำหน้าที่ประสานเกิดความตกลงร่วมกันทุกฝ่าย ส่วนเรื่องธุรกิจจะเปิดกิจการต่อไปแล้วจะใช้เงินทุนจากที่ใดนั้น ทราบมาว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากสมาพันธ์สิ่งทอ ส่วนกรณีมีโรงงานปิดเพิ่มอีก 1 แห่งนั้น ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องติดตามแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนต่อไปส่วนข้อเรียกร้องของพนักงานที่ต้องการให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานของไทยศิลป์นั้น จะเรียกประชุมหารือจัดตั้งสหภาพแรงงานในวันนี้ (13 ก.ค.)
นายอภัย กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ขณะนี้ทุกคนต้องเข้าใจกันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากทุกคนก็เดือดร้อนเหมือนกัน ส่วนโรงงานอื่นที่มีแนวโน้มที่ส่อว่าจะมีการเลิกจ้าง ขณะนี้ ได้สั่งเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมเข้าสำรวจเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมาตรการเบื้องต้นนั้น เราคงเข้าไปเจรจาให้นายจ้างและลูกจ้างเข้าใจกัน เพื่อให้ชะลอการเลิกจ้างได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการเจรจานั้น นายจ้างบริษัทไทยศิลป์ได้พยายามที่จะขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเจรจาในการขอกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนต่อจำนวน 50 ล้านบาท แต่ทางฝ่ายรัฐได้มีการเสนอให้บริษัททำเรื่องขอกู้ในนามของสมาพันธ์สิ่งทอ โดยให้ขอกู้เพียง 40 ล้านบาท และให้เสนอไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาหาแหล่งเงินกู้
อ้างขาดทุนต่อเนื่องนาน4เดือน
นายพิพรรษ อุนโอภาส เจ้าของบริษัท ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด กล่าวขอโทษพนักงานทั้งน้ำตา ว่า ขอแสดงความเสียใจ และขอโทษพนักงานทุกคน แต่ขอความเห็นใจ ส่วนสาเหตุที่ต้องปิดกิจการกะทันหันโดยไม่บอกล่วงหน้า เพราะความจำเป็นจริงๆ เกิดจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทางโรงงานรับยอดสั่งซื้อล่วงหน้าประมาณ 3-4 เดือน และที่ผ่านมาขาดทุนทุกยอดสั่งซื้อ ได้พยายามประคับประคองหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ไปไม่ได้ ส่วนค่าชดเชยต่างๆ ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไร ก็จะจ่ายให้ลูกจ้างทุกคน
นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า เข้าร่วมเจรจาว่าได้หารือเบื้องต้นกับฝ่ายนายจ้างแล้ว ซึ่งยินยอมรับผิดชอบเรื่องจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ให้กับพนักงานตามกฎหมาย โดยแจ้งว่าแม้แต่หลักทรัพย์ที่ดินของตนเอง หากสามารถจำหน่ายได้ก็ยินดีจำหน่ายเพื่อนำเงินมาชดเชย อย่างไรก็ตาม มาตรการทางกฎหมายให้ความมั่นใจกับลูกจ้างได้ว่า สามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้ได้แน่นอน
นายกฯ ชี้ปิดกิจการเรื่องเฉพาะราย
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมต้องปิด และลอยแพพนักงานกว่า 5,000 พันคน ว่า ผลกระทบก็คงต้องมีบ้างในบางส่วน แต่ตนคิดว่าในภาพรวมคงไม่มีปัญหา คงเป็นเรื่องเฉพาะส่วนเฉพาะโรงงาน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีความกังวลกรณีที่เงินบาทแข็งค่าอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่า กังวลจนเกินเหตุ เพราะมีผู้ที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลเคยบอกให้มีการปรับตัวแล้ว และบางส่วนก็ปรับได้ ส่วนที่ปรับไม่ได้ก็เหมือนกับโรงงานที่ต้องปิดไป เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็น
หอการค้าเตือนโรงงานเล็กส่อปิดกิจการเพิ่ม
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ปิดโรงงาน ว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คงไม่ใช่การแข็งค่าของเงินบาทอย่างเดียว แต่บริษัทอาจมีปัญหาการบริหารการเงินมาแล้ว แต่ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่ากระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งมีสัญญาณการขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว ดังนั้น โรงงานขนาดเล็กคงจะลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่นอน เพราะเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีต้นทุนแพงขึ้น 10% ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ในวันที่ 16 ก.ค. สภาหอฯ จะพบกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกัน เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทว่า ภาครัฐจะมีมาตรการใดสนับสนุนเป็นพิเศษ ขณะที่เอกชนอาจจะขยับราคาสินค้าขึ้น และยอมเสียตลาดส่งออกบางแห่ง รวมทั้งจะลดต้นทุนโดยเปลี่ยนเครื่องจักร ดังนั้น เอกชนจะขอให้ภาครัฐลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เพื่ออุดหนุนให้ผู้ส่งออกเป็นพิเศษ
"โฆสิต"นัดถกสถาบันสิ่งทอ-เอกชน 16 ก.ค.นี้
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะหารือร่วมกับสถาบันสิ่งทอและผู้ประกอบการสิ่งทอในวันที่ 16 ก.ค.นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ต่างๆ ทั้งปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนบริษัทไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ที่ปิดกิจการกะทันหันคนงานกว่า 6,000 คนต้องถูกลอยแพ ทั้งนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะนี้ ยังต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดยังไม่สามารถประเมินได้ว่า โรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 4,550 ราย ขณะนี้ จะมีโรงงานต้องปิดกิจการอีกหรือไม่
คลัง-ธปท.ประสานเสียงปิดโรงงานไม่เกี่ยว"บาทแข็ง"
ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปิดกิจการของบริษัทสิ่งทอในช่วงนี้ ไม่เกี่ยวกับค่าเงินบาท แต่เป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมไทยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เน้นแรงงานราคาถูกอย่างเดียว ปัจจุบันนี้แข่งยาก ฉะนั้น โดยธรรมชาติอุตสาหกรรมประเภทนี้ อยู่ในขั้นที่หลายโรงงานอาจมีปัญหาตามมา เวลาเดียวกัน ก็มีอุตสาหกรรมประเภทอื่นเข้าสู่ไทย ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ ถ้าผู้ประกอบการจะลงทุนในต่างประเทศก็จะสนับสนุน ส่วนพนักงานก็ต้องมีกระบวนการดูแล ทำอย่างไรให้มีทักษะการทำงานสูงขึ้น
ด้าน ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบรายที่มีปัญหา เพราะเสียตลาดให้แก่บริษัทคู่แข่งในประเทศ ไม่ใช่บริษัทต่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาท
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Friday, July 13, 2007 02:12
จ่อคิวเจ๊งอีก!3หมื่นโรงงานขาดสมทบสปส.ไทยศิลป์เปิดต่อ
โรงงานไนกี้-อาดิดาส ยอมเปิด "ศุกร์ 13" หลังเจรจานานกว่า 3 ชั่วโมง พร้อมขอให้รัฐช่วยเรื่องเงินกู้ 50 ล้าน มาพยุงกิจการ ขณะแรงงานโบ้ยให้ขอในนามสมาพันธ์สิ่งทอ
พร้อมโยนให้คลังช่วยหาแหล่งเงิน กระทรวงแรงงานเผยมีโรงงานร่วม 30,000 ราย ส่อวิกฤติหลังพบขาดส่งเงินสมทบประกันสังคมกว่า 2 พันล้าน เผย 6 เดือนมีโรงงานปิดแล้ว 6 พันแห่ง ขณะโรงงานภาคเหนือ-อีสาน ส่อเค้าเจ๊งตาม "สุรยุทธ์-คลัง-แบงก์ชาติ" ประสานเสียง ไม่เกี่ยวกับค่าบาทแข็ง รมช.พาณิชย์แนะผู้ผลิตเร่งปรับตัว
ความคืบหน้าจากเหตุการณ์ บริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการตัดเย็บชุดกีฬาส่งออก ยี่ห้อไนกี้ และอาดิดาส ตั้งอยู่เลขที่ 79 หมู่ 14 ซอยกิ่งแก้ว 38 ถนนกิ่งแก้ว-ลาดกระบัง ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้ปิดโรงงานเมื่อเช้าวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้คนงานประมาณ 6,000 คน ตกงานโดยไม่ทราบล่วงหน้า และนายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินเดือนและค่าชดเชยตามกฎหมายที่ระบุไว้ จนมีการปิดถนนประท้วง
นายกฯชี้รง.ปรับตัวไม่ได้
เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 12 กรกฎาคม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ ซึ่งมีคนมองว่าเป็นเพราะค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า ผลกระทบก็คงต้องมีบ้างในบางส่วน แต่คิดว่าในภาพรวมคงไม่มีปัญหา คงเป็นเรื่องเฉพาะส่วนเฉพาะโรงงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไม่กังวลกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ก็มีความกังวล แต่ไม่ได้หมายความว่ากังวลจนเกินเหตุ เพราะมีผู้ที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลได้พูดมาตั้งแต่ทำหน้าที่ว่า ให้มีการปรับตัว บางส่วนก็ปรับได้ ส่วนปรับไม่ได้ก็เหมือนกับโรงงานที่ต้องปิดไป ซึ่งก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็น
ด้านนางอรนุช โอสถานนนท์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผันผวนของเงินบาทอย่างเดียว แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะต้องปรับตัวรองรับการเปิดเสรีมาเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีแล้ว ซึ่งช่วงที่ผ่านมาภาครัฐก็พยายามให้ผู้ประกอบการปรับตัว ไม่ให้หวังพึ่งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะการผลิตเสื้อผ้าจำนวนมากที่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ไม่สามารถแข่งขันต้นทุนกับจีนและอินเดียได้ เนื่องจากไทยมีต้นทุนสูงกว่า
"ผู้ประกอบการไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้เป็นเสื้อผ้าแบรนด์เนมชั้นสูง เพื่อออกไปทำตลาดในต่างประเทศ เนื่องจากตลาดยุโรปและสหรัฐ รวมทั้งญี่ปุ่น ยังต้องการสินค้าเสื้อผ้าที่เป็นแบรนด์เนม ซึ่งผู้ประกอบการก็เข้าใจดีและมีหลายธุรกิจที่ปรับตัว แต่บางธุรกิจยอมรับว่าไม่สามารถปรับตัวได้" นางอรนุช กล่าว
สภาหอการค้าหวั่นลุกลาม
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คงไม่ใช่เกิดจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างเดียว โดยบริษัทอาจมีปัญหาการบริหารการเงินมาแล้ว แต่ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดังนั้น โรงงานขนาดเล็กคงจะมีการลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่
"การที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีต้นทุนแพงขึ้นกว่าร้อยละ 10 ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ซึ่งวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ สภาหอการค้าฯ จะเข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อภาครัฐและเอกชนจะได้ร่วมมือกันแก้ปัญหา และหาแนวทางว่าภาครัฐจะมีมาตรการอะไรเข้ามาสนับสนุนเป็นพิเศษบ้าง ขณะที่ภาคเอกชนอาจจะต้องขยับราคาสินค้าขึ้น และต้องยอมสูญเสียตลาดส่งออกบางแห่ง รวมทั้งจะมีการลดต้นทุนการผลิตโดยการเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน ดังนั้น เอกชนจะขอให้ภาครัฐลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เพื่ออุดหนุนให้ผู้ส่งออกเป็นพิเศษ" ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าว
ขณะที่ นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โรงงานดังกล่าวเป็นผู้ผลิตเสื้อยืดกีฬาส่งออก เจ้าของเป็นชาวฮ่องกง และมีปัญหามาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่สามารถปรับตัวในหลายๆ ด้านตามที่ผู้ซื้อต้องการ จึงถูกถอนคำสั่งซื้อจนต้องปิดโรงงานในที่สุด ประกอบกับธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ขณะที่มีกำไรต่ำ รวมถึงมีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเดือดร้อน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นสัญญาณที่แสดงถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะบางรายมีคำสั่งจากลูกค้าจนผลิตไม่ทัน ถือเป็นเรื่องการบริหารจัดการของเจ้าของธุรกิจ และนับจากนี้ไปการรับจ้างผลิตถ้าไม่แข็งแรงและใหญ่พอที่จะรับจ้างงานระดับโลกจะอยู่ได้ยาก
ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องปิดกิจการว่า กลุ่มที่ต้องปิดกิจการเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวได้และไม่ประสงค์จะทำธุรกิจต่อ อีกทั้งไม่สามารถผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการตัดเย็บขนาดเล็ก เช่น เย็บเสื้อผ้าส่งโบ๊เบ๊ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เมื่อจีนส่งสินค้าเข้ามาขายในราคาถูกจะไม่สามารถอยู่ได้ ต้องเลิกกิจการ อีกส่วนที่ต้องปิดกิจการ ได้แก่ กลุ่มโรงงานรับจ้างผลิตให้ยี่ห้อต่างๆ ส่งให้ต่างประเทศ ซึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมสิ่งทอ คือ ต้องย้ายฐานไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศที่ต้องทุนต่ำ เช่น ลาว
เผยต้องจ่ายชดเชย180ล้าน
นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงการปิดโรงงานบริษัท ไทยศิลป์ฯ ว่า กำลังตรวจสอบสาเหตุการปิดโรงงานว่า เหตุผลที่แท้จริงคืออะไร เพราะทราบว่าบริษัทนี้ยังมีกำไรและมีคำสั่งซื้อเข้ามา รวมทั้งสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของบริษัทว่ามีเท่าไร เพราะหากต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยึดทรัพย์มาจ่ายให้ลูกจ้าง ก็จะทราบข้อมูลชัดเจน
"จากการประเมินรายจ่ายที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างนั้น พบว่าเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 180 ล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างค้างจ่ายงวดที่ผ่านมา 10 วัน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ซึ่งคนงานส่วนใหญ่มีอายุงานระหว่าง 5-10 ปี นอกจากนี้ ยังแนะนำให้คนงานจ่ายเงินสมทบตาม มาตรา 39 ให้สำนักงานประกันสังคมต่อ" นายผดุงศักดิ์ กล่าวและว่า การปิดบริษัทไทยศิลป์ฯ ไม่มีสัญญาณมาก่อน เพราะนายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นปกติ รวมทั้งจ่ายเงินสมทบให้สปส.สม่ำเสมอ
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า การที่นายจ้างจะย้ายฐานการผลิตถือเป็นเรื่องของบริษัท แต่ควรมาคุยกันก่อน ไม่ใช่จู่ๆ ปิดโรงงานหนี ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทไทยศิลป์ฯ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คงต้องใช้มาตรการเข้ม เพราะไม่ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้าง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่มีอยู่ 230 ล้านบาท มาใช้ก็ต่อเมื่อนายจ้างหลบหนีไปต่างประเทศ แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้เชื่อว่านายจ้างมีเงินที่จะจ่ายให้ลูกจ้างได้อยู่แล้ว นายผดุงศักดิ์ กล่าวและว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน 56 แห่ง แสดงความประสงค์จะรับคนงานที่ตกงานเข้าไปทำงาน ซึ่งมีตำแหน่งงานว่างกว่า 4,000 ตำแหน่ง ขณะนี้มารับสมัครถึงหน้าโรงงาน
ด้านนายพรมมา ภูมิพันธ์ ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์เลิกจ้างของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าน่าจะรุนแรงขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายแห่งกำลังเกิดปัญหา มีการลดกำลังการผลิตและปิดเครื่องจักรบางตัว แล้วย้ายคนงานไปไว้แผนกอื่น ปัจจัยสำคัญเกิดจากผลกระทบด้านการลงทุนและค่าเงินบาทที่แข็งตัว เพราะราคาสินค้าไทยแพงขึ้น ทำให้ต่างชาติหันไปซื้อสินค้าจากจีนและเวียดนามแทน แม้คุณภาพสู้ไม่ได้ แต่ราคาถูกกว่า
เตรียมออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย
วันเดียวกัน นายศักดา เทพเจริญนิรันดร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า สำนักงานได้เปิดสายด่วน 1546 ให้คำปรึกษากรณีคนงานบริษัท ไทยศิลป์ฯ ที่ถูกเลิกจ้างกว่า 6,000 คน และได้รับการประสานงานจากบริษัทสิ่งทอว่าจะไปตั้งโต๊ะรับสมัครงานที่หน้าโรงงานในเช้าวันนี้ ส่วนคนงานที่ถูกเลิกจ้างได้ทยอยมาเขียนคำร้องขอรับค่าชดเชยในส่วนของค่าจ้างค้างจ่าย ค่าบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายเงิน และค่าชดเชยตามอายุงาน คือ อายุงาน 120 วัน ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน อายุงาน 1 ปี ได้ค่าชดเชย 3 เดือน อายุงาน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 6 เดือน และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 10 เดือน ซึ่งสำนักงานจะออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยภายใน 10 วัน โดยนัดเจรจาระหว่างผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง 10 คน และผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ในเช้าวันเดียวกันนี้
"ถ้าการเจรจาไม่เป็นผล สำนักงานสวัสดิการฯ จะเร่งดำเนินการออกคำสั่งช่วยเหลือคนงานควบคู่กันไป ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท หากนายจ้างจะโต้แย้งสามารถดำเนินการได้ภายใน 60 วัน ถ้าไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถขยายเวลาได้อีก 30 วัน โดยสำนักงานสวัสดิการฯ จะเร่งช่วยให้คนงานได้รับค่าชดเชยเร็วที่สุด" สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าว
ทั้งนี้ ใน จ.สมุทรปราการ มีโรงงานมากกว่า 9,900 โรงงาน มีคนงานมากกว่า 1 ล้านคน และที่ผ่านมาก็มีปัญหาการถูกเลิกจ้างเข้ามาร้องเรียนสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการเฉลี่ยมากกว่าวันละ 100 คน โดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาการไม่จ่ายค่าจ้าง
นายจ้างเจรจายอมจ่ายชดเชย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งไปรอที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า ผู้บริหารบริษัท ไทยศิลป์ฯ ได้เข้าพบและเจรจากับเจ้าหน้าที่ตามนัดหมายแล้ว และเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น
ทางช่วยเหลือเร่งด่วนกรณีนายจ้างหนี ไม่มาเจรจา เรามีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่จะช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกลอยแพได้ทันที และเงินประกันการว่างงานจากประกันสังคม ส่วนเรื่องอายัดทรัพย์เป็นกระบวนการสุดท้าย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว
