เอกชนจี้รัฐรับมือมาเลเซีย ยึดพม่าปลูกปาล์มแข่งไทย
|
|
|
|
เอกชนจี้รัฐรับมือมาเลเซีย ยึดพม่าปลูกปาล์มแข่งไทย |
มาเลเซียเสือปืนไว ยึดหัวหาดพม่าเขตตะนาวศรีกว่า 200,000 ไร่ให้เอกชนเข้าส่งเสริมปลูกปาล์ม ก่อนเดินแผนตั้งโรงสกัดและกลั่นครบวงจร ด้านผู้ประกอบการไทยเต้น ชี้ระยะยาวมีผลกระทบต่อฐานตลาดไทย มีแนวโน้มจะถูกมาเลย์เบียดแย่งตลาด จี้ภาครัฐเร่งส่งเสริมศักยภาพการผลิต และขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม สร้างความพร้อมรับมือคู่แข่ง
นายสมชาย สุทธิรักษาวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ทางประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งอุตสาหกรรมปาล์มของไทย ได้เข้ามาเช่าสัมปทานพื้นที่ปลูกปาล์มในสหภาพพม่า บริเวณเขตตะนาวศรีซึ่งมีพรมแดนติดกับจังหวัดระนองถึงจังหวัดเกาะสองแล้วไม่ต่ำกว่า 200,000 ไร่ ตามนโยบายของรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการส่งเสริมและขยายพื้นที่การปลูกปาล์มออกนอกประเทศ เนื่องจากพื้นที่ในประเทศที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป
" การที่ผมทราบเรื่องนี้ เนื่องจากก่อนหน้าทางภาคเอกชนของไทย และผมได้เดินทางเข้าไปยังสหภาพพม่า เพื่อดูสภาพพื้นที่ที่รัฐบาลทหารพม่าประกาศให้สัมปทานระยะยาวในการปลูกพืชด้านการเกษตรโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน และยางพาราในย่านเขตตะนาวศรีนับล้านไร่ ซึ่งเป็นสภาพพื้นที่มีความน่าสนใจมาก เพราะมีสภาพภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะแก่การปลูกปาล์ม หรือยางพาราเป็นอย่างมาก แต่ที่เอกชนไทยไม่กล้าเข้าไปลงทุน เนื่องจากยังหวั่นว่านโยบายของรัฐบาลทหารพม่า จะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งเกรงว่าจะมีความเสี่ยง
นายสมชายกล่าวต่อว่า การที่ภาคเอกชนรายใหญ่ของมาเลเซียเข้าไปขยายพื้นที่ปลูกปาล์มได้ เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งการเข้าไปเจรจา และการค้ำประกัน ทำให้ภาคเอกชนมั่นใจและกล้าเสี่ยงลงทุน ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ มาเลเซียจะใช้เป็นฐานวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมในประเทศ และที่สำคัญหวังใช้เป็นฐานรุกเข้าไปยังพื้นที่อื่นเพื่อหาแหล่งปลูกปาล์มในสหภาพพม่าอนาคต โดยเป็นการเข้ามาทำครบวงจรทั้งโรงสกัดและโรงกลั่น
ที่ผ่านมาประเทศไทยครองส่วนแบ่งตลาดในสหภาพพม่ามากสุดเป็นสัดส่วนกว่า 50% โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มที่กลั่นแล้ว ส่วนน้ำมันปาล์มดิบปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและสาธารณรัฐอินโดนีเซียประมาณ 10-20% ของปริมาณผลผลิตในประเทศ ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด ดังนั้นการที่มาเลเซียมาตั้งฐานผลิตในสหภาพพม่าแน่นอนย่อมมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยแน่ ไม่เกิน 10 ปีจากนี้ เพราะปาล์มใช้เวลาไม่นาน 3-5 ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
" สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาศักยภาพการผลิต ปริมาณผลผลิตต่อไร่ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันราคาปาล์มอยู่ระดับ 4.50-5 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเร่งส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับทั้งภาคอุตสาหกรรม และนโยบายด้านพลังงานทดแทน ที่คาดว่าจะต้องใช้ปริมาณปาล์มดิบจำนวนมหาศาลในการรองรับความต้องการ โดยเฉพาะโครงการพลังงานทดแทน ซึ่งหากนโยบายการพัฒนาศักยภาพ และการส่งเสริมขยายพื้นที่การปลูกปาล์มของไทยยิ่งล่าช้าก็จะส่งผลเสียต่อศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงเช่นกัน
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกปาล์มในประเทศมีทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านไร่ ผลผลิตปาล์มสดทั้งทะลายมีปริมาณ 2.78 ล้านตันต่อปี ผลิตน้ำมันปาล์มได้ประมาณกว่า 5 แสนตันต่อปี โดยพื้นที่เขตเศรษฐกิจปาล์มน้ำมันของไทย ได้แก่ จังหวัดกระบี่ สุราษฏร์ธานี ชุมพร สตูล ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง นครศรีธรรมราช ,สงขลา และพังงา โดยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งสิ้นประมาณ 1.3 ล้านไร่
