พิษเศรษฐกิจทุบพฤติกรรมผู้บริโภคเดี้ยง!! ควักกระเป๋าจับจ่ายสินค้ากันยากขึ้น ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภค-บริโภคชี้กลยุทธ์ลดไซด์ราคาเดิม ซื้อ 1 แถม 1 หรือแม้แต่ชิงโชคดันยอดขายไม่ขึ้นแล้ว! ความเชื่อมั่นหดหายผู้ซื้อไม่กล้าจับจ่าย เผยแม้แต่ธุรกิจยอดฮิตอย่างฟาสต์ฟู้ดยอดขายยังตก 2 % ขณะที่มหกรรมหนังสือยอดตกฮวบ 15 % นักการตลาดชี้เศรษฐกิจปีหน้าหินกว่าปีนี้ แนะต้องทำคอนซูเมอร์อินไซด์ช่วย
กรณีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคสูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐกระทบการส่งออกของไทย ความไม่มั่นใจหลังการเลือกตั้ง จะได้รัฐบาลผสมหลายพรรค รวมถึงเงินเฟ้อที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่ดีดตัวลดลง และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะที่การใช้กลยุทธ์ไซส์ซิ่ง ลดปริมาณ ราคาเท่าเดิม และสินค้าขนาดใหญ่ ราคาประหยัด ,ใช้ของพรีเมี่ยม ซื้อขนาดใหญ่ แถมขนาดกลางหรือเล็ก หรือซื้อ 1 แถม 1 อาทิ ซื้อครีมบำรุงผิวพอนด์สขนาดซอง แถมโฟมล้างหน้า ,ซื้อน้ำยาไลปอนเอฟรีฟิลแบบเติม แถมแบบขวด รวมถึงซื้อ 2 ชิ้นประหยัดกว่าชิ้นเดียว อาทิ ขนมขบเคี้ยวเลย์ ซองละ 20 บาท ซื้อ 2 ซอง 34 บาท ,นมถั่วเหลืองไวตามิลค์ แพ็ค 6 กล่อง ปกติ 45 บาท ซื้อ 2 แพ็ค เหลือ 80 บาท และฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการใช้มา แต่ขณะนี้เริ่มไม่ได้ผลแล้ว เนื่องจากผู้บริโภคไม่ควักเงินซื้อ
นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวถุงภายใต้แบรนด์ข้าวหงษ์ทอง, นกกระเรียน,นกกระเรียนคู่ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่าแม้หลายกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ในช่วงที่ผ่านมา จะได้รับการตอบรับดี แต่กลยุทธ์การส่งเสริมที่ได้ผลมากที่สุด คือ การลดราคา และการเพิ่มปริมาณสินค้าราคาเท่าเดิม หรืออินสแตนวิน เช่นซื้อ 1 แถม 1 ก็ไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มมากนัก รวมถึงการแจกของพรีเมี่ยม ซึ่งผู้บริโภคก็ไม่ตอบรับ แม้แต่กลุ่มโมเดิร์นเทรดเอง ก็ไม่ต้องการเช่นกัน เนื่องจากเสียพื้นที่ในการบริหารสต๊อกสินค้า
ขณะที่กลยุทธ์ชิงโชค ก็ใช้ไม่ได้ผลเช่นกัน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการการสนองตอบแบบเห็นผลทันที ซึ่งการชิงโชคมีโอกาสน้อย และต้องใช้ระยะเวลารอนาน ด้านผู้ประกอบการที่จัดโปรโมชั่นดังกล่าวก็ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะใช้งบประมาณโดยไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้
ด้านนายประพจน์ นันทวัฒน์ศิริ นายกสมาคมสบู่และผงซักฟอกไทย ยอมรับว่าปีนี้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยพฤติกรรมจะซื้อแบบพิจารณาเหตุผล และความจำเป็น ไม่ได้ซื้อตามอารมณ์ เห็นได้จากสินค้าที่ซื้อ 1 แถม 1 ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแป้ง ,ยาสีฟัน,สบู่ ล้วนแล้วแต่มียอดขายที่ไม่ดีมากนัก เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันผู้บริโภคจะดูความจำเป็นและเงินในกระเป๋ามากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
ส่วนนายเสรี จิระสุวรรณกิจ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท ไบโอคอนซูเมอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เอเวอร์เซ้นส์, ซีทีอาร์แอล,บีไนซ์ กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันจะดูความคุ้มค่าเป็นหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าลดลง จำนวนเงินที่ซื้อในแต่ละครั้งก็ลดลงด้วย ซึ่งกลยุทธ์อินสแตนวินจะเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลมากที่สุด
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเคเอฟซี กล่าวว่า การทำโปรโมชั่นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีจำนวนการเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซื้ออาหารภายในร้านเคเอฟซี ลดลงประมาณ 2% เนื่องจากคนยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ แม้ว่าจะมีความชัดเจนเรื่องของการเมืองก็ตาม ซึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทใช้กระตุ้นการซื้อขณะนี้จะเน้นการออกเมนูใหม่ๆ โดยทุกครั้งที่ออกเมนูใหม่ยอดขายจะโตขึ้นมาเฉลี่ย 6-8 % แต่เมื่อไม่มีเมนูใหม่ยอดขายก็จะนิ่ง
นายนาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเด้น โดนัท (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายร้านเบเกอรี่แบรนด์ "ดังกิ้น โดนัท" กล่าวว่าทุกปี บริษัทฯ จะนำเสนอโปรโมชั่น9 โปรโมชั่นต่อ 1 ปี หรือ 45 วัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเมนูเบเกอรี่แบบใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่การทำโปรโมชั่นของธุรกิจอาหาร ถ้าไม่นำเสนอเมนูสินค้าที่แปลกใหม่ๆ ก็จะแข่งขันกันในด้านราคาซึ่งอาจจะลดราคาอาหาร หรือเบเกอรี่ โดยในจุดนี้ ต้องไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค
นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจยอดจำหน่ายหนังสือในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12 พบว่ายอดจำหน่ายหนังสือโดยรวมลดลงประมาณ 10-15% ในขณะที่จำนวนผู้เข้าชมงานไม่ได้ลดลง โดยมีจำนวนเฉลี่ยวันละกว่า 100,000 ราย ซึ่งประชาชนยังมีความสนใจในการเข้าชมหนังสือเหมือนเดิม เพียงแต่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
"ปริมาณการจับจ่ายที่ลดลงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบูธที่จำหน่ายหนังสือทั่วไป ส่วนหนังสือสำหรับเยาวชน ซึ่งไม่ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจมาก เช่น บูธ นานมีบุ๊คส์ และแจ่มใส ยังคงเป็นบูธที่มียอดจำหน่ายดี มีคนมุงแน่นตลอด ซึ่งถ้าดูจากยอดจำหน่ายของบูธเหล่านี้แล้ว ถือว่ามียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ" นางริสรวลกล่าว
นายชลิต ลิมปนะเวช นักวิชาการด้านการตลาดและคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย
อัสสัมชัญ กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้โปรโมชั่นเดิมๆ ที่เคยฮอทในอดีตใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การเมืองไม่นิ่ง แม้ผู้ประกอบการจะหากลวิธีมาหลอกล่อก็ไม่สนใจ เพราะผู้บริโภคเริ่มฉลาดขึ้น และเห็นว่าเมื่อสินค้าขายไม่ได้ ผู้ประกอบการก็จะนำมาจัดโปรโมชั่น จึงรอซื้อดีกว่าที่จะซื้อทันที
อย่างไรก็ดีนักการตลาดต้องเข้าให้ถึงจิตใจของผู้บริโภค ต้องรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วจึงตอบสนองให้ตรงกับความต้องการนั้นๆ ด้วยการทำคอนซูเมอร์ อินไซด์ ไม่ใช่การทำแคมเปญแบบยัดเยียดเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ปัจจุบันร้านค้ายี่ปั๊ว ซาปั้ว ร้านโชวห่วย หรือโมเดิร์นเทรดเองไม่นิยมที่จะสั่งซื้อหรือกักตุนสินค้าเพราะไม่อยากให้เงินจม ปีหน้าการทำตลาดจะยิ่งมีความยากลำบากกว่านี้ โดยมีปัจจัยราคาน้ำมันเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเมื่อต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่สินค้าไม่สามารถขึ้นราคาได้ กำไรก็จะลดลงหรือขาดทุนมากขึ้น คนเริ่มตกงานทุกอย่างจะชัดเจนมากขึ้น
"ในอดีตสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เมื่อจัดโปรโมชั่นลดราคา ผู้บริโภคก็แห่ซื้อตุนเอาไว้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเฉพาะหน้ามากขึ้น แม้จะลดราคา เพิ่มไซส์ แถมโน่น แถมนี่ก็ยังไม่ซื้อ บางคนเลือกที่จะรอโปรโมชั่นใหม่ๆ จะดีกว่า นักการตลาดก็ทำงานหนักขึ้น ปีหน้าก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไปและจะหนักกว่าเก่าจะเรียกว่าปีปราบเซียนก็ได้"
ด้านผศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในฐานะนักวิชาการและนักการตลาด วิเคราะห์ว่า การจัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการกลยุทธ์ที่ใช้อาจจะไม่ได้ผลเสมอไป โดยเฉพาะการซื้อ 1 แถม 1 ถ้ามองในมุมของผู้บริโภค ผู้บริโภคอาจจะไม่ซื้อและมองว่า เป็นสินค้าค้างสต๊อก รวมทั้งอาจชะลอการซื้อ ช่วงปลายปีที่จะมีสินค้าใหม่ออกมา ขณะเดียวกัน หากมองในด้านความคุ้มค่าและจำเป็น ผู้บริโภคสามารถนำเงินไปซื้อของอื่นที่จำเป็นมากกว่า ก็ได้ |