|
 |
CSR เมื่อธุรกิจคืนกำไรให้กับสังคม
CSR เมื่อธุรกิจคืนกำไรให้กับสังคม |
โดย ผู้จัดการรายวัน |
6 พฤศจิกายน 2550 22:01 น. |
 |
 |
|
กิจกรรมปลูกป่าของบริษัทผลิตไฟฟ้า เอ็กโก้กรุ๊ป | |
 | ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป (โดยเฉพาะฝ่ายซ้าย) คงมองว่านักคิดอย่าง อดัม สมิธ กับนักธุรกิจระดับโลกอย่าง บิล เกตส์ นั้น ไม่ต่างอะไรกับบิดาและบุตรแห่งทุนเสรีนิยมอันสุดขั้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก คือ แนวคิดและการลงมือปฏิบัติเพื่อสังคมของบุคคลที่มีชื่อเสียงในโลกทุนเสรีนิยมทั้งสองนี้ ก่อนตาย อดัม สมิธ ได้ยกเงินเก็บเกือบทั้งหมดของเขาให้กับองค์กรการกุศล ขณะที่บิล เกตส์ ได้ก่อตั้งมูลนิธิในนามของเขาและภรรยาขึ้นเพื่อเป็นองค์กรการกุศล และในปีหน้านี้จะครบกำหนดเวลาที่เขาได้ประกาศอำลาตำแหน่งสถาปนิกซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ เพื่อจะได้มีเวลาอุทิศตนเพื่องานการกุศลของมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์มากขึ้น ภาคฝั่งประเทศไทยเอง การทำกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือที่เรียกกันติดปากว่า CSR กำลังเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนมีการตั้งคำถามว่า การทำ CSR ขององค์กรธุรกิจเหล่านั้นทำเพื่อสังคมจริงๆ หรือเพื่อพีอาร์บริษัท? ผู้จัดการปริทรรศน์ จะพาไปสัมผัสการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทชั้นนำ หลากหลายประเภทของธุรกิจ ซึ่งมีทั้งบริษัทของคนไทยและต่างชาติ CSR คืออะไร? จากการสำรวจของสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เมื่อ 2 ปีก่อนพบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ฐานคนกรุงเทพฯเป็นหลัก มีความเข้าใจเรื่อง CSR ในระดับ 3.8 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคไทยเริ่มเข้าใจและเห็นว่าการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น แต่ผู้บริโภคที่ตกสำรวจ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับภาคการเกษตร และแรงงานชนชั้นกรรมาชีพซึ่งหาเช้ากินค่ำ อาจจะไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไปว่า CSR คืออะไร ศิริชัย สาครรัตนกุล รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เคยให้นิยามความหมายของ "corporate social responsibility" หรือที่เรียกย่อๆ ว่า CSR เป็นภาษาไทยว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ" โดยศิริชัยอธิบายว่า กระแสของโลกในเรื่อง CSR นี้ เริ่มเข้มข้นจริงจังและรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เมื่อ OECD ซึ่งเป็นองค์กรของที่ประเทศร่ำรวยที่สุดของโลกได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ทั่วโลกว่าไม่เพียงแต่ต้องทำกิจกรรม CRS แต่ยังเสนอให้บรรษัทข้ามชาตินั้นๆ ติดต่อค้าขายกับคู่ค้าทั่วโลก เฉพาะที่มี CSR อีกด้วย เพราะฉะนั้น ในโลกยุคใหม่ธุรกิจใดที่ไม่มี CSR ก็ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายให้บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้ นั่นคือ ถ้าธุรกิจใดสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจใดยังใช้แรงงานเด็ก มีปัญหาด้านแรงงาน และอื่นๆ ก็จะมีปัญหาในการทำธุกิจค้าขายกับประเทศ OECD ในส่วนของประเทศไทยเอง CSR เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากขึ้นหลังจากการจุดกระแสการทำธุรกิจแบบธรรมาภิบาลและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผลพวงที่ตามมาจากกระแสดังกล่าวทำให้องค์กรภาคธุรกิจเอกชนมากมายต่างหันมาให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรม CSR เพื่อสังคมมากขึ้น บริษัทพลังงาน จำเลยของสังคม? การต่อต้านโรงไฟฟ้าที่แผ่ขยายไปทั่วประเทศ นับตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่หินกรูด จ.