สินค้า-ต้นทุนพรวด80% + สู่ยุคข้าวยากหมากแพง มนุษย์เงินเดือนหลังแอ่น รายได้ไม่พอยาไส้
|
|
|
|
สินค้า-ต้นทุนพรวด80% + สู่ยุคข้าวยากหมากแพง มนุษย์เงินเดือนหลังแอ่น รายได้ไม่พอยาไส้ |
เปิดศักราชหนูไฟ คนไทยปาดเหงื่อแบกภาระค่าครองชีพหลังแอ่น สินค้า-ค่าขนส่ง พาเหรดปรับราคา 10-80% น้ำมันปาล์ม-ถั่วเหลืองเตรียมเตรียมขึ้นเหยียบ 48 บาท ,"ค่ายมาม่า"ขึ้นซองละบาทไม่พอ เปิดช่องโชว์ห่วยขยับราคาตามอำเภอ โดยไม่แสดงป้ายราคาสินค้าสต๊อกใหม่ ไม่เว้นราคาพืชผัก เนื้อสัตว์ พุ่งกระฉุด ฉุดร้านอาหารริมฟุตบาทยันแบรนด์ดังขึ้นกราวรูด
*สินค้า 5 รายการจ่อขยับ:
หลังจากช่วงปลายปี 2550 ผ่านมา ที่มีผู้ประกอบการกว่า 30 รายได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอปรับราคา 14 สินค้ารวม 588 รายการ โดยมีบางรายการที่กระทรวงพาณิชย์ได้อนุมัติให้ปรับราคาไปก่อนหน้า อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์นม(นมกล่อง) กาแฟสำเร็จรูป น้ำปลา และน้ำอัดลม
ล่าสุด นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากการที่ผู้ผลิตสินค้าประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สืบเนื่องจากราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับราคาสินค้า 5 รายการ ประกอบด้วย 1. น้ำมันปาล์ม 2.ผลิตภัณฑ์นม 3. แบตเตอรี่ 4.ยางรถยนต์ และ 5.ปุ๋ยเคมี
โดยในส่วนของน้ำมันปาล์มซึ่งก่อนท้ายปี 2550 ได้อนุมัติให้ปรับราคาไปแล้วขวดละ 5.50 บาท จนปัจจุบันราคาขยับมาอยู่ที่ขวดละ 43.50 บาท และผลิตภัณฑ์นม(นมผง)ที่วัตถุดิบนำเข้าได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก จาก 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เป็น 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน คาดจะทราบผลราคาใหม่ภายในเดือนนี้
ขณะที่แบตเตอรี่ ปุ๋ยเคมี ราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวขึ้นมาก ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา เช่นเดียวกับยางรถยนต์ แม้ราคาวัตถุดิบยางพาราจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการยอมรับว่ากลไกตลาดและอำนาจการซื้อของผู้บริโภคลดลงมาก จึงไม่เร่งรีบที่จะปรับขึ้นมากนักเพราะหากเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการได้
*น้ำมันพืชแนวโน้มแตะ 50 บาทต่อขวด:
ทั้งนี้จากการที่กรมการค้าภายในได้ปรับราคาเพดานน้ำมันพืช น้ำมันถั่วเหลืองจากขวดละ 40 บาท (ขนาดบรรจุ 1 ลิตร)เป็นขวดละ 45.50 บาท และน้ำมันปาล์ม จากขวดละ 38 บาท เป็น 43.50 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ผู้สื่อข่าว "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สำรวจราคาสินค้าดังกล่าว ที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าพบว่า ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง ได้ชนเพดานตามที่กรมการค้าภายอนุมัติแล้ว โดยน้ำมันปาล์มขนาด 1 ลิตร ขวดละ43.50บาท ,และน้ำมันถั่วเหลืองขนาด 1 ลิตร อยู่ที่ขวดละ 45.50บาท ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ของวงการน้ำมันพืชที่มีการขายชนราคาเพดาน จากปกติจะขายต่ำกว่าป้ายแสดงราคา เนื่องด้วยการแข่งขันทางการตลาดที่สูง
นายเศรษฐสรร เศรษฐการุณย์ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลือง กล่าวว่า ไม่เพียงราคาจำหน่ายจะขายชนเพดานที่กำหนด ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ประกอบการจะยื่นขอปรับราคาน้ำมันถั่วเหลืองจากลิตรละ 45.50 บาทขึ้นไปอีก เนื่องจากขณะนี้ราคาถั่วเหลืองซึ่งเป็นต้นทุนหลักของน้ำมันถั่วเหลืองปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากราคา 479 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเมื่อเดือนธันวาคม ขึ้นมาเป็นตันละ 576 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20%ภายใน 1 เดือน โดยมีสาเหตุจากทั่วโลกมีความต้องการใช้ถั่วเหลืองมาผลิตไบโอดีเซลมากขึ้น ประกอบกับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (อ่านรายละเอียดตารางต้นทุนสินค้าเกษตร )
