ทุนไทยลุ้นระทึก!พม่าจลาจล ค้าชายแดนวูบ-ท่องเที่ยวอ่วม
พิษพม่าจลาจลฉุดการค้าชายแดนแม่สอดกระอัก ออร์เดอร์สินค้าวูบ 80% ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรีมีสิทธิปิดยาว ขณะที่นักท่องเที่ยวเริ่มแหยง งดข้ามแดน ยกเลิกทัวร์ระนาว "แอตต้า" ชี้กระทบแค่ระยะสั้น มั่นใจธุรกิจ ท่องเที่ยว-โรงแรมไทยในพม่าเอาตัวรอดได้ ขณะที่กลุ่มนักลงทุนไทยโครงการใหญ่ยังรอดูสถานการณ์
แม้จะมีความพยายามจากนานาประเทศที่ร่วมประณามรัฐบาลทหารของพม่าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมในเมืองร่างกุ้งและอีกหลายๆ เมืองด้วยความเด็ดขาดรุนแรง ส่งผลให้ประชาชน พระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ ทั้งยัง มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์จลาจลในพม่าอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลของพม่าก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะยอมรับข้อเรียกร้องจากชาติมหาอำนาจ รวมถึงความพยายามของตัวแทนองค์การสหประชาติที่หาทางเจรจากับผู้นำในรัฐบาลพม่าอยู่ในขณะนี้
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจ การค้า และการร่วมลงทุนของประเทศไทย โดยในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่เข้าไปลงทุนโดยตรงในพม่า อาทิ การลงทุนด้านพลังงาน อุตสาหกรรม การเกษตร ท่องเที่ยว-โรงแรม (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ) นั้นยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจที่เข้าไปลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มทุนท่องเที่ยวที่เข้าไปเปิดโรงแรมก็ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามรูปธรรมของผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ บรรยากาศการค้าตามชายแดนไทย-พม่า ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.แม่ฮ่องสอน, ตาก, กาญจนบุรี ไปจนถึงระนอง ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในสถานการณ์การค้าการลงทุนในช่วงนี้ด้วย
แม่สอดระส่ำ ออร์เดอร์สินค้าวูบ 80%
นายจิระศักดิ์ ไพบูลย์ธรรมโรจน์ ประธานชมรมพ่อค้าชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก เปิดเผยว่า ปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจากพม่าที่ปกติมีมูลค่าเฉลี่ยวันละกว่า 30 ล้านบาท ลดลงจนเกือบหยุดโดยสิ้นเชิง การสั่งสินค้าจากจังหวัดภายในของพม่าลดลงกว่า 80% เพราะทุกฝ่ายไม่มั่นใจในสถานการณ์
นอกจากนี้มีความหวั่นเกรงกันว่ารัฐบาลพม่าอาจยกเลิกเงินจ๊าต เช่นที่เคยทำเมื่อหลายปีก่อนในช่วงที่ค่าเงินจ๊าตตกต่ำหนัก ปัจจุบันค่าเงินจ๊าตตกต่ำอยู่ที่ 100 จ๊าตต่อ 2 บาทเศษ เมื่อรวมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหนัก และสินค้าราคาแพงขึ้น จึงอาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการดังกล่าว ทุกฝ่ายจึงชะลอการถือครองเงินจ๊าต
นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า พ่อค้าพม่าส่วนใหญ่ปิดกิจการ เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ สินค้าจากไทยด้าน อ.แม่สอด ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ตกค้างในโกดังสินค้าจำนวนมากที่เมืองเมาะลำไย เมืองเมาะตะมะ และเมืองผาอัน ห่างจากชายแดนไทย-พม่าประมาณ 200 ก.ม. เพราะพ่อค้าพม่า ไม่กล้ามารับสินค้า ทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้าวันละกว่า 30 ล้านบาท