ประจวบฯ, โรงไฟฟ้าพลังงานแกลบที่ขอนแก่น, กระแสการต่อต้านโรงไฟฟ้าไออาร์พีซีที่ระยอง-และโรงไฟฟ้าของบริษัทล็อกซ์เล่ย์ สมุทรสงคราม ในเวลาเกือบพร้อมกัน ไปจนถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่กลองและร้อยเอ็ด ล่าสุด เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชาว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 1.4 หมื่นคนได้ร่วมเข้าชื่อคัดค้านโรงไฟฟ้า ตอกย้ำกระแสการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว โฆษณาตัวหนึ่งถูกยิงสปอร์ตออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ความน่ารักสดใสของเด็กๆ เป็นที่ถูกกล่าวขวัญถึง ก่อนที่จะถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อหาของโฆษณานั้นบิดเบือนข้อเท็จจริง ?! วิศิษฏ์ อัครวิเนค กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป บริษัทผลิตพลังงานไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย เจ้าของโฆษณาชิ้นดังกล่าว เปิดใจให้สัมภาษณ์ ขณะที่นำพนักงานนับร้อยชีวิตของบริษัทในเครือเอ็กโก กรุ๊ป ไปร่วมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ภายใต้ชื่อโครงการ Forest: The Circle of Life ... รักษ์ต้นน้ำ ด้วยผืนป่า ซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 กิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้แคมเปญ เอ็กโก กรุ๊ป 15 ปี 15 โครงการ...เทิดพระเกียรติ 80 พรรษา องค์ราชัน โดยร่วมกับประชาชนที่อาศัยในชุมชนโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ปลูกต้นไม้คืนความสมดุลให้ผืนป่าเพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์และหวงแหนผืนป่าต้นน้ำของประเทศ เมื่อผู้สื่อข่าวเปิดประเด็นว่า กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการโหนกระแส CSR เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัทหรือไม่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า สำหรับบริษัทเอ็กโก้ กรุ๊ป ไม่ใช่ทำเพื่อเป็นการโหนกระแส เนื่องจากได้ริเริ่มดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว โดยเน้นการปลูกจิตสำนึกในใจคน ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ปเชื่อว่าเป็นหนทางที่จะช่วยรักษาธรรมชาติให้ยืนยาวที่สุด เราไม่ใช่บริษัทที่ผลิตสินค้าเป็นชิ้นๆ แล้วขาย เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ห่วง จริงๆ แล้วเอ็กโก้ไม่ทำอะไรเลยก็ได้ เพราะว่าไฟเราผลิตเท่าไหร่ เราขายได้หมด เพราะว่าความต้องการใช้ปริมาณไฟฟ้าในประเทศเยอะ มีคนซื้ออยู่แล้ว แต่ว่าที่เราทำเพราะว่า เราคิดว่าเราเป็นบริษัทพลังงาน เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะว่าส่วนหนึ่งเราทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เราต้องยอมรับตรงนี้ เราจึงต้องหาทางชดเชย อย่างการปลูกป่า โรงไฟฟ้าของเอ็กโก้ทำให้โลกร้อน อะไรที่ทำให้เกิดสันดาปทำให้โลกร้อนทั้งสิ้น แต่ว่าสิ่งที่ชดเชยได้ก็คือการปลูกป่า ซึ่งจะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป แล้วปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา ซึ่งมันเป็นวิธีที่ดีที่สุด วิศิษฏ์ กล่าวต่อว่า หากคนทำธุรกิจโดยเฉพาะผู้บริหารไม่เข้าใจ CSR ก็เหมือนกับการที่เราออกไปทำการกุศล ซึ่งนั่นไม่ใช่ CSR จริงๆ แล้วจะต้องให้พนักงานบริษัทออกไปมีส่วนร่วมด้วย อย่างเช่นในครั้งนี้ที่เอ็กโก กรุ๊ปพาพนักงานออกจากออฟฟิศมาร่วมปลูกป่าต้นน้ำเพื่อให้เกิดจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม CSR มันมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ให้กับสังคม และส่วนที่สร้างคนในบริษัทให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยถึงจะเป็น CSR ที่แท้จริง ด้านวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร ของเอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า การทำกิจกรรม CSR ของบริษัทต่อเนื่องกว่า 15 โครงการนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ระดับประเทศและระดับชุมชน ในระดับประเทศจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการศึกษาของเยาวชน ส่วนระดับชุมชนจะเน้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน เรื่องของชุมชนนั้นเป็นวิสัยทัศน์ของโรงไฟฟ้าที่ตั้งไว้เลยว่า ต้องดูแลชุมชนให้ดีที่สุด นับตั้งแต่กระบวนการผลิต และดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สังคมมีความคาดหวังสูงต่อองค์กรที่ดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงาน ในขณะเดียวกันก็มีทัศนคติไม่ดีต่อการทำธุรกิจพลังงานในอดีตที่มันมีผลกระทบ แต่ปัจจุบันผมเข้าใจว่าหลายองค์กรพยายามจะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และพยายามที่จะพัฒนาผลกระทบต่างๆ ซึ่งจริงๆ สังคมเองก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย คือไม่ใช่ฝังอยู่ในอดีตตลอดเวลา ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกบริษัทอย่างเช่นเอ็กโก้เองเราก็พยายามที่จะเป็นแบบอย่างตรงนี้ โดยการที่จะดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยรวมของตัวโรงงาน ของกระบวนการผลิต ในขณะเดียวกันก็ป้องกันผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น แล้วในภาพรวมของประเทศเองเราก็อยากจะซัพพอร์ตในเรื่องของพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ โดยคอนเซ็ปต์ของเอ็กโก้เอง เรามองว่าถ้าเราทำให้ต้นทางดี ปลายทางก็จะดีไปด้วย เราก็ทำธุรกิจของเราในเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นก็เลยอยากขอความเป็นธรรมกับสังคมว่า ถึงเวลาที่จะมาพิจารณาแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากความรู้สึก หรือมันเกิดจากข้อเท็จจริง เพราะโดยจริงๆ แล้วถ้าเกิดไปสำรวจโรงไฟฟ้าที่ขนอม เราก็จะไม่เห็นว่ามันจะมีผลกระทบอะไรที่รุนแรงอย่างที่เขาคิดกันไป เพราะชุมชนกับโรงไฟฟ้าก็อยู่ด้วยกันมานาน แล้วก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลใดๆ กับชุมชน อย่างเช่นที่เห็นในโฆษณา สัตว์ที่อยู่ในสภาพธรรมชาติก็ยังดำรงอยู่ได้ อันนี้คือความเป็นจริงที่เราอยากให้เห็น วุฒิชัย ทิ้งท้ายว่า สังคมไทยต้องคิดว่า เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงต่อการใช้พลังงานได้ เราต้องอยู่กับมัน แต่อยู่ยังไงให้อยู่ด้วยกันอย่างสมดุลที่สุด ก็ต้องมาควบคุมขั้นตอนกระบวนผลิตทั้งหลายที่ทำในด้านพลังงานให้อยู่ในร่องในรอย ถ้าเขาอยู่ในร่องในรอยแล้ว สังคมก็ต้องเอาเขามาเป็นแบบอย่างว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าแต่ติดแต่ภาพอดีตอย่างเดียว แล้วก็จะไม่เอา แล้วลูกหลานของเราจะทำยังไงในอนาคตถ้าไม่มีพลังงาน ยังไงเราก็ต้องใช้พลังงาน แต่ทำยังไงให้มันอยู่ได้ดีที่สุด และไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวม โลกร้อน? กล่องนม ช่วยได้ ปัญหาโลกร้อน กลายเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดในช่วงเวลานี้ เชื่อหรือไม่ว่ากล่องนม รวมทั้งกล่องผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ที่พวกเราคุ้นเคย สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ หลายๆ คนอาจจะพอทราบว่ากล่องนม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ ที่เราดื่มกันอยู่เป็นประจำทำมาจากระดาษที่ได้มาจากต้นไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรทดแทนได้ หรือที่เรียกว่า Renewable resource บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชั้นนำ ที่มีปรัชญาในการทำธุรกิจว่า ปกป้องทุกคุณค่า จึงเป็นหนึ่งในหัวหอกของภาคเอกชนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลขยะมาต่อเนื่องยาวนาน กลอยตา ณ ถลาง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ไทย) จำกัด กล่าวว่า การลดภาวะโลกร้อน การปลูกป่า และการรีไซเคิล ภายใต้แนวคิด ปกป้องทุกคุณค่า (Protects whats Good) เป็นปรัชญาหลักในการดำเนินกิจกรรมของบริษัท เต็ดตราฯ ทั่วโลก โดยกระดาษที่นำมาผลิตเป็นกล่องของเต็ดตรา แพ้ค ได้มาจากต้นไม้ในป่าปลูกที่มีการจัดการอย่างเหมาะสม มีการปลูกป่าทดแทนอย่างเป็นระบบ ทำให้จำนวนต้นไม้ในป่าปลูกมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี กลอยตากล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลพบว่า หลังจากการบริโภคจะมีการทิ้งกล่องเครื่องดื่มไม่น้อยกว่า 3 หมื่นตัน ทั้งๆ ที่กล่องเหล่านี้นำกลับมาแปรรูปใหม่ได้ การนำกล่องเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วมารีไซเคิล