ส่งออกไทยไปสหรัฐตายสนิท!โดนพิษ ค่าเงินบาท-คุมเข้มอาหาร-ถูกตีกลับอื้อ
ส่งออกไทยไปสหรัฐตายสนิท!โดนพิษ ค่าเงินบาท-คุมเข้มอาหาร-ถูกตีกลับอื้อ |
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ |
20 กรกฎาคม 2550 09:12 น. |
 |
เหมือนเคราะห์ซ้ำ-กรรมซัด ธุรกิจอาหารไทย หลังเผชิญวิกฤตค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่อง ยังต้องแบกรับมาตรฐานการส่งออกไปสหรัฐฯเข้มงวดมากขึ้น ด้านส.อาหาร แนะผู้ประกอบการปรับตัวครั้งใหญ่หากหวังยึดครองแชมป์ส่งออก พร้อมชี้ช่องทางใหม่ เร่งเจาะตลาด Mainsteam Market มากขึ้นเพราะมีกำลังซื้อสูง ทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์กำลังเป็นที่สนใจตลาดสหรัฐฯ ข้อมูลของสถาบันอาหารในการส่งออกสินค้าอาหารไทยไปตลาดสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2545 - 2549 ที่ผ่านมาพบว่าสินค้าที่ส่งออก 4 กลุ่มหลัก คือ สัตว์น้ำ ธัญพืช ผักผลไม้ เครื่องเทศและเครื่องปรุงรส ถูกปฏิเสธการน้ำเข้าในตลาดสหรัฐฯมากถึง 346 รายจากผู้ส่งออกทั้งหมด 1,293 รายซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวแก้ไขด้านมาตรฐานการค้า เพื่อให้ได้ระบบมาตรฐานความปลอดภัยของคู่ค้า ในอนาคตไทยอาจเสียคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งอย่างตลาดสหรัฐฯไปให้กับประเทศอื่น พบ FILTHY มากสุด มะกันตีกลับอาหารไทย ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่สินค้าไทยถูกปฏิเสธการนำเข้าตลาดสหรัฐในช่วง 5 ปี (2545 -2549 ) ที่ผ่านมาคือการตรวจพบ FILTHY หรือสิ่งน่ารังเกียจ สิ่งเน่าเสีย มีมากถึงร้อยละ 33.47 ของจำนวนรายการสินค้าที่ไทยถูกปฏิเสธการนำเข้าทั้งหมด และพบอีกว่าร้อยละ 15.63 ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคหรือ SALMONELLA และผู้ประกอบการที่ถูกปฏิเสธส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ( SMEs ) ถึงร้อยละ 89 ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบในการส่งออกเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการกักสินค้าอาหารไทยในอนาคตนั้นสถาบันอาหารได้วางแนวทางให้ผู้ประกอบการปรับตัวหรือปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดคือ 1. ควรนำระบบ GAP มาใช้ในการควบคุมสุขลักษณะการผลิตและเผ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต 2. ต้องปรับปรุงมาตรฐานสินค้าอาหารไทยให้สอดคล้องกับระเบียบการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯโดยรัฐบาลควรออกมาตรการลดภาษีสนับสนุนในเรื่องงบประมาณเพื่อส้รางแรงจูงในให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการนำระบบ GMP/HACCP มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. เร่งเจรจากับสหรัฐเพื่อมอบอำนาจการตรวจสอบหรือตรวจวิเคราะห์อาหารสินค้าส่งออกให้แก่รัฐบาลดำเนินการแทน ข้อที่ 4. ให้รัฐบาลเชิญเจ้าหน้าที่ US FDA และศุลกากรที่ตรวจสินค้าไทยก่อนเข้าประเทศ สหรัฐฯแต่ที่ไม่เข้าใจหรือไม่รู้จักอาหารไทยดีพอมาตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตเครื่องเทศ และเครื่องปรุงรส 5. ให้ภาครัฐจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อชี้แจงกฎระเบียบการค้าใหม่ๆที่จะนำมาใช้ในอนาคตเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้ทัน และ 6. ผู้ส่งออกผัก/ผลไม้และผลิตภัณฑ์เรียกร้องให้ภาครัฐจัดตั้งองค์กรของไทยในสหรัฐฯเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการติดฉลากอาหารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนที่สาเหตุมาจากสหรัฐฯเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับบ่อยครั้งและยังให้ลงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์มากเกินไป Bioterrorism Act ปัญหาใหญ่ ด้าน รศ.ดร. สุคนธ์ชื่น ศรีงาม ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีอีกกฎหมายหนึ่งที่สหรัฐฯได้ประการบังคับใช้ออกมาเพื่อป้องกันหลังเกิดวินาศกรรมหลัง 11 กันยา 2001 คือ Bioterrorism Act. ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการป้องกันภัยทางชีวภาพในอาหารของสหรัฐฯซึ่ง FDA (คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ)ได้ออกกฎระเบียบไว้ถึง 4 ฉบับคือ 1. การจดทะเบียนสถานถานประกอบการผลิต แปรรูป บรรจุ และเก็บรักษาอาหาร 2. การจัดทำและเก็บรักษาสถิติ 3. การแจ้งล่วงหน้ากำหนดเวลาสินค้าถึงสหรัฐฯ และสุดท้าย 4. การกักสินค้าโดยฝ่ายบริหาร ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดกฎหมายให้ถ่องแท้ เพราะการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯหากไม่ได้มาตรฐานตามระเบียบที่กำหนดสินค้าอาจกักกัน/ตีกลับได้ หรืออย่างน้อยต้นทุนก็เพิ่มขึ้นในระหว่างทำคำชี้แจงกรณีสินค้าถูกกัน ค่าเงินทำส่งออกสูญ 4 พันล้าน ! ในด้าน สถานการณ์การส่งออกช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550( ม.ค.-พ.ค. ) อุตสาหกรรมอาหารของไทยสูญเสียเม็ดเงินจากการส่งออกไปแล้ว 4,000 ล้านบาทและคาดว่าแนวโน้มในไตรมาส 3 ปี 2550 อาจขยายตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของสหรัฐ ซึ่งทางสถาบันอาหารเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2550 หวั่น เวียดนาม จีนแย่งตลาด อย่างไรก็ตามตลาดสหรัฐฯยังเป็นตลาดหลักในการส่งออกอาหารของไทย เพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 8% ต่อปีและในปี 2549 ที่ผ่านมาตลาดสหรัฐฯยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทยอันดับ 1 โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 104,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเดิมเคยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 92,058 ล้านดอลลาร์โดยสินค้าที่ส่งออกที่สำคัญ อาทิ กุ้ง ทูน่ากระป๋อง ข้าว ปูกระป๋อง และผักผลไม้กระป๋อง เป็นต้น ผอ.สถาบันอาหาร ระบุว่า ผู้ประกอบการต้องเพิ่มศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และมาตรฐานให้ตรงตามระเบียบในการนำเข้าของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับตลาดคู่แข่ง เช่น จีน และเวียดนาม ที่ได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงานถูกกว่าดังนั้นผู้ประกอบการคนไทยจึงต้องเร่งปรับตัวก่อนที่ประเทศคู่แข่งจะแย่งตลาดไปครอง เจาะMainsteam Market หนุนส่งออก เกษตรอินทรีย์ ไปสหรัฐ ขณะที่ รณชัย ชัยบัตร์ รองประธานบริษัท ASIA etc.เทรดเดอร์รายใหญ่ที่นำเข้าอาหารไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ กล่าวว่า การนำเข้าอาหารในตลาดสหรัฐฯมี 2 กลุ่มหลักคือ 1. Ethnic Market ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากประเทศไทยแต่ตลาดนี้จะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มในสหรัฐฯที่คนจากต่างชาติย้ายถิ่นฐาน หรือมาทำงานในสหรัฐฯเป็นผู้บริโภคและมีความต้องการสินค้าซึ่งมีหลายกลุ่มอาทิ Oriental Market ผู้บริโภคจะเป็นชาวลาว ไทย และเวียดนาม, Hispanic Market ผู้บริโภคจะเป็นชาวละตินอเมริกา และอเมริกาใต้, Indian Market ผู้บริโภคจะเป็นชาวอินเดีย และสุดท้ายกลุ่ม Mexican Market ผู้บริโภคจะเป็นจะเป็นชาวเม็กซิกัน ขณะเดียวกันมีตลาดที่สองอย่าง Mainsteam Market ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าและมีกำลังซื้อมากกว่าตลาดแรกเพราะผู้บริโภคจะเป็นชาวอเมริกันโดยตรง ทั้งอาหารและสินค้าไทยกลับเข้าไปไม่ถึงซึ่งผู้ประกอบการควรจะหันมาจับตลาดดังกล่าวมากกว่าตลาดแรกดูได้จากการขยายตัวมากกว่า 10% ต่อปีและมีมูลค่าตลาดสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญต่อปี สินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากคือสินค้าพวก Natural / Organic ซึ่งไทยมีสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ส่งออกอยู่แล้วจะควรหันมาทำตลาดในกลุ่มนี้อย่างจริงจังเพราะมีมูลค่าตลาดถึงปีละ 3,500 -4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปัจจุบัน รณชัย ระบุ
| | |