ระดมสมองพัฒนาโลจิสติกส์
Source - สยามรัฐ (Th)
Monday, September 01, 2008 04:22
** เชื่อมการค้า-ขนส่ง-ท่องเที่ยว4ประเทศ
เร่งผลักดันถนน 4 เลน ตาก-แม่สอด รองรับเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด-เขตการค้าการลงทุน จ.เมียวดี พร้อมประชุมเชิงปฎิบัติการกลยุทธ์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ภายใต้กรอบ East West Economic Corridor ในทศวรรษหน้า เชื่อมโยงพม่า-ไทย-เวียดนาม-ลาว
ตาก-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หอการค้า จ.ตาก,สภาอุตสาหกรรม จ.ตาก,มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรแม่สอด,สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการกลยุทธ์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ภายใต้กรอบ East West Economic Corridor ในทศวรรษหน้าที่ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคการผลิตและการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์,การขนส่ง,การพัฒนากำลังคนและกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์,การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยคณะผู้เข้าประชุมกว่า 30 คน ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานเขตการค้าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดน จ.ตากและเขตการค้าการลงทุน จ.เมียวดี ประเทศพม่า
นายดิษฐ์อัชพณ สูตรสุคนธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวระหว่างเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในที่ประชุมว่า จะต้องเร่งผลักดันเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอดรองรับเขตการค้าการลงทุนที่เชื่อมโยงกับ จ.เมียวดี เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของพม่า และเร่งก่อสร้างถนน 4 เลน ตาก-แม่สอด ระยะทาง 86 กม.เพื่อการขนส่งสินค้าชายแดนไทย-พม่าที่สะดวกรวดเร็วขึ้นและเพื่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบและสอดคล้องกับพื้นที่พัฒนาเมืองแม่สอดที่มีการส่งออกและนำเข้าสินค้า ปีละกว่า 14,000 ล้านบาทในระบบผ่านด่านศุลกากรและมากกว่านั้นในช่องทางอื่นๆ โดยการพัฒนาศักยภาพนั้นจะต้องรองรับกลยุทธ์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ภายใต้กรอบ East West Economic Corridor ในทศวรรษหน้าอีกด้วย

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้า จ.ตากกล่าวว่า กลยุทธ์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ภายใต้กรอบ East West Economic Corridor ในทศวรรษหน้านั้นเป็นแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่จะเชื่อมโยงพม่า,ไทย,เวียดนาม,ลาว โดยยังจะเชื่อมโยงด้านการขนส่งภายใต้ EWEC ได้แก่ 1.การพัฒนาเส้นทางการขนส่งตะวันตก-ตะวันออก 2.การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ 3.การพัฒนาเส้นทางรถไฟ 4.การปรับปรุงท่าอากาศยาน 5.การอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและการข้ามชายแดน 6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาขนส่ง และโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่นเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้า,พลังงานในภูมิภาค,การโทรคมนาคม,การพัฒนาการท่องเที่ยว,การริเริ่มเขตเศรษฐกิจ,การริเริ่มคณะทำงาน AMEICC(japan)ในการพัฒนาพื้นที่ตะวันตกและตะวันออก
