ไฟการเมืองพม่าเผาศก.ไทย
> ผวาส่งออกวูบหาย-แรงงานเถื่อนเกลื่อนเมือง
ยอดค้าชายแดนไทย-พม่าหล่นฮวบ 50% หลังเจอพิษป่วนเมือง เฉพาะ ด่านแม่สอดยอดขายวันละ 45 ล้านบาท เหลือแค่ 10 ล้านบาท ไม่เว้นกระทั่งสินค้าใต้ดินที่พ่อค้าหม่องหายเรียบ กลัวโดนกวาด นักลงทุนหนีซบเวียดนามเพราะสุดทนระบบคอร์รัปชั่น ขณะที่กลุ่ม ซีพียันเดินหน้าตามแผน ด้านก๊าซธรรมชาติยังขนส่ง ปกติ หวั่นแรงงานพม่านับล้านทะลักเข้าไทยเหตุทหารพม่ารู้ที่ซ่อนกลุ่มต่อต้าน
นายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการการค้าชาย แดน หอการค้าไทย เปิดเผย สยามธุรกิจิ ว่าด่านการค้าชายแดน ระหว่างไทย-พม่าที่เปิด อย่างเป็นทางการมีทั้ง หมด 4 จุดคือ 1.ด่าน แม่สอด 2.ด่านระนอง 3. ด่านกาญจนบุรี 4.ด่าน แม่สาย ในปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับพม่ามีมูลค่าประมาณกว่าแสนล้านบาท โดย 6 หมื่นล้านบาท เป็นการนำเข้าก๊าซจากพม่า ที่เหลืออีกเกือบหมื่นล้านบาทเป็นมูลค่าสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยไทยส่งออกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นำเข้า 5 พันล้านบาท หักกลบ ลบหนี้แล้ว เท่ากับว่าไทยขาดดุลพม่า ประมาณประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยยอดขาดดุลส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าแก๊สธรรมชาติ
" หากเปรียบเทียบมูลค่าการค้าในแต่ละจุดแล้วพบว่าด่านแม่สอดทำรายได้สูงสุดคือมีมูลค่าการค้าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ระนอง 3 พันล้านบาท และแม่สาย 2.5 พันล้านบาท ที่เหลือส่งจากกรุงเทพฯ ส่วนด่านกาญจนบุรีปิดไปแล้ว มีเพียงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นการส่งผ่านท่อ ปัจจุบันด่านแม่สายกับระนองยังถือว่าไม่กระทบมาก เพราะการค้าขายส่วนหนึ่งยังเป็นการค้าแบบใต้ดิน แต่แม่สอดะยายามทำอย่างถูกฎหมาย โดยมีการตรวจสอบสินค้านำเข้าส่งออกอย่างเข้มงวดปรากฎว่ายอดปี 2550 ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาตกลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2549 เหลือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าเคยขายได้วันละ 45 ล้านบาทก็เหลือเพียงวันละ 30 ล้านบาท แต่พอมาเกิดเหตุการณ์ ไม่สงบขึ้นในประเทศพม่าเชื่อว่ายอดจะลดลงอีกเหลือเพียงวันละ 10 ล้านบาท" นายนิยมกล่าว
" ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นจะลดลงทันตาเห็น เพราะพ่อค้าในพม่าจะไม่กล้าขนเข้าไป เนื่องจากขนส่งผ่านใต้ดินก็อาจถูกจับได้"
นายนิยมยังกล่าวสถานการณ์ของแก๊สธรรมชาติที่ไทยสั่งซื้อจากพม่าว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการขาดแคลน เนื่องจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะเป็นบริษัทจากอเมริกาและยุโรป ถึงแม้อเมริกาและยุโรปจะประกาศบอยคอตทางการค้า แต่ในทางปฏิบัติก็ยังดำเนินธุรกิจในพม่าต่อไป โดยคาดว่ายอดสั่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติของไทยจากพม่าปีนี้อาจเพิ่มขึ้นตามยอดความต้องการใช้ไฟคือจาก 6 หมื่นล้านบาทเป็น 8 หมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่ายอดขายดุลทางการค้าของไทยต่อพม่าจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น
ส่วนในด้านเงินกู้ที่พม่ากู้จากไทยไป 4 พันล้านบาทและเกรงกันว่าจะไม่ได้รับการใช้คืนนั้น โดยส่วนตัวขอยืนยันว่าจะไม่เกิดปัญหาแน่ เพราะว่ารัฐบาลพม่ามีความเป็นสุภาพบุรุษยึดมั่นในสัจจะ เช่นเดียวกับการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติซึ่งรัฐบาลพม่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงอย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีก๊าซธรรมชาติจากพม่าส่งเข้ามาเมืองไทย
