ค้าชายแดนแม่สอดอ่วมยอดรูด การค้าลดลงแล้วกว่า 40% แถมเจอพม่าเข้มงวดอีกต่างหาก
|
|
|
|
ค้าชายแดนแม่สอดอ่วมยอดรูด การค้าลดลงแล้วกว่า 40% แถมเจอพม่าเข้มงวดอีกต่างหาก |
ค้าชายแดนแม่สอดอ่วม พม่าคุมเข้มสินค้าไทย สั่งตรวจยึดทันทีหากพบไม่ถูกต้อง พ่อค้าชี้กระทบบรรยากาศการค้า เผย 2-3 เดือนที่ยอดรูดแล้วกว่า 30-40% จากช่วงปกติที่มีมูลค่าเดือนละกว่า 1 พันล้านบาท ด้านประธานหอการค้าตากแนะให้ค้าขายผ่านช่องทางของทางการเพื่อลดความเสี่ยง
แหล่งข่าวจากแวดวงการค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า รัฐบาลทหารพม่า หรือ SPDC (สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) ได้มีคำสั่งให้ทหารชุดที่ดูแลคณะกรรมการการค้าชายแดนและเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรภาคพะโค เข้มงวดในการตรวจยึดสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทย ที่ผ่านช่องทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่า (ด่านถาวรแม่สอด-เมียวดี) ด้านชายแดนเมืองเมียวดี - แม่สอด โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พม่าได้ยึดสินค้า มีทั้งยารักษาโรค โทรทัศน์ รวมถึงสินค้าบริโภคอุปโภคอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 80 ล้านจ๊าต หรือประมาณ
2,253,521 บาทไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจับตัวคนขับรถและเจ้าของสินค้าดังกล่าว โดยอ้างว่าสินค้าดังกล่าวถูกนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย มีการลักลอบนำเข้ามา และไม่มีการเสียภาษี
ขณะที่เจ้าของสินค้าให้การกับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมว่า ก่อนหน้านี้ได้เสียภาษีให้กับทางการพม่าแล้ว และมีใบหลักฐานการเสียภาษีให้ดู แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นใบที่ปลอมแปลงขึ้น และขอตรวจสอบหากถูกต้องจะมอบคืนให้เจ้าของต่อไป การจับกุมสินค้าไทยดังกล่าว ส่งผลเสียต่อการค้าขายของพ่อค้าแม่สอดอย่างมาก เพราะพ่อค้าพม่าจะขาดความมั่นใจที่จะซื้อสินค้าจากด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี และจะทำให้ยอดขายสินค้าตกลง
นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า พม่ามีการเข้มงวด ตรวจยึดและจับกุมสินค้ามาโดยตลอดอยู่แล้ว เป็นความเข้มงวดด้านคุณภาพสินค้า สินค้าควบคุมและสินค้าที่ไม่ได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรหรือสินค้าที่ไม่มีใบกำกับมาแสดงการเสียภาษีให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ดู ทำให้มีการถูกจับกุม การตรวจยึดสินค้าเพื่อตรวจสอบสินค้าจากชายแดนไทย จึงอยากจะขอให้พ่อค้าไทยและพ่อค้าพม่าที่ทำการค้าชายแดนกันอยู่ได้ ซื้อ-ขาย สินค้าโดยถูกต้องและผ่านพิธีการทางศุลกากร เพื่อป้องกันการถูกจับกุม
แหล่งข่าวจากด่านศุลกากรแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า ยอดการส่งสินค้าไทยไปพม่า ลดลง 30-40% ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ในช่วงไตรมาสที่ 3 ตัวเลขส่งออกไม่ถึงเดือนละ 1,000 ล้านบาท ผิดกับสถานการณ์ปกติที่มีตัวเลขการส่งออกเดือนละกว่า 1,000 ล้นบาท หรือปีละกว่า 14,000 - 15,000 ล้านบาท ทั้งในและนอกระบบทางศุลกากร เป็นตัวเลขที่ตกต่ำอย่างน่าตกใจ โดยตัวเลขที่ลดลงมาจากหลายปัจจัยลบ เช่น 1. พม่า ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำประกอบกับประเทศเกิดภัยพิบัติพายุโซโคลนนาร์กิสถล่ม ประชาชนขาดรายได้ พื้นที่เกษตรเสียหาย 2. รัฐบาลเข้มงวดสินค้านำเข้า การตรวจสอบวัตถุระเบิด ที่อาจจะซุกซ่อนมากับสินค้าที่เข้ามาผ่านยังเขตอิทธิพลของทหารชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง โดยมีการตรวจสอบระบบการเสียภาษีห้ามนำเข้าผ่านตลาดมืดหรือเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ผ่านระบบศุลกากร 3.ในช่วงฤดูฝนปี 2551 เส้นทางคมนาคมและระบบการขนส่ง เสียหายหนักการขนส่งสินค้าไม่สะดวกส่งผลการซื้อสินค้าลดน้อยลง 4.ปัญหาการเมืองในพม่า 5.พม่าควบคุมการนำเข้าสินค้าที่ต้องมีใบกำกับอากร-ภาษี ที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรและการเสียภาษีที่ถูกต้อง อย่างเข้มงวดมากขึ้นกว่าปกติ
| | | | |