ร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกส่อแท้ง..! ล็อบบี้ สนช.เตะถ่วง-รอรัฐบาลหน้าฉีกทิ้ง
ร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกส่อแท้ง..! ล็อบบี้ สนช.เตะถ่วง-รอรัฐบาลหน้าฉีกทิ้ง |
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ |
1 พฤศจิกายน 2550 08:47 น. |
 |
ระดมพล 50 จังหวัด ต้านบิ๊กค้าปลีกข้ามชาติแย่งขุมทรัพย์ในไทย ขณะที่โฆษก กมธ.พาณิชย์ อัดธุรกิจค้าปลีกอย่าตื่นตูม เชื่อ สนช.พิจารณาให้ทันแค่ 50-50 ฟันธงถูกรัฐบาลหน้าฉีกทิ้งแน่ แฉตัวการล้ม พ.ร.บ.มีทั้งคนในสนช-ทีดีอาร์ไอ ส่วนสมาคมผู้ค้าปลีกโวยรัฐสกัดขยายสาขาเพิ่มกระทบต่อ GDP ชำแหละเรียงมาตรา รายได้เกิน 1,000 ล้าน-พื้นที่เกิน 1,000 ตร.ม. อาจะตีความรวมถึง บ.มือถือ-ร้านเสื้อแบรนด์เนม-แฟรนไชส์ ได้รับผลกระทบทั่วหน้า ลุ้นกันถึงยกสุดท้ายสำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ... ที่ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่จนแล้วจนรอดยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสนช.จนหลายฝ่ายกังวลว่ามีความพยายามยื้อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้พิจารณาไม่ทันในสมัยประชุมสภาของ สนช.ชุดนี้ ประกอบกับมีข่าวพยายามล็อบบี้กันเองภายใน สนช.เพื่อให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวตกไป อีกทั้งเชื่อว่ารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งก็ไม่มีทางที่จะคลอด พ.ร.บ.ค้าปลีกฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ ดังนั้นโอกาสที่ประชาชนจะได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คลอดทันรัฐบาลชุดนี้จึงมีโอกาสริบหรี่ลงแค่ 50-50 เท่านั้น แฉ สนช.-TDRI ตัวการล้ม พ.ร.บ.ค้าปลีกใหม่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการพาณิชย์ กล่าวกับ ผู้จัดการรายสัปดาห์ดา ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ยังไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ได้เพราะต้องรอการสัมมนาชุดของ ดร.อัมมาร สยามวาลา สมาชิก สนช.ก่อนแต่เป็นที่ทราบกันกันดีว่าสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI ) อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มที่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่ง TDRI เชื่อในงานวิจัยของตัวเองโดยเมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงอยู่ที่ 2 ฝ่ายต้องนำข้อเท็จจริงและเหตุผลมาอธิบายให้ สนช.ส่วนใหญ่ว่าทำไมต้องยกมือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อีกทั้งภายใน สนช.เองได้เกิดกระแสข่าวการวิ่งล็อบบี้ของ สนช.สายที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อเตะถ่วงระยะเวลาให้พิจารณาไม่ทันสมัยประชุมสภาสมัยนี้ การวิ่งล็อบบี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ไม่สามารถพูดได้เพราะไม่มีหลักฐานจะกล่าวหาใคร จวก ค้าปลีก สร้างภาพอ้างกระทบ GDP อย่างไรก็ดี กลุ่มสมาคมผู้ค้าปลีก ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่องว่าการห้ามค้าปลีกรายใหญ่หยุดขยายสาขาจะส่งผลกระทบต่อ GDPของประเทศลดลง อีกทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายจากร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่บิ๊กค้าปลีกโดยตรง แต่กลุ่มธุรกิจเล็กๆ เช่น ร้านขายมือถือ ร้านเสื้อผ้าแบรด์เนมหรือแฟรนไชส์ต่างๆ เป็นต้น จะได้ผลกระทบมากสุด โดยเฉพาะธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตาม ม.20 ในกรณีห้ามขยายสาขาที่ใช้พื้นที่เกิน 1,000 ตร.ม. และรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทนั้น กมธ.พาณิชย์กลับมองว่าสมาคมค้าปลีกฯพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้สังคมเข้าใจผิด ทั้งที่เงื่อนไขดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นเพื่อไม่ให้บิ๊กค้าปลีกขยายสาขาย่อยไปทั่วประเทศส่งผลให้ร้านค้าโชห่วยซึ่งเป็นของคนไทยโดยตรงต้องได้รับผลกระทบจากบรรดายักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ขณะเดียวกัน การห้ามขยายสาขานั้นข้อมูลของ กมธ.