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือหลังจากเกิดเหตุการณ์จะมีชาวพม่าหลบหนีเข้าเมืองไทยอีกจำนวนมหาศาล จากปัจจุบันมีแรงงานพม่าอยู่ในเมืองไทยประมาณ 1.2 ล้านคน คาดว่าอาจมีทะลักเข้ามาอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เนื่องจากรัฐบาลพม่านั้นมีเครือข่ายอยู่ตามจุดต่างๆทั่วประเทศ จึงรู้ว่าชนกลุ่มไหนเป็นแกนนำในการออกมาต่อต้านครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้กลุ่มต่อต้านใช้วิธีหลบหนีเข้าเมืองไทย ซึ่งหากไทยไม่ป้องกันแต่เนิ่นๆจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติและระดับโลกในอนาคตแน่นอน
" ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้แรงงานเมืองไทยขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมประมง ผู้ประกอบการไทยจึงต้องการแรงงานต่างชาติจำนวนไม่อั้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรก็มีจำนวนไม่เพียงพอ จึงเข้าทำนองเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ซึ่งถ้าแรงงานเหล่านี้เข้ามาปักหลักอยู่กันถาวรก็จะออกลูกออกหลานเพิ่มปริมาณมากขึ้นอีก เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องเร่งจัดการโดยด่วน " นายนิยม กล่าว
นายนิยมยังกล่าวถึงสถานการณที่เกิดขึ้นว่าคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของพม่าได้ในชั่วข้ามคืน เพราะรัฐบาลทหารนั้นได้วางเครือข่ายกระจายแน่นในทุกพื้นที่ เพียงแต่ประชาชนในพม่านั้นมีหลายกลุ่ม เช่น มอญ กระเหรี่ยง ขิ่น ไทยใหญ่ ฯลฯ ซึ่งหลายกลุ่มพยายามก้าวขึ้นมาปกครองตนเอง และอาจนำมาสู่การต่อต้านการปกครองในครั้งนี้
สำหรับธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในพม่า โดยเฉพาะในมัณฑเลย์ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดเหตุนั้น นายนิยมได้ยกตัวอย่างกลุ่มทุนใหญ่ๆ เช่น กลุ่มซีพี กลุ่มโรงแรมใบหยก กลุ่มโรงแรมอันดามัน เป็นต้น
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มเกษตรของประเทศไทย เครือซีพี เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่ายอมรับว่าสถานการณ์ล่าสุดของพม่าถือว่ารุนแรงมาก ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุลักษณะนี้มานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเครือซีพีที่ไปลงทุนแน่ ปัจจุบันธุรกิจที่กลุ่มเข้าไปลงทุนในพม่าประกอบด้วยธุรกิจห้องเย็น และธุรกิจเกษตรเช่น กุ้ง ไก่ อาหารสัตว์ รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชให้กับเกษตรกรชาวพม่า มูลค่าการค้าขายส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเป็นหลัก ประมาณ 500 ล้านบาท สำหรับนโยบายกลุ่มซีพียังเดินหน้าลงทุนในพม่าตามเป้าหมายเดิมเพราะเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน
ด้าน ดร.จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจสำรวจผลิตและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผย สยามธุรกิจิ ว่ากำลังติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าคงไม่มีปัญหา การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพม่าจะไม่ส่งผลกระทบการส่งก๊าซจากพม่าเข้ามาในไทยแต่อย่างใด แม้จะมีการแทรกแซงจากสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นเรื่องของธุรกิจที่ผู้ลงทุนต้องมีสัญญากับลูกค้า หากมีเหตุสุดวิสัยจนมีการปิดวาวที่ปากหลุมก็ได้เตรียมแผนฉุกเฉินไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม เรายังมีก๊าซในอ่าวไทยพร้อมป้อนการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากมีระบบท่อที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งหมดแล้ว เช่นเดียวกับการส่งน้ำมันของ ปตท.