เช้าวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ วันที่อากาศสดใสหลังปีใหม่จีน แต่เป็นวันที่ชาวแม่สอด จังหวัดตากต้องตะลึง เมื่อกองทัพจักรยานกว่า 1,000 คัน
เคลื่อนขบวนผ่านสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า ข้ามลำน้ำเมย จากฝั่งอำเภอแม่สอด สู่เมืองเมียวดี ไปเผชิญหน้ากับขบวนสองล้อของชาวพม่าอีกกว่า 500 คัน ทว่า มิใช่การเผชิญหน้าเพื่อรบพุ่งให้ยุ่งขิงเฉกเช่นอดีต หรือมารวมตัวกันเพื่อประท้วงใครใดๆ ทั้งสิ้น เพราะนี่คือขบวนจักรยานที่หยิบยื่นไมตรีให้แก่กัน ตามโครงการ มหกรรมปั่นจักรยานไทย-พม่า ซึ่งหอการค้าจังหวัดตากและองค์กรพันธมิตรจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 9 แล้ว แต่ไม่มีปีไหนจะยิ่งใหญ่และมีจักรยานมาร่วมขบวนคับคั่งคึกโครมเท่าปีนี้
ถือเป็นการทูตภาคประชาชนครั้งยิ่งใหญ่ ของสองประเทศที่ในอดีตเคยมีประวัติศาสตร์บาดแผลร่วมกันมายาวนาน แต่วันนี้ จับมือกันสร้างตำนานหน้าใหม่ ที่มุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ด้วยจำนวนจักรยานที่อาจทำสถิติให้ กินเนสส์ บุ๊ก ต้องบันทึกไว้ว่า เป็นขบวนรถสองล้อของชาวบ้านธรรมดาๆ ทว่าขี่ข้ามประเทศที่มีจำนวนมากติดอันดับโลก และที่สำคัญ คือเป็นกิจกรรมทันสมัยสุดๆ ในยุคที่ภัยโลกร้อนกำลังมาเยือน
เมียวดีในอดีต คือหนึ่งในหัวเมืองสำคัญบนเส้นทางเดินทัพ ในห้วงยามที่หงสาวดีกับอังวะ ทำสงครามยืดเยื้อกับกรุงศรีอยุธยา แต่วันนี้กลายเป็นหัวเมืองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของพม่า เพราะสะพานมิตรภาพไทย-พม่า จากแม่สอดข้ามลำน้ำเมยสู่เมียวดีนั้น แม้จะเป็นสะพานขนาดเล็ก ด้วยลำน้ำเมยเป็นเพียงลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน แต่ในทางเศรษฐกิจถือเป็น โซ่ข้อกลาง ข้อสำคัญของเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ตามโครงการของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
จากจุดเริ่มต้นที่เมืองท่าดานังริมฝั่งทะเลจีนใต้ของเวียดนาม ผ่านแขวงสะหวันนะเขดในลาว ข้ามโขงด้วยสะพานมิตรภาพลาว-ไทย สู่มุกดาหาร ขอนแก่น พิษณุโลก ตาก ข้ามลำน้ำเมยที่แม่สอดสู่เมียวดี ไปสิ้นสุดที่เมืองท่ามะละแหม่ง ริมฝั่งทะเลอันดามันของพม่า แม้ว่าจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายคือ เส้นทางช่วงเมียวดีไปเมืองท่ามะละแหม่ง และเมืองหลวงย่างกุ้งยังไม่ปลอดภัยนัก เพราะการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังกู้ชาติเผ่าต่างๆ ยังไม่จบสิ้น แต่กระนั้น สะพานมิตรภาพข้ามลำน้ำเมยแห่งนี้ก็เป็นเส้นทางส่งสินค้าไปยังพม่า บังกลาเทศและอินเดีย มีมูลค่าถึงปีละกว่า 12,000-13,000 ล้านบาท ส่งผลให้ เมียวดี ซึ่งเดิมมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของรัฐกะเหรี่ยง มีประชากรไม่ถึงแสนคน ได้รับการยกฐานะเป็น "เขตเศรษฐกิจชายแดน" ในปัจจุบัน