ด้านนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้ไปดูพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อดูแลปัญหาการเลิกจ้างของโรงงานบริษัท ไทยศิลป์ฯ ด้วย แต่การเจรจาเป็นหน้าที่ของทีมเจรจา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการดูแลอยู่ ส่วนรัฐมนตรีมีหน้าที่ของรัฐมนตรีที่จะต้องไปดูแล
ม็อบส่ง20ลูกจ้างเจรจานายจ้าง
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 08.00 น.วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรถบัส 3 คัน ของจังหวัดสมุทรปราการ ไปรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประท้วงอยู่บริเวณถนนกิ่งแก้ว เพื่อเดินทางไปที่หน้าศาลากลางจังหวัด ตามที่แกนนำตกลงไว้กับนายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ แต่กลุ่มคนงานไม่ยินยอม โดยส่งตัวแทน 20 คน ไปเจรจาแทน ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ยังคงปิดถนนสายกิ่งแก้ว ฝั่งขาเข้า กทม. เพื่อประท้วงเช่นเดิม
นอกจากนั้น ยังมีพนักงานจากบริษัทเดียวกัน ซึ่งทำงานอยู่ที่สาขาบางปลา และสาขาสำโรง ประมาณ 600 คน เดินทางมาสมทบกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งบรรยากาศบนเวทีปราศรัยในช่วงเช้า กลุ่มผู้ชุมนุมได้กล่าวโจมตีนายจ้างที่เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
ในส่วนของการจราจรนั้น พ.ต.ท.วสันต์ หมั่นสลุง สว.จร.สภ.ต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในสังกัดจัดการจราจรเป็นไปอย่างคล่องตัว โดยใช้ถนนกิ่งแก้ว ฝั่งขาออก กทม. เป็นเส้นทางการสัญจรของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน โดยอำนวยความสะดวกให้รถวิ่งสวนทางกัน
นายจ้างร่ำไห้ขอโทษลูกจ้าง
ส่วนการเจรจาที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ มีนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ เป็นประธานการเจรจา ระหว่างตัวแทนลูกจ้าง 20 คน ส่วนฝ่ายนายจ้างมีเจ้าของคือ นายพิพรรษ อุนโอภาส และนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส มาเจรจากันด้วยตนเอง
นายพิพรรษ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ขอแสดงความเสียใจและขอโทษพนักงานทุกคน แต่ขอความเห็นใจกับการกระทำ โดยบอกว่าจำเป็นต้องปิดกิจการกะทันหันโดยไม่บอกล่วงหน้า เพราะค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโรงงานรับยอดสั่งซื้อล่วงหน้าประมาณ 3-4 เดือน และขาดทุนทุกยอดสั่งซื้อ ตนพยายามประคับประคองหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ไปไม่ได้ ส่วนค่าชดเชยต่างๆ ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไร บริษัทจะจ่ายให้ลูกจ้างทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเจรจาว่า มีตัวแทนพนักงานบริษัทไทยศิลป์ฯ กว่า 100 คน จับกลุ่มรอที่หน้าห้องเจรจา เพื่อฟังผลการเจรจา และมีตัวแทนรถรับจ้างที่บริษัทจ้างรับส่งพนักงานมารอพบ แจ้งว่าบริษัทเป็นหนี้ค้างอยู่ 1 งวด วงเงินประมาณ 1 ล้านบาท รวมทั้งคู่ค้า 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ขายส่งผ้าและไหมปักให้โรงงาน ซึ่งบริษัท ไทยศิลป์ฯ ค้างหนี้กว่า 60 ล้านบาท มารอพบด้วย
ยอมเปิดกิจการศุกร์ 13
อย่างไรก็ตาม หลังการเจรจาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมสามารถสรุปผลการเจรจาและทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ผู้แทนบริษัท ผู้แทนฝ่ายรัฐ และผู้แทนลูกจ้าง 4 ข้อ ดังนี้
1.บริษัทตกลงเปิดดำเนินกิจการตามปกติ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 เวลา 08.00 น. โดยลูกจ้างตกลงยินดีเข้าทำงานตามปกติในวันเวลาดังกล่าว และจะร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกัน 2.นายจ้างตกลงว่า วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2550 ถือเป็นวันทำงานตามปกติของลูกจ้าง 3.นายจ้างตกลงจะประกาศภายในวันนี้ เพื่อยกเลิกประกาศปิดกิจการ ฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เพื่อเปิดกิจการทำงานตามปกติต่อไปตามข้อ 1 และ 4 กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของลูกจ้าง นายจ้าง และผู้แทน ลูกจ้าง รับจะปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเจรจานั้น นายจ้างขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเจรจาการขอกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนต่อจำนวน 50 ล้านบาท แต่ภาครัฐเสนอให้บริษัททำเรื่องขอกู้ในนามสมาพันธ์สิ่งทอฯ โดยให้ขอกู้เพียง 40 ล้านบาท และให้เสนอไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาหาแหล่งเงินกู้
นายอภัย กล่าวภายหลังการเจรจาว่า ได้ทำหน้าที่คนกลางประสานให้เกิดความตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย ส่วนเรื่องธุรกิจจะเปิดกิจการต่อไป แล้วจะใช้เงินทุนจากที่ไหนนั้น ทราบมาว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากสมาพันธ์สิ่งทอฯ ส่วนกรณีมีโรงงานปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องติดตามแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนต่อไป
หลังจากประชุมเสร็จสิ้น นายอภัย ได้เดินทางไปชี้แจงกับพนักงานด้วยตัวเอง พร้อมตัวแทนพนักงานที่ร่วมเจรจา 3 ฝ่าย โดยมีพนักงานจำนวนมากรอฟังผลการเจรจา ซึ่งตัวแทนพนักงานได้ผลัดกันชี้แจงถึงผลการหารือ 3 ฝ่าย และย้ำว่า ถ้าพนักงานยอมรับข้อตกลงด้วยการกลับเข้ามาทำงาน ก็จะมีเงินเดือนออกในวันที่ 20 กรกฎาคม แต่ถ้าไม่รับข้อตกลง นายจ้างก็ไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชย ส่วนข้อเรียกร้องของพนักงานที่ต้องการให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้น นายอภัยจะเรียกประชุมหารืออีกครั้ง
Source - เว็บไซต์คมชัดลึก (Th)
Friday, July 13, 2007 02:14
คลังผนึกธปท.รับมือบาทแข็ง เล็งผ่อนเกณฑ์ลงทุนนอก
คลังเร่งหารือแบงก์ชาติ วางกรอบจัดระบบป้องกันเงินทุนไหลเข้าป้องกันเงินบาทผันผวน ธปท.เตรียมเสนอคลังผ่อนผันการนำเงินบาทไปลงทุนทั้งโดยตรงและตลาดหุ้นต่างประเทศได้มากขึ้น ส่วนคลังเน้นกู้เงินในประเทศ หวังลดแรงกดดันเงินบาทแข็ง "ธาริษา" มั่นใจดูแลค่าเงินได้ ชี้สถานการณ์ขณะนี้เริ่มดีขึ้น แม้ว่าเงินทุนจะไหลเข้าต่อเนื่อง แต่ไม่แรงเหมือนสัปดาห์ก่อน
ความเคลื่อนไหววานนี้ ปิดตลาดอยู่ที่ 33.31-33.33 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่ามีแรงขายดอลลาร์จากผู้ส่งออกที่ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ อยู่ที่ระดับ 30.67-30.76 บาทต่อดอลลาร์
ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแถลงข่าวร่วมกับ ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายหลังหารือร่วมกว่า 2 ชั่วโมง ช่วงบ่ายวานนี้(12 ก.ค.) ถึงสถานการณ์เงินทุนไหลเข้า ซึ่งส่งผลกระทบให้เงินบาทปรับค่าแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทั้งสองหน่วยงานยืนยันว่า ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งในส่วนของ ธปท.และกระทรวงการคลัง จะสามารถรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ แม้ประเมินว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากสภาพคล่องที่ล้นตลาด
"สิ่งที่เราต้องทำ คือ จัดทำระบบที่ทำให้เราสามารถดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนให้เกิดความผันผวน ทั้งนี้ ระยะแรกเราต้องพิจารณาว่า ระบบที่มีอยู่มีอะไรที่เป็นข้อจำกัด ซึ่งทำให้เราไม่สามารถดูแลสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีเท่าที่ควร และเข้าไปพัฒนาจุดนั้นให้ยืดหยุ่นและดูแลได้เต็มที่ โดยที่แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือเพิ่มเติม เพียงแต่ทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีอุปสรรคในการบริหารน้อยที่สุด" ดร.ฉลองภพ กล่าว
ดร.ฉลองภพ ยืนยันด้วยว่าทางการจะไม่มีมาตรการอะไรออกมาดูแลเงินทุนไหลเข้าและค่าเงินบาทในลักษณะแบบช็อกตลาด แต่ที่ต้องหารือกันในครั้งนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเงินบาทไม่ให้ผันผวนเกินไป และเพื่อให้ ธปท.ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือในการดูแลระหว่างกระทรวงการคลังและธปท.ต่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบ
คลังเน้นกู้เงินในประเทศ
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเก็งกำไรว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง ก็ได้ปรึกษากันว่า ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่นี้เพียงพอหรือไม่ ทาง ธปท.ก็ยืนยันว่าด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นเพียงพอ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังก็มีแผนที่จะเข้าไปช่วยเสริมอีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะโครงการกู้เงินตราต่างประเทศ ก็เปลี่ยนให้มากู้เงินในประเทศแทน
ถ้าเรามีความต้องการใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ เราก็เอาเงินบาทไปซื้อ ก็จะช่วยเสริมความต้องการเงินตราต่างประเทศในอนาคต ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการกู้เงินตราต่างประเทศ เราก็จะดูว่า กรณีไหนที่ออกพันธบัตรในประเทศ และไปเอาเงินนั้นซื้อเงินตราต่างประเทศแทน แต่โครงการกู้เงินบางโครงการ เช่น เจบิค เราก็ยังมุ่งมั่นที่จะกู้เงินต่อไป เพียงแต่จะหารือว่าขอให้เขาออกบาทบอนด์แล้วเราก็กู้เป็นบาทแทน ดร.ฉลองภพ กล่าว
เล็งผ่อนผันเกณฑ์ลงทุนนอก
ดร.ธาริษา กล่าวว่า ธปท.ไม่จำเป็นต้องขอวงเงินในการออกพันธบัตรจากกระทรวงการคลังเพิ่มเติมจากที่ได้ขอไปในวงเงิน 4 แสนล้านบาท ก่อนหน้านี้ โดยขณะนี้ ธปท.ก็มีเครื่องมือหลายตัวในการดูแลสถานการณ์ โดยเฉพาะถ้ามีกฎหมายใหม่ออกมาก็จะมีเครื่องมือในการดูแลได้เพิ่มเติมและสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมได้อีก แต่ที่สำคัญเราจะประสานงานและสร้างกลไกในการดูแลมากขึ้น ทางด้านหนึ่งก็คือ เงินที่จะไหลออกนั้น ทาง ธปท.ก็มีแผนที่จะผ่อนผัน ขณะนี้เตรียมที่จะเสนอ รมว.การคลัง เพื่ออนุญาตให้ผ่อนผันในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะเป็นตัวเสริมอีกด้านหนึ่งด้วย โดยถ้าบริษัทจดทะเบียนต้องการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ จะผ่อนปรนว่าจะไม่จำกัดวงเงิน ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศก็จะมีการขยายวงเงินเพิ่มมากขึ้น
ขณะนี้เราให้วงเงินที่จะให้ประชาชนลงทุนผ่านกองทุนรวมไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศได้อยู่แล้ว แต่ยังใช้วงเงินไม่เต็มนัก เพราะวิธีการจัดสรรไปบางที่ที่อยากได้ แต่ไม่พอ แต่ไปบางที่ที่เขาก็ไม่ได้ใช้ ตรงนี้จะหารือกับ ก.ล.ต.ว่าจะให้เป็นก้อนใหญ่ แล้วแต่ว่า ก.ล.ต.จะจัดสรรอย่างไร ต้องเสนอ รมว.การคลังอนุมัติอีกครั้งธาริษา กล่าว และว่า ธปท.จะสำรวจด้วยว่ายังมีประเด็นตรงไหนที่เราจะสนับสนุนให้เงินลงทุนออกนอกประเทศมากขึ้น และตรงไหนที่ยังมีข้อติดขัด
ทั้งนี้ ดร.ธาริษา กล่าวว่า เงินที่ไหลเข้ามามากในตลาดหุ้นไทยเกิดจากความน่าสนใจในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติที่มีมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เกิดความไม่มั่นใจ และในช่วงก่อนหน้านี้ ที่เงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพ เพราะผู้ส่งออกได้ซื้อมากขึ้น เพราะตัวเลขนำเข้าเดือนเม.ย. กับ พ.ค.ดีขึ้นด้วย ก็มีแรงทำรีไฟแนนซ์บางองค์กรด้วย แต่ตั้งแต่เดือนก.ค. เป็นต้นมา แรงขับเคลื่อนดังกล่าวก็น้อยลง แต่ตอนนี้ตัวเลขค่าเงินค่อนข้างมีเสถียรภาพขึ้นเยอะ
คณะทำงานศึกษาลงทุนนอก
ขณะเดียวกันวานนี้ คณะทำงานชุดศึกษาแนวทางส่งเสริมภาคเอกชนและผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้หารือร่วมกันเป็นนัดแรก สำหรับคณะทำงานชุดดังกล่าวประกอบด้วยตัวแทนจาก 5 หน่วยงาน ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. ธปท. กระทรวงการคลัง และสมาคมโบรกเกอร์ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยวานนี้ (12 ก.ค.) ว่าคณะทำงานเริ่มคุยกันแล้ว โดยดูว่ามีแนวทางใดบ้างที่ส่งเสริมให้เอกชนและผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศโดยที่มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เองทางแบงก์ชาติก็เห็นด้วยในหลักการ และพร้อมจะผ่อนผันกฎเกณฑ์การลงทุนในบางเรื่องให้ โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานไปศึกษามา ซึ่งการศึกษาคงใช้ระยะเวลาไม่นานนัก
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้ภาคเอกชนและผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศนั้น คงไม่ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวแล้วเชื่อว่าจะเพิ่มเสถียรภาพให้กับค่าเงินได้อย่างมาก รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้นด้วย
นายธีระชัย กล่าวเสริมว่า หากอนาคตจะมีการอนุญาตให้ผู้ลงทุนรายบุคคลออกไปลงทุนในต่างประเทศได้นั้น โดยส่วนตัวก็อยากให้จัดตั้งเป็นรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลโดยมีมืออาชีพอย่าง โบรกเกอร์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ช่วยดูแลอีกทอดหนึ่ง และการลงทุนก็อยากให้เปิดกว้างเสรี โดยสามารถลงทุนในตราสารต่างๆ ได้ครบทุกประเภท อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ต้องขึ้นกับการพิจารณาของคณะทำงานชุดดังกล่าว
ดร.อัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.เห็นด้วยในหลักการที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและผู้ลงทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้ เพียงแต่การปรับกฎเกณฑ์จะเป็นเรื่องใดบ้าง คงต้องขึ้นอยู่กับคณะทำงานชุดนี้ โดย ธปท. จะนำข้อสรุปที่ศึกษาได้มาพิจารณาอีกทีหนึ่ง
นอกจากนี้ เธอกล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้า ธปท. จะทบทวนตัวเลขจีดีพีของประเทศในปีนี้ใหม่ เพื่อดูว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวเลข จีดีพี เดิมที่ ธปท. ประเมินไว้ในปีนี้อยู่ที่ 3.8-4.8%
หอการค้าไทยชี้รัฐจำเป็นต้องพึ่งภาคส่งออก
นายดุสิต นนทนาคร รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้เอื้อต่อการส่งออกและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มาจากภาคส่งออกถึง 70% และถ้าการส่งออกไปไม่รอดจะกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และหากรัฐบาลเลือกจะใช้การบริโภคและการลงทุนเป็นตัวขับเลื่อนเศรษฐกิจต้องใช้เวลากระตุ้น 6-12 เดือน ซึ่งอาจจะไม่ทันกับเหตุการณ์ในช่วงนี้ จึงจำเป็นต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่ให้กระทบกับการส่งออก
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าไม่มีสถาบันทางเศรษฐกิจใดจะคาดคิดว่า ในช่วง 10 วันที่บาทแข็งค่าได้สูงถึง 1 บาท ถือว่าเป็นสัญญาณไม่ดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้การส่งออกช่วงครึ่งปีหลังยากลำบากขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าควรดำเนินการ 3 มาตรการควบคู่กันไป ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 18 ก.ค. นี้ ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระผู้ประกอบการ
ทุนนอกโยกเข้าไทยเชื่อมีเสถียรภาพหลังเลือกตั้ง
หนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เอเชีย รายงานว่าขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเอเชียหลายแห่งอยู่ใกล้จุดสูงสุดในรอบหลายปีหรือใกล้สถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้ นักลงทุนสถาบันก็ได้โยกย้ายเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหลายแห่ง เช่น ไทยและไต้หวัน ด้วยเหตุผลว่าตลาดทั้งสองแห่งมีมูลค่าที่น่าดึงดูดมากกว่า
กระแสเงินลงทุนจากต่างชาติ กำลังไหลเข้าไทยและอยู่ในระดับสูงที่สุดของปีนี้ โดยเมื่อต้นสัปดาห์ ดัชนีหุ้นไทยได้ดีดตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับก่อนเกิดวิกฤตการณ์การเงินเอเชียเมื่อ 10 ปีก่อน และนักลงทุนมีความหวังมากขึ้นว่าการเลือกตั้งปลายปีนี้ จะนำเสถียรภาพกลับคืนมาสู่ประเทศ
แม้ว่าตลาดส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียพุ่งขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา แต่นักยุทธศาสตร์การลงทุนระบุว่าเงินทุนจากต่างชาติยังหลั่งไหลเข้ามาในเอเชีย และมูลค่าหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในระดับสมเหตุสมผล เพราะได้รับแรงหนุนจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของผลกำไรภาคธุรกิจ ขณะที่ในบางตลาดนั้น นักลงทุนในประเทศและกิจการของรัฐบาลบางแห่ง ก็เข้าซื้อหุ้นจำนวนมากเช่นกัน
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Friday, July 13, 2007 02:19
รัฐอุ้ม40ล.ฉันทนาเฮ!เปิดกิจการต่อ
นายจ้างหลั่งน้ำตายอมจ่ายค่าชดเชยปิดโรงงาน แต่ยังไม่รู้จะได้ครบ 180 ล้านไหม กระทรวงแรงงานข้องใจกำไรมาตลอด จี้ไนกี้-อาดิดาสรับผิดชอบร่วม เตือนฉันทนาสิ่งทอเตรียมถูกลอยแพอีกเป็นร้อยแห่ง
อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนัง ยาง อัญมณี ระวังเป็นลูกโซ่ คลัง-แบงก์ชาติยังมั่นใจหยุดค่าเงินบาทได้ เปิดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 4-5 ปี
เจ้าของบริษัทไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ผู้ตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกให้บริษัทชื่อดัง เช่น ไนกี้ อาดิดาส ซึ่งปิดโรงงานลอยแพลูกจ้าง 5,000 กว่าคนได้ตกลงยอมจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างแล้ว ภายหลังการเจรจากับกระทรวงแรงงานและลูกจ้าง
นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้เป็นประธานการเจรจาระหว่างฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ที่ศาลากลางจังหวัด ตั้งแต่เวลา 10.00 น. วันที่ 12 ก.ค. เป็นเวลาชั่วโมงเศษ โดยฝ่ายลูกจ้างมีตัวแทน 20 คน ฝ่ายนายจ้างมีเจ้าของคือนายพิพรรษ และนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส
นายพิพรรษกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและมีน้ำตาไหลพรากว่า ขอแสดงความเสียใจและขอโทษพนักงานทุกคน แต่ขอความเห็นใจ สาเหตุที่ต้องปิดกิจการกะทันหันโดยไม่บอกล่วงหน้า เพราะจำเป็นจริงๆ ค่าเงินบาทที่แข็งตัวต่อเนื่อง ทำให้โรงงานซึ่งรับยอดสั่งซื้อล่วงหน้า 3-4 เดือน ขาดทุนทุกยอดสั่งซื้อ ตนพยายามประคับประคองหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ไปไม่ได้ ส่วนค่าชดเชยต่างๆ ไม่ว่ามีเงินเท่าไรก็จะจ่ายให้ลูกจ้างทุกคน
นายอนุวัฒน์กล่าวว่า ได้หารือเบื้องต้นกับฝ่ายนายจ้างแล้ว ยินยอมรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานตามกฎหมาย โดยแจ้งว่าแม้แต่ที่ดินหากสามารถจำหน่ายได้ก็ยินดีจำหน่ายเพื่อนำเงินมาชดเชย ขอให้ความมั่นใจกับลูกจ้างว่าทางราชการมีมาตรการทางกฎหมายสามารถจ่ายค่าชดเชยให้ได้แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเจรจามีตัวแทนพนักงานกว่า 100 คน จับกลุ่มรอฟังผลที่หน้าห้อง และมีตัวแทนรถรับจ้างที่บริษัทจ้างรับส่งพนักงานมารอทวงหนี้ค้างประมาณ 1 ล้านบาท มีคู่ค้า 2 ราย เป็นผู้ขายส่งผ้าและไหมปักให้กับโรงงาน ซึ่งค้างหนี้สินกว่า 60 ล้านบาท มารอพบเจ้าของด้วย
บรรยากาศที่หน้าบริษัทไทยศิลป์ฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า พนักงานหลายพันคนยังชุมนุมกันอยู่ มีแกนนำขึ้นปราศรัย มีพนักงานจากบริษัทเดียวกันที่สาขาบางปลา และสาขาสำโรง จำนวน 600 คน เดินทางมาสมทบด้วย
นายศักดา เทพเจริญนิรันดร์ หัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ได้ให้ลูกจ้างทั้ง 5,000 กว่าคนเขียนคำร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานไว้แล้ว ถ้านายจ้างไม่จ่ายมีโทษอาญาจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า 1 งวด และค่าชดเชยตามอายุงาน รวมทั้งหมดนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
นายศักดากล่าวอีกว่า พื้นที่สมุทรปราการมีโรงงานมากกว่า 9,900 โรงงาน มีคนงานมากกว่า 1 ล้านคน ที่ผ่านมามีปัญหาถูกเลิกจ้างเข้ามาร้องเรียนเป็นระยะๆ เฉลี่ยมากกว่าวันละ 100 คน
นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งหาทางช่วยเหลือลูกจ้าง เพราะเกรงว่าเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ของบริษัทจะไม่พอจ่ายให้กับพนักงาน เพราะเงินส่วนใหญ่ต้องนำไปชำระหนี้ ตัวแทนลูกจ้างหรือฝ่ายรัฐบาลควรประสานกับตัวแทนบริษัทผู้ว่าจ้างผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดัง ให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อชื่อเสียงของสินค้าได้ อีกทั้งเป็นการรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ตามหลักการจ้างงาน
"ตามปกติการจ้างงานบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกส่วนมากคำนึงถึงเรื่องการผลิตสินค้าที่ไม่เอาเปรียบลูกจ้างและพนักงาน หากเรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลก จะไม่เป็นผลดีกับสินค้ายี่ห้อเหล่านี้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะต้องเรียกร้องให้บริษัทผู้ว่าจ้างแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น"
นายแลชี้ว่ายังมีสินค้าที่น่าจับตา อาจเกิดปัญหาเช่นเดียวกับบริษัทไทยศิลป์ฯ คือ สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทำยอดส่งออกได้ 1 ใน 10 และมีแรงงานเป็นจำนวนมาก
นายพรมมา ภูมิพันธ์ ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง กล่าวว่า แนวโน้มการเลิกจ้างของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจะรุนแรงขึ้น ขณะนี้หลายแห่งกำลังเกิดปัญหา เช่น มีการลดกำลังการผลิตและปิดเครื่องจักรบางตัว ย้ายคนงานไปไว้แผนกอื่น ปัจจัยสำคัญเกิดจากผลกระทบด้านการลงทุนและค่าเงินบาทที่แข็งตัว เพราะราคาสินค้าไทยแพงขึ้น ทำให้ต่างชาติหันไปซื้อสินค้าจากจีนและเวียดนามแทน แม้คุณภาพสู้ไม่ได้ แต่ราคาถูกกว่า
รายงานสถานการณ์การเลิกจ้างของสำนักงานประกันสังคม พบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-25 พ.ค.50 มีสถานประกอบการประกาศเลิกจ้างแล้ว 6,054 แห่ง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงาน 48,631 คน ประเภทกิจการที่เลิกจ้างมากที่สุดคือกิจการผลิต 23,157 คน รองลงมาคือก่อสร้าง 5,636 คน และมีแนวโน้มหลายกิจการจะเลิกจ้างตามมาอีก เพราะผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัว โดยอุตสาหกรรมการผลิตที่เลิกจ้างมากที่สุดคือการผลิตเครื่องแต่งกาย การตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก สิ่งทอสิ่งถักและเครื่องเรือน
นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า สถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากเงินบาทแข็งมีบางกิจการ ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณี ยาง ขอแนะนำว่าบริษัทหรือโรงงานที่ส่อเค้าจะไปไม่ไหวหรือต้องการย้ายฐานผลิต ขอให้ติดต่อหารือกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด เพื่อปรับตัวก่อนหยุดกิจการ สำหรับลูกจ้างก็ต้องช่วยกันตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบริษัท ถ้าสัญญาณไม่ดีต้องยื่นคำร้องผ่านสวัสดิการฯ จังหวัดเข้าไปไกล่เกลี่ย
นายผดุงศักดิ์กล่าวว่า กรณีของบริษัทไทยศิลป์ฯ ซึ่งรับจ้างผลิตเสื้อผ้าให้บริษัทแบรนด์เนมชื่อดังหลายแห่ง กระทรวงแรงงานจะเชิญผู้แทนบริษัทที่จ้างผลิตมาหารือเพื่อร่วมกดดันให้บริษัทลูกรับผิดชอบคนงาน เพราะบริษัทแบรนด์เนมดังๆ จะต้องรักษาภาพลักษณ์ของมาตรฐานการผลิต ผลการประเมินค่าชดเชยทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายประมาณ 180 ล้านบาท หากดูข้อเท็จจริงจะเห็นว่ากิจการของบริษัทปีที่แล้วยังได้กำไร และปีนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาก็ยังมีออเดอร์ จึงเชื่อว่ากิจการยังไปได้ แนวโน้มน่าจะเป็นการย้ายฐานผลิตมากกว่า นายจ้างจึงน่าจะมีทางหาค่าชดเชยมาจ่ายให้ลูกจ้าง
อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นกองทุนช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างกะทันหัน แต่ต้องเป็นทางออกสุดท้ายที่จะจ่ายให้ลูกจ้างที่เดือดร้อนและนายจ้างหลบหนีตามตัวไม่ได้จริงๆ โดยเฉพาะนายจ้างต่างชาติ ขณะนี้กองทุนมีเงินอยู่ประมาณ 230 ล้านบาท ตนได้แปรญัตติในสภาขอเพิ่มอีก 100 ล้านบาท เตรียมไว้ใช้แก้ปัญหาลูกจ้างถูกลอยแพจริงๆ ระยะหลังเมื่อนายจ้างรู้ว่ามีกองทุนนี้จึงมักใช้เป็นช่องทางเอาเปรียบ หลบหนี และทิ้งให้รัฐดูแลคนงานแทน กองทุนต้องไปฟ้องดำเนินคดีเรียกเงินคืนจากนายจ้าง ซึ่งโอกาสที่จะไม่ได้เงินคืนสูงมาก จากสถิติตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบันมีการจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้ลูกจ้างที่ถูกลอยแพไปแล้ว 22,000 ราย เป็นเงินทั้งหมด 131 ล้านบาท เฉลี่ยจ่ายให้แรงงานที่ถูกลอยแพปีละ 3,300 คน
สำหรับค่าเงินบาทเมื่อวันพฤหัสบดีมีความเคลื่อนไหวแคบๆ ปิดตลาดที่ระดับ 33.31-33.33 บาทต่อดอลลาร์ นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธปท. กล่าวยืนยันว่า ธปท.ยังไม่มีมาตรการเสริมอะไรใหม่ๆ ออกมาดูแลค่าเงินบาท
ขณะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนอย่างหนัก เปิดตลาดช่วงเช้าดัชนีไปแตะระดับ 852.77 จุด เพิ่มขึ้น 6.39 จุด ก่อนจะถูกเทขายจนต่ำสุดที่ 837.84 จุด ปิดตลาดช่วงเช้า 836.60 จุด ส่วนช่วงบ่ายปิดที่ 843.87 จุด ลดลง 2.41 จุด มูลค่าการซื้อขาย 31,672.36 ล้านบาท
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ดัชนีแกว่งตัวเนื่องจากนักลงทุนกังวลผลกระทบของค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่อง และกังวลกรณีที่มีการเสนอให้กรมสรรพากรเก็บภาษีจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับดัชนีปรับฐาน หลังจากที่ปรับขึ้นไปอย่างร้อนแรง จึงมีแรงเทขายทำกำไร
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (คลัง) กล่าวภายหลังหารือกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเม็ดเงินไหลเข้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในตลาดหุ้นส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นจากการหารือกันได้ข้อสรุปว่า จะไม่เพิ่มเครื่องมือเพื่อนำมาใช้ดูแลค่าเงินบาทแต่อย่างใด เนื่องจากเครื่องมือที่มีอยู่เดิมน่าจะเพียงพอรับมือแล้ว แต่จะมีเฉพาะมาตรการบางอย่างมาช่วยเสริมเท่านั้น ทั้งนี้ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยจะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากในช่วงจากนี้ไป
นายฉลองภพย้ำว่า มาตรการที่มีอยู่น่าจะพอรับมือ จะมีที่จะเสริมเข้ามาก็คือ การประสานงานระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท. อาจจะมีมาตรการบางอย่างออกมาช่วยเสริมได้ เช่น การที่รัฐกู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศ จะดูว่าโครงการไหนสามารถเปลี่ยนมากู้เป็นเงินบาทในประเทศได้ก็จะเปลี่ยน หรือถ้าโครงการไหนจำเป็นต้องซื้อเงินตราต่างประเทศ ก็ให้ซื้อเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในไทยแทน เบื้องต้นมีตัวเลขเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่สามารถดำเนินการได้ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์
นางธาริษากล่าวยืนยันว่า เครื่องมือที่ ธปท.มีอยู่ในขณะนี้เพียงพอต่อการดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในเร็วๆ นี้จะประสานงาน รมว.คลัง เพื่อให้อนุมัติผ่อนปรนการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ สามารถดำเนินการได้อย่างไม่มีข้อจำกัด รวมทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศผ่านกองทุนรวมต่างๆ ก็จะขยายวงเงินการลงทุนเพิ่มขึ้น
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 50 เป็นต้นมา มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยแล้วกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียวมีเงินทุนไหลเข้ามากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธปท.มีแนวทางการดูแล พยายามไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป ซึ่งช่วงไหนมีการทะลักเข้ามามาก ก็คงเกิดความผันผวนมากบ้าง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุดเริ่มดีขึ้นแล้ว ส่วนที่มีการปิดโรงงานนั้น เห็นว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว และไม่ได้เป็นการสูญเสียตลาดในต่างประเทศด้วย แต่เป็นการเสียตลาดให้แก่คู่แข่งในประเทศมากกว่า
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทจนมีโรงงานปิดตัวเองว่า ผลกระทบก็คงต้องมีบ้างในบางส่วน แต่ในภาพรวมคงไม่มีปัญหา คงเป็นเรื่องเฉพาะส่วนเฉพาะโรงงาน รัฐบาลก็มีความกังวลกับค่าเงินบาทอยู่ แต่ไม่ได้กังวลจนเกินเหตุ เพราะมีผู้ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว รัฐบาลได้พูดมาตั้งแต่ทำหน้าที่ว่า ให้มีการปรับตัว บางส่วนก็ปรับได้ ส่วนปรับไม่ได้ก็เหมือนกับโรงงานที่ต้องปิดไป ซึ่งก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็น
วันเดียวกันนี้ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.2550 ว่าอยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจาก 76.9 เมื่อเดือน พ.ค. ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 71.0 ลดลงจาก 71.4 ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 64 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2545 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 71.9 ลดลงจาก 72.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 87.4 เพิ่มขึ้นจาก 87.1 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันยังคงปรับลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และดัชนีเกือบทุกรายการอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (100) ต่ำสุดในรอบ 49-64 เดือน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ระดับ 74.0 ลดลงจาก 74.9 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ระดับ 75.1 เพิ่มขึ้นจาก 74.8 เมื่อเดือน พ.ค.2550
สำหรับปัจจัยลบได้แก่ ผู้บริโภคยังเห็นว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวในระดับสูง ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท ที่จะส่งผลลบต่อการส่งออก มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และเห็นว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เกิดผลเต็มที่
นายธนวรรธน์กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเพราะสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลงจะมีการเลือกตั้ง แต่จากที่โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปหลังจากมีการปิดโรงงานส่งออก ทำให้หลังจากนี้ความเชื่อมั่นมีโอกาสปรับตัวลดลงอีก จากการผูกเรื่องปลดคนงานเข้ากับเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อการบริโภคในประเทศต่ำลง การส่งออกลด เศรษฐกิจไทยจึงต้องพึ่งเม็ดเงินจากภาครัฐเพียงทางเดียว อาจทำให้ฟื้นตัวได้ช้าลงจากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 อาจเป็นไปได้ยากขึ้น จากเดิมที่ศูนย์จะปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขึ้นนั้น เป็นไปได้ที่จะยังไม่ปรับตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง จึงต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ ทำให้ยังคงจีดีพีทั้งปีไว้ที่ 3.5-4.0%
นายธนวรรธน์กล่าวว่า หากในช่วงครึ่งปีหลัง ค่าเงินบาทเฉลี่ยไม่อยู่ที่ระดับ 33.5-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คงไม่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยแน่ โดยภาครัฐควรจะต้องแก้ปัญหาระยะสั้นโดย 1.แทรกแซงค่าเงิน 2.สกัดกั้นเงินไหลเข้าเฉพาะส่วน อนุญาตให้ผู้ส่งออกซื้อค่าเงินได้ล่วงหน้า และ 3.ลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% เพื่อลดการเก็งกำไรค่าเงินบาท สกัดกั้นเงินไหลเข้าอย่างรวดเร็ว และช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจควรใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งนำเข้าสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้กองทุนรวมสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น
ด้านภาคเอกชน นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ค่าเงินบาทแข็งคือ เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทั่วโลก อีกทั้งช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยมีแรงซื้อเข้ามามากเป็นพิเศษ ประกอบกับผู้ส่งออกตื่นตระหนก จึงขายเงินดอลลาร์ออกมาผสมด้วย ทำให้สถานการณ์เลวร้ายเพิ่มขึ้นไปอีก
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มพบว่าผลประกอบการรายเล็กหรือรายย่อยมีทิศทางลดลงและบางแห่งเริ่มขาดทุนแล้ว แต่โดยมากเป็นผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ภาคธนาคารมีความกังวลว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยจะเพิ่มขึ้น แต่บริษัทขนาดใหญ่ยังไม่พบปัญหา และยังเชื่อมั่นว่า NPL จะอยู่ในระดับไม่รุนแรง น่าจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเชื่อมั่นต่างๆ และภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินแข็งไม่ใช่สาเหตุหลักให้แย่จนต้องปิดกิจการ ก่อนหน้านี้มีสัญญาณบ้างแล้วว่าผลดำเนินงานไม่ดีเท่าที่ควร เป็นเรื่องของภาวะการแข่งขันในธุรกิจ แต่ค่าเงินบาทแข็งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรช่วยดูแลค่าเงินบาท อย่างน้อยก็ไม่ควรปล่อยให้แข็งค่ากว่าประเทศส่งออกคู่แข่ง ขณะนี้มีสัญญาณว่าโรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอเตรียมที่จะปิดเพิ่มอีกกว่า 100 ราย ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่เหลืออยู่ รัฐจะต้องเร่งดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท เร่งออกกฎหมายหรือกฎระเบียบทางการค้าให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านการลงทุน ติดตามการใช้จ่ายและเบิกจ่ายเงินของภาครัฐอย่างใกล้ชิด อุตสาหกรรมส่งออกขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งหากรัฐยังไม่ช่วยทำอะไรให้ชัดเจนขึ้น มัวแต่หลงกับตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา เกรงว่าผลกระทบจะขยายวงกว้าง ส่งผลต่อการจ้างงานและกระทบถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งภาครัฐอย่าบอกเพียงว่าผู้ส่งออกต้องรู้จักปรับตัว เพราะที่ผ่านมาได้ปรับตัวกันมากแล้ว ทั้งหาตลาดใหม่ ลดต้นทุนกันตลอดเวลา เพื่อเอาตัวรอด แต่ภาครัฐควรจะเข้ามาดูแลบ้าง
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันเพื่อการวิจัยพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยผลการศึกษาเรื่อง "ผลกระทบจากนโยบายการแทรกแซงราคาน้ำมัน" ว่าเนื่องจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายแทรกแซงตลาดน้ำมัน โดยเฉพาะการใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมากกว่าน้ำมันเบนซินในช่วงปี 2547-2548 ได้นำไปสู่การบิดเบือนการตัดสินใจของผู้บริโภคในการหันมาเลือกบริโภคน้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซิน การบริโภคน้ำมันเบนซินในช่วงปี 2547-2549 จึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 343.2 ล้านลิตรหรือร้อยละ 1.5 ขณะที่บริโภคน้ำมันดีเซลมากกว่าที่ควรจะเป็นถึง 5,838.6 ล้านลิตร หรือร้อยละ 11.3 นอกจากขัดขวางการปรับตัวของผู้ใช้แล้ว ยังทำให้เกิดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปริมาณมลพิษจากการใช้น้ำมันดีเซลมีปริมาณเพิ่มขึ้น เช่น ทำให้เกิด NOx มากกว่าที่ควรจะเป็น 3.3 แสนตัน CO มากกว่าที่ควรจะเป็น 1.6 แสนตัน และ SO2 มากกว่าที่ควรจะเป็น 8.9 พันตัน
ดร.สมเกียรติระบุว่า รัฐไม่ควรแทรกแซงราคาน้ำมันเพื่อป้องกันเงินเฟ้อทุกครั้ง เนื่องจากสามารถจะชะลอได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และจะมีประสิทธิผลเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มเพียงเวลาสั้นๆ แต่หากสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนรัฐบาลไม่สามารถตรึงราคาไว้ได้ต่อไปและต้องปล่อยให้ลอยตัวในที่สุดจะส่งผลให้ดัชนีผู้บริโภคสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น.