จึงเป็นวิธีการที่ดีที่จะช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากองค์ประกอบของกล่องเครื่องดื่มทุกๆ ส่วน สามารถนำกลับมารีไซเคิลและนำไปใช้งานต่อในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกมากมาย อาทิ อุตสาหกรรมกระดาษ หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค ได้ลงนามเข้าร่วมโครงการช่วยลดภาวะโลกร้อนขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) โดยเป็น 1 ใน 12 บริษัทระดับโลกที่ร่วมในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ทางด้านสินชัย เทียนศิริ ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อม บริษัท เต็ดตรา แพ้คฯ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา เต็ดตรา แพ้ค สามารถรวบรวมกล่องเครื่องดื่มเพื่อนำไปรีไซเคิลได้ถึง 21,000 ล้านกล่อง ในโรงงานรีไซเคิลกว่า 47 แห่งทั่วโลก ซึ่งในเมืองไทยเอง บริษัทฯ ก็ได้ร่วมมือกับ บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับซื้อและจำหน่ายวัสดุประเภทรีไซเคิล รวบรวมกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วกลับมาแล้วส่งไปที่โรงงานกระดาษไฟเบอร์พัฒน์เพื่อรีไซเคิลต่อไป จากข้อมูลของสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม แนะนำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ชนิดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงปีละ 104 กิโลกรัม และถ้าเราคัดแยกขยะรีไซเคิลทั้งหมดที่อยู่ในบ้านตั้งแต่ต้นทาง แล้วส่งไปแปรรูปใหม่ จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 386 กิโลกรัม จึงเห็นได้ว่าการรีไซเคิลนอกจากจะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในขณะนี้ด้วย สึนามิ ปัญหาที่ยังเยียวยาไม่หมดสิ้น ภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน ความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนได้หลั่งไหลไปสู่พื้นที่จังหวัดริมฝั่งอันดามันจำนวนมาก เปรียบได้กับคลื่นน้ำใจที่ถาโถมมาสู่ผู้ประสบภัยอีกครั้งหนึ่ง แต่ทว่า จนถึงวันนี้ความช่วยเริ่มเหลือลดน้อยลง ขณะที่ปัญหายังคงอยู่ การให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องในระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กๆ ต้องการ มากกว่าจะเป็นการหยิบยื่นโดยการให้สิ่งของหรือเงินทองชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัท มี้ด จอห์นสัน ประเทศไทย ผู้นำทางด้านโภชนาการสำหรับเด็ก ได้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ริเริ่มโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เพื่อพัฒนาเด็กในท้องถิ่น ที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา ซึ่งเป็นกิจกรรมดีๆ ภายใต้โครงการ Mead Johnson Helping Hand ล่าสุดบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ในการที่จะช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กให้เต็มศักยภาพ ด้วยกิจกรรม มุ่งสู่ฝันวันเพื่อสังคม โดยการนำพนักงานบริษัทฯ 400 คน ลงสู่พื้นที่ร่วมทำกิจกรรม และมอบทุนในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม พร้อมสื่อการสอนกับโรงเรียน 4 แห่ง ในจังหวัดภูเก็ต และพังงา ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านใหญ่ เกาะยาวน้อย ร.ร.บ้านลิพอน ร.ร.เกาะมะพร้าว และ ร.ร.ภูเก็ตปัญญานุกูล (ร.ร.ศึกษาพิเศษ) แมทธิว แชพเพิล ผู้จัดการทั่วไป แผนกโภชนาการ มี้ด จอห์นสัน ประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรม มุ่งสู่ฝันวันเพื่อสังคม เป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้โครงการ Mead Johnson Helping Hand ที่ทางบริษัทฯ ริเริ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา รวมไปถึงการเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก โดยตั้งแต่เริ่มโครงการได้ใช้งบประมาณสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 5 ล้านบาท และจะยังคงที่จะช่วยเหลือต่อไป อีกทั้งในปีนี้บริษัทฯ ยังได้รับความร่วมมือจากพนักงานกว่า 400 คน อาสาลงพื้นที่เพื่อร่วมกันลงมือลงแรงทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ยิ่งกว่านั้นเราได้รับเกียรติจาก