ทัวร์พม่าป่วนยกเลิกระนาว
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงรายถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่าว่า เริ่มส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนไทย-พม่า ด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงรายแล้ว แม้ว่าด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็กยังคงเปิดให้บริการตามปกติก็ตาม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวล่าสุดพบว่ามีการยกเลิกทัวร์ในเส้นทางที่กำลังได้รับความนิยม คือเส้นทางแม่สาย- ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา (ชายแดนจีนตอนใต้) ส่วนการค้าชายแดนนั้นทางการพม่ายังอนุญาตให้เปิดสะพานแห่งที่สองขนส่งสินค้าได้ตามปกติ ซึ่งมีมูลค่าการค้าประมาณเดือนละ 150-200 ล้านบาท และชาวพม่าได้ข้ามมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคไปกักตุนเอาไว้เป็นจำนวนมาก
นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ นักธุรกิจที่ อ.แม่สาย กล่าวว่า สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะไม่ใช่ศูนย์กลางของปัญหา แต่ทำให้การส่งออกสินค้าฝืดเคืองเล็กน้อย โดยพม่าได้ลดการ นำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เช่น วัสดุก่อสร้าง ของใช้ประจำวันบางชนิด ฯลฯ แต่ยังนำเข้าสินค้าที่จำเป็นในการอุปโภคบริโภค หรือสินค้าพลังงานเท่านั้น เพราะนักธุรกิจพม่ารอดูสถานการณ์ว่าจะสามารถค้าขายได้สะดวกเหมือนเดิมหรือไม่
ด้านนายสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวได้ยกเลิกทัวร์ไปพม่าและจีนตอนใต้แล้ว ส่วนคนที่ยังไม่จองทัวร์ก็ต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน ทำให้บรรยากาศดูซบเซา ซึ่งตามปกติจะมีทัวร์จากแม่สายเข้าไปตามเส้นทางท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง- เมืองลา วันละประมาณ 50 เที่ยว โดยใช้รถตู้ขนาด 8-10 ที่นั่ง
ด่านเมืองกาญจน์ปิดยาว
นายธีรชัย ชุติมันต์ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันด่านพญาตองซู ของพม่าซึ่งอยู่ตรงข้ามด่านพระเจดีย์สามองค์ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ยังคงปิดด่านมานานหลายเดือนแล้ว แต่ยังมีการค้าขายกันบางส่วน โดยได้ประสานกับนายทหารพม่าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่เพื่อขอผ่อนปรนให้นำสินค้าไทยบางรายการเข้าไปจำหน่ายเป็นครั้งคราว ที่ผ่านมาพยายามผลักดันให้มีการเปิดจุดผ่อนปรนแห่งนี้อย่างเป็นทางการในเร็ววัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นภายในประเทศพม่า การเปิดด่านก็คงจะต้องเลื่อนออกไปอีกโดยไม่มีกำหนด การค้าชายแดนแถบนี้ต้องมืดมนต่อไปอีก
แอตต้าเชื่อกระทบระยะสั้น
นายอภิชาติ สังฆะอารีย์ นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) เผยว่า บริษัทนำเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพม่าน้อยมาก เพราะนักท่องเที่ยวที่จองทัวร์แล้วมักไม่ยกเลิกเพราะจ่ายเงินแพ็กเกจเดินทางไว้แล้ว แต่อาจมีผลกระทบในกลุ่มที่กำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจ ซึ่งบริษัทของไทยที่เข้าไปทำธุรกิจทัวร์ในพม่ายังมีจำนวนไม่มาก และเมื่อเกิดเหตุการณ์ในกรุงย่างกุ้ง บริษัทมักจะเสนอแหล่งท่องเที่ยวเมืองอื่นๆ ในพม่าทดแทน
