โลจิสติกส์ชิงเค้กห้าแสนล้าน + ทีแอลเอเร่งขยายงานบริการครบวงจรเจาะลูกค้ารายใหญ่
|
|
|
|
โลจิสติกส์ชิงเค้กห้าแสนล้าน + ทีแอลเอเร่งขยายงานบริการครบวงจรเจาะลูกค้ารายใหญ่ |
ทีแอลเอ เร่งปักหมุดชิงผู้นำธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์ในเมืองไทย รวมกลุ่มเสริมศักยภาพให้บริการแบบครบวงจร รับมือแข่งขันบริษัทข้ามชาติ หลังไทยต้องเปิดเสรีการค้าเต็มตัว
วางเป้าเจาะฐานลูกค้าใหม่ ในตลาดหลักทรัพย์ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
นายชุมพล สายเชื้อ ประธาน บริษัท ไทยโลจิสติกส์ อัลลายแอนซ์ จำกัด หรือ ทีแอลเอ เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ปีนี้บริษัทจะขยายงานด้านบริการโลจิสติกส์ ให้มีความหลากหลายและครอบคลุมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับกับฐานลูกค้าใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา โดยบริษัทมีเป้าหมายชัดเจนไปที่กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และภาคอุตสาหกรรมการส่งออกที่คาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทจะเพิ่มงานด้านบริหารจัดการทั้งระบบให้กับลูกค้าเป็นรายๆ ด้วย ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้รวมกันในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้จากการรวมกลุ่มกันของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์คนไทย 31 ราย เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางโลจิสติกส์ ในการจัดตั้งเป็นบริษัทไทยโลจิสติกส์ อัลลายแอนซ์ ส่งผลให้บริษัทมีศักยภาพทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะใน 4 ด้านหลักคือ 1.ธุรกิจด้านการขนส่ง 2.ธุรกิจด้านคลังสินค้า 3.ธุรกิจด้านพิธีการทางศุลกากร และ 4.ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการส่งออก ทำให้ทางกลุ่มสามารถให้บริการด้านโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจรทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปทั่วโลก
วัตถุประสงค์ของการรวมตัวเป็นกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ก็คือ ต้องการให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการโลจิสติกส์และเป็นคนไทยด้วยกัน เพราะแนวโน้มในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีเต็มตัวต่างชาติเข้ามามาก ธุรกิจคนไทยอาจแข่งขันไม่ได้ แล้วก็ต้องกลายเป็นบริษัทที่ต้องคอยรับช่วงต่ออีกที หรือ ซับคอนแทร็กต์ ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่รวมกลุ่มกัน เราก็จะไม่เข้มแข็งพอ ในที่สุดก็จะเป็นแค่คนรับงานต่อจากต่างชาติ แต่ถ้ารวมกลุ่มก็จะมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งที่จะสามารถหางานได้เองโดยตรง
นายชุมพล กล่าวว่า ปัจจุบัน ทีแอลเอ ถือเป็นบริษัทคนไทยที่มีศักยภาพแข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้กับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาเปิดให้บริการด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากผู้ประกอบการทั้ง 31 ราย ที่รวมตัวกันนั้น ทุกคนต่างก็มีความชำนาญในธุรกิจและมีประสบการณ์ทำงานที่ยาวนาน โดยมีฐานลูกค้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 15,000 ราย มีรถให้บริการในทุกขนาดที่เหมาะสมแต่ละอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 2,000 คัน มีคลังสินค้าทั่วประเทศ
นอกจากนี้จากความที่เป็นบริษัทคนไทย ที่มีความชำนาญในพื้นที่และรู้วัฒนธรรมทางธุรกิจ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ และการบริหารงานแบบเครือข่าย จะยิ่งเสริมให้ทีแอลเอ มีศักยภาพในแง่การให้บริการได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีต้นทุนดำเนินงานที่ต่ำ ซึ่งจะทำให้ราคาการให้บริการของทีแอลเอ ต่ำกว่าบริษัทข้ามชาติ 15-20% เนื่องจากไม่ต้องผ่านคนกลาง
ศักยภาพการให้บริการทีแอลเอจะมีเซอร์วิสอยู่ 4 กลุ่มหลัก ให้บริการด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจร เป็นวันสต็อปช็อปปิ้ง และมีขอบข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถรับงานขนาดใหญ่ได้ ลูกค้าหลักของเราจะมาจากฐานลูกค้าเดิมของ 31 บริษัทซึ่งมีประมาณ 15,000 ราย พูดได้ว่ายังไม่มีเอกชนรายไหน ที่สามารถให้บริการได้แบบนี้ได้ โดยข้อได้เปรียบที่ชัดเจนคือเรื่อง ราคาที่ไม่แพง เพราะ ทีแอลเอ ก่อตั้งขึ้นมาจากบริษัทเอกชนที่มีคลังสินค้า มีรถบรรทุก ทำให้แทบจะไม่มีต้นทุน
นายชุมพล กล่าวต่อว่าในปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพงานด้านบริการแบบครบวงจรในลักษณะ วัน สต็อป ช็อปปิ้งทางด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการนำเสนอโซลูชันเป็นแพ็กเกจ
สำหรับแต่ละบริษัทให้เลือกใช้ เช่น บริษัทมีการนำเข้าสินค้า ส่งออกสินค้าอย่างไร เคลื่อนย้ายสินค้าจากคลังไปท่าเรืออย่างไร ทำชิปปิ้งอย่างไร โดยทีแอลเอจะเสนอเข้าไปบริหารจัดการให้ ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่บริษัทวางไว้ และจะทำให้มีมาร์จินมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันจะช่วยลดต้นทุนของโลจิสติกส์ของลูกค้า โดยบริษัทมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าใหม่ไปที่ บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติต่างๆ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวม 520,000 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2551 นั้นหากดูจากปี2550 ที่ผ่านมาจะพบว่า จีดีพี ของประเทศไทยจะอยู่ที่ 4% การขยายตัวของโลจิสติกส์อยู่ที่ประมาณ 8% ในขณะที่การขยายตัวของโลจิสติกส์ในเอเชียอยู่ที่ 14-16% ในปีนี้ตามคาดการณ์จีดีพีของประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 5% การขยายตัวของโลจิสติกส์จะอยู่ที่ประมาณ 11% หรือเท่ากับ 2 เท่าของการขยายตัวของจีดีพี แต่การขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์จะไปขยายตัวในกลุ่มธุรกิจด้านการส่งออกมากกว่า ซึ่งจากตัวเลขของหอการค้าไทยพบว่า เซ็กเตอร์ที่มีการขยายตัวมากคือกลุ่มกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนประเภทคอนซูเมอร์โปรดักต์ ในประเทศอาจจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย หากจีดีพีไม่เป็นไปตามเป้า
นายชุมพล กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ คือ1.เรื่องของการลดต้นทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น กรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งต้องการดัดแปลงเครื่องยนต์เป็นเอ็นจีวี รัฐบาลอาจให้การส่งเสริมหรือให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือให้สามารถใช้รถบรรทุก ค้ำประกันแทนทรัพย์สินได้เป็นต้น 2.
ในเรื่องของการแข่งขัน ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาในเรื่องของการเปิดเสรีทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ แบบค่อยเป็นค่อยไป และช่วยเหลือส่งเสริมให้เอกชนไทยมีความพร้อม เช่นในเรื่องของเทคโนโลยีไอที ระบบการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ และการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการใช้บริการบริษัทของคนไทย รวมไปถึงการลงทุนด้านอินฟราสตรักเจอร์ ต่างๆที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจของภาคเอกชน
| | | | | |