Source - เว็บไซต์ไทยโพสต์ (Th)
Friday, July 13, 2007 03:00
คลัง-แบงก์ชาติส่ายหัวแก้ค่าบาท
000 จับตาอุตฯรายเล็กปิดตัวเพิ่ม/ดัชนีเชื่อมั่นยังแย่
กระทรวงการคลังและธปท.ประเมินสถานการณ์บาทแข็ง ยังไม่มีมาตรการเพิ่ม ภาครัฐเตือนเอกชน โดยเฉพาะอุตฯสิ่งทอต้องเร่งปรับตัว ลดต้นทุน ขยายตลาดเอาตัวรอดแทนที่จะรออย่างเดียว กำชับแบงก์ดูลูกค้าผสมโรงเทขายดอลล์ทำกำไร ขณะที่สมาพันธ์อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยช่วยรับพนักงานไทยศิลป์ฯ
เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงเรื่องค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การหารือร่วมกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ แต่คงไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะเงินทุนก้อนใหญ่ไหลทะลักมาจากสหรัฐค่อนข้างมาก แต่คงไม่สามารถใช้นโยบายทางการคลังช่วยดูแลค่าเงินบาท เพราะคงช่วยได้ไม่มากนักและไม่ขอพูดถึงการนำมาตรการทางภาษีช่วยแก้ปัญหา ส่วนนางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธปท. กล่าวว่า เป็นการพูดคุยและหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ค่าเงินบาทเท่านั้น
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ได้เคยแนะนำผู้ส่งออกไม่ให้เข้ามาเก็งกำไรเงินบาท เพราะมีโอกาสเสียมากกว่าที่จะได้ และย้ำว่า หากไม่มีการส่งสินค้าไปต่างประเทศจริง ก็ไม่ควรซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า พร้อมแนะนำให้ผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า ด้วยการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) ทันทีที่มีการรับคำสั่งซื้อสินค้า เพื่อจะได้รู้ต้นทุนและกำไรที่แน่นอน นอกจากนี้ภาคธนาคารยังคงเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้ประชาชนสามารถฝากเงินเป็นสกุลดอลลาร์ได้ เพื่อทำให้มีเงินดอลลาร์อยู่ในระบบอย่างเพียงพอ นอกเหนือจากการไปลงทุนในต่างประเทศ
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของเดือนมิ.ย.2550 เท่ากับ 71 ลดลงจากเดือนพ.ค.2550 ซึ่งอยู่ที่71.4 เนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังอยู่ในระดับทรงตัวสูง ความกังวลเกี่ยวกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและระบบเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวสูง
ด้านนางอรนุช โอสถานนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต้องมีการปรับตัว อย่าหวังแต่เพียงรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพราะการผลิตเสื้อผ้าจำนวนมากที่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศไม่สามารถแข่งขันต้นทุนกับจีนและอินเดียได้ เพราะไทยมีต้นทุนสูงกว่า จึงต้องปรับตัวในกิจการของตัวเอง และควรปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเสื้อผ้าเป็นแบรนด์เนมชั้นสูง เพื่อออกไปทำตลาดในต่างประเทศ เนื่องจากตลาดยุโรปและสหรัฐรวมทั้งญี่ปุ่นยังมีความต้องการสินค้าเสื้อผ้าที่เป็นแบรนด์เนมอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการเข้าใจเป็นอย่างดีและหลายธุรกิจมีการปรับตัว แต่บางธุรกิจยอมรับว่า อาจไม่สามารถปรับตัวได้
ส่วนกรณี บริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ปิดกิจการกะทันหัน โดยระบุไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนจากความผันผวนของค่าเงินบาทได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างเดียวนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ปิดโรงงาน ว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คงไม่ใช่การแข็งค่าของเงินบาทอย่างเดียว แต่บริษัทฯ อาจมีปัญหาการบริหารการเงินมาแล้ว แต่ยอมรับว่าการที่เงินบาทแข็งค่ากระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีสัญญาณการขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว ดังนั้นโรงงานขนาดเล็กคงจะมีการลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่นอน ซึ่งในวันที่ 16 ก.ค.นี้ ทางสภาหอฯ จะพบกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกัน เพื่อแก้ปัญหาเงินบาท
ด้านนายสุกิจ คงปิยาจารย์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยเปิดเผยว่า ทางสมาพันธ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้แจ้งไปยังสมาชิกของสมาคมสิ่งทอฯ เพื่อสอบถามว่าบริษัทใดมีความประสงค์ต้องการพนักงานเพิ่มเติม และวานนี้(12 ก.ค.)ได้มีการตั้งโต๊ะเปิดรับสมัครพนักงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งก็มีพนักงานสมัครเป็นพนักงานบริษัทต่างๆ ของสมาพันธ์จำนวนมาก แต่ก็เปิดอิสระให้กับพนักงานในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ทั้งนี้แนวทางการช่วยเหลือดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวว่าสมาพันธ์ฯ มีการลงขันที่จะนำเงินเข้าไปเทคโอเวอร์กับบริษัทไทยศิลป์ฯ
Source - เว็บไซต์สยามรัฐ (Th)
Friday, July 13, 2007 03:09
ความเชื่อมั่นผู้บริโภควูบอีก ข่าวปิดโรงงานซ้ำเติมภาวะวิตกอนาคตจ้างงาน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ร่วงลงอีก หลังเจอหลายปัจจัยลบ หอการค้าชี้ ข่าวปิดโรงงานทำให้คน กังวลเรื่องการตกงานมากขึ้น สภาหอการค้า วิกตกธุรกิจส่งออกพินาศ คนตกงาน 8 แสนคน
นายวชิระ คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 74.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 74.9 โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบด้วย การที่ผู้บริโภคยอมรับราคาน้ำมัยังทรงตัว ระดับสูง แนวโน้มการแข็งตัวของค่าเงินบาท ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงแนวทางนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 75.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 74.8 ผลกระทบที่เป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบด้วย การคลี่คลายปัญหาการเมือง การเปิดเผยตัวเลขขยายตัวทางเศรษฐกิจของ สศช.ไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 4.3 การขยายตัวของการส่งออกที่ยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 20.9 มากกว่าการขยายตัวของการนำเข้าที่ร้อยละ 6.7 และไทยมีการเกินดุลการค้ามากกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ การปรับลดลงของราคาน้ำมัน 40 สตางค์ และค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพที่ 34.54 บาทต่ดอลลาร์สหรัฐ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวยอมรับว่า ข่าวการปิดโรงงานสิ่งทอเมื่อวานที่ผ่านมา จากผลกระทบค่าเงินบาท ทำให้มีคนตกงานถึง 6 พันคน ถือเป็นข่าวใหม่ ที่จะกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป และหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะกระทบกับการขยายตัวของการบริโภคในประเทศไปตลอดครึ่งปีหลังของปี 2550 โดยข่าวดังกล่าว จะเป็นตัวเร่งทำให้ประชาชนกังวล ถึงภาวะการจ้างงาน รายได้ ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต และมีสัญญาณชัดเจนที่ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้านและรถยนต์มากถึงร้อยละ 40 และมีอีกมากที่ตัดสินใจชะลอการซื้อออกไปก่อน
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าปัญหาการปิดกิจการของโรงงานสิ่งทอแสดงให้เห็นว่า ปัญหาค่าเงินบาทได้กระทบต่อภาคธุรกิจการส่งออก ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและกลายเป็นปัญหาด้านสังคม ทำให้เกิดการว่างงานขึ้น โดยในอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้น ปัจจุบันมีแรงงานอยู่ประมาณ 800,000 คน หากมีการว่างงานเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 300,000 คน เมื่อรวมภาระที่แต่ละคนต้องดูแลครอบครัว ก็จะเท่ากับคูณ 4 หรือมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ล้านคน ไม่นับรวมผลกระทบที่จะมีสู่ธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจผลิตเส้นใย และเส้นด้าย
นายสวราช สัจจมาร์ค รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกลดลง เมื่อแปลงรายได้เงินดอลลาร์เป็นค่าเงินบาท ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญต้องประสบปัญหาขาดทุน แม้จะมีออร์เดอร์มาก แต่ต้องยอมขายขาดทุน เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เพราะหากเลิกทำการผลิตลูกค้าก็จะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ผู้ส่งออกคงอยู่รอดได้ยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าในภาคการผลิตที่แท้จริง (Real Sector )
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)
Friday, July 13, 2007 03:59
ข่าวโรงงานปิดทำสะดุ้ง -ความเชื่อมั่นผู้บริโภคครึ่งปีหลังทดถอยอีก
หอการค้าไทยฟันธง ข่าวปิดโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลายเป็นปัจจัยลบใหม่ที่คาดว่าจะกระทบดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคหนักตั้งเดือนก.ค.เป็นต้นไป ด้านผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยอมรับหลายอุตสาหกรรมปรับตัวรับวิกฤติไม่ได้ จนต้องปิดกิจการ เชื่อแม้จะมีโรงงานสิ่งทอปิดตัวไป แต่คาดว่าทั้งปีอุตสาหกรรมสิ่งทอจะเติบโต 3-4%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยอมรับว่า ข่าวการปิดโรงงานสิ่งทอของบริษัท ไทยศิลป์ อาคาเนย์ อิมปอร์ตเอ็กปอร์ต จำกัด จากผลกระทบค่าเงินบาท ทำให้มีคนตกงานถึง 6 พันคน ถือเป็นข่าวใหม่ที่จะกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป และหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะกระทบกับการขยายตัวของการบริโภคในประเทศไปตลอดครึ่งปีหลังของปี 2550
โดยข่าวดังกล่าว จะเป็นตัวเร่งทำให้ประชาชนกังวล ถึงภาวะการจ้างงาน รายได้ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต และมีสัญญาณชัดเจนที่ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้านและรถยนต์มากถึง 40% และมีอีกมากที่ตัดสินใจชะลอการซื้อออกไปก่อน
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่กระทบกับการส่งออกจะส่งผลทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่หรือไม่ ในส่วนนี้ แม้จะยังไม่เห็นเค้าลางว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น แต่ต้องติดตามแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป โดยในส่วนนี้เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถใช้มาตรการระยะสั้น ด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.25% เพื่อลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการรวมถึงผู้ส่งออก รวมถึงการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินไป สำหรับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย ไม่ทรุดตัวลงไปหนัก เนื่องจากยังมีข่าวดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ คือปัญหาทางด้านการเมืองที่เริ่มคลี่คลายลง
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โรงงานดังกล่าวมีปัญหามาแล้วก่อนหน้านี้ไม่สามารถปรับตัวในหลายๆ ด้านตามที่ผู้ซื้อต้องการจึงถูกถอนคำสั่งจ้างให้ตัดเย็บเสื้อจนต้องปิดโรงงานในที่สุด ประกอบกับธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงขณะที่มีกำไรต่ำรวมถึงมีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเดือดร้อน แต่ไม่ได้เป็นสัญญาณที่แสดงถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะบางรายมีคำสั่งจากลูกค้าจนผลิตไม่ทันก็มี จึงเป็นเรื่องการบริหารจัดการของเจ้าของธุรกิจ และนับจากนี้ไปการรับจ้างผลิตถ้าไม่แข็งแรงและใหญ่พอที่จะทำการรับจ้างงานระดับโลกจะอยู่ได้ยาก
นายวิรัตน์ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มว่า ยังไม่อาจมองได้ชัดเจน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 4,500 รายซึ่งทางสถาบันฯ ได้รับมอบหมายจากนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม ให้เตรียมแก้ไขปัญหาต่างๆ แล้ว
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เมื่อมีเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จึงไม่มีการจำกัดโควตาสินค้าของแต่ละประเทศ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งทางสถาบันฯ ได้ส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการปรับตัวมาแล้วในระยะเวลาพอสมควร จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ยังคงประกอบธุรกิจต่อไป และมีผลกระทบทางบวกให้กับประเทศอีกด้วย ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการผลิตเส้นใย ด้ายและผ้าผืนยังเติบโต 10% และเติบโตดีที่สุด คือเคหะสิ่งทอ มีแต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มียอดการผลิตลดลง แต่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การแข่งขันมีหลายมิติทั้งเทคโนโลยี คุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมองจีน อินเดีย และเวียดนามเป็นคู่ค้าที่ดี โดยไทยได้ส่งผ้าหรือด้ายไปขายจีนรวม 800 ล้านบาท ในปี 2549 นับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมีตลาดอาเซียนรองรับ ด้านเครื่องนุ่งห่ม ไทยไม่สามารถแข่งขันเรื่องค่าแรงถูกอย่างเวียดนาม เพราะมีค่าจ้างเฉลี่ย 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งไทยคงไม่แข่งขันในเรื่องต้นทุนต่ำในการผลิตสินค้า แต่จะแข่งขันการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสิ้นปี 2550 คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอยังเดินหน้าต่อไปได้ มีอัตราการเติบโต 3-4% จากปีที่แล้วที่มียอดส่งออก 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นายโฆสิต ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือ 2 ประเด็น คือ มีความเป็นห่วงคนงานที่ตกงานกรณีบริษัทไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการฯ ว่าจะทำอย่างไร และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฟอกย้อม ผ้าผืน เสื้อผ้ายังมีปัญหาอีกหรือไม่ที่อยู่ในภาวะค่อนข้างลำบาก ซึ่งกรณีบริษัท ไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการ ไม่ใช่สัญญาณของภาพรวมอุตสาหกรรมไทยแต่อย่างใด เพราะบริษัท ไทยศิลป์ที่ปิดกิจการลง เนื่องจากมีปัญหามานานแล้ว ในเรื่องการปรับตัว
สำหรับผลกระทบโรงงานสิ่งทออื่นๆ นายปิยะบุตร กล่าวว่า ได้พูดคุยกับนายเดชพัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ทราบว่า ส่วนใหญ่อุตสาหกรรมสิ่งทอสามารถรองรับความผันผวนได้ มีเพียงบางส่วนที่มีปัญหาไม่สามารถรับความผันผวนได้ซึ่งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยเตรียมมาตรการแก้ไขไว้แล้ว อาทิ แรงงานจากโรงงานที่ไม่มีงานทำ จะนำไปฝึกทักษะ อาชีพใหม่ เพราะทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงาน ซึ่งขอให้แต่ละสถาบันไปตั้งงบประมาณที่จะฝึกอบรมทักษะฝีมือให้กับแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพและความรู้ในการทำงานมากขึ้นและเนื่องจากปัจจุบัน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์ จึงมีความจำเป็นต้องฝึกอบรมด้านไอทีให้แรงงานมากขึ้น
นายปิยะบุตร กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมทุกประเภทจำเป็นต้องปรับตัว เพราะปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการตลาด เทคโนโลยี ความผันผวนของราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทอัตราดอกเบี้ยรวมถึงการเงิน ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันจึงอยู่ในโลกของความผันผวนและเปลี่ยนแปลง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีมาตรการที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาศักยภาพบุคลากรจากพนักงานธรรมดาไปเป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้านการตลาดมีการจับคู่ธุรกิจในประเทศด้วยกันและออกไปจับคู่กับธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ โดยอาศัยความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมอีกมาก เช่น การปรึกษา การบ่มเพาะธุรกิจ
Source - ข่าวหุ้น (Th)
Friday, July 13, 2007 04:09
รัฐบาลอ้าง "เตือนแล้ว" กลุ่มสิ่งทอรับความจริง
เอกชนวอนรัฐรับความจริงเงินบาทแข็งทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องปิดกิจการ ด้านกระทรวงพาณิชย์ร้อนตัวยืนยันประกาศเตือนผู้ประกอบการให้ปรับตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนนักวิชาการคาดปิดโรงงานสิ่งทอกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคครึ่งปีหลัง
* กระทรวงพาณิชย์อ้างประกาศเตือนนานแล้ว
นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณี บริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ปิดกิจการกะทันหัน ส่งผลให้มีผู้ถูกเลิกจ้างสูงถึง 6 พันคน โดยระบุไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนจากความผันผวนของค่าเงินบาทได้ ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลพยายามให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปรับตัว อย่าหวังแต่เพียงรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพราะการผลิตเสื้อผ้าจำนวนมากที่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศไม่สามารถแข่งขันต้นทุนกับจีนและอินเดียได้ เพราะไทยมีต้นทุนสูงกว่า
โดยข้อเท็จจริงหากสอบถามอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะต้องปรับตัวรองรับการเปิดเสรีและต้องเตรียมตัวมาแล้วอย่างน้อย 10 ปี และเห็นว่า คงไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างเดียวเอกชนต้องปรับตัวในกิจการของตัวเอง และควรปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเสื้อผ้าเป็นแบรนด์เนมชั้นสูง เพื่อออกไปทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้ประกอบการเข้าใจเป็นอย่างดี นางอรนุช กล่าว
* สถาบันสิ่งทอชี้อุตฯสิ่งทอปีนี้ยังมีโอกาสเติบโต
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการผลิตเส้นใย ด้ายและผ้าผืนยังเติบโต 10% และเติบโตดีที่สุด คืออุตสาหกรรมเคหะสิ่งทอ มีแต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มียอดการผลิตลดลง แต่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การแข่งขันมีหลายมิติ ทั้งเทคโนโลยี คุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ด้านอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันเรื่องค่าแรงถูกอย่างเวียดนาม เพราะมีค่าจ้างเฉลี่ย 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งไทยคงไม่แข่งขันในเรื่องต้นทุนต่ำในการผลิตสินค้า แต่จะแข่งขันการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสิ้นปี 2550 คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอยังเดินหน้าต่อไปได้ มีอัตราการเติบโต 3 4% จากปีที่แล้วที่มียอดส่งออก 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 4,500 ราย ซึ่งทางสถาบันฯ ได้รับมอบหมายจากนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯและรมว.อุตสาหกรรม ให้เตรียมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แล้ว
* เอกชนวอนรัฐมอบภาพความจริง
นายสุกิจ คงปิยาจารย์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ไม่มีสายป่านยาว ต้องปิดตัวเองลง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจของไทยหรือประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศที่ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกัน หลังจากที่ผู้ประกอบการออกมาส่งสัญญาณว่า ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท แต่ภาครัฐกลับออกมาบอกว่า เงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้ส่งผลกระทบ ซึ่งเห็นว่า ไม่สอดคล้องความจริง ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และหากยังเป็นเช่นนี้ ก็ยากที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยอยู่รอดได้จากปัญหาเงินบาท
นายสุกิจกล่าวด้วยว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่พอจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ได้ คือ ประมาณ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่อัตราดังกล่าวก็ไม่สามารถการันตีว่า ทุกบริษัทจะอยู่รอดได้หรือไม่