นางกาญจนา เลี่ยวไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิรวดี ทราเวล ตัวแทนนำเที่ยวซึ่งขายแพ็กเกจทัวร์ในพม่ากว่า 80% กล่าวว่า ธุรกิจทัวร์ที่จัดไปพม่าจะได้รับผลกระทบเฉพาะบริษัทที่ขายแพ็กเกจหน้าร้าน แต่สำหรับบริษัทที่มีฐานลูกค้าประจำประเภทกรุ๊ปทัวร์มักชะลอการเดินทางเพื่อรอดูสถานการณ์เท่านั้น ทำให้ไม่มีผลกระทบ ต่อยอดขายที่มีอยู่ในฤดูท่องเที่ยวที่จะเริ่มเดือนตุลาคมนี้
บ.พลังงานฝรั่งเศสยันเดินหน้าธุรกิจ
นายฉอน ฟรานซิส ลาสซาล รองประธานบริษัทผลิตและสำรวจก๊าซ โทเทิล จากฝรั่งเศส ยืนยันยังดำเนินการกิจการของบริษัทในเขตขุดเจาะก๊าซธรรมชาติยานาดาในพม่าต่อไป อีกทั้งยังกล่าวว่า การกดดันให้บริษัทถอนตัวจากการดำเนินกิจการในพม่ายิ่งจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่นมากกว่า แต่ในเวลานี้บริษัทได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยแก่พนักงานของบริษัทที่ทำงานให้ในพม่าแล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน ประธานาธิบดี นิโคลัส ซาโกซี จากฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้กิจการของชาวฝรั่งเศสที่ลงทุนในพม่ายับยั้งการดำเนินกิจการและนำผลการประกาศแซงก์ชั่นของยูเอ็นมาบังคับใช้ ขณะที่บริษัทโทเทิลยืนยันว่าจะไม่ถอนการลงทุนในพม่า พร้อมกับยืนยันว่าในเวลานี้ บริษัทยังไม่มีแผนจะลงทุนในกิจการใหม่ในพม่าด้วยเช่นกัน
แดวูยืนยันไม่ถอนลงทุน
บริษัท แดวู อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป ผู้ดำเนินกิจการด้านพลังงานในพม่า ในเขตสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ เอ-1 และเอ-3 ปริมาณ 4.53-7.74 ล้านล้านคิวบิกฟุต ระบุว่า บริษัทมีพื้นที่สัญญาผลิตก๊าซธรรมชาติในพม่าหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการผลิต และอีก 3 แห่งอยู่ระหว่างการสำรวจซึ่งล้วนแต่เป็นการลงทุนระยะยาว และบริษัทสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนได้ง่ายๆ เพียงเพราะเหตุผลทางการเมืองภายในพม่าเท่านั้น โดยเชา ซัง-คัน โฆษกแดวู อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การเมืองส่วนการเมืองและเศรษฐกิจก็ส่วนเศรษฐกิจ
สหรัฐแซงก์ชั่น 14 ผู้นำทหารพม่า
ทำเนียบขาวประกาศมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ หรือการแซงก์ชั่นกับผู้นำรัฐบาลทหารพม่า 14 ราย อาทิ นายพลอาวุโสตัน ฉ่วย ผู้ช่วยนายพลอาวุโสเมือง ยี่ โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการอายัดทรัพย์สินของบุคคลทั้ง 14 รายที่มีอยู่ในธนาคารสหรัฐ และสถาบันการเงินต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้กฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งห้ามพลเมืองอเมริกันทำธุรกิจร่วมกับบุคคลทั้ง 14 ราย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบบริษัทหรือส่วนตัว
ผู้นำจีน-ญี่ปุ่นร่วมมือแก้วิกฤตพม่า
นายกรัฐมนตรี ยาซุโอ ฟูกุดะ จากญี่ปุ่น และประธานาธิบดี หู จิ่นเทา จากจีน ได้หารือกันเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน โดยมีผลปรากฏว่า ทั้งจีนและญี่ปุ่นได้ตกลงจะทำงานร่วมกันในแง่ความพยายามของนานาชาติ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพม่า อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าต้องอธิบายสาเหตุการเสียชีวิตของช่างภาพข่าวชาวญี่ปุ่นในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 27 กันยายนด้วย
Source - เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Monday, October 01, 2007 04:47