เข้าไปขายที่พม่าก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ขณะที่นายทรงภูมิ กลางประพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี.พี.เอ็ม.กรุ๊ป จำกัด บริษัททำเหมืองพลอย เปิดเผย สยามธุรกิจิ ว่าตนทำเหมืองพลอยในประเทศพม่ามาเกือบสิบปีโดยการลงทุนร่วมกับนักลงทุนท้องถิ่น โดยขุดพลอยได้แล้วนำไปขายให้รัฐบาลพม่าเพื่อส่งออกมาประเทศไทยเจียระไนและผลิตตัวเรือน แต่ปัจจุบันกำลังเตรียมย้ายฐานการผลิตจากพม่าไปเวียดนามแทน
"ตอนนี้ผมได้เตรียมขนย้ายเครื่องมือออกจากประเทศพม่าแต่ยังติดกฎระเบียบบางอย่างทำให้ยังขนย้ายไม่ได้ สาเหตุที่อยากย้ายการลงทุนก็เนื่องจากต้นทุนการทำเหมืองในประเทศพม่าเพิ่มขึ้นสูงมาก ประกอบการกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนเท่าไหร่นัก มีการคอรัปชั่นสูง ต้องจ่ายเบี้ยใบ้รายทางหลายต่อ จึงคิดว่าจะย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเวียดนามที่เอื้อต่อการลงทุนมากกว่าแทน" นายทรงภูมิ กล่าว
ก่อนหน้านี้ องค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (ทีไอ) ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับความโปร่งใสของ 180 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศที่มีคอรัปชั่นมากที่สุดคือประเทศพม่า ในขณะที่ประเทศที่มีการคอรัปชั่นน้อยที่สุดส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ในขณะที่ประเทศไทยนั้นครองอันดับคอรัปชั่นสูงเป็นลำดับที่ 84 เท่ากับอีก 7 ประเทศคือ จาเมกา, คิริบาติ, เลโซโธ, มาเซโดเนีย, มัลดีฟส์, มอนเทเนโก และ สวาซิแลนด์
นายอำพล ฉัตรชัยฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่าการค้าชายแดนปีนี้แม้จะไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพม่าก็ซบเซากว่าปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว โดยเฉพาะครึ่งปีแรกนั้นมียอดตกลงไปแล้วกว่า 20% โดยมีสาเหตุหลักๆ 4 ประการคือ
1.เงินจ๊าดตกเนื่องจากประเทศทั่วโลกไม่รับรองประเทศพม่า ทำให้ปัจจุบันเงิน 100 จ๊าดแลกเป็นเงินไทยได้เพียง 2.50 บาท ชาวพม่าจึงรู้สึกว่าสินค้าไทยแพงขึ้น 2.สินค้าไทยถูกสินค้าจีนตีตลาด ซึ่งนอกจากราคาจะถูกกว่าแล้ว จีนยังพยายามสนับสนุนพม่าด้วยโครงการต่างๆมากมาย ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันไปใช้สินค้าบริโภคจากจีนแทน 3.เมื่อปีที่ผ่านมามีผู้นำเข้าพม่าถูกจับกุมจำนวนมาก จากปัญหาการค้าขายใต้ดิน ทำให้สินค้าไทยถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น 4.สะพานไทย-พม่าเกิดการชำรุดทำให้ต้องหยุดซ่อมและสร้างสะพานแบริ่งใช้แทนชั่สคราว แต่สะพานดังกล่าวรับน้ำหนักรถได้ไม่เกิน 12 ตัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
สำหรับสถิติการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับพม่า ซึ่งบันทึกไว้กรมการค้าต่างประเทศพบว่า การค้ารวมปี 2549 มีมูลค่า 117,481.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.1 โดยไทยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 59,861.2 ล้านบาท
ส่วนมูลค่าการค้าปี 2550 (ม.ค.- ก.ค.) มูลค่าการค้ารวม 61,907.8 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.5 โดยไทยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 23,784.4 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ น้ำมันพืช ผ้าทอ ผ้าผืน น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ใขขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญคือ ก๊าซธรรมชาติ โค กระบือ ถ่านหิน เฟอร์นิเจอร์ ปลาสด กุ้งสด
Source - สยามธุรกิจ (Th)
Saturday, September 29, 2007 08:02