เงินฝืดกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ ดร.โกร่ง หรือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร โอลด์ อีโคโนมิสต์ กล่าวระหว่างการอภิปรายบนเวทีในหัวข้อ " ไทยพึ่งไทย ทางออกเศรษฐกิจไทย" ซึ่งจัดโดย มูลนิธิไทยพึ่งไทย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืด ๆเป็นอาการทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นน้อยครั้งในบ้านเรา ครั้งล่าสุดที่นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าเข้าข่ายเงินฝืด คือช่วงที่ไทยเผชิญกับวิกฤติน้ำมันครั้งที่สองระหว่างปี 2522-2523 หรือเกือบ 30 ปีล่วงมาแล้ว
ในช่วงเวลานั้น ระดับราคาน้ำมันขยับขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 17.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบราเรล์ ในปี 2522 เป็น 31 และ 36 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบราเรล์ ในปี 2523 และ 2524 ตามลำดับ การปรับขึ้นของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องในช่วงปีดังกล่าว ส่งผลให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจลดจาก 5.3 % ในปี 2522 เหลือ 4.8 % ในปี 2523 แต่อัตราเงินเฟ้อกับพุ่งสวนทางจากระดับ 9.9 % ในปี 2522 เป็น 19.7 % และ 12.8 % ในปี 2523 และ 2524 ตามลำดับ และหลังจากนั้นไม่ปรากฎว่ามีช่วงใดที่เงินเฟ้อกระตุกแซงหน้าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอีกเลยแม้มีวิกฤติน้ำมันเกิดขึ้นอีกก็ตาม
กล่าวสำหรับการฟันธงของ ดร.โกร่ง ในครั้งนี้ ไม่ได้วางน้ำหนักที่ราคา น้ำมันเป็นอัน
ดับต้นๆ แต่จับสัญาณจาก ค่าเงินบาทที่แนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงปี 2551 และข้อเสียของมาตรการกันสำรอง 30 % ของแบงก์ชาติที่ทำให้ตลาดค้าเงินแบ่งเป็น 2 ตลาด คือ ออนชอว์ (การซื้อขายเงินในประเทศ) กับ ออฟชอร์ (การซื้อขายเงินในตลาดต่างประเทศ) ซึ่งนำไปสู่การชี้นำกันเอง และกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าง่ายกว่าปกติ
บนเวทีเดียวกัน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยังอีโคโนมิสต์ ขานรับมุมมอง โอลด์ อีโคโนมิสต์อย่างดร.โกร่งทันที
ในมุมของ ดร.ศุภวุฒิมองว่า ประเทศไทยมีโอกาสเกิดเงินฝืด เนื่องจากอัตรการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่สม่ำเสมอ บางช่วงโตช้า เงินเฟ้อสูง บางช่วงเติบโตสูง ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน แต่จะให้ระบุว่าจะเกิดเมื่อใด (เงินฝืด) มีผลกระทบอย่างไร คงไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ซึ่งในต่างประเทศใช้เวลา 7-8 ปี เขาบรรยายลักษณะอาการของเงินฝืดไว้ด้วยว่า "การที่จะเกิดภาวะเงินฝืดเศรษฐกิจต้องโตช้า เงินเฟ้อสูง อยู่ในภาวะชะลอตัว "
อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์ประจำกระทรวงการคลังอย่าง ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกลับมองต่างมุมจาก สองนักเศรษฐศาสตร์ต่างวัยอย่างสิ้นเชิง โดยเขาฟันธงเหมือนกันว่า "เศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายว่าเกิดภาวะเงินฝืด"
เขาบอกว่าเศรษฐกิจต้องมีอาการ 2 ประการดังต่อไปนี้จึงจะถือว่าเข้าข่าย"เงินฝืด" แล้ว!!