* หอการค้าไทย ระบุข่าวปิด รง.เป็นข่าวลบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวยอมรับว่า ข่าวการปิดโรงงานสิ่งทอเมื่อวานที่ผ่านมา จากผลกระทบค่าเงินบาท ทำให้มีคนตกงานถึง 6 พันคน ถือเป็นข่าวใหม่ ที่จะกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป และหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะกระทบกับการขยายตัวของการบริโภคในประเทศไปตลอดครึ่งปีหลังของปี 2550 โดยข่าวดังกล่าว จะเป็นตัวเร่งทำให้ประชาชนกังวล ถึงภาวะการจ้างงาน รายได้ ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต และมีสัญญาณชัดเจนที่ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้านและรถยนต์มากถึง 40% และมีอีกมากที่ตัดสินใจชะลอการซื้อออกไปก่อน
Source - กระแสหุ้น (Th)
Friday, July 13, 2007 04:18
รัฐอุ้ม40ล.ฉันทนาเฮ!เปิดกิจการต่อ
สมุทรปราการ - นายจ้างหลั่งน้ำตายอมจ่ายค่าชดเชยปิดโรงงาน แต่ยังไม่รู้จะได้ครบ 180 ล้านไหม กระทรวงแรงงานข้องใจกำไรมาตลอด จี้ไนกี้-อาดิดาสรับผิดชอบร่วม เตือนฉันทนาสิ่งทอเตรียมถูกลอยแพอีกเป็นร้อยแห่ง อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนัง ยาง อัญมณี ระวังเป็นลูกโซ่ คลัง-แบงก์ชาติยังมั่นใจหยุดค่าเงินบาทได้ เปิดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 4-5 ปี
เจ้าของบริษัทไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ผู้ตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกให้บริษัทชื่อดัง เช่น ไนกี้ อาดิดาส ซึ่งปิดโรงงานลอยแพลูกจ้าง 5,000 กว่าคนได้ตกลงยอมจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างแล้ว ภายหลังการเจรจากับกระทรวงแรงงานและลูกจ้าง
นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้เป็นประธานการเจรจาระหว่างฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ที่ศาลากลางจังหวัด ตั้งแต่เวลา 10.00 น. วันที่ 12 ก.ค. เป็นเวลาชั่วโมงเศษ โดยฝ่ายลูกจ้างมีตัวแทน 20 คน ฝ่ายนายจ้างมีเจ้าของคือนายพิพรรษ และนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส
นายพิพรรษกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและมีน้ำตาไหลพรากว่า ขอแสดงความเสียใจและขอโทษพนักงานทุกคน แต่ขอความเห็นใจ สาเหตุที่ต้องปิดกิจการกะทันหันโดยไม่บอกล่วงหน้า เพราะจำเป็นจริงๆ ค่าเงินบาทที่แข็งตัวต่อเนื่อง ทำให้โรงงานซึ่งรับยอดสั่งซื้อล่วงหน้า 3-4 เดือน ขาดทุนทุกยอดสั่งซื้อ ตนพยายามประคับประคองหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ไปไม่ได้ ส่วนค่าชดเชยต่างๆ ไม่ว่ามีเงินเท่าไรก็จะจ่ายให้ลูกจ้างทุกคน
นายอนุวัฒน์กล่าวว่า ได้หารือเบื้องต้นกับฝ่ายนายจ้างแล้ว ยินยอมรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานตามกฎหมาย โดยแจ้งว่าแม้แต่ที่ดินหากสามารถจำหน่ายได้ก็ยินดีจำหน่ายเพื่อนำเงินมาชดเชย ขอให้ความมั่นใจกับลูกจ้างว่าทางราชการมีมาตรการทางกฎหมายสามารถจ่ายค่าชดเชยให้ได้แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเจรจามีตัวแทนพนักงานกว่า 100 คน จับกลุ่มรอฟังผลที่หน้าห้อง และมีตัวแทนรถรับจ้างที่บริษัทจ้างรับส่งพนักงานมารอทวงหนี้ค้างประมาณ 1 ล้านบาท มีคู่ค้า 2 ราย เป็นผู้ขายส่งผ้าและไหมปักให้กับโรงงาน ซึ่งค้างหนี้สินกว่า 60 ล้านบาท มารอพบเจ้าของด้วย
บรรยากาศที่หน้าบริษัทไทยศิลป์ฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า พนักงานหลายพันคนยังชุมนุมกันอยู่ มีแกนนำขึ้นปราศรัย มีพนักงานจากบริษัทเดียวกันที่สาขาบางปลา และสาขาสำโรง จำนวน 600 คน เดินทางมาสมทบด้วย
นายศักดา เทพเจริญนิรันดร์ หัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ได้ให้ลูกจ้างทั้ง 5,000 กว่าคนเขียนคำร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานไว้แล้ว ถ้านายจ้างไม่จ่ายมีโทษอาญาจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า 1 งวด และค่าชดเชยตามอายุงาน รวมทั้งหมดนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
นายศักดากล่าวอีกว่า พื้นที่สมุทรปราการมีโรงงานมากกว่า 9,900 โรงงาน มีคนงานมากกว่า 1 ล้านคน ที่ผ่านมามีปัญหาถูกเลิกจ้างเข้ามาร้องเรียนเป็นระยะๆ เฉลี่ยมากกว่าวันละ 100 คน
นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งหาทางช่วยเหลือลูกจ้าง เพราะเกรงว่าเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ของบริษัทจะไม่พอจ่ายให้กับพนักงาน เพราะเงินส่วนใหญ่ต้องนำไปชำระหนี้ ตัวแทนลูกจ้างหรือฝ่ายรัฐบาลควรประสานกับตัวแทนบริษัทผู้ว่าจ้างผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดัง ให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อชื่อเสียงของสินค้าได้ อีกทั้งเป็นการรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ตามหลักการจ้างงาน
"ตามปกติการจ้างงานบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกส่วนมากคำนึงถึงเรื่องการผลิตสินค้าที่ไม่เอาเปรียบลูกจ้างและพนักงาน หากเรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลก จะไม่เป็นผลดีกับสินค้ายี่ห้อเหล่านี้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะต้องเรียกร้องให้บริษัทผู้ว่าจ้างแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น"
นายแลชี้ว่ายังมีสินค้าที่น่าจับตา อาจเกิดปัญหาเช่นเดียวกับบริษัทไทยศิลป์ฯ คือ สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทำยอดส่งออกได้ 1 ใน 10 และมีแรงงานเป็นจำนวนมาก
นายพรมมา ภูมิพันธ์ ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง กล่าวว่า แนวโน้มการเลิกจ้างของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจะรุนแรงขึ้น ขณะนี้หลายแห่งกำลังเกิดปัญหา เช่น มีการลดกำลังการผลิตและปิดเครื่องจักรบางตัว ย้ายคนงานไปไว้แผนกอื่น ปัจจัยสำคัญเกิดจากผลกระทบด้านการลงทุนและค่าเงินบาทที่แข็งตัว เพราะราคาสินค้าไทยแพงขึ้น ทำให้ต่างชาติหันไปซื้อสินค้าจากจีนและเวียดนามแทน แม้คุณภาพสู้ไม่ได้ แต่ราคาถูกกว่า
รายงานสถานการณ์การเลิกจ้างของสำนักงานประกันสังคม พบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-25 พ.ค.50 มีสถานประกอบการประกาศเลิกจ้างแล้ว 6,054 แห่ง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงาน 48,631 คน ประเภทกิจการที่เลิกจ้างมากที่สุดคือกิจการผลิต 23,157 คน รองลงมาคือก่อสร้าง 5,636 คน และมีแนวโน้มหลายกิจการจะเลิกจ้างตามมาอีก เพราะผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัว โดยอุตสาหกรรมการผลิตที่เลิกจ้างมากที่สุดคือการผลิตเครื่องแต่งกาย การตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก สิ่งทอสิ่งถักและเครื่องเรือน
นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า สถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากเงินบาทแข็งมีบางกิจการ ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณี ยาง ขอแนะนำว่าบริษัทหรือโรงงานที่ส่อเค้าจะไปไม่ไหวหรือต้องการย้ายฐานผลิต ขอให้ติดต่อหารือกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด เพื่อปรับตัวก่อนหยุดกิจการ สำหรับลูกจ้างก็ต้องช่วยกันตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบริษัท ถ้าสัญญาณไม่ดีต้องยื่นคำร้องผ่านสวัสดิการฯ จังหวัดเข้าไปไกล่เกลี่ย
นายผดุงศักดิ์กล่าวว่า กรณีของบริษัทไทยศิลป์ฯ ซึ่งรับจ้างผลิตเสื้อผ้าให้บริษัทแบรนด์เนมชื่อดังหลายแห่ง กระทรวงแรงงานจะเชิญผู้แทนบริษัทที่จ้างผลิตมาหารือเพื่อร่วมกดดันให้บริษัทลูกรับผิดชอบคนงาน เพราะบริษัทแบรนด์เนมดังๆ จะต้องรักษาภาพลักษณ์ของมาตรฐานการผลิต ผลการประเมินค่าชดเชยทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายประมาณ 180 ล้านบาท หากดูข้อเท็จจริงจะเห็นว่ากิจการของบริษัทปีที่แล้วยังได้กำไร และปีนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาก็ยังมีออเดอร์ จึงเชื่อว่ากิจการยังไปได้ แนวโน้มน่าจะเป็นการย้ายฐานผลิตมากกว่า นายจ้างจึงน่าจะมีทางหาค่าชดเชยมาจ่ายให้ลูกจ้าง
อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นกองทุนช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างกะทันหัน แต่ต้องเป็นทางออกสุดท้ายที่จะจ่ายให้ลูกจ้างที่เดือดร้อนและนายจ้างหลบหนีตามตัวไม่ได้จริงๆ โดยเฉพาะนายจ้างต่างชาติ ขณะนี้กองทุนมีเงินอยู่ประมาณ 230 ล้านบาท ตนได้แปรญัตติในสภาขอเพิ่มอีก 100 ล้านบาท เตรียมไว้ใช้แก้ปัญหาลูกจ้างถูกลอยแพจริงๆ ระยะหลังเมื่อนายจ้างรู้ว่ามีกองทุนนี้จึงมักใช้เป็นช่องทางเอาเปรียบ หลบหนี และทิ้งให้รัฐดูแลคนงานแทน กองทุนต้องไปฟ้องดำเนินคดีเรียกเงินคืนจากนายจ้าง ซึ่งโอกาสที่จะไม่ได้เงินคืนสูงมาก จากสถิติตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบันมีการจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้ลูกจ้างที่ถูกลอยแพไปแล้ว 22,000 ราย เป็นเงินทั้งหมด 131 ล้านบาท เฉลี่ยจ่ายให้แรงงานที่ถูกลอยแพปีละ 3,300 คน
สำหรับค่าเงินบาทเมื่อวันพฤหัสบดีมีความเคลื่อนไหวแคบๆ ปิดตลาดที่ระดับ 33.31-33.33 บาทต่อดอลลาร์ นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธปท. กล่าวยืนยันว่า ธปท.ยังไม่มีมาตรการเสริมอะไรใหม่ๆ ออกมาดูแลค่าเงินบาท
ขณะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนอย่างหนัก เปิดตลาดช่วงเช้าดัชนีไปแตะระดับ 852.77 จุด เพิ่มขึ้น 6.39 จุด ก่อนจะถูกเทขายจนต่ำสุดที่ 837.84 จุด ปิดตลาดช่วงเช้า 836.60 จุด ส่วนช่วงบ่ายปิดที่ 843.87 จุด ลดลง 2.41 จุด มูลค่าการซื้อขาย 31,672.36 ล้านบาท
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ดัชนีแกว่งตัวเนื่องจากนักลงทุนกังวลผลกระทบของค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่อง และกังวลกรณีที่มีการเสนอให้กรมสรรพากรเก็บภาษีจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับดัชนีปรับฐาน หลังจากที่ปรับขึ้นไปอย่างร้อนแรง จึงมีแรงเทขายทำกำไร
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (คลัง) กล่าวภายหลังหารือกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเม็ดเงินไหลเข้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในตลาดหุ้นส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นจากการหารือกันได้ข้อสรุปว่า จะไม่เพิ่มเครื่องมือเพื่อนำมาใช้ดูแลค่าเงินบาทแต่อย่างใด เนื่องจากเครื่องมือที่มีอยู่เดิมน่าจะเพียงพอรับมือแล้ว แต่จะมีเฉพาะมาตรการบางอย่างมาช่วยเสริมเท่านั้น ทั้งนี้ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยจะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากในช่วงจากนี้ไป
นายฉลองภพย้ำว่า มาตรการที่มีอยู่น่าจะพอรับมือ จะมีที่จะเสริมเข้ามาก็คือ การประสานงานระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท. อาจจะมีมาตรการบางอย่างออกมาช่วยเสริมได้ เช่น การที่รัฐกู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศ จะดูว่าโครงการไหนสามารถเปลี่ยนมากู้เป็นเงินบาทในประเทศได้ก็จะเปลี่ยน หรือถ้าโครงการไหนจำเป็นต้องซื้อเงินตราต่างประเทศ ก็ให้ซื้อเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในไทยแทน เบื้องต้นมีตัวเลขเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่สามารถดำเนินการได้ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์
นางธาริษากล่าวยืนยันว่า เครื่องมือที่ ธปท.มีอยู่ในขณะนี้เพียงพอต่อการดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในเร็วๆ นี้จะประสานงาน รมว.คลัง เพื่อให้อนุมัติผ่อนปรนการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ สามารถดำเนินการได้อย่างไม่มีข้อจำกัด รวมทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศผ่านกองทุนรวมต่างๆ ก็จะขยายวงเงินการลงทุนเพิ่มขึ้น
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 50 เป็นต้นมา มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยแล้วกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียวมีเงินทุนไหลเข้ามากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธปท.มีแนวทางการดูแล พยายามไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป ซึ่งช่วงไหนมีการทะลักเข้ามามาก ก็คงเกิดความผันผวนมากบ้าง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุดเริ่มดีขึ้นแล้ว ส่วนที่มีการปิดโรงงานนั้น เห็นว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว และไม่ได้เป็นการสูญเสียตลาดในต่างประเทศด้วย แต่เป็นการเสียตลาดให้แก่คู่แข่งในประเทศมากกว่า
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทจนมีโรงงานปิดตัวเองว่า ผลกระทบก็คงต้องมีบ้างในบางส่วน แต่ในภาพรวมคงไม่มีปัญหา คงเป็นเรื่องเฉพาะส่วนเฉพาะโรงงาน รัฐบาลก็มีความกังวลกับค่าเงินบาทอยู่ แต่ไม่ได้กังวลจนเกินเหตุ เพราะมีผู้ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว รัฐบาลได้พูดมาตั้งแต่ทำหน้าที่ว่า ให้มีการปรับตัว บางส่วนก็ปรับได้ ส่วนปรับไม่ได้ก็เหมือนกับโรงงานที่ต้องปิดไป ซึ่งก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็น
วันเดียวกันนี้ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.2550 ว่าอยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจาก 76.9 เมื่อเดือน พ.ค. ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 71.0 ลดลงจาก 71.4 ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 64 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2545 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 71.9 ลดลงจาก 72.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 87.4 เพิ่มขึ้นจาก 87.1 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันยังคงปรับลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และดัชนีเกือบทุกรายการอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (100) ต่ำสุดในรอบ 49-64 เดือน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ระดับ 74.0 ลดลงจาก 74.9 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ระดับ 75.1 เพิ่มขึ้นจาก 74.8 เมื่อเดือน พ.ค.2550
สำหรับปัจจัยลบได้แก่ ผู้บริโภคยังเห็นว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวในระดับสูง ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท ที่จะส่งผลลบต่อการส่งออก มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และเห็นว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เกิดผลเต็มที่
นายธนวรรธน์กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเพราะสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลงจะมีการเลือกตั้ง แต่จากที่โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปหลังจากมีการปิดโรงงานส่งออก ทำให้หลังจากนี้ความเชื่อมั่นมีโอกาสปรับตัวลดลงอีก จากการผูกเรื่องปลดคนงานเข้ากับเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อการบริโภคในประเทศต่ำลง การส่งออกลด เศรษฐกิจไทยจึงต้องพึ่งเม็ดเงินจากภาครัฐเพียงทางเดียว อาจทำให้ฟื้นตัวได้ช้าลงจากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 อาจเป็นไปได้ยากขึ้น จากเดิมที่ศูนย์จะปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขึ้นนั้น เป็นไปได้ที่จะยังไม่ปรับตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง จึงต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ ทำให้ยังคงจีดีพีทั้งปีไว้ที่ 3.5-4.0%
นายธนวรรธน์กล่าวว่า หากในช่วงครึ่งปีหลัง ค่าเงินบาทเฉลี่ยไม่อยู่ที่ระดับ 33.5-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คงไม่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยแน่ โดยภาครัฐควรจะต้องแก้ปัญหาระยะสั้นโดย 1.แทรกแซงค่าเงิน 2.สกัดกั้นเงินไหลเข้าเฉพาะส่วน อนุญาตให้ผู้ส่งออกซื้อค่าเงินได้ล่วงหน้า และ 3.ลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% เพื่อลดการเก็งกำไรค่าเงินบาท สกัดกั้นเงินไหลเข้าอย่างรวดเร็ว และช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจควรใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งนำเข้าสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้กองทุนรวมสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น
ด้านภาคเอกชน นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ค่าเงินบาทแข็งคือ เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทั่วโลก อีกทั้งช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยมีแรงซื้อเข้ามามากเป็นพิเศษ ประกอบกับผู้ส่งออกตื่นตระหนก จึงขายเงินดอลลาร์ออกมาผสมด้วย ทำให้สถานการณ์เลวร้ายเพิ่มขึ้นไปอีก
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มพบว่าผลประกอบการรายเล็กหรือรายย่อยมีทิศทางลดลงและบางแห่งเริ่มขาดทุนแล้ว แต่โดยมากเป็นผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ภาคธนาคารมีความกังวลว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยจะเพิ่มขึ้น แต่บริษัทขนาดใหญ่ยังไม่พบปัญหา และยังเชื่อมั่นว่า NPL จะอยู่ในระดับไม่รุนแรง น่าจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเชื่อมั่นต่างๆ และภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินแข็งไม่ใช่สาเหตุหลักให้แย่จนต้องปิดกิจการ ก่อนหน้านี้มีสัญญาณบ้างแล้วว่าผลดำเนินงานไม่ดีเท่าที่ควร เป็นเรื่องของภาวะการแข่งขันในธุรกิจ แต่ค่าเงินบาทแข็งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรช่วยดูแลค่าเงินบาท อย่างน้อยก็ไม่ควรปล่อยให้แข็งค่ากว่าประเทศส่งออกคู่แข่ง ขณะนี้มีสัญญาณว่าโรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอเตรียมที่จะปิดเพิ่มอีกกว่า 100 ราย ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่เหลืออยู่ รัฐจะต้องเร่งดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท เร่งออกกฎหมายหรือกฎระเบียบทางการค้าให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านการลงทุน ติดตามการใช้จ่ายและเบิกจ่ายเงินของภาครัฐอย่างใกล้ชิด อุตสาหกรรมส่งออกขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งหากรัฐยังไม่ช่วยทำอะไรให้ชัดเจนขึ้น มัวแต่หลงกับตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา เกรงว่าผลกระทบจะขยายวงกว้าง ส่งผลต่อการจ้างงานและกระทบถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งภาครัฐอย่าบอกเพียงว่าผู้ส่งออกต้องรู้จักปรับตัว เพราะที่ผ่านมาได้ปรับตัวกันมากแล้ว ทั้งหาตลาดใหม่ ลดต้นทุนกันตลอดเวลา เพื่อเอาตัวรอด แต่ภาครัฐควรจะเข้ามาดูแลบ้าง
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันเพื่อการวิจัยพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยผลการศึกษาเรื่อง "ผลกระทบจากนโยบายการแทรกแซงราคาน้ำมัน" ว่าเนื่องจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายแทรกแซงตลาดน้ำมัน โดยเฉพาะการใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมากกว่าน้ำมันเบนซินในช่วงปี 2547-2548 ได้นำไปสู่การบิดเบือนการตัดสินใจของผู้บริโภคในการหันมาเลือกบริโภคน้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซิน การบริโภคน้ำมันเบนซินในช่วงปี 2547-2549 จึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 343.2 ล้านลิตรหรือร้อยละ 1.5 ขณะที่บริโภคน้ำมันดีเซลมากกว่าที่ควรจะเป็นถึง 5,838.6 ล้านลิตร หรือร้อยละ 11.3 นอกจากขัดขวางการปรับตัวของผู้ใช้แล้ว ยังทำให้เกิดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปริมาณมลพิษจากการใช้น้ำมันดีเซลมีปริมาณเพิ่มขึ้น เช่น ทำให้เกิด NOx มากกว่าที่ควรจะเป็น 3.3 แสนตัน CO มากกว่าที่ควรจะเป็น 1.6 แสนตัน และ SO2 มากกว่าที่ควรจะเป็น 8.9 พันตัน
ดร.สมเกียรติระบุว่า รัฐไม่ควรแทรกแซงราคาน้ำมันเพื่อป้องกันเงินเฟ้อทุกครั้ง เนื่องจากสามารถจะชะลอได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และจะมีประสิทธิผลเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มเพียงเวลาสั้นๆ แต่หากสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนรัฐบาลไม่สามารถตรึงราคาไว้ได้ต่อไปและต้องปล่อยให้ลอยตัวในที่สุดจะส่งผลให้ดัชนีผู้บริโภคสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น.