คุณหญิงแพทย์หญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ มาร่วมแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับพนักงานของเราได้ตระหนัก และมีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ แมทธิว กล่าว ทางด้าน ลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า มีความยินดีเป็นอย่างมาก ที่เราได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ เนื่องด้วยมูลนิธิชัยพัฒนาก็มีความมุ่งหวังที่จะเป็นสื่อกลางในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งกิจกรรม มุ่งสู่ฝันวันเพื่อสังคม นี้ เปรียบเสมือนส่วนช่วยเติมเต็มพันธกิจของมูลนิธิ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดีๆ แบบนี้จะเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์แก่เยาวชนของชาติสืบต่อไป และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่ากิจกรรม มุ่งสู่ฝันวันเพื่อสังคม จะเดินในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กก่อนวัยเรียน ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.พัฒนา ชัชพงศ์ ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จึงเป็นส่วนที่สำคัญในการให้คำปรึกษา แนะนำกิจกรรมที่เหมาะสม รวมถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับทุกโรงเรียน โดย ดร.พัฒนา ถึงการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ Mead Johnson Helping Hand ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว และรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากที่บริษัทข้ามชาติอย่าง มี้ด จอห์นสัน ได้เห็นความสำคัญ และมีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือชุมชนเป็นอย่างมาก เราเองในฐานะตัวแทนทางด้านวิชาการมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนโครงการดีๆ ที่ยิ่งใหญ่ แบบนี้ตลอดไปเช่นกัน นอกจากที่ มี้ด จอห์นสัน จะได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากคณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มศว ครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณหญิงแพทย์หญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และให้ความรู้กับพนักงานเกี่ยวกับปรัชญาในการทำงานช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวนั้นมองว่าเด็กๆ ในพื้นที่นี้ ยังคงต้องการความช่วยเหลืออยู่ เพราะหลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดอันดามันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สภาพจิตใจที่ถูกกระทบยังคงอยู่ หลายครอบครัวพ่อแม่ไม่มีเวลา ทั้งยังขาดแคลนทรัพยากร ในการเลี้ยงดูเอาใจใส่ อบรมสั่งสอนเด็กที่กำลังเติบโต ดังนั้นโรงเรียน และครูจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยดูแล ขัดเกลา อบรมสั่งสอน และให้คำแนะนำแก่เด็กเหล่านี้แทน ดิฉันรู้สึกว่าโครงการนี้จะเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงที่มาช่วยเติมเต็มความต้องการของเด็กๆ เหล่านี้ให้สมบูรณ์ โครงการ Mead Johnson Helping Hand เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ช่วยตอกย้ำวิสัยทัศน์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน ที่ต้องการจะส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กก่อนวัยเรียน ด้วยการมอบโภชนาการที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่เพียงการช่วยเหลือสังคมเฉพาะด้านเงินทุนหรือวัตถุเท่านั้น แต่การที่ได้นำพนักงานกว่า 400 คนไปร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมในครั้งนี้ น่าจะเป็นการทำ CSR ที่ยั่งยืนทั้งต่อสังคมและองค์กรภาคธุรกิจแห่งนั้นเอง
|
|
 |
|
ผู้บริหารเต็ดตรา แพ้คกับตัวแทนจาก WWF | |
 |
|
|
 |
|
ผู้บริหารของมี้ด แอนด์ จอนห์สัน มอบอุปกรณ์การเรียนให้เด็กๆ ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ | |
 |
|
|
 |
|
กล่องเครื่องดื่มที่จะเอาไปรีไซเคิล | |
 |
|
 |
|
พนักงานและผู้บริหารของมี้ด แอนด์ จอนห์สัน | |
 |
| | |
บทความพิเศษ
|