พาณิชย์ ชี้ว่าไม่ได้กระเทือนต่อ GDP ของประเทศเพราะยอดขายทั้งหมดกว่า 107 รายมีรายได้แค่ 18% จึงเป็นตัวเลขที่ไม่มากมายที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด หรือแม้หากกระทบจริงเหลือแค่ 1-2% ก็ต้องยอมหากทำให้ร้านค้าที่เป็นของคนไทยยังต่อสู้อยู่ได้ โฆษก กมธ.พาณิชย์ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้มีการเสนอเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือร้านโชว์ห่วยที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ร่างฉบับนี้ฯจะส่งผลให้ให้ผู้ประกอบการายเล็กยืดระยะเวลาในการเจ๊งออกไปแต่หากต้องการแก้ไขถึงต้นตอแห่งปัญหาต้องไปยึดเอาร่างกม.ฉบับเดิมกลับมาใช้ถึงจะแก้ปัญหาได้ ฟันธง รบ.สมัยหน้าฉีกทิ้งแน่! ตอนนี้มีแนวโน้ม พ.ร.บ.ค้าปลีกจะพิจารณาไม่ทันสมัย สนช.ชุดนี้ซึ่งจะเข้าทางกลุ่มคัดค้านกฎหมายฉบับนี้อย่างมากแต่กลุ่มเราจะพยายามถึงที่สุดโอกาสตอนนี้แค่ 50-50 เท่านั้นแต่หากปล่อยให้หลุดมือไปถึงรัฐบาลสมัยหน้าฟันธงไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะตกไปแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ร.อ.จิตร์ ย้ำ ทั้งนี้ เพราะใน สนช.ก็มีการแตกแยกทางความคิดกันหลายฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการคลอด พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงมีการล็อบบี้กันเองเป็นสายๆ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้นขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ ขู่ 50 จว.จ่อเคลื่อนไหวล้ม พ.ร.บ. ด้านความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ต่อต้านธุรกิจค้าปลีกข้ามชาตินั้น ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ประธานศูนย์ประสานงานผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการอาชีพอิสระของคนไทย (ศปท.) กล่าวว่า กลุ่มศปท.ไม่ค่อยให้ความสนใจกลับร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกว่าจะผ่านหรือไม่เพราะในทางกฎหมายใหม่ไม่มีผลย้อนหลังไปบังคับใช้กับธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่มีอยู่ในเมืองไทย และได้ยื่นขอขยายสาขาไปในแต่ละจังหวัดแล้ว ดังนั้น จุดประสงค์ของ ศปท.คือ ต้องการให้ยุติการขยายสาขาที่มีการยื่นขอไปแล้ว แม้แต่ยังไม่ได้มีการอนุญาตเป็นทางการจากภาครัฐก็ตาม แต่โดยหลักกฎหมายแล้วการกระทำใดๆ ไม่มีผลย้อนหลังที่จะไปห้ามให้กิจการดังกล่าวยุติการขยายหรือการลงทุนได้ หากให้บิ๊กปลีกค้าขยายสาขาได้ จะเป็นการทำลายทุนในประเทศหรือเป็นการเข้ามาแย่งขุมทรัพย์ในประเทศที่เป็นกิจการดั้งเดิมที่ปู่ย่าตายาย หรือคนในท้องถิ่นทำไว้ ดังนั้น ราย พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เป็นเพียงตัวขับเคลื่อนอย่างหนึ่งที่ต้องการปลุกระดมพวกผู้ประกอบการรายเล็กทั่วประเทศให้ลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือต่อสู้ผลประโยชน์ของเราก่อนที่จะตกเป็นของต่างชาติ อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนของ ศปท.ในช่วงนี้ได้มีการรวมกลุ่มในต่างจังหวัดแบ่งเป็นตัวแทนระดับจังหวัดละ 3 คน และระดับอำเภอละอีก 3 คนโดยวัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้คือหาสมาชิกให้ได้มากที่สุดเพื่อร่วมต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตยป้องกันการเข้ามาของกลุ่มทุนค้าปลีกข้ามชาติ และสกัดการขยายสาขาใหม่โดยการทำงานของศปท.ขณะนี้สมาชิกกว่า 50 จังหวัดทำงานเป็นเครือข่ายภายใต้ชื่อ ยุทธศาสตร์เจ้าพระยา ซึ่งหมายถึงการต่อสู้ของคนทั้งประเทศเปรียบเหมือนแม่น้ำวัง-ปิง-ยม-น่านไหลรวมกันที่แม่นำเจ้าพระยา ขึ้นแบล็กลิสต์คนทรยศชาติ เรากำลังจะสำแดงพลังด้วยการเดินขบวนครั้งใหญ่ ซึ่งจะเป็นการทดสอบมวลชนทั่วประเทศในการต่อสู้ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ประธาน ศปท.