100ค้าปลีกฮือขู่บุกทำเนียบ 'เซ็นทรัล'นำทัพชนรัฐบาล
กลุ่มทุนค้าปลีกยักษ์ออกโรงผนึกกำลังผู้ประกอบการกว่า 100 บริษัท เปิดประชุมลับซาวน์เสียงคัดค้านร่างพ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฯ ก่อนสร้างเครือข่ายยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี - รมต.พาณิชย์ ระบุเชนสโตร์ เอสเอ็มอี รวมถึงธุรกิจสิ่งทอ เครื่องหนัง อาหาร กระทบกราวรูด ด้าน ก. พาณิชย์ เร่งดันร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกฯ เข้าสนช.เต็มสปีด คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล
ขณะที่ร่างพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ ฉบับของกระทรวงพาณิชย์ และฉบับคณะกรรมาธิการพาณิชย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนตามที่กำหนดไว้นั้น ล่าสุดกลุ่มผู้ประกอบการศูนย์การค้า นำโดยนายกอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา และประธานสมาคมศูนย์การค้าไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการเรียกประชุมผู้เช่าพื้นที่รายใหญ่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เพื่อรับฟังความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น
โดยนายกอบชัย กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่ได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฯ ทั้งสองฉบับพบว่า มีหลายมาตราที่ยังขาดความชัดเจน และจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีกในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีเชนสโตร์ อาทิ ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น ร้านเครื่องหนัง ร้านหนังสือ เป็นต้น โดยมาตราที่เข้มข้นและมีผลกระทบมากที่สุดคือ มาตรา 24 ของร่าง พ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฯ ฉบับ สนช. ซึ่งค่อนข้างมีความซับซ้อน และยากต่อการปฏิบัติ ซึ่งในฐานะที่บริษัทเป็นผู้บริหารศูนย์การค้า และมีเครือข่ายร้านค้าที่ร่วมเป็นพันธมิตรจำนวนมาก จึงเรียกประชุมร้านค้าเช่าที่มีเชนสโตร์ เพื่อบอกกล่าวความคืบหน้าและผลที่เกิดขึ้นจากร่างพ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และแนวทางการปฏิบัติ
หลังจากนั้นจะมีการจัดทำหนังสือ เพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาหอการค้า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการใช้กฎหมายที่ผิดวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาในภาคธุรกิจค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีการแบ่งการทำงานด้วยการให้ผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจนำเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่สังกัด เช่น ธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้า จะนำเสนอต่อสภาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ธุรกิจเครื่องหนัง นำเสนอต่อสภาอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เป็นต้น เพื่อให้ช่วยผลักดันและบอกต่อถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว
ทั้งนี้จากการสอบถามผู้ประกอบการายหนึ่งกล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการอัพเดทข้อมูล เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายคิดว่าการจัดทำร่างพ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฯ มีผลกับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือดิสเคาน์สโตร์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้าง ทั้งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงธุรกิจกับร้านโชวห่วยเลย
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการค้าปลีกจากเชนสโตร์ที่เข้าร่วมประชุมกว่า 100 รายนั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฯ ทั้งสองฉบับ เพราะขาดความชัดเจน อีกทั้งที่ผ่านมาเชื่อว่าผู้จัดทำร่างไม่ได้คิดถึงผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆในวงกว้าง
"ต่อไปหากจะเปิดสาขาใหม่ ต้องขออนุญาต ต้องแจ้งคณะกรรมการ และอีกหลายต่อหลายเรื่องกว่าจะได้รับการอนุมัติหรือเปิดสาขาได้คาดว่าต้องใช้เวลา 6-12 เดือน แทนที่ธุรกิจจะเดินหน้าได้เร็วขึ้น ก็ลำบาก" ผู้ประกอบการรายหนึ่งกล่าว
ด้านนายตะติยะ ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฯ ดังกล่าวมีผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีก ศูนย์การค้าในวงกว้าง แม้ซีคอนสแควร์จะไม่มีแผนลงทุนศูนย์การค้าใหม่ แต่การดำเนินธุรกิจย่อมมีการรีโนเวต หรือลงทุนในศูนย์ตลอดเวลา เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่รุนแรง และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาผู้ประกอบการศูนย์การค้าภายใต้สมาคมศูนย์การค้าไทยได้มีการหารือถึงปัญหาและเตรียมที่จะเดินสายชี้แจงปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฯ ฉบับกระทรวงพาณิชย์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ว่า ล่าสุดแล้วเสร็จ และนำเสนอต่อมายังกระทรวงพาณิชย์แล้วในวันอังคาร (25 ก.ย. ) ที่ผ่านมา และได้มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจเป็นครั้งสุดท้าย และคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ก่อนส่งต่อยังสนช. เพื่อประกาศใช้ในเร็วๆนี้
อนึ่งในมาตรา 24 ของร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ ฉบับสนช. มีสาระสำคัญดังนี้ (1) การประกอบธุรกิจซึ่งมีขนาดพื้นที่ขายของสถานประกอบกิจการขายสินค้าแห่งใดแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป (2) การประกอบธุรกิจที่มียอดรายได้ในปีที่ผ่านมาของทุกสาขารวมกันตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป (3) การประกอบธุรกิจที่มีขนาดพื้นที่ขายของสถานประกอบกิจการขายสินค้าต่ำกว่า 1,000 ตร.ม.ที่ใช้ชื่อในการประกอบธุรกิจ โดยมีส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อ ประกอบด้วย ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ ของผู้ประกอบธุรกิจนั้นเองหรือโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลอื่นที่เป็นเจ้าของชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ จะต้องขออนุญาต ประกอบธุรกิจ
Source - ฐานเศรษฐกิจ (Th)
Wednesday, September 26, 2007 06:47