เช่นเดียวกับ ม.ร.ว.สุภาณี ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชทิพ จำกัด (บจก.) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันพืชทิพและทิพไวส์ กล่าวว่า ทางบริษัทได้ขอปรับขึ้นราคาน้ำมันพืชทั้งในส่วนของทิพและทิพไวส์ไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก คน. โดยราคาที่ขอปรับนั้นอ้างอิงกับต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ราคาต่อขวดที่จะขอปรับขึ้นเกิน 50 บาท แต่ยังไม่ทราบผลว่า คน.จะอนุมัติเพิ่มเท่าใด
ส่วนความกังวลว่า จะเกิดการกักตุนสินค้าของร้านค้าปลีกหรือไม่ ม.ร.ว.สุภาณี กล่าวว่า เท่าที่สำรวจคำสั่งซื้อจากร้านค้าต่างๆ ยังอยู่ในภาวะปกติ รวมทั้งทางบริษัทเองก็มีการดูแลสต็อกเช่นกัน เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบกับผู้บริโภค อีกทั้งคาดว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ยังมีนโยบายในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบต่างเชื่อว่าต้นทุนการผลิตที่ยังสูงต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ที่คน.มีแนวโน้มจะอนุมัติราคาน้ำมันพืชขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อขวด ในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะร้านอาหารปรับราคาขึ้นตาม ด้วยการสต๊อกสินค้าจากร้านค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้
* มาม่าเปิดช่องให้โชว์ห่วยขึ้นราคา
นอกจากนี้สินค้าที่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะปรับขึ้นต้นปีนี้ อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" ที่ขึ้น 1 บาท นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" แม้ทางบริษัทจะปรับขึ้นราคาแล้วก็ตาม แต่ยังให้ราคาพิเศษกับทางร้านค้า โดยทางบริษัทได้จัดโปรโมชั่นกับร้านค้าอาทิ การให้ส่วนลดพิเศษ 15 วัน สำหรับสินค้าล็อตใหม่ที่วางจำหน่ายนั้น ทั้งนี้สินค้าล๊อตใหม่ เองก็จะไม่ได้มีการติดป้ายแสดงราคาเช่นสินค้าเดิมที่ติดป้าย 5 บาท เนื่องจากขณะนี้ราคาต้นทุนสินค้ายังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งแป้งสาลีและน้ำมันพืช ขึ้นกว่า 100 % ค่าบริหารงานด้านอื่นๆปรับขึ้นกว่า 10 %
ดังนั้นหากต้นทุนยังสูงขึ้นต่อไป ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอาจปรับสูงขึ้นกว่า 6 บาท แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด นอกจากนี้เหตุผลที่ไม่ติดป้ายราคานั้น เพื่อต้องการให้ร้านค้าได้กำไรด้วย โดยจะจำหน่ายราคา 5 บาท หรือ 6 บาทขึ้นไป ก็ขึ้นอยู่กับร้านค้านั้นๆ
"เรื่องไม่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า คงไม่มีปัญหาเพราะไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยปัญหาของต้นทุนคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่ง ทั้งข้าวสาลี และน้ำมันปาล์ม โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มของไทยเวลานี้ราคาสูงกว่าประเทศมาเลเซีย จึงเห็นว่ารัฐบาลน่าจะเปิดให้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ได้ เพื่อให้การค้าเสรีอย่างแท้จริง"นายพิพัฒกล่าว