กล่าวยืนยัน และว่า ศปท.จะขึ้นแบล็กลิสต์รายชื่อบุคคลทรยศประเทศโดยเฉพาะพวกที่มาจากTDRI อาทิ ดร.อัมมาร สยามวาลา, ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์, ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เป็นต้นคนพวกนี้คล้ายๆกับ ออกญาจักรี ที่เปิดประตูเมืองให้คนต่างชาติไล่ฆ่าคนไทยด้วยกันจนไม่มีแผ่นจะอยู่ เอกชนโวยรัฐทำลาย ศก.ประเทศ ขณะที่ความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน ธนภณ ตังคณานันท์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ... ที่ผ่านมติเห็นชอบจาก ครม.ว่า หากสนช.เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะงักงันลงไปจะทำให้การขยายสาขาลดลง รายได้ก็จะลดลง ผลผลิตที่จะเพิ่มกลับลดลงอย่างแน่นอน และสุดท้ายผู้ที่รับเสียผลประโยชน์ที่สุดจะตกแก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกทั้งระบบโดยปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกทั้งระบบมีมูลค่า 1.2-1.3 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 13-14% ของ GDP ประเทศที่มูลค่าประมาณ 7.7 - 7.8 ล้านล้านบาทจากที่ธุรกิจค้าปลีกเติบโตเป็น 2 เท่าของจีดีพี หรือเป็นตัวเลขในระดับ 2 หลักทุกปีแต่คาดว่าปีนี้จะเติบโตเพียงแค่ 4% ตามอัตราการเติบโตของ GDPประเทศที่ตัวเลข 4% เท่านั้น หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริงจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกตกอยู่ในภาวะที่ถดถอยเพราะรายได้ส่วนหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกมาจากการกระตุ้นยอดขายของสาขาใหม่ซึ่งจะทำให้ธูรกิจค้าปลีกในปี 2551 เลวร้ายถึงขึ้นไม่มีการเติบโตและอาจติดลบด้วยซ้ำไป อัดเรียงมาตรารัฐไม่รู้จริง! นอกจากนี้ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีก ยังได้วิเคราะห์บางมาตราในร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ... อีกว่ามาตรา 3 ในเรื่อง นิยาม นั้นไม่เข้าใจว่าผู้เขียนร่างกม.ต้องการบอกถึงอะไร เช่นนิยามคำว่าธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ค้าปลีก ค้าส่ง พยายามทำความเข้าใจหลายรอบแต่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ และมาตรา 5 (8) ก็เข้าใจว่าผู้เขียนร่างเกรงจะมีปัญหาในอนาคตก็เปิดช่องไว้ให้สามารถเพิ่มเติมสิ่งที่จะเป็นปัญหาลงในมาตรามาตรา 5 (8) นี้ได้ ขณะที่มาตรา 7 เรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการค้าปลีกหรือค้าส่งที่มีจำนวนคณะกรรม 18 คนโดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานและที่เหลืออีก 17 คนมาจากปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องและจากภาคเอกชน ประธานสมาคมผู้ค้าเป็นห่วงว่า คณะกรรมการที่กำหนดไว้แต่ละท่านมีความสามารถเฉพาะด้านเวลามาประชุมลงรายละเอียดปลีกย่อยคงไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องส่งตัวแทนมาร่วมประชุมจะทำให้ที่ประชุมดังกล่าวได้ผู้ที่ไม่มีความรู้มากพอมาพิจารณาเรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้ นอกจากนี้ในมาตรา 20 (1)(2) ธนภณ เชื่อว่ามาตรานี้จะเป็นปัญหาในวงกว้างเพราะหากอ่านโดยละเอียดจะความหมายของมาตรานี้จะครอบคลุมไปถึงทุกธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทและมีพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตรซึ่งพื้นที่รวมทั้งภายใน-นอกอาคารที่ใช้ประกอบการขายสินค้าหรือพื้นที่ต่อเนื่องกัน ส่วนมาตรา 20 (3) สามารถตีความได้ว่าเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น ร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นต้นที่ถูกควบคุมด้วยเช่นกันเพราะไม่เข้าข่ายธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 5 เขาย้ำอีกว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ทั้งจะทำให้นักลงทันหันไปลงทุนในต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม และมาเลเซียแทน
| | |