Source - ไทยโพสต์ (Th)
Friday, July 13, 2007 04:26
สิ่งทอระบุปิดรง.แล้ว 200 แห่ง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทุก 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยลดลง 0.2-0.3% จากการที่ค่าเงินบาทแข็ง คาดว่าจะทำให้รายได้จากการส่งออกต้องสูญไปช่วงครึ่งปีหลัง 10,000-20,000 ล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องแทรกแซง และลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% หากไม่สามารถรักษาค่าเงินบาทให้อยู่ที่ไม่เกิน 33.5 บาทได้ ก็จะเห็นสัญญาณร้ายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อาจไม่ถึง 4%
วิกฤติค่าเงินบาทอยู่ในช่วงอันตราย มีระดับเตือนภัยสีส้มเข้ม จึงต้องเร่งรักษาค่าเงินไม่ให้แข็งขึ้นอีก และออกมาตร- การสกัดการเก็งกำไร แต่หากจะออกมาตรการควบคุมเงินไม่ให้ไหลเข้าตลาดหุ้นคงทำได้ยาก เพราะตลาดหุ้นไทยยังมีผลตอบแทนต่อหุ้น (พี/อี) ต่ำ มาตรการกันสำรอง 30% ก็ไม่เหมาะสม และเกิดผลในทางจิตวิทยาระหว่างประเทศ เพราะอาจทำให้ต่างประเทศมองได้ว่า ค่าเงินบาทถูกเก็งกำไรจริง และเทขายหุ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทรุด ความมั่งคั่งหายไป ทำให้เกิดวิกฤติได้ง่าย
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า คาดการณ์ตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอจะเดือดร้อนจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งมาก โดยเฉพาะรายกลางและเล็ก จากสถิติสถาบันสิ่งทอพบว่า ตั้งแต่ต้นปี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ปิดกิจการแล้วเกือบ 200 ราย หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะปิดกิจการอีกจำนวนมาก และแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 1.06 ล้านคน จะได้รับความเดือดร้อน
ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยคาดว่าผู้ส่งออกข้าวรายเล็กขาดทุนจากการส่งออกและปิดกิจการไปแล้วจำนวนมาก เพราะราคาข้าวไทยสูงขึ้นมาก โดยข้าวขาว 100% ตันละ 350 เหรียญ จากต้นปีตันละ 310 เหรียญ ข้าวหอมมะลิตันละ 610-620 เหรียญ จาก 510 เหรียญ จึงคาดว่าการส่งออกข้าวไทยปีนี้น่าจะได้เพียง 8 ล้านตัน มูลค่า 100,000 ล้านบาท จากเป้าหมาย 8.5 ล้านตัน มูลค่า 120,000 ล้านบาท หรือสูญเสียรายได้จากการส่งออก 20,000 ล้านบาท.
Source - เว็บไซต์ไทยรัฐ (Th)
Friday, July 13, 2007 05:55
"แอ้ด"ไม่ห่วงค่าเงินเชื่อคลัง-ธปท.คุมอยู่
"สุรยุทธ์"ไม่กังวลค่าเงินบาทแข็ง แนะผู้ประกอบการเตรียมรับมือสถานการณ์ มั่นใจคลัง-แบงก์ชาติรับมือได้ "ฉลองภพ-ธาริษา" ร่วมวงถก เผยไม่มีมาตรการเฉพาะ แต่เตรียมผ่อนปรนเงื่อนไข คนไทยลงทุนตปท. ปลัดพาณิชย์ แนะผู้ส่งออกปรับตัวเตรียมประชุมภาคเอกชนสัปดาห์หน้า ด้าน"ปธ.หอการค้าฯ" เสนอเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร-สิ่งทอ เพื่อแข่งขันได้ ชี้ขยายเวลาถือครองดอลลาร์ ลดแรงกดดันบาทแข็ง หวั่นโรงงานขนาดเล็กเตรียมปิดกิจการอีกเพียบ "ก้องเกียรติ" ระบุ หากต่างชาติ กระจายลงทุนตลาดหุ้น ลดแรงกดดันเงินบาทได้
เมื่อวานนี้(12 ก.ค.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวขณะนี้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นกังวลมากนัก คิดว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังติดตามสถานการณ์อยู่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ส่วนบริษัทหรือสถานประกอบการที่มีปัญหาทางกระทรวงแรงงานฯ ได้เข้าไปแก้ไขแล้ว
"เรื่องนี้ทางไตรภาคีจะต้องเข้าไปช่วยกระทรวงแรงงานฯ ดูแล คิดว่าคงไม่มีปัญหากับการทำงานของคนงานแล้ว ส่วนผู้ประกอบการขอให้มีความมั่นใจและต้องพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ให้มากขึ้น ขณะนี้ในส่วนของนักลงทุน มีเงินลงทุนระยะสั้นเข้ามาในตลาดหุ้นค่อนข้างสูง ทางรัฐบาลดูอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามดู นักลงทุนไทยที่ลงทุนระยะสั้น ก็ต้องระมัดระวัง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้แตกต่างกับการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งเป็นปัญหา ของภูมิภาคทั้งหมดในภาพรวม สำหรับภาวะปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งสร้างความเข้าใจในภาคธุรกิจและสร้างมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในภาวะอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ขณะเดียวกันภาครัฐควรหามาตรการมารองรับ เช่น สร้างความมั่นใจในการใช้เงินตราต่างประเทศ ความมั่นใจในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ มาตรการด้านดอกเบี้ยและมาตรการทางการคลัง ส่วนมาตรการกันสำรอง 30% พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และสร้างผลกระทบมากขึ้น
ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะเงินทุนก้อนใหญ่ไหลทะลักมาจากสหรัฐค่อนข้างมาก แต่คงไม่สามารถใช้นโยบายทางการคลังช่วยดูแลค่าเงินบาท เพราะคงช่วยได้ไม่มากนักและไม่ขอพูดถึงการนำมาตรการทางภาษีช่วยแก้ปัญหา0...คลัง-ธปท.ถกแก้วิกฤติเงินบาท
ขณะเดียวกันนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การหารือร่วมกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลค่าเงินบาท หลังจากเงินต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นสูงมากช่วงสัปดาห์ก่อน โดยยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงร่วมกับ ธปท.เพื่อหาทางรับมือในการลดความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยที่ประชุมเห็นว่า ควรใช้แนวทางในการปรับเปลี่ยนแนวทางการกู้เงิน โดยหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการขนาดใหญ่ต้องการกู้เงินในต่างประเทศ จะให้เปลี่ยนมากู้ในประเทศแทน เพราะมีสภาพคล่องสูงมาก
ทั้งนี้ หากโครงการใดต้องการใช้เงินต่างประเทศก็สามารถซื้อสกุลเงินต่างประเทศภายในประเทศได้ โดยเฉพาะมีมูลค่าการลงทุน ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ส่วนโครงการที่กู้ยืมเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น เอดีบี เวิลด์แบงก์ ได้หารือในเบื้องต้นแล้ว จะใช้แนวทางการออกพันธบัตรเป็นเงินบาทในประเทศ หลังจากนั้นจึงนำเงินบาทไปซื้อเงินสกุลต่างประเทศภายในประเทศ โดยหลังจากนี้จะรายงานสถานการณ์และมาตรการให้กับนายกรัฐมนตรีทราบในช่วงบ่ายวันนี้(13 ก.ค.) หลังเดินทางกลับจากภาคใต้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและ ธปท.จะร่วมมือกันมากขึ้นในการดูแลค่าเงินบาท และยังเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินในช่วงรัฐบาลไม่จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสร้างสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยอ้างในตลาด คาดว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ใน 2-3 เดือนข้างหน้า ยอมรับว่าขณะนี้การผันผวนของค่าเงินบาท อาจยังมีอยู่ แต่ขณะนี้เห็นว่าเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามามีประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยกว่า 73,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายฉลองภพ กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากโรงงานที่ใช้แรงงานราคาถูกจะสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว ไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนมาทำการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนฯ และแรงงาน มีฝีมือมากขึ้น เนื่องจากอุตฯ ดังกล่าวเริ่มทยอยเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศหลายราย
นางธาริษา กล่าวว่า เครื่องมือของ ธปท.ที่ใช้ดูแลค่าเงินบาทยังเพียงพอ แต่หากกระทรวงการคลังจะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมก็พร้อมนำมาใช้ ส่วนมาตรการกันสำรอง 30% ยังมีอยู่ แต่นักลงทุนได้เลือกใช้แนวทางดังกล่าวน้อยมาก แม้ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา แต่ช่วงนี้ผู้ส่งออกเข้ามาซื้อขายมากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งมากนักเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดหุ้นได้ปรับตัวลดลงทำให้เงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพในวันนี้ ส่วนกรณีบริษัท ไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการ เนื่องจากขาดศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เกิดปัญหาจากเงินบาทแข็งค่า โดยหลังจากนี้การนำเงินออกไปลงทุนเพื่อทำการผลิตหรือการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ธปท.จะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น0...ปลัดพาณิชย์แนะผู้ส่งออกปรับตัว
ขณะที่นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินบาทว่า แม้กระทรวงพาณิชย์ไม่ใช่หน่วยงานที่ดูแล ค่าเงินบาทโดยตรง แต่ขณะนี้ ธปท. มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสาเหตุหลักที่เงินบาทแข็งค่า เป็นเพราะเงินไหลเข้าตลาดหุ้นค่อนข้างมาก และยังเชื่อว่าเป็นสถานการณ์ระยะสั้น เมื่อผ่านพ้นไป 1 เดือน สถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะดีขึ้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ในระยะสั้นบริษัทขนาดกลางและเล็กของไทยที่มีสายป่านไม่ยาวอาจจะประสบปัญหา ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่จำใจขายสินค้าขาดทุนไปบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้น และผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัว และเป็นไปไม่ได้ที่มีการเรียกร้องอยากให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีทั้งอ่อนค่าและแข็งค่าตามภาวะตลาดโลก แต่ในความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไทย หน่วยงานภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ และผู้บริหารของกระทรวงฯ จะร่วมประชุมหารือกับภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งเชื่อว่าเอกชนจะมีการเสนอแนวทาง และไม่เพียงกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น คงต้องมีการเสนอแนวทางแก้ไขในหลายกระทรวง เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ส่งออก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยัน แม้ค่าเงินบาทแข็งค่า โดยผู้ส่งออกยอมขายสินค้าถูกลง ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ส่วนร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบน้อย ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เป้าหมายส่งออกปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 12.5 และคงไม่มีการปรับเป้าหมายตัวเลขการส่งออกในปีนี้แต่อย่างใด
"อย่าโทษค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว เพราะค่าเงินบาทถือเป็นผลกระทบด้านหนึ่ง แต่มีหลายสาเหตุ จึงอยากให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน ปรับปรุงการผลิตลดต้นทุน และเมื่อสถานการณ์ค่าเงินบาทกลับมาดีขึ้น สิ่งต่างๆที่เป็นปัญหาอยู่ก็จะลดน้อยลง และขณะนี้การดูแล ค่าเงินบาท ธปท.ดูแลอยู่แล้ว และเชื่อว่าในการหารือร่วมกับผู้ส่งออก วันที่ 16 ก.ค.นี้ จะมีแนวทางลดผลกระทบให้ผู้ส่งออก" นายการุณ กล่าว0....เตือนรง.ขนาดเล็กทยอยปิดกิจการ
วันเดียวกันนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีบริษัท ไทยศิลป์ฯ ปิดโรงงาน ว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คงไม่ใช่การแข็งค่าของเงินบาทอย่างเดียว แต่บริษัทฯ อาจมีปัญหาการบริหารการเงินมาแล้ว แต่ยอมรับว่า การที่เงินบาทแข็งค่ากระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีสัญญาณการขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว ดังนั้นโรงงานขนาดเล็กคงจะมีการลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่นอน เพราะการที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีต้นทุนแพงขึ้นกว่า 10% ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
ในวันนี้ ภาคเอกชนขอเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร โดยเฉพาะให้กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งการแข็งค่าของเงินบาทและการแข่งขันในตลาดโลก
พร้อมกันนั้นธปท. ควรจะพิจารณาขยายเวลาให้ผู้ส่งออกถือครองเงินดอลลาร์ให้ยาวนานขึ้น เพื่อลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า
ส่วนในวันที่ 16 ก.ค.นี้ หอการค้าฯ จะเข้าพบกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกัน เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทว่า ภาครัฐจะมีมาตรการอะไรเข้ามาสนับสนุนเป็นพิเศษบ้าง ขณะที่ภาคเอกชนอาจจะต้องมีการขยับราคาสินค้าขึ้น และต้องยอมสูญเสียตลาดส่งออกบางแห่ง รวมทั้งจะมีการลดต้นทุนการผลิตโดยการเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน ดังนั้น เอกชนจะขอให้ภาครัฐลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เพื่ออุดหนุนให้ผู้ส่งออกเป็นพิเศษ
ส่วนกรณีที่ ธปท.ระบุว่ามีผู้ส่งออกบางรายผสมโรงเทขายดอลลาร์ และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า นายประมนต์ กล่าวว่า ยอมรับอาจมีผู้ส่งออกบางรายมีพฤติกรรมตามนั้น เพราะผู้ส่งออกตื่นตระหนก โดยเกรงว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากกว่านี้ จึงตัดสินใจขายดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าหาก ธปท.อนุญาตให้ผู้ส่งออกสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้นานกว่า 15 วัน อาจจะช่วยบรรเทาไม่ให้ผู้ส่งออกผสมโรงในการเทขาย
ด้านนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทมาจากการตื่นตระหนกของผู้ส่งออกที่มีการเทขายดอลลาร์ออกมาผสมโรง เพราะกังวลค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากกว่านี้ ประกอบกับเงินทุนจากต่างชาติยังไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลง ดังนั้น นักลงทุนต่างชาติจึงลดสัดส่วนการลงทุนในเงินสกุลดอลลาร์ เคลื่อนย้ายมาลงทุนในยุโรปและเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งก็เห็นใจผู้ส่งออก แต่เชื่อว่าเมื่อนักลงทุนต่างชาติเริ่มทำกำไรราคาหุ้นและ มีการกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นมากขึ้นเงินก็จะไหลออกไทยมากขึ้น และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
"การที่ต่างชาติเริ่มเทขายทำกำไร ก็เป็นการทำกำไรระยะสั้น ซึ่งการที่ดัชนีปรับตัวลงมาบ้างเป็นเรื่องที่ดีและปกติ เงินทุนต่างชาติจะได้ไหลออกบ้าง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท" นายก้องเกียรติ กล่าว0... ตลาดหุ้นปิดลบ 2.41จุดรับข่าวเก็บภาษี
สำหรับภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (12 ก.ค.) บรรยากาศการลงทุนยังเต็มไปด้วยความผันผวน เพราะยังอยู่ในช่วงปรับฐานการลงทุนต่อเนื่องจากวันก่อน และได้รับปัจจัยลบเข้ามากดดันการลงทุน ทั้งแนวคิดการจัดเก็บภาษีการลงทุนในตลาดหุ้น และแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก ทำให้ปรับลดลงสวนทางกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวัน ดัชนีปรับขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 852.77 จุด ปรับลดลงต่ำสุดที่ระดับ 837.84 จุด จนมาปิดที่ 843.87 จุด ลดลง 2.41 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 31,672.36 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ปิดที่ 236.02 จุด เพิ่มขึ้น 0.10 จุด มูลค่าการซื้อขาย 490.98 ล้านบาท ทางด้านสัดส่วนการลงทุน นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,662.46 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,359.11 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,303.36 ล้านบาท
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอ๊ดคินซัน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากความกังวลของนักลงทุนต่อแนวคิดของนักวิชาการ ที่ให้จัดเก็บภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ส่งผลให้เปิดตลาดในช่วงเช้าปรับลดลง หลังจากนั้นเคลื่อนไหวในลักษณะทรงตัว เพราะอยู่ในช่วงปรับฐานการลงทุนต่อเนื่องจากวันก่อน และได้รับปัจจัยลบว่า ธปท.จะออกมาตรการใหม่เพื่อควบคุมค่าเงินบาท
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในวันนี้ (13 ก.ค.) มองว่า การลงทุนมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัว เพราะได้รับปัจจัยบวกจากเงินลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยประเมินว่าดัชนีมีแนวต้านที่ระดับ 845-850 จุด แต่ทั้งนี้ หากผ่านแนวต้านไปได้ จะส่งผลให้ดัชนีปรับขึ้นอย่างร้อนแรง
Source - พิมพ์ไทย (Th)
Friday, July 13, 2007 06:05
หอการค้าไทยยันข่าวปิดโรงงานกระทบความเชื่อมั่นผุ้ประกอบการส่งออกยันขาดทุนแต่ต้องกลืนเลือด
หอการค้าไทยแถลงข่าวการปิดโรงงานของอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นข่าวปัจจัยลบใหม่ที่คาดว่าจะกระทบดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคหนักตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป มีผลกระทบไปตลอดครึ่งปีหลัง แถมมีผลกระทบตามมาอีกหลายระรอก ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนยังลดลงต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวยอมรับว่า ข่าวการปิดโรงงานสิ่งทอเมื่อวานที่ผ่านมา จากผลกระทบค่าเงินบาท ทำให้มีคนตกงานถึง 6 พันคน ถือเป็นข่าวใหม่ ที่จะกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป และหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะกระทบกับการขยายตัวของการบริโภคในประเทศไปตลอดครึ่งปีหลังของปี 2550 โดยข่าวดังกล่าว จะเป็นตัวเร่งทำให้ประชาชนกังวล ถึงภาวะการจ้างงาน รายได้ ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต และมีสัญญาณชัดเจนที่ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้านและรถยนต์มากถึงร้อยละ 40 และมีอีกมากที่ตัดสินใจชะลอการซื้อออกไปก่อน
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าปัญหาการปิดกิจการของโรงงานสิ่งทอแสดงให้เห็นว่า ปัญหาค่าเงินบาทได้กระทบต่อภาคธุรกิจการส่งออก ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและกลายเป็นปัญหาด้านสังคม ทำให้เกิดการว่างงานขึ้น โดยในอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้น ปัจจุบันมีแรงงานอยู่ประมาณ 800,000 คน หากมีการว่างงานเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 300,000 คน เมื่อรวมภาระที่แต่ละคนต้องดูแลครอบครัว ก็จะเท่ากับคูณ 4 หรือมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ล้านคน ไม่นับรวมผลกระทบที่จะมีสู่ธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจผลิตเส้นใย และเส้นด้าย
นายสวราช สัจจมาร์ค รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกลดลง เมื่อแปลงรายได้เงินดอลลาร์เป็นค่าเงินบาท ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญต้องประสบปัญหาขาดทุน แม้จะมีออร์เดอร์มาก แต่ต้องยอมขายขาดทุน เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เพราะหากเลิกทำการผลิตลูกค้าก็จะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ผู้ส่งออกคงอยู่รอดได้ยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าในภาคการผลิตที่แท้จริง (Real Sector )
นายวชิระ คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่าสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในส่วนของภาพรวมอยู่ที่ 76.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคมจาก 6.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันของเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 74.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 74.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 75.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 74.8 โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาผลกระทบที่เป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบด้วย การคลี่คลายปัญหาการเมือง การเปิดเผยตัวเลขขยายตัวทางเศรษฐกิจของ สศช.ไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 4.3 การขยายตัวของการส่งออกที่ยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 20.9 มากกว่าการขยายตัวของการนำเข้าที่ร้อยละ 6.7 และไทยมีการเกินดุลการค้ามากกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ การปรับลดลงของราคาน้ำมัน 40 สตางค์ และค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพที่ 34.54 บาทต่ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบด้วย การที่ผู้บริโภคยอมรับราคาน้ำมันยังทรงตัวระดับสูง แนวโน้มการแข็งตัวของค่าเงินบาท ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงแนวทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก.