นิติศักดิ์ ประสิทธิ์ศิลป์ นักธุรกิจโฆษณา ผู้รักการขี่จักรยานเพื่อสุขภาพเป็นชีวิตจิตใจ ไม่พลาดที่จะเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ยุคใหม่ของไทยกับพม่า โดยสมัครผ่านเว็บไซต์หอการค้าตาก ...ค่าสมัคร 200 บาท เป็นค่าเที่ยวชมเมืองเมียวดี ถูกเสียจนอยากบริจาคเงินช่วยสนับสนุนกิจกรรมดีๆ อย่างนี้ พอเย็นวันศุกร์เลิกงานแล้ว ผมเอาจักรยานใส่ท้ายรถขับไปแม่สอด... เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนอรุณรุ่ง ขี่จักรยานฝ่าอากาศเย็นฉ่ำ แซงแถวพระบิณฑบาตไปสนามกีฬานเรศวร จุดเริ่มต้นคาราวานจักรยานไทย-พม่า โอ้โฮ! กองทัพจักรยานเป็นแถวยาวอยู่ในสนามแล้ว รู้สึกตื่นตาตื่นใจ แล้วฟ้าก็ค่อยๆ เปลี่ยนสี เป็นอรุณรุ่งที่น่าประทับใจมาก เพราะไม่เคยเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหนือกองทัพจักรยานนับพันคันมาก่อนเลยในชีวิต
หลังพิธีเปิดงานโดยรองผู้ว่าททท. และผู้ใหญ่ของจังหวัดตากแล้ว กองทัพจักรยานก็เคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามลำน้ำเมยซึ่งแบ่งกั้นเขตแดนสองประเทศ แต่ไม่อาจขวางกั้นมิตรภาพของผู้คนสองฟากฝั่งได้ จึงหยุดตั้งขบวนถ่ายภาพหมู่กัน ท่ามกลางฝูงชนทั้งไทยและพม่ามุงดูกันแน่นขนัด กลายเป็นภาพประทับใจยากจะลืมเลือน เมื่อกองทัพจักรยานกว่า 1,000 คัน ใส่เสื้อสีฟ้ายาวเหยียดเต็มถนน เคลื่อนผ่านซุ้มประตูของทั้งสองประเทศ
...ผมเห็นชาวพม่ายืนเต็มถนน กับขบวนจักรยานพม่าอีกกว่า 500 คัน ใส่เสื้อเหมือนกับเรา รอต่อท้ายคาราวานจักรยานไทย ขี่ท่องเที่ยวเป็นขบวนไปด้วยกัน รวมแล้วกว่า 1,600 คัน เป็นภาพที่ชวนให้ขนลุก..."
กองทัพสองล้อซึ่งบัดนี้รวมสองชาติเป็นขบวนเดียว เคลื่อนผ่านตัวเมืองเมียวดีซึ่งมีทั้งตึกรามทันสมัย กับเรือนไม้ในบรรยากาศย้อนยุคสลับกันไปเพลินตาเพลินใจ และแน่นอน...เมื่อไปเยือนดินแดนแห่งศรัทธาสูงส่งในพุทธศาสนา จึงมีรายการแวะกราบสักการะพระเจดีย์ชเวมินปุ่น หรือวัดเจดีย์ทอง อารามหลวงศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมืองเมียวดี เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งนักปั่นจากฝั่งไทยก็ไม่ลืมถอดรองเท้าตั้งแต่เริ่มเข้าประตูวัด (ไม่ใช่ถอดที่ประตูโบสถ์) เพื่อเคารพวัฒนธรรมประเพณีที่เคร่งครัดของเพื่อนบ้าน ก่อนไปกินอาหารและชมการแสดงที่ชาวเมียวดีจัดมาต้อนรับท่ามกลางแดดแผดจ้ายามบ่าย แต่ในใจนักปั่นทั้งสองชาติกลับเย็นฉ่ำด้วยน้ำใจไมตรีที่มีให้แก่กัน
จบรายการวันเดียวเที่ยวเมียวดี ด้วยการแวะตลาดพม่าให้นักปั่นไทยได้ช็อปกันกระจาย แต่พอถึงเวลาแห่งการลาจากฉากสุดท้ายที่ประตูเมืองเมียวดี เชิงสะพานมิตรภาพ มีอาลัยอาวรณ์กันพอประมาณ แม้จะเพิ่งพานพบแล้วขี่จักรยานไปด้วยกันเพียงครึ่งวัน แถมไม่มีโอกาสได้แนะนำตัวเพราะคนเยอะมาก แต่ก็ได้อารมณ์ซาบซึ้ง ชวนให้นึกถึงภาษิตโบราณบทที่ว่า...ศัตรูเมื่อวันวาน อาจคือมิตรแท้ในวันพรุ่ง... งานนี้ปรบมือดังๆ ให้กับความสำเร็จของหอการค้าจังหวัดตาก จนหลายคนสัญญาว่าปีหน้าฟ้าใหม่ จะกลับมาปั่นจักรยานข้ามประเทศ และข้ามพรมแดนแห่งความเคียดแค้นชิงชังที่มีมาแต่อดีต...อีกครั้งให้จงได้ ขอขอบคุณ คุณนิติศักดิ์ ประสิทธิ์ศิลป์ เอื้อเฟื้อภาพ
ที่มา .หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่เสาร์ที่ 23 ก.พ. 2551