"รัฐ/เอกชน"ตากหนุนสร้างทางรถไฟตาก-แม่สอด เติมเต็ม East - West Economic Corridor
"รัฐ/เอกชน"ตากหนุนสร้างทางรถไฟตาก-แม่สอด เติมเต็ม East - West Economic Corridor |
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ |
13 ธันวาคม 2550 15:53 น. |
 |
ตาก - "รัฐ/เอกชน"เมืองตาก วอน รฟท.หนุนโปรเจกต์สร้างทางรถไฟตาก - แม่สอด มูลค่า 20,000 ล้านบาท เชื่อมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว เติมเต็มโครงข่ายคมนาคม"อีสเวตส์ อิโคโนมิค คอริดอร์" นายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท อินทิเกรเทคเอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนด์ จำกัด ศึกษาสำรวจและวิจัย เส้นทางรถไฟเชื่อม จ.ตาก- อ.แม่สอด ตามแผนยุทธศาสตร์เปิดฟ้าเมืองตาก โดยมีบริษัท พี วี บี เทคโนโลยี จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาการสำรวจ - ออกแบบเสร็จในเบื้องต้น และส่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)พิจารณาเรียบร้อยแล้ว แบ่งแนวทางการวางรถไฟออกเป็น 3 แนว ประกอบด้วย แนวที่ 1 เรียบทางหลวงสาย 105 โดยจะมีสถานีจำนวน 4 แห่งคือ สถานีต้นทาง ที่ อ.เมืองตาก-สถานีตำบลด่านแม่ละเมา-สถานี อ.แม่สอด และสถานีชายแดนริมแม่น้ำเมย สามารถเชื่อมต่อทางรถไฟจาก จ.สุโขทัยได้ แนวที่ 2 เหนือทางหลวงสาย 105 เส้นทางแม่สอด จ.ตาก -อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้จะต้องรอการขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่าง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน - จ.เชียงใหม่ ก่อน แนวที่ 3 ใต้ทางหลวงสาย 105 ต้นทาง อ.วังเจ้า -บ้านซอ อ.พบพระ -อ.แม่สอด เชื่อมต่อนครสวรรค์ -กำแพงเพชร ทั้ง 3 แนวทางนี้ ถือว่า เส้นทางแนวที่ 1 น่าจะเหมาะสมมากที่สุดเนื่องจากใช้งบประมาณในการก่อสร้างน้อยกว่าอีก 2 แนวทาง คือ ประมาณ 20,000 ล้านบาท แยกเป็นการก่อสร้างรางรถไฟ 17,000 ล้านบาท และสถานีย่อยระหว่างทางรวมทั้งอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนแนวทางที่ 2 และ 3 ต้องตัดผ่านภูเขา ทำให้ต้นทุนสูงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน นาย ชุมพร กล่าวต่ออีกว่า การก่อสร้างทางรถไฟสายนี้จะรองรับระบบการคมนาคมขนส่งสินค้าเป็นหลัก เนื่องจากชายแดนแม่สอด มีสินค้าเข้า-ออกวันละหลายร้อยตัน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมโครงการผลิตเอทานอลในพื้นที่ อ.แม่สอด ให้เติบโต ซึ่งหากระบบการขนส่งดีเชื่อว่าจะมีการผลิตขึ้นอีกหลายเท่าตัวจากเดิม ที่ผลิตเพียงวันละแสนกว่าลิตร อีกทั้งยังจะส่งเสริมการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาให้สะดวกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย "ขณะนี้มีความไปมาก ที่บอร์ดการรถไฟ จะสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพราะจากการที่ได้สำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ เส้นทาง รถไฟ ตาก-แม่สอด จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเชื่อมต่อเส้นทางถนนสายเศรษฐกิจ อีสเวตส์ อิโคโนมิค คอริดอร์(ตะวันตก-ตะวันออก) ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการเชื่อมเส้นทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่นพิษณุโลก " นายชุมพร กล่าว ด้านนายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ตาก-แม่สอด หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นโครงการที่คุ้มค่ากับการลงทุนอย่างยิ่ง ทั้งด้านการค้า-การขนส่ง-การคมนาคม-และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าชายแดนไทย-พม่า นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการขนส่งเอทานอลที่กำลังเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในยุคที่นำมันราคาแพง ซึ่งกำลังมีโครงการผลิตพลังงานทดแทนเอทานอล นโยบายเปิดฟ้าเมืองตาก โครงการสร้างเส้นทางรถไฟ จึงเป็นความคิดที่ทันต่อสถานการณ์และคุ้มค่าต่อการลงทุนในพื้นที่อย่างมาก นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ที่ผ่านมาหอการค้าภาคเหนือตอนล่าง ได้นำเสนอแนวทางการขนส่งระบบรางมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะ ที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีบ่อน้ำมัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ ทั้งนี้ จ.ตาก ควรเร่งวางระบบทางรถไฟ เพื่อเชื่อมต่อทางสายเศรษฐกิจ อีสเวตส์ อิโคโนมิค คอริดอร์ สู่ประเทศพม่า ซึ่งขณะประเทศพม่าได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระบบรางคู่จากกรุงย่างกุ้งเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศไทยในอนาคตแล้ว ดังนั้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รีบดำเนินการจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชายแดนอย่างแน่นอน "ถ้าตอนนี้เราจัดการระบบรางที่ครอบคลุม และทันสมัยปัญหาต้นทุนการขนส่งที่มีราคาน้ำมันเป็นปัจจัยหลักจะไม่ใช้ปัญหาเช่นทุกวันนี้ ภาครัฐอย่ารับเสนอเพียงแค่หลักการของโครงการ ศึกษาแล้วจบ แต่จะต้องเดินหน้าการจัดการการขนส่งระบบรางได้แล้ว หากมัวแต่กลัวเรื่องต้นทุนการก่อสร้างสูงก็ไม่คืบหน้าสักที" นายอำพล กล่าว ขณะที่นายบุญเชิด สุขแว่น นายกเทศมนตรีตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า เขตเทศบาลท่าสายลวดถือว่าโชคดีที่เป็นเมืองหน้าด่านสถานีรถไฟ สถานีสุดท้าย(สถานีที่ 4) ริมชายแดนไทย-พม่า เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ และตนเองพร้อมที่จะพัฒนาเมืองรองรับการเป็นเมืองหลักชายแดนและสถานีสุดท้ายของเส้นทางรถไฟ ตาก-แม่สอด ต่อไป
| |
 | |