และจากการสอบถามไปยังร้านค้าปลีกค้าส่งรายหนึ่ง ได้รับคำตอบว่า ทางร้านได้ปรับราคาสินค้าขึ้นไปแล้วหลายตัว อาทินมผงเด็กบางยี่ห้อปรับขึ้นไปมากกว่า 20 บาทต่อกล่อง ,นมเปรี้ยวโยเกิร์ตปรับขึ้น 5 บาทต่อแพ็ค 4 ถ้วย รวมถึงถุงพลาสติก กาแฟ โอวัลตินที่ปรับราคาขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางร้านค้าจะไม่มีการสต๊อกสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันพืชและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากได้กำไรน้อยมาก และไม่ได้ประโยชน์ ต้องใช้ทุนในการสต๊อก
**ร้านอาหารดังทยอยปรับราคาขึ้น
จากต้นทุนสินค้าเกษตรและต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับขึ้นไม่น้อยกว่า 10-80% (ตารางประกอบ) ตลอดจนราคาแก๊อาทิ ก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นกิโลละ 1.20 บาทจากกิโลละ 16.85 บาทมาเป็น 18 บาท จนส่งผลให้ราคาแก๊ส ( 15 กก.)ปัจจุบัน ปรับขึ้นเป็น 270.85 บาทต่อถัง และยังมีแนวโน้มว่าราคาจะปรับขึ้นมามากกว่า กก.ละ 20 บาท
ประกอบกับราคาพืชผักทยอยขึ้นในช่วงเดียวกัน อาทิ คะน้า ตลาดสดบางกะปิ ขายในราคากิโลกรัมละ 30-33 บาท ปรับขึ้นจากเดิมที่ขายในราคากิโลกรัมละ 25-28 บาท ผักชี ราคาขีดละ 18-20 บาทหรือกิโลกรัมละ 180-200 บาท ต้นหอม ราคาขีดละ 7-8 บาทหรือกิโลกรัมละ 70-80 บาท ส่วนตำลึง ราคากิโลกรัมละ 80 บาท ปรับขึ้นจากเดิมที่ขายในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท
ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยต้นทุนที่ให้ร้านอาหารริมฟุตบาท จนถึงร้านอาหารดัง ต้องปรับขึ้นราคาตามต้นทุนจริง และในบางรายที่ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคามากกว่าต้นทุนแบกรับ
โดย นายวีรพงษ์ ปัญจวัฒกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวว่า ทางสมาคมยังคงตรึงราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มไว้ที่ 38 บาทต่อกิโลกรัมต่อไปอีกระยะหนึ่ง ตามที่กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือ แม้ว่าต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 35 บาทต่อกิโลกรัมแล้วในขณะนี้ ทว่าเนื้อไก่ในตลาดสดที่พ่อค้าแม่ค้าซื้อไปปรุงอาหารได้ปรับสูงขึ้นไปแล้ว
ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องปรับราคาอาหารขึ้นตามไปด้วย โดยแม่ค้าร้านขายก๋วยเตี๋ยวและข้าวมันไก่รายหนึ่งย่านลาดพร้าว กล่าวว่าราคาเนื้อไก่ได้ปรับสูงขึ้นจากกก.ละ 45 บาท เป็นกก.ละ 60 บาท เนื้อหมูจากกก.ละ 75 บาท เป็น 95 บาท ทำให้ต้องปรับราคาขายก๋วยเตี๋ยวจากชามละ 20 บาทเป็น 25 บาท เช่นเดียวกับร้านก๋วยเตี๋ยวรำพึง ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยทวีวัฒน์ 3 ย่านดอนเมืองได้ปรับราคาขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อ และ หมู เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยปรับราคาจากชามละ 15 บาทเพิ่มเป็น 20 บาท และ พิเศษเป็น 25 บาท โดยเจ้าของร้านให้เหตุผลในการปรับราคาก๋วยเตี๋ยวในครั้งนี้เนื่องจากว่า ราคาแก๊ส ,ผัก และ เส้นก๋วยเตี๋ยว ทุกอย่างปรับขึ้นราคาทั้งหมดเพราะฉะนั้นจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น
ด้านบจก.ไทยยามาซากิ ผู้บริหารร้านเบเกอรี่ยามาซากิ และแซงเอตัวล์ จากประเทศญี่ปุ่น มร.อิชิโร่ ไซโต้ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันต้นทุนก็ยังไม่มีท่าทีที่จะลดลงแต่อย่างใด ทำให้ผู้ประกอบการต่างแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะแป้งสาลี ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตขนมปัง และเบเกอรี่ทั้งหมด เพิ่มขึ้นประมาณ 130% บริษัทจึงได้ปรับราคาสินค้าขึ้นเฉลี่ย 2-10 บาท /ชิ้น ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยหลักจะเป็นขนมปังแบบปอนด์ ปรับราคาเพิ่มขึ้น 2 6 บาท/ชิ้น และในต้นปี บริษัทได้ปรับราคาสินค้าประเภทขนมปังโรล และขนมปังอบ ขึ้น 5 10 บาท /ชิ้น