หนึ่ง อัตราเงินเฟ้อมากกว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ และสอง อัตราว่างงานไม่เกิน 2 % ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังห่างไกลจากอาการดังกล่าว เพราะอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้คาดว่า
จะขยายตัวระหว่าง 4-5 % ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือน ตุลาคม ที่ผ่านมาอยู่ 2.5 % ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี และอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.6 % เท่านั้น
สำหรับข้อมูลเงินเฟ้อ และอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อนั้นอยู่ในสภาวะทรงอ่อนเป็นหลักเงินเฟ้อรายเดือนอยู่ในระดับ 1 % เศษเป็นหลักเพิ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2 %เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสที่ผ่านมา แม้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าหากคงรักษาระดับ 4 % ไว้ได้ ( ดูตารางประกอบ) ซึ่งเป็นระดับที่มากว่าอัตราเงินเฟ้อเท่าตัวโดยเฉลี่ย ส่วนการว่างงานนั้นตัวเลขแบงก์ชาติ ณ สิ้นเดือน กรกฎาคม (ล่าสุด) มีตำแหน่งว่างงาน คงค้างทั้งสิ้น 29,330 คน แม้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหากเปรียบเทียบกับยอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนเดือน ธันวาคม 2549 ซึ่งมีอยู่ 38,588 คน ถือว่าต่ำกว่าสิ้นปีที่ผ่านมา
ถ้าเอาหลักในการตรวจวัดอาการเงินฝืด ของโฆษกกระทรวงการคลัง เป็นเกณฑ์ในการ
วัดระดับความฝืดของเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพิเคราะห์ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ และอัตราว่างงาน ข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยยังห่างไกลจากอาการเงินฝืด อย่างน้อยที่สุดก็ในห้วงเวลานี้ และถ้ารัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถดึง ความเชื่อมั่นและขยับลงทุนโครงการใหญ่ๆอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน และมีพลังมากพอจะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง หรือ ดียิ่งกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ ประเทศไทยคงสามารถประกาศว่าเป็นประเทศที่ปลอดโรคเงินฝืดได้กระมัง.
เงินฝืดคืออะไร ?
สำหรับเงินฝืด Stagflation หรือบางสำนักใช้คำว่า Deflation นั้น แบงก์ชาติให้คำจำกัดความว่า
"ภาวะการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่าเงินเฟ้อ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากหลายประการเช่น การเพิ่มขึ้นของอุปทาน การหดตัวของอุปสงค์ การลดลงของต้นทุนจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน หรือ มาตรการปรับ
ลดภาษี และการที่ปริมาณเงินหมุนเวียนมีไม่เพียงพอต่อระบบเศรษฐกิจ"
ตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคเบื้องต้นเล่มหนึ่งบรรยายลักษณะอาการของเงินฝืดไว้ว่า
" คือสถานการณ์ที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ นั่นคือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไป ลดลงเรื่อยๆ นี่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าจะต้องลดลงราคาทุกชนิด และในสัดส่วนเดียวกัน อาจเป็นไปได้ว่าสินค้าบางชนิดราคาสูงขึ้น แต่เมื่อรวมกับราคาสินค้าทุกชนิดแล้วคือราคาถัวเฉลี่ยจะลดลงจากเดิมการที่ระดับราคาทั่วไปลดลง เนื่องจากดีมานด์รวมมีไม่มากพอเพียงจะซื้อสินค้า และบริการที่นำออกขาย ณ ระดับราคาขณะนั้นได้ทั้งหมด ผู้ผลิตจำเป็นต้องลดราคาสินค้า ลดจำนวนผลิต เกิดการว่างงาน ซึ่งกระทบเทือนมาตรการฐานความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงถือว่าเงินฝืดเป็นภาวะเลวร้ายต้องรีบจำกัด"
ทั้งนี้ ตำราเล่มเดียวกันยังระบุว่า "เงินฝืดมีผลให้เงินมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากภาวะเงินฝืด จึงได้แก่เจ้าหนี้ และผู้มีรายได้ประจำ ส่วนผู้ที่ต้องเสียประโยชน์จากภาวะเงินฝืดคือ ผู้มีรายได้จากกำไรและลูกหนี้" |