Source - พิมพ์ไทย (Th)
Friday, July 13, 2007 06:13
บาทยิ่งแข็งเพราะผุ้ส่งออกเทขายดอลลาร์ผสมโรง
ประธานสภาหอการค้ารับเงินบาทแข็งเกิดผลกระทบต่อผุ้ส่งออกจริง เผยมีโรงงานขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่ต้องปิดกิจการตามมาอีกแน่นอน ด้าน ก้องเกียรติ โอภาสวงการ คาดว่าเมื่อต่างชาติกระจายการลงทุนในตลาดหุ้น จะลดแรงกดดันเงินบาทได้ นายกรัฐมนตรีเล่นลิ้น กังวลแต่ไม่กังวลจนเกินเหตุ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ปิดโรงงาน ว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คงไม่ใช่การแข็งค่าของเงินบาทอย่างเดียว แต่บริษัทฯ อาจมีปัญหาการบริหารการเงินมาแล้ว แต่ยอมรับว่าการที่เงินบาทแข็งค่ากระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีสัญญาณการขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว ดังนั้นโรงงานขนาดเล็กคงจะมีการลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่นอน เพราะการที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีต้นทุนแพงขึ้นกว่าร้อยละ 10 ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ขณะที่ภาคเอกชนอาจจะต้องมีการขยับราคาสินค้าขึ้น และต้องยอมสูญเสียตลาดส่งออกบางแห่ง รวมทั้งจะมีการลดต้นทุนการผลิตโดยการเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน ดังนั้น เอกชนจะขอให้ภาครัฐลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เพื่ออุดหนุนให้ผู้ส่งออกเป็นพิเศษ
ส่วนกรณีที่ ธปท.ระบุว่ามีผู้ส่งออกบางรายผสมโรงเทขายดอลลาร์ และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า นายประมนต์ กล่าวว่า ยอมรับอาจมีผู้ส่งออกบางรายมีพฤติกรรมตามนั้น เพราะผู้ส่งออกตื่นตระหนกโดยเกรงว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากกว่านี้ จึงตัดสินใจขายดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าหาก ธปท.อนุญาตให้ผู้ส่งออกสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้นานกว่า 15 วัน อาจจะช่วยบรรเทาไม่ให้ผู้ส่งออกผสมโรงในการเทขาย
ด้านนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทมาจากการตื่นตระหนกของผู้ส่งออกที่มีการเทขายดอลลาร์ออกมาผสมโรง เพราะกังวลค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากกว่านี้ ประกอบกับเงินทุนจากต่างชาติยังไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลง ดังนั้น นักลงทุนต่างชาติจึงลดสัดส่วนการลงทุนในเงินสกุลดอลลาร์ เคลื่อนย้ายมาลงทุนในยุโรปและเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งก็เห็นใจผู้ส่งออก แต่เชื่อว่าเมื่อนักลงทุนต่างชาติเริ่มทำกำไรราคาหุ้นและมีการกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นมากขึ้นเงินก็จะไหลออกไทยมากขึ้น และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
การที่ต่างชาติเริ่มเทขายทำกำไร ก็เป็นการทำกำไรระยะสั้น ซึ่งการที่ดัชนีปรับตัวลงมาบ้างเป็นเรื่องที่ดีและปกติ เงินทุนต่างชาติจะได้ไหลออกบ้าง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท นายก้องเกียรติ กล่าว.
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ จ.ยะลา ถึงกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีผลกระทบต่อการเลิกกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมสร้างปัญหาบานปลายหรือไม่ โดยยอมรับว่าผลกระทบต้องมีบางส่วน แต่ภาพรวมคงไม่มี เป็นเรื่องเฉพาะส่วน เฉพาะโรงงาน เมื่อถามว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่วิตกเรื่องค่าบาทแข็งตัวใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็กังวล แต่ไม่ใช่กังวลจนเกินเหตุ ตรงจุดนี้มีผู้รับผิดชอบดูแลอยู่ ทั้งนี้ ตนพูดมานานพอสมควรแล้วว่า เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาทำงาน ก็ขอให้ผู้ประกอบการปรับตัว บางส่วนปรับตัวได้ ก็ไม่มีปัญหา แต่บางส่วนปรับตัวไม่ได้ อย่างบริษัทไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ที่ปิดตัวไป เป็นตัวอย่างของโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ปรับตัว.
Source - พิมพ์ไทย (Th)
Friday, July 13, 2007 06:13
ไทยผลักดันเกษตรอินทรีย์เทียบชั้นอียู
กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันเกษตรอินทรีย์เต็มสูบ ให้เทียบเคียงมาตรฐานประชาคมยุโรป พร้อมพัฒนาศักยภาพเกษตรกร วางฐานข้อมูลเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ซื้อ หวังเปิดตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยไปทั่วโลก
นายรุ่งเรือง อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบันกระแสเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ประกอบกับมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลก ปี 2549 สูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาด 10.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 427 ล้านบาท
ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดตลาดเกษตรอินทรีย์ของไทยและให้เกิดการยอมรับในระดับสากล กระทรวงจึงวางแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยการเทียบเคียงมาตรฐานทั้งในส่วนของฟาร์มและผลิตภัณฑ์ ซึ่งปี 2550-2551 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้เทียบเคียงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทยกับมาตรฐานของประชาคมยุโรป (ECU Commission) เพื่อให้เกิดความร่วมมือและนำไปสู่การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย
อีกส่วน คือ การดำเนินงานของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เริ่มเทียบเคียงกับมาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตรของสหภาพยุโรป (EurepGap) ทั้งในส่วนเอกสารและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมาตรฐานการทำเกษตรที่เหมาะสม (GAP) ของไทยมี 9 ข้อ ขณะที่ทาง EurepGap มี 14 ข้อ จึงต้องเพิ่มเติมให้เกิดความครอบคลุม นอกจากนี้ยังต้องทำการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรอินทรีย์ของไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น
Source - เว็บไซต์คมชัดลึก (Th)
Friday, July 13, 2007 06:14
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งลงเหวหวั่นธุรกิจเจ๊งลอยแพคนงาน-
นายธวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.50 ซึ่งสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,243 ตัวอย่าง ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกือบทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 71.0 ลดจากเดือน พ.ค.อยู่ที่ 71.4 ยกเว้นดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้อนาคตที่ปรับเพิ่มขึ้นในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.เท่ากับ 76.8 ลดจากเดือน พ.ค.อยู่ที่ 76.9 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ และยังมีสัญญาณทรุดตัวต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ที่สำคัญ การสำรวจครั้งนี้ไม่ได้รวมปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่า โรงงานหลายแห่งปิดกิจการ และมีสัญญาญจะปลดคนงานอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ และส่งผลต่อจิตวิทยาในเชิงลบ จึงไม่หวังว่าประชาชนจะฟื้นการบริโภคได้ในปลายไตรมาส 3 ดังนั้น ศูนย์ฯจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค.และจะเปิดประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้ง
Source - เว็บไซต์ไทยรัฐ (Th)
Friday, July 13, 2007 06:54
ภาพข่าว: "คณะกรรมการแห่งปี 2549/50 " ( Board of the Year Awards 2006/07 )
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย โดย ศ. หิรัญ รดีศรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการประกาศเกียรติคุณคณะกรรมการแห่งปี (ที่ 4 จากซ้าย) พร้อมผู้แทนจากตลาดทุนและหน่วยงานภาคธุรกิจ 7 องค์กร ได้แก่ ประมนต์ สุธีวงศ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ สมาคมธนาคารไทย ภัทรียา เบญจพลชัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดร. ก้องเกียรติ โอภาสวงการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และ เพ็ญศรี สุธีรศานต์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ร่วมแถลงข่าวการจัดโครงการประกาศเกียรติคุณ "คณะกรรมการแห่งปี 2549 / 50 หรือ Board of the Year Awards 2006/07 เพื่อยกย่องเชิดชูคณะกรรมการบริษัทที่มีคุณภาพ และสร้างกระแสการตื่นตัวให้คณะกรรมการบริษัทเร่งพัฒนาประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
Source - Press Release, Local (Th/Eng)
Friday, July 13, 2007 08:11
วิกฤติสิ่งทอตอกฝาโลงความเชื่อมั่น
วิกฤติสิ่งทอตอกฝาโลงความเชื่อมั่น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวยอมรับว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ล้วนได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทและยังส่งผลกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หากไม่ได้รับการแก้ไข จะกระทบกับการขยายตัวของการบริโภคในประเทศไปตลอดทั้งปี ทำให้ความมั่นใจในการใช้จ่ายในอนาคตลดลง ส่วนปัญหาค่าเงินบาทที่กระทบกับการส่งออก ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่หรือไม่ จำเป็นต้องติดตามและหาทางแก้ปัญหาต่อไป โดยในส่วนนี้เห็นว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรหันมาใช้มาตรการระยะสั้น คือการลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% เพื่อลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก ร่วมกับการแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินไป ทั้งนี้การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท ทำให้สูญเสียรายได้กว่า 1-1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาค่าเงินบาทได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจในภาพรวมนำไปสู่การว่างงาน เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอมีแรงงานประมาณ 8 แสนคน หากว่างงาน 1 ใน 3 เกิดผลกระทบมากกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกและใช้แรงงาน
นายสวราช สัจจมาร์ค รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกลดลง เมื่อแปลงรายได้เงินดอลลาร์เป็นค่าเงินบาท ทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ผู้ส่งออกคงทยอยปิดกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
นายวชิระ คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคใน เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมอยู่ที่ 76.8 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 74.0 ลดลงจากเดือนก่อน 74.9 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 75.1 เพิ่มจากเดือนก่อน 74.8 โดยเดือน มิ.ย.ได้รับปัจจัยบวกจากปัญหาการเมือง การขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ถึง 4.3% การส่งออกขยาย 20.9% การเกินดุลการค้า 800 ล้านดอลลาร์ การปรับตัวของตลาดหลักทรัพย์ฯ และปรับลดราคาน้ำมัน ทั้งนี้ค่าเงินควรอยู่ที่ระดับ 34.54 บาท/ดอลลาร์-
Source - บ้านเมือง (Th)
Friday, July 13, 2007 08:21
ยอมเปิดรง.ทำต่อ "ฉันทนา"เฮรัฐช่วยหาออร์เดอร์
เสี่ยร่ำไห้เจรจา-ขอสู้ต่อ!แฉเจ๊งแล้วนับร้อยบริษัท
บาทแข็ง- นายพิพรรษ์ อุนโอภาส เจ้าของบริษัทไทยศิลป์ฯ ร่ำไห้เปิดใจโดนพิษค่าเงินบาทเล่นงานจนขาดทุนยับ เป็นเหตุให้ต้องปิดโรงงานลอยแพพนักงานกว่า 5 พันคน แต่ล่าสุดยอมตกลงเปิดโรงงานให้คนงานกลับเข้าทำงานต่อแล้ว ตามข่าว
ฉันทนา 5 พันคนเฮลั่น เสี่ย-เจ๊เจ้าของรง.ไทยศิลป์ กัดฟันสู้ต่อเปิดโรงงานต่อ หลังปิดแบบช็อกไป 2 วัน จนคนงานปิดถนนประท้วงเป็นข่าวใหญ่ รมว.แรงงาน-ผู้ว่าฯสมุทรปราการ รับบทคนกลางนัด 2 ฝ่ายเจรจานานถึง 3 ชั่วโมง ก่อนสรุปเปิด รง.ดำเนินงานต่อ โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลือเรื่องส่งออก หลังลูกค้ารายใหญ่ตัดออร์เดอร์ และพิษบาทแข็งขาดทุนย่อยยับ เนื่องจากตกลงราคา-รับงานล่วงหน้าหลายเดือน พอเจอเงินบาทแข็งเลยพัง เสี่ยร่ำไห้เปิดใจกัดฟันจนทนไม่ไหว จึงตัดสินใจปิด รง.แบบกะทันหันเพราะไม่มีเงินจะจ่ายค่าแรงแล้ว วอนคนงานเห็นใจด้วย แต่เมื่อรัฐบาลจะช่วยก็พร้อมสู้ต่อ รมว.แรงงานประสานกระทรวงอุตฯ ดูแล รง.สิ่งทออื่นๆ ถึง 4,500 โรงเป็นพิเศษ หากมีปัญหาต้องรีบช่วยแก้ไขหวั่นปิดหนีไปอีก ผอ.อุตสาหกรรมสิ่งทอเผยตั้งแต่ต้นปีมี รง.ปิดไปแล้วกว่า 100 แห่ง เพราะสู้ค่าเงินบาทไม่ไหว แถมจีน-เวียดนามคู่แข่งสำคัญกำลังมาแรง แนะต้องเร่งปรับตัวด้วย ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมไทย ยอมรับสมาชิกบ่นอุบลูกค้าต่างชาติตัดออร์เดอร์เพราะปัญหาเงินบาทแข็ง ทำให้เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วราคาในเมืองไทยจะแพงกว่า
จากเหตุการณ์บริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมพอร์ต เอกซ์พอร์ต จำกัด ถ.กิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ทำกิจการเย็บเสื้อผ้ากีฬาส่งออกให้กับแบรนด์ดังๆ หลายยี่ห้อ อาทิ ไนกี้ และอาดิดาส ปิดกิจการดื้อๆ โดยปิดป้ายประกาศหน้าบริษัทเมื่อเช้าวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา และไม่มีการบอกกล่าวกับพนักงานล่วงหน้า ทำให้พนักงานกว่า 5,000 คนที่เดินทางมาทำงานตอนเช้าตกตะลึงไปตามๆ กัน ก่อนที่จะก่อม็อบปิดถนนประท้วงเรียกร้องให้ราชการเข้ามาช่วยเหลือ เบื้องต้นพบว่าบริษัทประสบภาวะขาดทุนจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้ออร์เดอร์จากลูกค้าต่างประเทศลดลง ประกอบกับหุ้นส่วนใหญ่ขอถอนหุ้นไปลงทุนในประเทศเวียดนาม จนเป็นหนี้เป็นสินมากมาย จึงตัดสินใจปิดกิจการดื้อๆ โดยตัวแทนบริษัทระบุว่าจะหาเงินมาจ่ายชดเชยให้พนักงาน แต่ต้องรอขายทรัพย์สินต่างๆ เสียก่อนนั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา มีตัวแทนพนักงานราวๆ 200-300 คนปักหลักอยู่ในเต็นท์ที่กางขวางถนนหน้าโรงงาน โดยมีตำรวจสภ.ต.ราชาเทวะ มาดูแลและอำนวยการจราจรเนื่องจากเส้นทางมุ่งหน้าไปลาดกระบังไม่สามารถเดินการจราจรได้ ต้องให้รถเลี่ยงมาวิ่งสวนเลน กระทั่งช่วงเช้ามีพนักงานทยอยมาร่วมชุมนุมประมาณ 2-3 พันคน และนำเครื่องขยายเสียงมาติดตั้งพร้อมการโจมตีการปิดบริษัท ซึ่งการชุมนุมก็เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะต่างมีความคาดหวังว่าจะมีการเจรจา กับทางเจ้าของบริษัทในเรื่องของเงินค่าจ้าง ซึ่งในด้านการจราจรในช่วงเช้ามีรถใช้เส้นทางจำนวนมากแต่ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เวลา 10.00 น. นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ จัดรถบัสรับส่งพนักงานจำนวน 2 คันมารับตัวแทนพนักงาน เพื่อเดินทางไปเจรจาหาข้อยุติกับนายพิพรรษ และนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส สองสามีภรรยาเจ้าของบริษัท ต่อมาพนักงานที่ทราบข่าวหลายร้อยคนเดินทางมาสมทบยังหน้าศาลากลาง พร้อมส่งตัวแทนจำนวน 10 คนนำโดยนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมเจรจา โดยมีนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน, นายอนุวัฒน์ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ พล.ต.ต.ชยุต ธนทวีรัชย์ ผบก.ภ.สมุทรปราการ ร่วมในที่ประชุมด้วย
เบื้องต้นตัวแทนฝ่ายลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 9 ข้อให้นายจ้างและภาครัฐ ประกอบด้วย 1.เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 2.เงินชดเชยค่าตกใจ 30 วัน (ปิดแล้วหนี) 3.ค่าแรงบวกโอทีที่ค้างพนักงานทั้งหมด 4.เงินประกันที่พนักงานจ่ายให้บริษัท (ขอคืน) 5.ทรัพย์สินของพนักงานที่อยู่ในรั้วบริษัท (ขอคืน) 6.จะต้องได้รับคำตอบหลังจากเจรจาภายในวันที่ 12 ก.ค. เวลา 13.00 น. 7.ค่าเสียหายสำหรับพนักงานที่ไม่มีโอกาสไปทำงานที่อื่นเนื่องจากอายุเกิน ตั้งครรภ์ พิการ 8.เงินสงเคราะห์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของลูกจ้าง และ 9.ให้รัฐบาลหาแนวทางแก้ไขและมาตรการเพื่อจัดการกับผู้ประกอบการที่ปิดกิจการโดยไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกันพนักงานบริษัทอื่นอีกต่อไป
ก่อนการเจรจานายพิพรรษกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และบางครั้งก็หลั่งน้ำตาว่า ที่เดินทางมาวันนี้เพื่อบอกว่าธุรกิจไปไม่ได้จริงๆ สาเหตุที่ต้องปิดโรงงานเพราะค่าเงินบาทมันแข็งเรารับออร์เดอร์มาล่วงหน้า 3-4 เดือน และขาดทุนทุกเดือน พยายามประคับประคองเพื่อจะให้ดีขึ้นแต่ก็ไปไม่ได้ ต้องขอโทษพนักงานทุกคนเพราะจำเป็นจริงๆ ต้องทำอย่างนี้ ส่วนเงินตอนนี้มีเท่าไหร่จะให้พนักงานทุกคน ขอให้พนักงานเห็นใจด้วย