นายสนั่น พรหมโคตร ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยว "ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว" กล่าวว่า ในส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัท ต้องแจ้งไปยังแฟรนไชซี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,500 ราย ถึงปัญหาเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และให้แฟรนไชซีคิดกลยุทธ์วิธีการบริหารการจัดการร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยวเอง ทั้งนี้ราคาขายโดยทั่วไปตามท้องตลาดอยู่ที่ 25 30 บาท แต่ทางบริษัทไม่ได้เข้าไปห้ามในส่วนของแฟรนไชซีรายต่างๆ ที่จะปรับราคาขายขึ้นแต่อย่างใด ส่วนราคาขายแฟรนไชส์ของ "ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว" ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทก็ยังไม่มีการปรับขึ้น
*พาณิชย์งัดมาตรการเดิมๆ "ธงฟ้า"
สำหรับมาตรการดูแลผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์ในภาวะที่ค่าครองชีพ
ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากว่า นายยรรยง พวงราช กล่าวว่า มีหลายแนวทาง ที่สำคัญคือ การกำกับดูแลราคาขายปลีกสินค้าในท้องตลาด การกำกับดูแลราคาผู้ผลิตว่าสมควรให้ปรับราคาหรือไม่ การขยายขอบเขตการขายสินค้าเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การร่วมมือกับโมเดิร์นเทรดเพิ่มมุมสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดให้ครบทุกสาขา ขายราคาถูกกว่าในร้านค้าปกติประมาณ 20% เริ่มตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือการตั้งร้านธงฟ้าในฟู้ดคอร์ดรวมถึงในตลาดสด การจัดงานตลาดนัดธงฟ้าในทุกภูมิภาคอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
นอกจากนี้ทางกรมจะเพิ่มจำนวนรถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปภายใต้โครงการอิ่มทั่วฟ้าราคาเดียวทั่วประเทศอีก 500 คัน เป็น 1,500 คัน การเพิ่มจำนวนร้านอาหารธงฟ้าที่ขายอาหาร 20-25 บาท/จาน/กล่อง จากปัจจุบันมีประมาณ 1,500 ร้าน อีกทั้งจะประสานกับร้านอาหารทั่วไปที่ขายในราคาเดิม(20-25 บาท/จาน)โดยไม่เพิ่มราคา หรือลดปริมาณตั้งแต่ปีที่ผ่านมาและจะยังตรึงราคาต่อไป โดยหากผลการตรวจสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะมอบป้ายร้านอาหารพันธมิตรธงฟ้า เพื่อช่วยตรึงราคาอาหารทั่วประเทศต่อไป
"มาตรการทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อลดภาระและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ช่วยตรึงราคาสินค้าเพื่อให้ผู้ประกอบการชะลอการขอปรับราคา ฉุดราคาให้ลดลงมา และเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อของประเทศไม่ให้สูงขึ้นมาก"
*มนุษย์เงินเดือนอ๊วก
อนึ่งจากข้อมูลสำรวจในช่วง 6 เดือนแรก(มกราคม-มิถุนายน 2550 ) ของสำนักงานสถิติและสังคมแห่งชาติ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 17,429 บาท และจากการสำรวจบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ในปี 2551 ประมาณกันว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนจะปรับขึ้นประมาณ 6% หรือมีรายได้ในปีนี้ราว 18,500. บาท ขณะที่แรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศปรับขึ้นตั้งแต่ 1-7 บาท
ซึ่งเทียบไม่ได้กับต้นทุนจากภาระราคาสินค้า (ตารางประกอบ)และค่าขนส่งวันนี้ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 10-80% และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 ตามการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 3-3.5% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล อัตราแลกเปลี่ยน 33-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอัตราขยายตัวเศรษฐกิจ 4-5%
น่าคิดว่า ยุคข้าวยากหมากแพง เป็นจริงแน่แท้ก็คราวนี้เอง !
| | | | | |