การประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาล ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ในกรุงย่างกุ้งโดยกลุ่มอดีตผู้นำนักศึกษา และนักเคลื่อนไหวทางสังคมเพียงประมาณ 500 คน แต่ในชั่วเวลาเพียง 1 เดือน การประท้วงได้ลุกลามและขยายออกไปอย่างกว้างขวาง สู่เมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยมีพระสงฆ์เป็นหัวหอกในการเดินขบวน จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ (24 ก.ย.) จำนวนผู้ประท้วงในกรุงเก่าย่างกุ้งทั้งสงฆ์และฆราวาสได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100,000 คน เป็นเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 19 ปีในประเทศนี้ ต่อไปเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา: 15 ส.ค. 2550 ราคาน้ำมันดีเซลถูกปรับสูงขึ้นขณะที่ราคาแก๊สธรรมชาติก็เพิ่มขึ้น 5 เท่า โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า ทำให้รถประจำทางหลายสายจำเป็นต้องหยุดวิ่ง 19 ส.ค. 2550 ประชาชนประมาณ 500 คนเดินขบวนอย่างสงบ ไปตามถนนในกรุงย่างกุ้ง ไม่มีการตะโกนคำขวัญ หรือ การถือป้ายข้อความประท้วงใดๆ เนื่องจากการขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 2 ปีอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้ประชาชนไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นได้
|
นอกจากนี้ยังมีการใช้กำลังปราบปรามผู้เข้าชุมนุม โดยมีผู้อัดภาพวีดีโอไว้ได้ด้วย
|
21 ส.ค. 2550 แกนนำผู้ประท้วง 13 คนถูกตำรวจจับกุมในข้อหาจัดตั้งการเดินขบวนอย่างสงบ โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2531 โดยเรียกชื่อกลุ่มตัวเองว่า "88 Generation Students" หรือ นักศึกษายุคปี '88
|
22 ส.ค. 2550 ประชาชนประมาณ 150 คน รวมตัวกันเดินขบวนอีกครั้งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง
|
23 ส.ค. 2550 กลุ่มผู้เดินขบวนประมาณ 40 คนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจับ โดยสื่อของทางการรายงานในเวลาต่อมาว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีความผิดฐานวางแผนให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ รัฐบาลประกาศเตือนผ่านหนังสือพิมพ์ นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ว่า ผู้ก่อความวุ่นวายจะพบจุดจบเช่นเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบในปี 2531 ขณะที่นางอองซานซูจี ถูกย้ายตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำอิงเส่ง 24 ส.ค. 2550 ทางการพม่าจับกุมกลุ่มผู้เดินขบวนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรี หลังพบว่ามีการรวมตัวกันบริเวณใกล้ศาลากลางกรุงย่างกุ้ง แม้จะยังไม่ได้มีการเดินขบวนก็ตาม
|
25 ส.ค. 2550 มีตำรวจในเครื่องแบบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยตรวจตราตามท้องถนน 27 ส.ค. 2550 ทางการพม่าแก้ต่างว่าการขึ้นราคาน้ำมันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศ 28 ส.ค. 2550 พระสงฆ์เข้าร่วมการประท้วงเป็นครั้งแรก ที่เมืองสิตต่วยในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ หลังจากการประท้วงครั้งแรกสองสัปดาห์ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหวทางสังคมและสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเอ็นแอลดี 5 ก.ย. 2550 พระสงฆ์ในเมืองปะก๊อกกู (Pakokku) นำประชาชนประท้วง โดยการเดินสวดมนต์ไปตามถนนในเมือง เหตุการณ์เลวร้ายลง หลังจากทหารยิงปืนข่มขู่ และ เข้าทุบตีพระ
|