ต่อมาเริ่มมีการประชุมโดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น ก่อนที่ตัวแทนพนักงานจะออกมาบอกผลกับเพื่อนๆ ที่รออยู่ด้านหน้า โดยเบื้องต้นโรงงานจะเปิดดำเนินงานต่อ จากนั้นกลุ่มพนักงานทั้งหมดก็เดินทางกลับที่หน้าบริษัท เพื่อแจ้งผลการเจรจากับเพื่อนๆ อีกหลายพันคนที่รออยู่รับทราบข่าวดีไปด้วย
นายอนุวัฒน์ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ กล่าวว่า เจ้าของโรงงานยอมรับว่าช่วงนี้หมดตัว และทรัพย์สินที่มีอยู่ยินดีที่จะชดเชยให้กลุ่มคนงาน และถ้าคนงานเข้ามาดู ถ้าขายอะไรได้ก็ยินยอมพร้อมให้คนงานนำเงินไปเฉลี่ยเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือน แต่ติดอยู่ที่อสังหาริมทรัพย์มันขายไม่ได้ โดยไม่ต้องบังคับใครซื้อ ให้เอาไปเลหลัง หากขายทรัพย์สินได้และชำระหนี้ธนาคารแล้วจะจ่ายชดเชยให้คนงานทั้งหมด อย่างไรก็ตามเบื้องต้นโรงงานจะเปิดดำเนินการต่อไปตั้งแต่เช้าวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยฝ่ายรัฐบาลสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมสิ่งทอเข้าไปช่วยเหลือ ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้โรงงานสามารถอยู่รอดได้ต่อไป
จากนั้นคณะของนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ นายพิพรรษ และนางเยาวลักษณ์ เจ้าของบริษัท รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เดินทางมายังจุดที่มีการชุมนุมหน้าบริษัท ท่ามกลางการอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกือบร้อยนาย เพื่อร่วมแถลงผลการเจรจาซึ่งได้ข้อยุติเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายจำนวน 4 ข้อ คือ 1.บริษัทตกลงเปิดดำเนินกิจการตามปกติในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 08.00 น. โดยลูกจ้างตกลงยินดีเข้าทำงานตามปกติในวันเวลาดังกล่าว และจะร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกัน 2.นายจ้างตกลงว่าวันที่ 11-12 ก.ค.ถือเป็นวันทำงานตามปกติของลูกจ้าง 3.นายจ้างตกลงจะประกาศภายในวันนี้เพื่อยกเลิกประกาศปิดกิจการฉบับลงวันที่ 10 ก.ค. เพื่อเปิดกิจการทำงานตามปกติต่อไป และ 4.กรณีมีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของลูกจ้าง นายจ้างและผู้แทนลูกจ้าง รับจะปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
หลังจากทางพนักงานได้ยินประกาศแถลงการณ์ดังกล่าวต่างร้องไชโย บางรายถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความดีใจ พร้อมกับร่วมกันประกาศว่าจะตั้งใจทำงานให้บริษัทอย่างเต็มที่เต็มกำลัง จากนั้นทางพนักงานช่วยกันรื้อเต็นท์เก็บขยะและแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อเตรียมมาทำงานในวันรุ่งขึ้นพร้อมทั้งฝากขอโทษประชาชนที่ทำให้เดือดร้อน
ด้านนางเยาวลักษณ์กล่าวว่า เหตุที่ต้องปิดกิจการเพราะทนแบกรับภาระไม่ไหวประกอบกับมียอดจำหน่ายน้อยมากจึงจำเป็นที่ต้องปิดกิจการ แต่มาวันนี้ทางรัฐบาลรับปากว่าจะเข้าดำเนินการช่วยเหลือในด้านการส่งออก พร้อมกับจัดหาออร์เดอร์ให้ จึงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
นายอภัย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ภาพรวมระหว่างการเจรจานั้น ประเด็นที่ต้องหยุดงานเพราะว่าฝ่ายบริหารไม่มีเงินเดือนจ่ายให้แก่พนักงาน แต่ได้ผลสรุปว่าทางนายจ้างจะเปิดโรงงานในวันพรุ่งนี้ พร้อมทั้งออกมายอมรับผิดและขอโทษพนักงานทุกคน และทำข้อตกลงว่าต้องเปิดโรงงานตามปกติ ให้ 2 วันที่ผ่านมาเป็นวันทำงาน ทั้งนี้ต้องชมเชยตัวแทนที่มานั่งประชุมและลงไปอธิบายให้พนักงานทุกคนเข้าใจ จากการปรึกษากับ รมว.อุตสาหกรรม รวมถึงนายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่พร้อมจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเป็นโรงงาน แต่เนื่องจากทางกระทรวงแรงงานไม่มีข้อมูล แต่ทางกระทรวงแรงงานนั้นจะคอยดูแลนายจ้างและลูกจ้างให้เข้าใจกัน
นายอภัยกล่าวต่อว่า ทำอย่างไรที่เราจะประคองทั้ง 2 ฝ่ายให้ได้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแล เพราะทั้ง 2 กระทรวงควบคุมการผลิต การส่งออก การนำเข้า และเรื่องตลาด ถ้าถามว่าเราพอใจหรือไม่ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันได้ พรุ่งนี้โรงงานเปิด นายจ้างยกเลิกประกาศ และลูกจ้างต้องไปถอนแจ้งความ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีที่เกิดขึ้นนี้จะมีการป้องกันไม่ให้โรงงานอื่นทำตามอย่างไร นายอภัยกล่าวว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้อีกทางกระทรวงแรงงานจะหาทางช่วยเหลือและแนะนำในเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน พร้อมทั้งจัดหาบริษัทรองรับ อย่างในวันนี้ก็มีสถานประกอบการถึง 77 แห่ง รองรับอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ายังเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการอยู่
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 11.00 น. เจ้าของบริษัทไทยศิลป์ฯ จะมาร่วมหารือกับสถาบันสิ่งทอถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และจะพิจารณาร่วมกันว่าสถาบันจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของเขาอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากเกิดปัญหาโรงงานไทยศิลป์ฯ ปิดกะทันหัน สถาบันจะติดตามดูโรงงานสิ่งทอที่ปัจจุบันขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 4,500 รายเป็นพิเศษ เพราะมีแนวโน้มว่าโรงงานอีกประมาณ 10% หรือประมาณ 450 แห่ง เสี่ยงที่จะปิดตัวเองลง เนื่องจากโรงงานดังกล่าวดำเนินธุรกิจที่ไม่แข็งแรง และยังไม่ปรับปรุงตัวเองรับการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี
นายวิรัตน์กล่าวอีกว่า ช่วงปีที่ผ่านมามีโรงงานสิ่งทอปิดตัวไปแล้ว 109 แห่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้โรงงานดังกล่าวแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ และเมื่อผู้ผลิตรายใหญ่งดสั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการจึงปรับตัวไม่ได้ต้องปิดตัวลง หรือไม่ก็ต้องควบรวมกับโรงงานอื่น บางรายอาจย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามหรือประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่โรงงานที่ปิดตัวลงจะเป็นโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง ถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ เพราะทุกๆ ปีเมื่อมีโรงงานปิดตัวลงก็จะมีโรงงานสิ่งทอเปิดใหม่ประมาณ 30-40 แห่ง
"คงไม่สามารถเจาะจงเป็นรายโรงงานได้ว่าโรงงานไหนจะปิดตัวเองลง เพราะข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจโรงงานจะไม่ค่อยเปิดเผยให้ใครรู้ มันเป็นความลับทางธุรกิจ และคงไม่มีเจ้าของโรงงานคนไหนกล้ามาประกาศล่วงหน้าว่าจะปิดโรงงานตัวเอง โดยเชื่อว่าจะไม่มีโรงงานสิ่งทอปิดแบบกะทันหันแบบโรงงานไทยศิลป์ฯ อีก" นายวิรัตน์กล่าว
ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวอีกว่า โรงงานสิ่งทอขณะนี้ควรปรับปรุงตัวเองให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน สู้กับคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามได้ พร้อมทั้งต้องเร่งปรับปรุงนวัตกรรมการผลิตให้ทันสมัย ทันกับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลง หากโรงงานสิ่งทอมีความแข็งแรง ปัญหาค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในขณะนี้คงไม่ส่งผลกระทบทำให้โรงงานต้องปิดตัวเองลง
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังหารือร่วมกับนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม กรณีโรงงานของบริษัทไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการลงว่า ให้สถาบันสิ่งทอหารือร่วมกับนายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อติดตามว่ามีโรงงานใดที่ยังอยู่ในภาวะลำบาก และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องปิดโรงงานลงอีก เพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือทันเวลา เพราะยอมรับว่าสถานการณ์ที่ผันผวนจากค่าเงินและการแข่งขันในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่รุนแรงกับจีน และเวียดนาม อาจทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยปิดตัวลงอีก และจะลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอาหาร เฟอร์นิเจอร์ และยางพารา อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งเข้าไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัว ลดต้นทุนการผลิต และจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากๆ ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เขมร ลาว เวียดนาม
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ กล่าวถึงการปิดโรงงานเพราะปัญหาเงินบาทแข็งค่าว่า ผลกระทบต้องมีบ้างบางส่วน แต่ในภาพรวมคงไม่มี น่าจะเกิดขึ้นเฉพาะบางโรงงาน แต่ยอมรับว่ารัฐบาลมีความกังวลในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้กังวลจนเกินเหตุ เพราะมีผู้รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว อีกทั้งเราพูดมานานพอสมควรตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลว่าขอให้มีการปรับตัว ซึ่งบางส่วนปรับตัวได้แต่บางส่วนปรับตัวไม่ได้ต้องปิดตัวลง อย่างโรงงานที่ จ.สมุทรปราการ
ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ผันผวน จนบางฝ่ายห่วงว่าจะเกิดผลกระทบลูกโซ่ต่อผู้ประกอบการนั้น พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่น่ามีปัญหาที่น่าเป็นกังวลมากนัก ทางผู้ว่าฯ ธปท.กับ รมว.คลัง ติดตามเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนบริษัทที่มีปัญหาทราบว่ากระทรวงแรงงานได้เข้าไปแก้ไขแล้วคงไม่มีปัญหา ส่วนบริษัทอื่นๆ คงต้องดูตามกระบวนการไตรภาคี โดยกระทรวงแรงงานต้องรับผิดชอบต่อไป
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนไทยและต่างประเทศอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการขอให้มั่นใจและพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ให้มากขึ้น ส่วนนักลงทุนขณะนี้ก็มีเงินทุนระยะสั้นเข้ามาในตลาดหุ้นค่อนข้างสูง เราเฝ้าติดตามอยู่ สำหรับนักลงทุนไทยที่ลงทุนระยะสั้นก็ต้องระวัง
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด คงไม่ใช่การแข็งค่าของเงินบาทอย่างเดียว แต่บริษัทอาจมีปัญหาการบริหารการเงินมาแล้ว แต่ยอมรับว่าการที่เงินบาทแข็งค่ากระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งมีสัญญาณการขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว ดังนั้นโรงงานขนาดเล็กคงจะมีการลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่นอน
นายสุกิจ คงปิยาจารย์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ทางสมาพันธ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มตระหนักถึงความเดือดร้อนที่บริษัทไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการและทำให้พนักงานกว่า 5,000 คนตกงานทันที ในส่วนของสมาพันธ์ได้แจ้งไปยังสมาชิกของสมาคมสิ่งทอฯ เพื่อสอบถามว่าบริษัทใดมีความประสงค์ต้องการพนักงานเพิ่มเติม และวันนี้ได้มีการตั้งโต๊ะเปิดรับสมัครพนักงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีพนักงานสมัครเป็นจำนวนมาก แต่ก็เปิดอิสระให้กับพนักงานในการตัดสินใจอย่างเต็มที่
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอของส.อ.ท. ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 100 กว่ารายและเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ พบว่าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก ทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้า (ออร์เดอร์) ลดน้อยลง แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องปิดกิจการ หรือมีสัญญาณให้เห็นว่าจะมีการลดคนงาน เพราะตามปกติแล้วก่อนที่จะมีการปิดกิจการส่วนใหญ่ก็จะต้องมีการลดคนก่อน จึงไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับโรงงานไทยศิลป์ฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของส.อ.ท.ด้วย
"ตอนที่รู้ข่าวก็งงเหมือนกัน เพราะไม่เห็นมีใครรู้และแจ้งให้ทราบเลย อย่างไรก็ตามจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นพบว่าโรงงานไทยศิลป์ฯ รับออร์เดอร์จากไม่กี่ราย สัดส่วนการผลิตให้แต่ละรายเลยสูง บางรายสูงถึง 70% ทั้งที่ตามปกติควรจะมีการกระจายออร์เดอร์รับต่อรายสูงสุดไม่น่าเกิน 15% เพื่อป้องกันความเสี่ยง พอเกิดปัญหาจึงไม่สามารถหาออร์เดอร์อื่นมาแทนได้" นายสันติกล่าว
Source - เว็บไซต์ข่าวสด (Th)
Friday, July 13, 2007 08:29
จับตาเชื่อมั่นก.ค.ดิ่งเหวบาทพ่นพิษ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคว่า ต้องติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. โดยเฉพาะข่าวการปิดโรงงานสิ่งทอ อาจเป็นจุดเปลี่ยนของดัชนีความเชื่อมั่น จากเดิม ที่ศูนย์ฯคาดการณ์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจะฟื้นในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่จากผลกระทบจากจิตวิทยาที่เกิดขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคงกลับมาฟื้นยากในปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคหวาดวิตกว่า อาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยรอบใหม่
ผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนล่าสุดเป็นการเตือนภัยระดับสีส้มเข้ม และประชาชนเริ่มมองการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งเป็นผลกระทบทางจิตวิทยาต่อการหยุดการใช้เงินภาคประชาชน และการลงทุนในภาคธุรกิจ ดูได้จากผลสำรวจความเหมาะสมการใช้จ่ายเงินสัดส่วน 40%ระบุไม่เหมาะสมซื้อบ้าน รถยนต์ ท่องเที่ยว และลงทุน อีก 40% ลังเล เท่ากับเงินไม่เข้าระบบการค้ารวม 80% แล้ว หากความกังวลเรื่องค่าบาทแข็งแบบไม่มีจุดหมาย วิตกต่องานที่ทำ เกิดการปิดกิจการและอัตราว่างงานเพิ่ม แม้ตอนนี้อัตราว่างงานยังไม่น่าวิตก ซึ่งอยู่ที่ 1.8% แต่หากปล่อยสถานการณ์บานปลายให้อัตราว่างงานเกิน 2.5% หรือกว่า 4-5 แสนคนว่างงาน ย่อมกระทบต่อภาครวมทางสังคมและเศรษฐกิจ
ส่วนผลการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,243 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. 50 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกือบทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เนื่องจากคนยังวิตกปัจจัยลบเรื่องราคาน้ำมันที่ทรงตัวระดับสูง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งหวั่นเกรงว่าจะกระทบกับการส่งออกและทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง รวมทั้งผู้บริโภคยังไม่มั่นใจว่านโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเกิดผลเป็นรูปธรรม แม้จะมีปัจจัยบวกเข้ามามาก เช่น สถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลาย โดยการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับ 71.0 ลดจากพ.ค.ที่ระดับ 71.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ 71.9 จาก 72.2 ยกเว้นดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน อยู่ที่ระดับ 87.4 เพิ่มขึ้นจาก 87.1 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.เท่ากับ 76.8 ลดจากเดือนพ.ค.ที่ระดับ 76.9 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่าง ๆต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 74.0 ลดจาก 74.9 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 75.1 จาก 74.8
การสำรวจเดือนนี้ พบว่าคนยังวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ โดยดัชนีความเชื่อมั่นที่เกี่ยวกับปัจจุบันลดลงทุกรายการต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์อนาคตคนเริ่มวิตกน้อยลงทำให้ดัชนีเกี่ยวกับอนาคตปรับตัวดีขึ้นมา แต่ทุกรายการก็ยังเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 โดยอยู่ระดับต่ำสุดรอบ 49-64 เดือน
ด้านผลสำรวจภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภคเดือน มิ.ย. พบว่า ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในปัจจุบันอยู่ที่ 98.1 เพิ่มขึ้นจาก 97 ในเดือน พ.ค. ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีความสุขในการดำรงชีวิตในระดับปกติ.
Source - เดลินิวส์ (Th)
Friday, July 13, 2007 08:48