ด้านนายวรพงษ์ กลางประพันธ์ เกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จากแนวโน้มความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมแปรรูปปาล์มน้ำมัน รวมถึงการเกิดขึ้นของโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซล ทำให้เกิดความวิตกถึงผลผลิตปาล์มน้ำมันดิบที่จะนำมาป้อนโรงงาน และภาคอุตสาหกรรมมีไม่เพียงพอกับความต้องการ จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและแผนงาน รวมถึงแนวนโยบายต่างๆของรัฐ โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ทำให้ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมเดินหน้าแผนการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอีกครั้ง เพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่านับจากนี้จะหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ไม่ต่ำกว่า 500,000-1 ล้านไร่ต่อปี โดยจะเน้นในเขตพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ พื้นที่นาร้าง และสวนผลไม้ รวมถึงสวนยางพาราเดิม ซึ่งจะต้องหาทางทำความเข้าใจ และชี้แจงให้เห็นถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เหตุที่ภาครัฐต้องเร่งหาทางส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มในประเทศอย่างเร่งด่วนในขณะนี้เป็นเพราะปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าพืชน้ำมันอื่นๆ ทั้งยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายทั้งในสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่งผลให้ส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันปาล์มต่อน้ำมันพืชโลก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
จาก 11.71% ในช่วงปี 2519-2543 มาเป็น 27.48% ในปี 2544-2548 และคาดว่าน้ำมันปาล์มจะมีส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันพืชโลกเป็น31.24% ในปี 2559-2563 สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยมีอัตราการขยายตัวสูงเช่นกัน โดยพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจาก 69,625 ไร่ ในปี 2520 เป็น 2.04 ล้านไร่ในปี 2548 และคาดว่าในอีก 10 ข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านไร่
นายมนตรี เมืองพรหม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฏร์ธานี ซึ่งรับผิดชอบดูแลในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เปิดเผยว่า จากโครงการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับนโยบายพลังงานทดแทนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอต่างๆ รับไปดำเนินการนั้น ปรากฏว่าขณะนี้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 ประกอบด้วยสุราษฏร์ธานี กระบี่ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ปรากฏว่าได้มีเกษตรกรที่มีพื้นที่มีพื้นที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากกว่า 20,000 ราย
ทั้งนี้เพราะราคาปาล์มน้ำมันที่มีแนวโน้มที่ดีมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงปีที่ผ่านมา และยังเป็นเพราะ มีการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จากแนวโน้มและกระแสความต้องการดังกล่าวจึงสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ที่เกิดความมั่นใจว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชพลังงานทดแทนในอนาคต
ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 จึงได้มีการกำหนดเป้าหมายและจัดทำแผนการขยายพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนให้เพิ่มขึ้นจากเดิมได้ไม่ต่ำกว่า 240,000 ไร่ภายในระยะ 5 ปีนับจากนี้ โดยทางสำนักงานฯได้ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และคอยเป็นพี่เลี้ยงแก่เกษตรที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง
| | | | |