6 ก.ย. 2550 กลุ่มพระภิกษุชุมนุมอีกครั้งและมีการบุกทำลายร้านค้า บ้านเรือนของผู้นำทหาร พร้อมทั้งควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นตัวประกันนานหลายชั่วโมง เริ่มมีเสียงคัดค้านจากนานาชาติถึงการกระทำรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วงรวมทั้งพระสงฆ์ ขณะที่แกนนำผู้ประท้วงคนหนึ่งเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติหรือ UN จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น 7 ก.ย. 2550 สื่อทางการรายงานว่า กลุ่มพระสงฆ์กำลังพยายาม "ปลุกระดมสร้างความไม่พอใจของสาธารณชนเพื่อที่จะยุยงให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับในปี 2531" ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ของสหรัฐฯ กล่าวโจมตีรัฐบาลทหารพม่า ระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มเอเปก (APEC) ในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด ขณะเดียวกันมีผู้ชุมนุมประท้วงการกระทำของรัฐบาลพม่าที่หน้าสถานทูตออสเตรเลีย
|
11 ก.ย. 2550 พระสงฆ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ กรณีทำร้ายพระสงฆ์จากเมืองปาป๊อกกู 16 ก.ย. 2550 ภิกษุในเมืองสิตต่วยถูกจับกุม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาพม่าถูกคุมขัง 17 ก.ย. 2550 สถานีวิทยุต่างประเทศภาษาพม่ารายงานว่าคณะสงฆ์ผู้ต่อต้านรัฐบาลปฏิเสธรับบิณฑบาตรจากผู้นำทหารพม่ารวมทั้งครอบครัวและเครือญาติ ซึ่งถือเป็นปฏิกิริยาที่รุนแรงของสงฆ์ต่อทางการพม่า 18 ก.ย. 2550 พระภิกษุจำนวนประมาณ 300 รูปรวมตัวประท้วงใน 2 เมืองใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ขณะที่พระสงฆ์อีก 90 รูปเดินขบวนอย่างสงบตามท้องถนนในเมืองอองลาน (Aunglan) ทั้งหมดเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ ในกรณีเจ้าหน้าที่ทำร้ายพระภิกษุเมื่อวันที่ 5 ก.ย.
|
|
19 ก.ย. 2550 พระสงฆ์ยังคงรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงในกรุงย่างกุ้งโดยเพิ่มจำนวนถึงกว่า 2,000 รูป โดยส่วนหนึ่งพยายามมุ่งหน้าสู่มหาเจดีย์ชเวดากอน แต่ถูกสกัดกั้น 20 ก.ย. 2550 พระสงฆ์ราว 400 รูป เดินร่วมขบวนเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน โดยเดินสวดมนต์ไปตามถนนกรุงย่างกุ้งอีกครั้ง ขณะที่ทางการพม่ากล่าวหาว่าพระสงฆ์ที่ร่วมเดินขบวนเป็นพระปลอม
|
22 ก.ย. 2550 ผู้ประท้วง ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นกว่า 10,000 คน โดยนาง อองซานซูจี ได้ออกมานมัสการพระสงฆ์ด้วยน้ำตานองตาระหว่างที่ขบวนประท้วงผ่านหน้าบ้านพัก
|
24 ก.ย. 2550 เกิดการเดินขบวนใหญ่โตอย่างเกินความคาดหมาย เมื่อฝูงชนหลายหมื่นคนเข้าร่มขบวนประท้วงของพระหลายหมื่นรูป ก่อให้เกิด "กองทัพธรรม" ที่มีกำลังพลกว่า 100,000
|
ขบวนประท้วงของพระสงฆ์สวดมนต์ภาวนาที่เจดีย์มหาชเวดากอน ซึ่งเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ในพม่า ก่อนเริ่มเดินขบวนไปสู่ใจกลางกรุงย่างกุ้ง
|
ขณะที่ระหว่างทางประชาชนที่พบเห็นต่างปรบมือและร่วมสวดมนต์เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่กลุ่มผู้ประท้วง
|
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสถาบันศาสนาพุทธในพม่ามีบทบาทสำคัญต่อการเมืองของประเทศ ตั้งแต่การเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ รวมทั้งการร่วมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าปี 2531 ดังนั้นการเดินขบวนประท้วงซึ่งนำโดยพระสงฆ์ในครั้งนี้จึงเป็นที่น่าจับตามอง
|
25 ก.ย. 2550 ทางการประกาศเคอร์ฟิวในกรุงย่างกุ้ง กับเมืองมัณฑะเลย์ โดยห้ามให้มีการชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไปตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะกรณีใดๆ และห้ามออกจากบ้านในยามวิกาล เป็นเวลา 60 วัน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ยังขู่จะจัดการกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาดอีกด้วย สหภาพยุโรปประกาศจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรประเทศพม่า หากมีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม 26 ก.ย. 2550 ตำรวจพม่าตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตา ใส่กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งนำโดยพระสงฆ์ และยิงปืนเข้าใส่ในเวลาต่อมา ทำให้พระสงฆ์ถูกยิงได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 17 รูป |